ประชากรเอเชีย ‘หดตัว’ ปัญหาที่ยังไร้ทางแก้

(Photo by ANTHONY WALLACE / AFP)

ปัญหาที่เกิดขึ้น และดำรงอยู่ต่อเนื่องมานานหลายทศวรรษแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ก็คือ ปัญหาอัตราการเกิดของประชากรต่ำมาก ทุกวันนี้ อัตราการเกิดในเอเชียตะวันออกจัดว่าเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในโลกไปแล้ว

รัฐบาลในปักกิ่ง, กรุงโซล, โตเกียว หรือแม้กระทั่งในสิงคโปร์ เผชิญกับความท้าทายที่ว่าประชาชนของตนเองมีลูกน้อยลงและน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อปีที่ผ่านมา

สถิติโลกอย่างเป็นทางการของเกาหลีใต้แต่เดิม ถูกทำลายลงเมื่ออัตราการเกิดที่เคยอยู่ในระดับต่ำที่สุดในโลก ลดต่ำลงไปอีกเหลือเพียงการเกิด 0.72 ครั้งต่อผู้หญิง 1 คนในปี 2023 จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 0.78 ต่อ 1 คนในปี 2022

ที่สิงคโปร์ สถิติอย่างเป็นทางการก็คือ 0.97 ต่อ 1 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศที่มีอัตราการเกิดลดลงต่ำกว่า 1

ส่วนที่ญี่ปุ่น กลายเป็นหนึ่งในสังคมที่สูงอายุที่สุดในโลกสังคมหนึ่งไปแล้ว ค่ามัธยฐานของอายุของประชากรพรวดขึ้นไปอยู่ที่ 49.5 ปี

ในประเทศอย่างจีน, ไต้หวันและเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ต่างล้วนรายงานถึงสถิติการเกิดที่ต่ำลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน ใน 3 ดินแดนเหล่านี้อัตราการเกิดอยู่ที่ต่ำกว่า 2.1 ครั้งต่อสตรี 1 คน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าอัตราการเกิดทดแทน (replacement rate) อันเป็นอัตราการเกิดที่ทำให้จำนวนประชากรของประเทศคงอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ

ที่สำคัญก็คือ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีรายงานอัตราการเกิดต่ำเช่นนี้ แต่นับเป็นการรายงานที่ต่อเนื่องมานานหลายปีหรืออาจจะเป็นนับสิบปีแล้ว

Photo by DALE de la REY / AFP

ปัญหาก็คือ อัตราการเกิดต่ำทำให้ประชากรหดตัวลดลง ผู้คนในวัยทำงานเพื่อผลิตสินค้าและบริการลดลง ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดน้อยลง ส่งผลต่อรายได้ของรัฐ ที่ในที่สุดก็จะมีทรัพยากรในมือสำหรับให้สวัสดิการที่จำเป็นต่อสังคมซึ่งชราภาพมากขึ้นเรื่อยๆ น้อยลงตามไปด้วย

นักวิชาการด้านประชากรศาสตร์ชี้ว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหานี้มีตั้งแต่ ต้นทุนการเลี้ยงเด็กสูงขึ้น, การขาดสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิตของพ่อแม่มือใหม่ โดยเฉพาะผู้เป็นแม่ และความเครียดสูงในสังคมสมัยใหม่ ล้วนทำให้อัตราการเกิดลดลง

พอล เฉิง ผู้อำนวยการสถาบันความสามารถในการแข่งขันของเอเชีย ในสังกัดสำนักนโยบายสาธารณะลี กวน ยิว ของสิงคโปร์ ชี้ว่า ในสังคมเมืองขนาดมหานคร อัตราการเกิดมีแนวโน้มต่ำกว่าที่อื่นมาก เนื่องจากผู้คนมีทางเลือกมากมาย สังคมยิ่งพัฒนาขึ้น มีความเป็นเมืองมากขึ้น สตรีมีการศึกษามากขึ้น ขนาดครอบครัวยิ่งหดเล็กลง

รัฐบาลแทบทั้งหมดใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบตรงไปตรงมา นั่นคือเมื่อค่าเลี้ยงดูเด็กๆ แพงก็ให้เงินสนับสนุนแก่พ่อแม่เป็นการแก้ไข

ปัญหาก็คือวิธีการนี้ไม่ได้ผลอย่างที่คิด เฉิงยกตัวอย่างเช่นกรณีของสิงคโปร์ซึ่งเขาถือว่า “ใจดี” กว่ารัฐบาลใดในเอเชียก็ไม่สามารถยับยั้งให้จำนวนประชากรลดลงได้

 

สิงคโปร์เริ่มแจกเงินเพื่อสนับสนุนการมีลูกมาตั้งแต่ปี 2001 เม็ดเงินที่จ่ายกันอยู่ในปัจจุบันนี้อยู่ที่ 11,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเกือบ 3 แสนบาทที่อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน จ่ายให้กับพ่อแม่ที่มีลูกแต่ละคนสำหรับคนที่ 1 และ 2 แต่จะขยับเป็น 13,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 353,000 บาท) สำหรับลูกคนที่ 3 และคนต่อๆ ไป

ในญี่ปุ่น รัฐบาลเพิ่งเพิ่มเงินให้เปล่าสำหรับลูกที่เกิดแต่ละคนไปเมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา เป็นคนละ 500,000 เยน (ราว 123,000 บาท) และตั้งแต่ตุลาคมปีที่แล้ว รัฐบาลจะจ่ายให้กับครัวเรือนที่มีลูกอีกเดือนละ 15,000 เยน (ราว 3,700 บาท) สำหรับลูกคนแรกและคนที่สองไปทุกเดือนจนกว่าอายุจะครบ 2 ปี จากนั้นก็จะลดลงเหลือราว 2,500 บาทเรื่อยไปจนจบระดับไฮสกูล ทั้งยังพร้อมที่จะจ่ายให้มากขึ้นไปอีกในกรณีที่ครอบครัวตัดสินใจมีลูกเกิน 2 คน

เกาหลีใต้ รัฐบาลจะจ่ายให้ทันที 2 ล้านวอนหลังคลอด (ราว 55,000 บาท) ลูกคนแรก สำหรับลูกคนที่สอง เงินให้เปล่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านวอน (ราว 82,000 บาท) นอกจากนั้น พ่อแม่จะได้รับเงินค่าเลี้ยงดูบุตรแยกอีกต่างหากรวมแล้วเป็นเงินถึง 18 ล้านวอน (ราว 490,000 บาท) แยกจ่ายเป็นรายเดือนจนกว่าลูกจะอายุครบ 2 ขวบอีกต่างหาก

ที่ฮ่องกง ทางการจ่ายเงินให้กับครอบครัวที่มีลูกเพียงครั้งเดียว 20,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 92,000 บาท

กระนั้นปัญหาก็ยังคงอยู่และเลวร้ายลงเรื่อยๆ

สิงคโปร์ ที่ว่ากันว่าทำดีที่สุดนั้นก็ทำได้เพียงชะลอให้อัตราการเกิดลดลงช้าลงเท่านั้น อัตราการเกิดของสิงคโปร์เพิ่งลดลงต่ำกว่า 1 เมื่อปีที่แล้ว เทียบกับฮ่องกงที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในปี 2001

มาตรการเหล่านี้จึงทำได้เพียงชะลอปัญหาให้เกิดช้าลงเท่านั้นเอง

 

แอนนา รอทเคิร์ช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากร ที่ปรึกษาด้านประชากรของนายกรัฐมนตรี ซานนา มาริน แห่งฟินแลนด์ เคยให้ความเห็นเอาไว้ว่า ปัญหาเรื่องการเจิญพันธุ์เป็นเรื่องแปลกไม่ใช่น้อย เพราะเอาเข้าจริง ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นกันแน่

โดยส่วนตัวแล้วเธอคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะถูกผลักดันจากปัญหาเศรษฐกิจหรือนโยบายครอบครัว แต่เป็นปัญหาในเชิงวัฒนธรรม จิตวิทยาและปัญหาในเชิงชีวภาพ

การให้เงินเป็นแรงจูงใจอย่างเดียวอาจไม่ได้ผล ต้องควบคู่ไปกับการจัดทำโครงการสวัสดิการเพื่อสนับสนุนและการช่วยสร้างสมดุลในชีวิตประจำวันกับการทำงาน เพื่อช่วยให้อัตราการเกิดของประชากรขยับขึ้นมาอยู่ในระดับที่ควรจะเป็น

หรือไม่ก็อาจเป็นอย่างที่ สจวร์ต กีเทล-บาสเทน ศาตราจารย์ด้านสังคมวิทยาและนโยบายสาธารณะประจำมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกงว่าไว้ว่า ปัญหานี้ต้องเป็นปัญหาของทุกคน ทุกภาคส่วนในสังคม ตั้งแต่รัฐบาล บริษัทธุรกิจ เรื่อยไปจนถึงประชาชนทั่วไป

ต้องมองเด็กๆ ว่าเป็นสิ่งดีๆ ที่ควรให้การสนับสนุน ไม่ใช่ลงโทษ คนหนุ่มคนสาวต้องมีงานทำ ต้องมีความมั่นคงในหน้าที่การงาน ไม่ใช่แข่งกันเรียนแทบเป็นแทบตายแล้วกลายเป็นคนว่างงาน

หรือเกิดมาแล้ว เติบใหญ่แล้วกลับต้องว่างงาน พ่อแม่ที่ไหนจะอยากมีลูกกัน