กรณีศึกษาจากถิ่นจิงโจ้ พ่อค้ากับพระยาทำงานร่วมกัน | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

กรณีศึกษาจากถิ่นจิงโจ้พ่อค้ากับพระยาทำงานร่วมกัน

ยาขมหม้อใหญ่ขนานหนึ่งของคนที่เป็นข้าราชการ คือ การต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อก่อสร้างอาคารสถานที่สักหลังหนึ่ง เพราะกฎกติกามารยาทมากเหลือเกิน

จนมีบางคนรู้สึกว่า การต้องเข้าไปเป็นกรรมการอะไรทำนองนี้เท่ากับการยื่นขาข้างหนึ่งเอาไว้ในตะรางเข้าไปแล้วครึ่งค่อน

และน่าแปลกใจที่ผมมีข้อสังเกตว่า ทั้งๆ ที่เรามีกติการอบคอบรัดกุมถึงปานนั้น แต่ก็บ่อยครั้งที่ผู้รับเหมาทิ้งงานเสียกลางคัน จนต้องขึ้นบัญชีดำไว้เพื่อห้ามไม่ให้เข้าประมูลงานของรัฐอีกต่อไปในวันข้างหน้า

สาเหตุที่ต้องทิ้งงานก็เพราะราคาที่ประมูลได้เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง แต่เวลาประมูลนั้นหน้ามืดตามัวอย่างไรไม่รู้ จึงเสนอราคาต่ำเข้าไว้เพื่อให้ได้งานไว้ก่อน

ส่วนทำไม่ได้หรือทำได้อย่างไรค่อยไปคิดหรือไปตายเอาดาบหน้า

ทุกคราวที่มีการทิ้งงาน นั่นหมายความว่าต้องมีผู้รับเหมาใหม่มารับงานต่อ การหาผู้รับเหมารายที่สองมารับซากอาคารที่ผู้รับเหมารายแรกสร้างทิ้งไว้เป็นของยากถึงขั้นมหัศจรรย์เลยทีเดียว เพราะต้องมีกระบวนการยืดยาวกว่าจะเลือกเฟ้นผู้รับเหมารายใหม่มาทำงานได้ ซากตึกที่ทิ้งค้างไว้ก็มีเถาวัลย์ขึ้นเสียแล้ว

และถ้ากล่าวถึงตึกที่ผู้รับเหมาทำงานได้สำเร็จเรียบร้อยตรงตามกำหนดเวลา เราก็มักจะได้อาคารที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ เพราะหลวงหรือราชการของเรามีระบบประมูลที่ต้องการให้ได้ของราคาถูกที่สุด ในขณะที่ผมเองมีความเห็นว่า ของดีราคาถูกไม่มีอยู่จริงในโลกนี้

สนุกยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็คือ เมื่ออาคารสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนี้ไปอีกห้าปีสิบปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย อย่าได้คิดหวังว่าจะมีงบประมาณเพื่อการซ่อมแซมทำนุบำรุงรักษาเลย มีแค่ค่าน้ำค่าไฟพอจ่ายก็ถือว่าบุญถมถืดแล้ว

ถ้าลิฟต์เสียปีนี้ก็ต้องตั้งงบประมาณเอาไว้ซ่อมปีหน้า ระหว่างนี้เดินขึ้นบันไดไปพลางก่อนก็แล้วกัน

ปัญหาหรือสถานการณ์ที่ผมพูดมาเหล่านี้เป็นมาชั่วนาตาปี และยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรดี ถึงจะแก้ปัญหาในเชิงระบบได้สำเร็จเรียบร้อย

สิ่งที่จะเล่าสู่กันฟังต่อไปนี้ไม่ใช่สูตรสำเร็จที่เป็นคำตอบสุดท้าย แต่อย่างน้อยก็แสดงเห็นว่าในโลกนี้ยังมีวิธีคิดแบบอื่นซึ่งน่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่งว่า จะนำบางส่วน ไม่ว่าจะส่วนมากส่วนน้อย หรือทั้งหมดมาใช้สำหรับการสร้างอาคารสถานที่ของทางราชการในเมืองไทยได้บ้างหรือไม่

เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อไม่กี่วันมานี้ผมได้เดินทางมาที่เมืองเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย

เช้าวันหนึ่งผมได้มีโอกาสเดินทางไปชมกิจการของ The Victorian Comprehensive Cancer Center หรือ VCCC ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ คือหมายความว่าเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่งในด้านการรักษามะเร็ง

โครงการสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีคริสต์ศักราช 2011 ใช้เวลาในการออกแบบและจัดการเตรียมการก่อสร้างประมาณสองปี จากนั้นก็เป็นการตะลุมบอนก่อสร้าง สามารถเปิดให้บริการได้เมื่อปีคริสต์ศักราช 2016 นับถึงปัจจุบันนี้ก็ประมาณแปดปีแล้ว

โครงการนี้เป็นโครงการของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ

ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการเป็นที่ดินของทางราชการ ถ้าเป็นบ้านเราต้องเรียกว่าเป็นที่ราชพัสดุกระมัง ทำเลที่ตั้งนั้นอยู่ในละแวกเดียวกันกับโรงพยาบาลของรัฐอื่นอีกสามสี่โรง คือโรงพยาบาลหญิง โรงพยาบาลเด็ก และโรงพยาบาลที่รับรักษาดูแลทั่วไปอีกหนึ่งโรง

เห็นอย่างนี้แล้วชวนให้ผมนึกถึงโรงพยาบาลแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิของเราเป็นอย่างยิ่ง เพราะแต่เดิมมาละแวกนั้นก็เคยมีโรงพยาบาลหญิง โรงพยาบาลเด็กเหมือนกัน แต่ว่าเดี๋ยวนี้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีไปแล้ว

เอาล่ะ ถ้าเป็นบ้านเรา วันหนึ่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นคิดอยากจะมีโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์มะเร็งขึ้นมาสักโรงหนึ่งจะต้องทำอย่างไรบ้าง

จะไปยากอะไรเล่า ทางราชการก็หาสถาปนิกมาออกแบบ ออกแบบเสร็จก็หาผู้รับเหมามาประมูลก่อสร้าง ก่อสร้างเสร็จคนของทางราชการก็เข้าไปบริหาร แต่ผลสำเร็จหรือความพึงพอใจเป็นอย่างไรบ้างนั้น เอาเป็นว่าเรารู้อยู่แก่ใจของเราทุกคนก็แล้วกัน

แต่ที่รัฐวิกตอเรียของเครือรัฐออสเตรเลียนี้เขาคิดนอกกรอบของเรา เป็นความคิดตามหลักการที่เรียกว่า PPP หรือ Public-Private Partnership พูดอย่างง่ายๆ คือ ทางราชการกับทางเอกชนร่วมหัวจมท้ายทำงานด้วยกัน

วิธีทำงานของเขาเป็นอย่างนี้ครับ

ขึ้นต้นด้วยการที่ฝ่ายราชการเป็นคนบอกข้อแม้เงื่อนไขว่าศูนย์มะเร็งที่ตัวเองอยากได้นั้นต้องมีอะไรบ้าง อยากจะมีห้องพักผู้ป่วยได้อีกสักกี่เตียง แต่ละวันคิดว่าจะรับคนไข้นอกมาบริการจำนวนสักเท่าไหร่ ต้องมีพื้นที่สำหรับทำวิจัยอย่างนั้นอย่างนี้

เรียกว่าเป็นการบอกแนวคิดเบื้องต้นไว้เป็นหลัก

คราวนี้บริษัทที่สนใจก็มารับแนวคิดเบื้องต้นนั้นไปพัฒนาเป็นการออกแบบที่ตอบโจทย์ดังกล่าว อาคารโรงพยาบาลที่ผมไปดูมานี้มีบริษัทเอกชนเข้ามาแข่งขันกันสามราย

รายที่ชนะสามารถทำตามแนวคิดเบื้องต้นได้ครบทุกข้อ บวกด้วยรายละเอียดต่างๆ ที่ถูกใจคณะกรรมการ

เป็นต้นว่ามีข้อเสนอให้พื้นที่ไส้ในกลางอาคารจัดเป็นพื้นที่ว่างตั้งแต่ชั้นบนตลอดลงจนถึงชั้นล่าง อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Atrium เพื่อให้มีแสงสว่างสดใสไปทุกซอกทุกมุมของอาคาร

ภายในอาคารมีสวนสำหรับนั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจอยู่ที่ชั้นเก้ากับชั้นเจ็ด ที่ชั้นเจ็ดนั่นเองมีทางเดินเป็นสะพานลอยข้ามถนนเชื่อมไปหาโรงพยาบาลทั่วไปที่อยู่ตรงกันข้ามฝั่งถนน เพื่อระบบงานบางอย่างของโรงพยาบาลทั้งสองจะสามารถเชื่อมถึงกันได้โดยไม่ต้องทำระบบซ้ำซาก เช่น การตรวจเลือดหรือตรวจอะไรต่อมิอะไรทางการแพทย์ เป็นต้น

ห้องคนไข้ในทุกห้องมีหน้าต่างเห็นโลกภายนอก

ในโรงพยาบาลมีร้านขายของ มีร้านอาหาร มีธนาคาร และอื่นๆ อีกสารพัดเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยและความสะดวกของผู้คน

มีเรื่อยไปจนโรงแรมคุณภาพมาตรฐานปานกลางสำหรับครอบครัวของผู้ป่วยมาอยู่ดูแลเป็นกำลังใจ เพราะเขาเชื่อว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นได้ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

ข้อสำคัญอยู่ตรงนี้ครับ เอกชนหรือบริษัทที่รับเหมาได้เป็นคนลงทุนในงานก่อสร้างทั้งหมด หลวงยังไม่ควักสตางค์ออกมานะครับ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว โรงพยาบาลสามารถเปิดใช้ทำงานได้ โดยหลวงเป็นคนจัดเจ้าหน้าที่ทั้งแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่เทคนิคฝ่ายสนับสนุนเข้ามาทำงาน เอกชนก็ยังช่วยดูแลตึกต่อไป

คำว่าดูแลนี้ดูแลกัน 24 ชั่วโมงจริงๆ พื้นที่บางส่วนเอกชนสามารถหาคนมาเช่าช่วงได้ เช่น หาคนมาทำร้านอาหารหรือหาคนมาทำร้านขายของที่ระลึก

คนที่มารักษาโรคที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ส่วนมากเป็นผู้ที่มีสิทธิรักษาพยาบาลในฐานะเป็นประชาชนพลเมืองของรัฐวิกตอเรียจึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าเป็นคนมาจากรัฐอื่นหรือมาจากต่างประเทศก็ต้องคิดกันอีกอัตราหนึ่งครับ ว่ากันไปตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงหรือจะคิดเป็นสัดส่วนอย่างไรก็แล้วแต่

อาคารชั้นใต้ดินที่เป็นที่จอดรถถึงสี่ชั้น ได้ค่าจอดรถมากน้อยแค่ไหนก็เป็นรายได้ของรัฐวิกตอเรีย

ถามว่าแล้วบริษัทที่มาประมูลก่อสร้างนี้ได้อะไร

 

ตอบว่าได้เงินตอบแทนจากรัฐที่ทยอยจ่ายเป็นงวดตามความยาวของสัญญาที่มีอายุนาน 30 ปี หักช่วงก่อสร้างออกไปห้าปี นั่นแปลว่าเมื่อสร้างเสร็จแล้วบริษัทก็ต้องดูแลให้อาคารแห่งนี้ใช้งานได้จริง สมประโยชน์ของทางราชการนาน 25 ปี

ทุกรอบสามเดือนทางราชการจะจ่ายค่าตอบแทนให้กับเอกชน ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญา ถ้าการดูแลรักษาย่อหย่อนตรงไหน ก็หักเบี้ยปรับเอาไว้ตามสัญญาที่ตกลงกัน เช่น ลิฟต์ใช้งานไม่ได้หนึ่งตัวเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ในวันที่เท่านั้นเท่านี้ เอกชนจะถูกหักลดรายได้ลงไปเท่าไหร่ ทุกอย่างระบุไว้ในสัญญาโดยชัดแจ้ง ละเอียดลออ

ทำแบบนี้เอกชนก็กระตือรือร้นที่จะดูแลรักษาอาคารให้พร้อมใช้งานได้อยู่เสมอ

ผมถามเขาว่า เมื่อครบสัญญา 30 ปีแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เขาบอกว่าเป็นอันหมดหน้าที่ของเอกชนที่จะดูแลรักษาอาคารต่อไป คราวนี้รัฐวิกตอเรียต้องเข้ามาดูแลเอง หรืออาจจะมีความเป็นไปได้ที่รัฐวิกตอเรียอาจจะจ้างบริษัทเอกชนรายเดิมให้ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลรักษาอาคารให้ใช้งานได้ต่อไป เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น

ข้อนี้อีก 20 ปีค่อยตัดสินใจอีกทีก็ได้

 

กลไกการทำงานร่วมกันแบบนี้ จากการประเมินเบื้องต้นมีความเห็นร่วมกันว่าเป็นระบบทำงานที่มีประสิทธิภาพ รัฐไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ตั้งแต่ต้น แต่ใช้วิธีทยอยจ่ายตลอดอายุสัญญา ขณะที่เอกชนซึ่งมีความพร้อมในหลายเรื่อง ก็สามารถเข้ามาลงทุนในโครงการแบบนี้ โดยใช้ความสามารถของตัวเองเข้ามาเป็นเครื่องหนุนช่วย เพื่อจะได้สามารถเก็บกินเงินผลประโยชน์ในระยะยาวตามอายุสัญญา

เอกชนที่ว่านี้อาจจะเป็นเอกชนรายเดียวหรือเป็นเอกชนที่ไประดมทุนมาจากผู้ที่อยากลงทุนรายอื่นด้วยก็ได้ เพราะสามารถคำนวณเห็นอนาคตได้ว่าจะได้เงินกลับคืนมาทั้งเงินต้นและผลประโยชน์ในอัตราอย่างใดเช่นใด

แน่นอนครับว่าเรื่องนี้ไม่ได้คิดตามแบบแผนที่ต้องการของราคาถูกที่สุดในโลกนี้แบบราชการไทย

แต่ของที่ได้มาเป็นของดีแน่ และใช้งานได้จริงตลอดอายุสัญญาแน่เหมือนกัน

ผมว่าเราต้องตรึกตรองให้ดีเหมือนกันว่าราคาที่เพิ่มขึ้นมากกว่าราคาแบบประมูลงานของไทยนั้น เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนจึงจะอยู่ในวิสัยที่เรา “รับมือ” ได้ เพื่อแลกกับความรวดเร็วในการทำงาน การที่อาคารหรือโรงพยาบาลจะสามารถให้บริการกับประชาชนได้อย่างเต็มที่ ตลอดถึงประสิทธิภาพอื่นๆ ที่แวดล้อม

ทั้งหมดนี้ต้องนำมาเปรียบเทียบกับระบบที่เรามีอยู่ในปัจจุบันนี้ด้วย

 

ความคิดในเรื่องของการทำงานในระบบ PPP นี้ ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แต่เรื่องของการสร้างโรงพยาบาลเท่านั้น ขอให้เป็นเรื่องของการก่อสร้างอาคารเถิด ความคิดในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนสามารถพลิกแพลงไปได้อีกมาก

โบราณท่านว่า สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง

ถ้าพ่อค้ากับพระยาทำงานร่วมกัน โดยมุ่งเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นเป้าหมาย ประชาชนได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพ โดยไม่ชักช้า โดยรัฐจ่ายเงินแบบสมเหตุสมผล

แถมขีดเส้นใต้อีกห้าร้อยเส้นว่า “และปราศจากคอร์รัปชั่น”

ผมว่าน่าสนใจนะครับ