จะเลือกการเมืองเก่า หรือการเมืองเชิงอุดมการณ์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/

 

จะเลือกการเมืองเก่า

หรือการเมืองเชิงอุดมการณ์

 

อภิปรายงบประมาณครั้งนี้เงียบจนแทบไม่มีกระแสอะไรเลย เพราะวันนี้ศูนย์กลางของการเมืองไทยไม่ได้อยู่ที่สภาอย่างที่ควรเป็นต่อไปแล้ว อนาคตการเมืองอยู่ที่ผู้นำการเมืองนอกสภาและความรู้สึกนึกคิดของมวลชนทั้งหมด

ส่วนประชาธิปไตยรัฐสภาเป็นเพียงเปลือกนอกที่ห่อหุ้มระบอบอำนาจจริงๆ ไว้เท่านั้นเอง

ไฮไลต์ของการอภิปรายงบฯ อยู่ที่ประเด็นคุณ “ศิริกัญญา ตันสกุล” เรื่อง “ตัดงบฯ กลาง 3 หมื่นล้าน” เพราะรัฐบาลเบิกจ่ายงบฯ ใช้ไปพลางไม่เต็มประสิทธิภาพ, มีแนวโน้มจัดเก็บรายได้พลาดเป้ากว่า 1 แสนล้าน รวมทั้งความตั้งใจตั้งงบฯ ส่วนอื่นให้ขาดเพื่อให้รัฐบาลนำงบฯ กลางสำรองฉุกเฉินไปจ่ายโดยตรวจสอบไม่ได้เลย

“ศิริกัญญา” ได้ชื่อว่าเป็น ส.ส.ที่อ่านงบประมาณละเอียดทั้งที่อยู่สภาแค่สมัยที่ 2 จนค้นพบอีกเรื่องที่น่าตกใจ

สรุปสั้นๆ ปีนี้รัฐบาลตั้งงบฯ รักษาพยาบาลบุคลากรภาครัฐแค่ 7.6 หมื่นล้าน ทั้งที่ปีที่แล้วใช้ 9.6 หมื่นล้าน รวมทั้งตั้งงบฯ เบี้ยหวัดและบำเหน็จบำนาญข้าราชการแค่ 3.3 แสนล้าน ทั้งที่ปีที่แล้วจ่าย 3.6 แสนล้าน

ถ้าไม่มีการแก้ไขอะไร ปีนี้หากมีจำนวนข้าราชการที่เกษียณอายุ เสียชีวิต หรือลาออกจำนวนเท่าเดิม ประเทศไทยก็จะขาดงบประมาณส่วนนี้ราว 3 หมื่นล้านบาท

และถ้ามีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลบุคลากรเท่ากับปีที่แล้ว ปีนี้ก็จะขาดงบประมาณสำหรับส่วนนี้ไปทันทีอีก 2 หมื่นล้านบาท

 

สําหรับคนไทยที่รักประเทศนี้จริงๆ มากกว่ารักเพราะเวลาพวกตัวเองได้ตั้งรัฐบาล คำถามสำคัญคือทำไมรัฐบาลนี้จึงมีพฤติกรรมเรื่องงบกลางไม่ต่างจากรัฐประยุทธ์ ทำไมเพื่อไทยที่เคยโจมตีคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องใช้งบฯ กลางโดยตรวจสอบไม่ได้จึงทำแบบเดียวกัน และทำไม ส.ส.รัฐบาลไม่พูดอะไรเรื่องนี้เลย

หากประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยรัฐสภาแบบประเทศปกติ ความไม่โปร่งใสของรัฐในการจัดงบฯ แบบนี้คงถูกสื่อและประชาชนวิพากษ์วิจารณ์สนั่นประเทศไปแล้ว

แต่เพราะประเทศไทยมีประชาธิปไตยรัฐสภาที่ ส.ว.จากทหารเลือกนายกฯ และรัฐบาล ความไม่โปร่งใสแบบนี้จึงเป็นปัญหาที่มีคนสนใจเพียงนิดเดียว

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้มีอาชีพ ส.ส.หรือรัฐบาล เรื่องใหญ่ทางการเมืองที่คนสนใจที่สุดคือพรรคก้าวไกลจะถูกยุบหรือไม่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะถูกตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิตหรือเปล่า

และ 44 ส.ส.ก้าวไกลที่ลงชื่อแก้กฎหมายอาญา ม.112 จะถูก ป.ป.ช.เสนอศาลฎีกาประหารชีวิตการเมืองแบบปารีณา ไกรคุปต์ และ “ช่อ พรรณิการ์ พานิช” หรือไม่โดน

 

คุณทักษิณ ชินวัตร ออนทัวร์มีคนสนใจมากก็จริง แต่ความสนใจมาจากการอยากดูสภาพคุณทักษิณทำอะไรต่อมิอะไรทั้งที่มีสถานะเป็นนักโทษที่อยู่ระหว่างพักโทษ อยากดูว่าป่วยจริงหรือแกล้ง และอยากรู้ว่าคุณทักษิณยังมีอำนาจทางการเมืองมากเท่าเดิมหรือไม่มี

“ผู้นำการเมือง” ไม่เท่ากับ “ผู้นำรัฐบาล” และคนที่เป็นนายกฯ ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลตามกฎหมายก็อาจไม่ใช่ “ผู้นำการเมือง” ในความหมายที่เป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนายกฯ ไม่ได้เป็นผู้นำพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งจนได้จัดตั้งรัฐบาลจากเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรล้วนๆ ไม่ใช่ ส.ว.อย่างคุณเศรษฐา ทวีสิน ในปัจจุบัน

คนจำนวนมากเปรียบเทียบคุณทักษิณกับคุณพิธาโดยไม่พูดถึงคุณเศรษฐาเลย แต่น่าสนใจกว่าคือคุณพิธาและคุณทักษิณทำงานให้ประชาชนเห็นแนวทางการเมืองที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง 2 แบบของพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย

ซึ่งสรุปง่ายๆ คือการเมืองเก่าแบบระบบอุปถัมภ์กับการเมืองใหม่แบบอุดมการณ์

 

ไม่มีใครในประเทศไม่รู้ว่าพรรคก้าวไกลและคุณพิธามีเงินน้อยกว่าคุณเศรษฐา, คุณทักษิณ และพรรคเพื่อไทย

และไม่มีใครปฏิเสธได้เช่นกันว่าจุดเด่นของพรรคก้าวไกลย้อนไปถึงอนาคตใหม่คือทำงานในสภาให้โดดเด่น ควบคู่ไปกับทำงานนอกสภากับมวลชนและคนกลุ่มต่างๆ ให้มากกว่าที่พรรคอื่นเคยทำ

คุณพิธาเคยบอกผมในการให้สัมภาษณ์ในรายการ “มีเรื่องมาเคลียร์” ว่าเขาคุยกับผมโดยรู้ว่านี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้คุยกันในฐานะนักการเมือง จากนี้จะเดินหน้าอภิปรายงบประมาณ, กฎหมาย และญัตติต่างๆ ให้ดีที่สุดเหมือนเป็นครั้งสุดท้าย เช่นเดียวกับการลงพื้นที่ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกล

หากดูความเคลื่อนไหวของคุณพิธาทั้งในและนอกสภาก็จะเห็นว่าคุณพิธาทำแบบที่พูดไว้จริงๆ คุณพิธาไปดับไฟป่าในแถวหน้าที่เชียงใหม่อย่างที่ไม่มีคู่แข่งคนไหนทำ พรรคก้าวไกลเคาะผู้สมัครนายก อบจ.ที่ไม่ใช่อดีต ส.ส.อย่างที่หลายคนคาด ฯลฯ

ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของการทำงานการเมืองเชิงอุดมการณ์

 

ถ้าถามว่าการเมืองเชิงอุดมการณ์คืออะไร คำตอบง่ายๆ คือการเมืองที่สร้างพรรคและดำเนินการทางการเมืองบนหลักการ, เอาหลักการเป็นแกนกลางกว่าบุคคล รวมทั้งพัฒนานโยบายสาธารณะมิติต่างๆ ให้สอดคล้องตามหลักการที่ตั้งไว้ตลอดเวลา

แน่นอนว่าอุดมการณ์ในโลกมีทั้งอุดมการณ์ประชาธิปไตย, เผด็จการ, อนุรักษนิยม, ชาตินิยม, กษัตริย์นิยม, สาธารณรัฐ ฯลฯ และพรรคการเมืองในไทยก็เป็นตัวแทนอุดมการณ์หลายแบบ ตัวอย่างเช่น รวมไทยสร้างชาติกับพลังประชารัฐเป็นตัวแทนอนุรักษนิยม ขณะที่เพื่อไทยไม่มีอุดมการณ์ไหนชัดๆ จนคล้ายภูมิใจไทย

ขณะที่พรรคการเมืองอื่นอุดมการณ์ไม่ชัดหรือชัดจนประชาชนไม่เลือกเข้าสภา ก้าวไกลเป็นพรรคเดียวที่เห็นแล้วรู้ชัดๆ เรื่องประชาธิปไตยรัฐสภา, เสรีประชาธิปไตย, สร้างสังคมสวัสดิการ, ความเสมอภาค, สหภาพแรงงาน และอื่นๆ จนนโยบายพรรคมีความคงเส้นคงวาตามหลักการเหล่านี้จริงๆ

ทันทีที่ประชาชนเลือกก้าวไกล สิ่งที่ประชาชนรู้คือพรรคจะผลักดันสมรสเท่าเทียม, ยกเลิกเกณฑ์ทหาร, สิทธิแรงงาน, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย ส.ส.ร. ขณะที่ประชาชนไม่มีทางรู้เลยว่าเลือกพรรคอื่นแล้วจะทำนโยบายไหนหรือผลักดันกฎหมายอะไรในฐานะ ส.ส.หรือในฐานะพรรครัฐบาล

 

ข้อดีของการเมืองเชิงอุดมการณ์คือคนเลือกพรรคด้วยอุดมการณ์ อุดมการณ์จึงดึงคะแนนเสียงคนที่เห็นด้วยจนถึงจุดที่พรรคแทบไม่ต้องใช้เงิน หรือถ้าใช้ก็น้อยมากเมื่อเทียบกับพรรคที่อุดมการณ์ไม่ชัดจนต้องจูงใจให้คนเลือกโดยดีลลับ, ต่อรองบ้านใหญ่, ซื้อสื่อ, จ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ, โกง หรือซื้อหัวคะแนน

สำหรับคนธรรมดาที่ไม่ใช่นายทุนหรือตระกูลการเมือง พรรคการเมืองเชิงอุดมการณ์คือพรรคที่ประชาชนมีอำนาจต่อรองมากที่สุด เพราะเมื่อคะแนนเสียงพรรคมาจากอุดมการณ์ที่ตรงกับประชาชน พรรคจึงตระบัดสัตย์ประชาชนได้ยาก และถ้าทำก็หมายถึงคะแนนเสียงที่จะหล่นหายไปในทันที

เดาไม่ยากว่าการเมืองแนวนี้สร้างความอึดอัดให้พรรคเก่าๆ และนักการเมืองแบบตระกูลการเมือง เหตุผลคือคนกลุ่มนี้ทำการเมืองตามดีลจนมองคะแนนเสียงเป็นฐานของอำนาจต่อรองในการดีลเท่านั้น

ส่วนจะดีลกับใคร, ดีลเรื่องอะไร และดีลอย่างไรเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่เกี่ยวข้องจนไม่ต้องถามประชาชน

คุณทักษิณเป็นตัวอย่างของการเมืองที่ต่างจากพรรคก้าวไกล ภาพคุณทักษิณตั้งแต่กลับไทยคือ “นายใหญ่” ที่ไปไหนมีลูกน้องต้อนรับเยอะไปหมด สถานะนักโทษที่กินข้าวพร้อมนายกฯ, เจ้าสัวรถไฟฟ้า, รัฐมนตรี, ปลัด, อธิบดี, รองผู้บัญชาการตำรวจ, นายก อบจ. ฯลฯ คือการแสดงพลังที่ไม่มีนักการเมืองไหนทำได้เลย

 

ไม่มีใครรู้ว่าเครือข่ายคุณทักษิณเหล่านี้ต้องการอะไร จุดเกาะเกี่ยวของคุณทักษิณ, พรรคเพื่อไทย และคนเหล่านี้คือความเป็นพวกคุณทักษิณโดยไม่สนใจอุดมการณ์หรือนโยบายอื่นๆ การเมืองแบบคุณทักษิณเป็นการเมืองแห่งการโชว์บารมีที่มีคุณทักษิณเป็นศูนย์กลางจักรวาลโดยคนอื่นเป็นดาวบริวาร

แน่นอนว่าเครือข่ายคุณทักษิณมีทั้งใช่และไม่ใช่พรรคการเมือง แต่การรวมตัวของคนกลุ่มนี้มีความเป็นการเมืองแน่ๆ ซ้ำยังเป็นการเมืองที่คนเพียงคนเดียวกดปุ่มสั่งให้คนทั้งหมดทำตามได้ ส่วนคนทั้งประเทศไม่มีแม้กระทั่งสิทธิที่จะรู้ว่าคนกลุ่มนี้ต้องการอะไร เป็นได้อย่างมากก็เพียงเสียงโหวตให้คนกลุ่มนี้ต่อรอง

โจทย์ใหญ่ของประเทศวันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องประชาธิปไตยหรือไม่เอาประชาธิปไตย แต่ภายใต้โจทย์ใหญ่นี้ยังมีคำถามว่าการเมืองแบบไหนดีกับประชาชนที่สุด ระหว่างการเมืองแบบที่เน้นอุดมการณ์ บอกประชาชนชัดๆ ว่าจะทำอะไร และการเมืองแบบที่ประชาชนทำได้แค่มองผู้มีอำนาจกินข้าวกินไวน์หลังไปลงคะแนน

ความขัดแย้งใหญ่ในอนาคตอันใกล้ไม่ใช่เรื่องทุกสีสามัคคีกำจัดก้าวไกล เพื่อไทยจะมีบทบาทแบบไหนในสมรภูมินี้

แต่คือประเทศไทยควรเลือกการเมืองแบบไหนที่ประชาชนมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นจริงๆ ไม่ได้เป็นแค่กองเชียร์ให้ผู้มีอำนาจทำอะไรตามใจชอบ, ตามดีลลับ และตามอำเภอใจ