มหากาพย์ ‘พระแก้วมรกต’ (2) รอยต่อระหว่างตำนานกับประวัติศาสตร์

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ในตำนานมีประวัติศาสตร์ ในประวัติศาสตร์มีตำนาน

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ได้อธิบายถึงเรื่องเส้นทางของ “พระแก้วอมรโกฏ” (พระแก้วมรกต) จากปาฏลีบุตรสู่สยาม ต่อไปว่า

มีทั้งการนำ “เรื่องจริง” เหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์ มาผสมปนเปกับ “เรื่องเล่า” หรือตำนาน ที่กระโดดไปมา ต่างยุคต่างสมัยกัน ตลอดทั้งเรื่อง

จากตอนที่ 1 เราค้างถึงเหตุการณ์ที่ “พระนาคเสน” ได้บูชาพระแก้วมรกต จนกระทั่งเข้านิพพานไปแล้ว

ต่อมาพระแก้วมรกตได้รับการอัญเชิญให้ไปประดิษฐาน ณ เกาะลังกาประมาณ พ.ศ.800 ตำนานระบุชื่อพญามหากษัตริย์ของอินเดีย 3 องค์สุดท้ายในช่วงกลียุคและมหากลียุค ผู้ไม่สามารถรักษาพระแก้วมรกตไว้ได้

อันนามเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่จริง (ชินกาลมาลีปกรณ์ใช้ชื่อว่า พระเจ้าพันธุ พระเจ้ากลันธรรม และพระเจ้าสิริธรรมกิตติ ในขณะที่รัตนพิมพวงศ์ใช้ชื่อ บัณฑุราช ตักกลาธรรม และศิริธรรมกิตติราช) หรือหากมีชื่อที่พอจะเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์จริงได้อยู่บ้าง ก็ถือว่าไม่ได้เรียงลำดับรัชกาลตามนี้ ทั้งศักราชก็คลาดเคลื่อน

ในที่สุดได้มีผู้นำเอาพระรัตนปฏิมาหนีไปอยู่เกาะลังกา หรือลังกาทวีป ดินแดนที่พระพุทธศาสนาเจริญขึ้นแทนชมพูทวีปตามคำนาย

นัตของชาวพม่า ในรูปแบบที่เชื่อว่าเป็นดวงวิญญาณของพระเจ้าอนิรุทธมหาราช

เพิ่มอิทธิฤทธิ์ด้วยยี่ห้อ “อนิรุทธ”

บลั๊ฟฟ์ “สูริยวรมันที่ 2” ไม่ทศพิธราชธรรม

พระแก้วมรกตอยู่ที่เกาะลังกาได้สักระยะ มีกษัตริย์ชื่อ อนิรุทธ หรือ อนุรุทธราช เสวยราชย์ในเมือง “มลานปุระ” แต่ชินกาลมาลีปกรณ์เรียก “อริมัททนะ” (ทั้งสองชื่อหมายถึงพุกาม) โดยระบุว่าตรงกับปี พ.ศ.1200 ในขณะที่รัตนพิมพวงศ์ให้ศักราชเก่ากว่านั้นอีก ตรงกับปี พ.ศ.1000

พระเจ้าอนิรุทธตั้งใจนั่งเรือสำเภามาขอ “พระไตรปิฎก” จากลังกา ลังกาเห็นว่ากองทัพของอนิรุทธนั้นเกรียงไกรนัก จึงยอมให้พระไตรปิฎกไป แถมอนิรุทธเมื่อทราบว่าลังกามีพระแก้วมรกตจึงรวบอัญเชิญพระรัตนปฏิมาไปอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ชี้ให้เห็นว่า พระเจ้าอนิรุทธมหาราช เป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่มีตัวตนอยู่จริงในสมัยพุกาม แต่ตรงกับ พ.ศ.1500-1600 และในความเป็นจริงนั้น พระองค์จะยกทัพไปลังกาจริงหรือไม่ ก็ยังไม่มีความแน่ชัด ยุคของพระองค์กำลังก่อสร้างอาณาจักรพุกาม ตามหลักฐานมีการยกทัพไปขอพระไตรปิฎกจากเมืองสะเทิม (สิริธรรมนคร) จากชาวมอญนี่แน่นอน

ทำให้เข้าใจได้ว่า ชินกาลมาลปกรณ์และรัตนพิมพวงศ์ ได้นำชื่อของพระเจ้าอนิรุทธมหาราช เข้ามาเกี่ยวข้องก็เพื่อช่วยเสริมบารมีของพระแก้วมรกตให้ทรงอิทธิฤทธิ์ยิ่งขึ้นไปอีก เพียงแต่ว่าผู้เขียนอาจไม่มีความแม่นยำทางประวัติศาสตร์ของเพื่อนบ้าน จึงระบุให้อนิรุทธเป็นโอรสของพระเจ้าสิริธรรมราช ทั้งๆ ที่พระเจ้าสิริธรรมราชนั้นเป็นชาวมอญ ปกครองเมืองสิริธรรมนคร (สะเทิม) เมืองที่อนิรุทธยกทัพมาตีเพื่อขอพระไตรปิฎก

ตำนานกล่าวต่อไปว่า เมื่ออนิรุทธได้พระรัตนปฏิมาจากลังกาไปแล้ว แต่เรือสำเภากลับแตก ทั้งพระแก้วมรกตและพระไตรปิฎกพลัดหลงขึ้นไปยังฝั่งชายหาดแห่งหนึ่งของเมืองที่ชื่อ “มหานคร” แห่ง “กัมโพชทวีป” บ้างเรียก “นครอินทปัตถ์”

เมื่อเราเห็นชื่อเมืองเหล่านี้ ไม่ว่าจะใช้คำใด คงพอจะเดาออกว่า ตำนานต้องการสื่อถึงเมืองสำคัญยิ่งคือ เมืองพระนคร Angkor Thom ในกัมพูชา เพิ่มความเข้มข้นของตำนานให้ขลังยิ่งขึ้นไปอีก

แต่น่าแปลก หลังจากที่พระเจ้าอนิรุทธยกพลขึ้นบกที่เมืองมหานครได้แล้ว แทนที่จะเอาทั้งพระแก้วมรกตและพระไตรปิฎกซึ่งอุตส่าห์บากบั่นไปแย่งมาชิงมาจากลังกาได้ เอากลับคืนกรุงอริมัททนา (พุกาม) ไว้ทั้งหมด

กลับกลายเป็นว่า พระเจ้าอนิรุทธพอใจที่จะขนเอาแค่พระไตรปิฎกลงสำเภาอย่างเดียวเท่านั้น ทิ้งพระแก้วมรกตไว้ที่กัมโพชนคร

น่าสนใจทีเดียวที่บทบาทของพระเจ้าอนิรุทธช่วงนี้ตั้งใจ “ลืมพระแก้วมรกต” ให้ตกค้างอยู่ที่กัมโพช

ซ้ำร้ายฉากนี้ยังวาดให้ “พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์” กษัตริย์แห่งกัมโพช ไม่มีทศพิธราชธรรมเข้าไปอีก เหตุที่ไปสั่งประหารเด็กเล็กๆ ลูกของปุโรหิต ด้วยเหตุผลเพียงแค่เด็กสองคนทะเลาะกันเรื่องเอาสัตว์เลี้ยง (พวกแมลงวันหัวเขียว แมลงวันหัวเสือ) มาชนแข่งกัน แล้วแมลงวันของลูกพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์แพ้แก่แมลงวันของลูกปุโรหิต

ตำนานเล่าเหตุการณ์ว่าเกิดอาเพศ น้ำท่วมทะเลสาบเมืองกัมโพชมหานคร แต่โชคดีที่มีพระภิกษุรูปหนึ่งทันเห็นเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลตั้งแต่กษัตริย์สั่งประหารเด็กเล็กๆ ด้วยเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง เกิดไหวตัวทัน รีบเอาพระแก้วไปลอยน้ำ ทำให้พระรัตนปฏิมาไม่จมหายไปในทะเลสาบ

เรื่องราวช่วงแรกนี้พระแก้วมรกตยังไม่เข้ามาสู่สยามประเทศ เห็นได้ว่าผู้รจนาตำนานตั้งใจหยิบยกเอาเหตุการณ์บ้านเมืองในรัฐจารีต 4 รัฐอันยิ่งใหญ่ หรือในตำนานใช้คำว่า “ทวีป” คือชมพูทวีป ลังกาทวีป อริมัททนะทวีป กัมโพชทวีป มารองรับความสำคัญของพระแก้วมรกตว่าเป็นของสูงของสำคัญ จนเกิดการช่วงชิงกันไปมาระหว่างรัฐต่อรัฐ

หรือมาตรแม้นว่ารัฐไหนหรือทวีปใดได้ครอบครองไปแล้ว หากผู้ปกครองบ้านเมืองไม่อยู่ในศีลในธรรม พระแก้วมรกตก็จักอันตรธานหายไปจากทวีปนั้นๆ ไม่ด้วยวิธีใดก็วิธีหนึ่ง เช่น ไม่สำเภาแตกก็น้ำท่วมเมือง

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยากรท่านแรกที่เปิดประเด็นเรื่องพระแก้วมรกต ในรายการคลับเฮาส์

ปริศนาอาทิตยราช VS กรุงอโยฌปุระ

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์หลังจากนี้ จะเริ่มเข้าสู่โหมดการเดินทางของพระแก้วมรกตในดินแดนสยามแบบเต็มๆ แล้ว (หมายเหตุ สยามคำนี้ควบรวมรัฐโยนกตอนเหนือด้วย) อีกทั้งตัวละครต่างๆ ก็เป็นบุคคลจริงทางประวัติศาสตร์ แต่ผู้เขียนตำนานอาจผูกเรื่องแบบผิดฝาผิดตัวไปบ้าง

หลังจากนครอินทปัตถ์ล่มจมใต้ทะเลสาบเพราะพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ (ตั้งใจจะสื่อถึง สูริยวรมันที่ 2) ลงโทษผู้บริสุทธิ์ไปแล้ว ในช่วงเวลานั้น มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งชื่อ “พระญาอาทิตยราช” ครองราชย์ ณ กรุงอโยฌยา (อโยฌปุระ) ได้เดินทางมายังมหานคร เป็นผู้มีบุญญาธิการสามารถครอบครองพระแก้วมรกตได้ และนำไปไว้ในกรุงอโยฌปุระ

คำว่า “อโยฌปุระ” หรือ “อโยธยา” ทันทีที่ทุกคนได้ยินชื่อนี้ปั๊บ มักปิดตานึกถึง กรุงศรีอยุธยาช่วงต้นๆ ในยุครอยต่อตอนปลายของรัฐรัฐละโว้ รัฐสุพรรณภูมิที่กำลังล่มสลายแล้วกำลังจะเริ่มก่อเกิดกรุงศรีอยุธยา ซึ่งช่วงนั้นเรียกกันว่า อโยธยา

ทว่า คำว่า “อโยฌปุระ” หรือ “อโยธยา” ในตำนานกลับมีนัยยะซับซ้อนมากกว่านั้น มิได้หมายถึงแค่ช่วงต้นของกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใดเลย

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ฝากให้พินิจพิเคราะห์ว่า ชื่อกษัตริย์ “อาทิตยราช” นั้น เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงของนครรัฐหริภุญไชย มีอายุร่วมสมัยไล่เลี่ยกับพระเจ้าอนิรุทธแห่งพุกาม และพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 แห่ง Angkor Thom

ดังนั้น ตำนานน่าจะมีความคลาดเคลื่อนในการประพันธ์ ไปเอาชื่ออโยธยาเข้ามาใส่ให้แก่กษัตริย์ผู้มีอำนาจเกรียงไกรอย่างสูงสุดในแว่นแคว้นเมืองเหนือ ซึ่งพระญาอาทิตยราชนี้ก็เคยกรีธาทัพลงมาสู้รบกับรัฐละโว้ (ลพบุรี) หลายครั้งอีกด้วย

การเขียนตำนานแบบผิดฝาผิดตัวในช่วงนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ อธิบายว่า อย่าว่าแต่ยุคสมัยของเราเลยที่อ่านแล้วสับสน แม้แต่ผู้ปริวรรตตำนานรัตนพิมพวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 คือ พระธรรมปรีชา (แก้ว) เอง ก็ไม่ทราบว่าจะหาคำอธิบายให้คนอ่านเข้าใจอย่างไรดีต่อข้อความในตำนานช่วงนี้

ได้แต่ทำคำขยายเพิ่มว่า “พระเจ้าอาทิตยราช คือผู้ครองแว่นแคว้นแดนสยามประเทศฝ่ายเหนือ ซึ่งเมืองโบราณนั้นเรียกว่า กรุงอโยธยา แต่จักตั้งอยู่ ณ สถานที่แห่งใดนั้น ยังมิอาจทราบชัดถนัดแน่”

เห็นได้ว่าปราชญ์รัตนโกสินทร์ ช่วงที่ต้องจัดทำคำอรรถาธิบายเกี่ยวกับความย้อนแย้งของกษัตริย์ที่ชื่อ “อาทิตยราช” (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-ต้น 17) กับการที่พระองค์ครองเมืองอโยธยา (เป็นที่รับรู้กันว่า เมืองนี้หมายถึงกรุงศรีอยุธยาตอนต้น มีขึ้นไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 19) ปราชญ์ยุคต้นรัตนโกสินทร์ก็ทำได้เพียงแค่

“ปฏิเสธเช่นกัน ว่าอโยธยาในตำนานพระแก้วมรกตมิใช่กรุงศรีอยุธยาตามที่เรารู้จัก แต่ต้องเป็นเมืองที่อยู่หนไหนสักแห่งในภาคเหนือ”

ชินกาลมาลีปกรณ์ เขียนขึ้นก่อน รัตนพิมพวงศ์

พระแก้วมรกต-พระพุทธสิหิงค์

เริ่มมาบรรจบกันที่กำแพงเพชร

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากที่พระแก้วมรกตได้ประดิษฐาน ณ กรุงอโยฌยาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ชินกาลมาลีปกรณ์ระบุว่า “พระเจ้าติปัญญา” แห่งกำแพงเพชร (ในรัตนพิมพวงศ์ใช้ชื่อว่า “ภูบดี” เสวยราชย์ในวชิรปราการปุระ)

เมื่อทราบถึงเดชานุภาพของพระรัตนปฏิมา ได้เดินทางมาเอาพระแก้วอมรโกฏนั้นไปจากอโยฌยา โดยไม่ได้บอกเหตุผลว่าทำไมจึงสามารถเอาไปได้โดยง่าย?

หลังจากกำแพงเพชร (ซึ่งเป็นรอยต่อของรัฐสุโขทัยแห่งลุ่มน้ำปิง) แล้ว พระแก้วมรกตได้ถูกอัญเชิญขึ้นไปยังนครเชียงราย โดย “ท้าวมหาพรหม” พระอนุชาของกษัตริย์กือนา ทั้งสองพี่น้องเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงทางประวัติศาสตร์

และท้าวมหาพรหมท่านนี้เอง เป็นคนเดียวกันกับที่อัญเชิญ “พระพุทธสิหิงค์” จากกำแพงเพชรขึ้นสู่ดินแดนโยนกล้านนาเป็นครั้งแรกอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ตั้งข้อสังเกตว่า ชื่อของ “เจ้าติปัญญา” แห่งกำแพงเพชรคนเดียวกันนี้ ยังได้ไปปรากฏซ้ำ แบบสอดคล้องกันกับตำนานพระพุทธสิหิงค์

อาจารย์รุ่งโรจน์จึงสรุปว่า นับแต่เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในเชียงรายเป็นต้นไปนับต่อจากนี้ เริ่มน่าจะมีเค้าโครงจริงทางประวัติศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เพราะพระแก้วมรกตสร้างขึ้นในล้านนานี่เอง

ทว่า เรื่องเล่าก่อนหน้านั้นทั้งหมด เป็นการรวบรวมเอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของบุคคลผู้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ของรัฐเพื่อนบ้าน มาเชื่อมโยงให้มีสีสันจนดูเสมือนจริง เพื่อให้พระแก้วมรกตมีความศักดิ์สิทธิ์มากยิ่งขึ้นนั่นเอง •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ