ฝุ่นการเมือง | คำ ผกา

คำ ผกา

มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ภัยพิบัติเนื่องจากค่าฝุ่น PM 2.5 สูงในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน

คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวของฉันคือ ณ ตอนนี้ จังหวัดที่ค่าฝุ่นสูงคือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง แพร่ พิษณุโลก จังหวัดในภาคอีสานอย่างกาฬสินธ์ุก็สูงในระดับที่อันตราย

หากใช้เกณฑ์นี้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ทำไมไม่ประกาศในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ด้วย ทำไมประกาศแต่จังหวัดเชียงใหม่

ในช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ สูงติดต่อกันนับสิบๆ วัน ก็ไม่เห็นมีใครเรียกร้องให้ประกาศ กทม.เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ

หรือว่าคนเชียงใหม่เป็นคนพิเศษจึงได้รับความห่วงใยเป็นการจำเพาะกว่าคนลำปาง ลำพูน เชียงราย?

 

ฉันเองในปี 2019 ก็เคยหัวฟัดหัวเหวี่ยงที่รัฐบาลไม่ประกาศให้เชียงใหม่เป็นเขตภัยพิบัติ เพราะคิดตื้นๆ ว่า ประกาศภัยพิบัติจะได้ไม่หนีปัญหา เผชิญหน้ากับความจริง และลงมือแก้ปัญหาจริงจัง

เพราะในบริบทของปี 2019 รัฐบาลเวลานั้นสื่อสารกับประชาชนน้อยมาก และทำประหนึ่งว่า สาเหตุของฝุ่นมาจากความโลภ ความโง่ของประชาชนที่จะเผาเอาเห็ดถอบ

มีการรณรงค์ให้ประชาชนเลิกกินหมูกระทะเพราะสร้างฝุ่นควันหรือแม้กระทั่งออกมาพูดว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีมานานแล้ว แต่สมัยก่อนไม่รู้ ไม่เดือดร้อน เพราะไม่มีเครื่องวัดค่าฝุ่น

แต่ปีนี้ฉันไม่เห็นด้วยกับการประกาศให้เชียงใหม่เป็นเขตภัยพิบัติ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

หนึ่ง ถ้าเราประกาศให้เชียงใหม่เป็นเขตภัยพิบัติ เราต้องประกาศให้จังหวัดอื่นๆ ทุกจังหวัด ที่มีค่าฝุ่นสูงในขีดอันตรายติดต่อกันสิบวัน เป็นเขตภัยพิบัติด้วยหรือไม่?

สอง วัตถุประสงค์ของการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ คือ เพื่อให้ผู้ว่าฯ มีอำนาจสั่งการอะไรก็ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และใช้งบประมาณได้ 50 ล้านบาท เช่น มีพายุดินถล่ม คนตาย ต้องอพยพคนออกจากพื้นที่ เลยต้องให้อำนาจเต็มแก่ผู้ว่าฯ สั่งกองทัพได้ สั่งทหาร ตำรวจได้ สั่งใครก็ได้ ให้ออกมาช่วยประชาชนทันที สั่งใช้เงินทันที

ถามว่า ณ ตอนนี้ สถานการณ์อย่างที่เป็นอยู่นี้ เราอยากให้ผู้ว่าฯ มีอำนาจนั้นหรือ?

โชคดีที่ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ไม่บ้าอำนาจ เลยไม่ประกาศ

 

โดยที่ไม่จำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน ภัยพิบัติ ให้ตื่นตระหนก เพราะประกาศไป ค่าฝุ่นก็ไม่ได้ลด ฟ้าก็ไม่ได้ใสขึ้นมา (ในขณะที่ถ้าเป็นภัยพิบัติอื่น เช่น น้ำท่วมใหญ่ ประกาศภัยพิบัติปุ๊บ ผู้ว่าฯ เอางบฯ สั่งคนทำบ้านชั่วคราวให้ประชาชนได้เลย) ผู้ว่าฯ ก็สามารถใช้กระบวนการทำงานตามปกติของความร่วมมือจากกองทัพภาค จากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น จากนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้ทั้งหมดอยู่แล้ว จึงไม่รู้ว่าจะประกาศไปให้มันได้อะไรขึ้นมา

ส่วนเรื่องงบฯ มีรายละเอียดอีกว่า การควบคุม จัดการไฟป่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอยู่ในอำนาจของการปกครองส่วนท้องถิ่น

แต่ที่ลักลั่นคือ ไฟป่าเกิดในป่าที่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าที่เป็นอุทยานแห่งชาติซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจการดูแลของท้องถิ่น แต่เป็นอำนาจการดูแลจัดการของกรมอุทยานฯ ที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาวก็ต้องมาดูว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ต้องจัดสรรงบฯ ดูแลไฟป่าอย่างไร

และอย่างที่ฉันพูดมาทุกปีคือ การจัดการเรื่องไฟป่าคืองานที่ต้องทำตลอดทั้งปี ไม่ใช่ทำเฉพาะงานดับไฟในห้วงเวลาที่มีไฟไหม้ และงานจัดการไฟป่าที่ต้องทำตลอดปีนี้ต้องใช้งบฯ เท่าไหร่จึงเหมาะสมและเพียงพอ

แต่การแก้ปัญหาระยะสั้นในตอนนี้ (อย่าลืมว่ารัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เพิ่งเข้ามาทำงานแค่ 6 เดือนเท่านั้น) รัฐบาลอนุมัติงบฯ กลาง 272 ล้านบาทให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ไปจัดการเรื่องไฟป่าทั่วประเทศ

และทางจังหวัดเชียงใหม่ของบฯ กลางอีกส่วนหนึ่งเพื่อจัดสรรให้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นที่เจอปัญหาไฟป่าหนักๆ ในเขตที่ไม่ใช่ป่าสงวนฯ หรืออุทยานฯ เช่น ป่าในจุดที่ชาวบ้านเรียกว่า “ป่าแพะ” คือป่าเบญจพรรณแห้งแล้งที่ชาวบ้านไปเก็บผักหวาน หาไข่มดแดงกันนั่นเอง

 

เมื่ออ่านสองเหตุผลนี้ เราก็จะเข้าใจทันทีว่า มันไม่มีความจำเป็นต้องประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติเลย เพราะจะประกาศเพื่อเอางบฯ รัฐบาลก็อนุมัติงบฯ แล้ว จะประกาศเพื่อให้อำนาจผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯ ก็มีอำนาจแล้ว ไม่ว่าจะประกาศเรียนออนไลน์ ปิดโรงเรียน ประกาศเวิร์กฟรอมโฮม แจกหน้ากาก เหล่านี้ทำได้ โดยไม่ต้องประกาศสถานการณ์อะไรเป็นพิเศษ

ตรงกันข้าม การประกาศ จะสร้างสภาวะทาง “ความรู้สึก” ที่เป็นลบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการโดยใช่เหตุ

พูดแบบนี้ก็มีคนมาบอกว่า “รัฐบาลไม่มีหัวใจห่วงเศรษฐกิจ ห่วงนักท่องเที่ยวมากกว่าสุขภาพของคนเชียงใหม่”

ก็คงต้องให้คนที่โวยวายแบบนี้วางอารมณ์ลงก่อนแล้วค่อยๆ ตั้งใจฟังเหตุผล

รัฐบาลไม่ได้ห่วงนักท่องเที่ยว เพราะถ้าห่วงนักท่องเที่ยว รัฐบาลต้องประกาศปิดเมืองแล้วบอกว่า นักท่องเที่ยวทั้งหลาย โปรดอย่ามาในเมืองของเรา เพราะเมืองของเราอากาศแย่มาก คุณอาจตายผ่อนส่งถ้ามาเที่ยวบ้านเรา

แบบนี้ ถึงจะเรียกว่าห่วงนักท่องเที่ยวมากกว่าห่วงคนท้องถิ่น

แต่รัฐบาลไม่ได้ห่วงนักท่องเที่ยว เรามั่นใจว่านักท่องเที่ยวเขาอ่านหนังสือออก เข้ากูเกิลหาข้อมูลได้ เขาอ่านข่าวเกี่ยวกับอากาศเชียงใหม่มาแล้ว เราไม่ได้โกหกเขาว่าอากาศดี แต่เราไม่ห้ามถ้าใครอยากมา เราไม่ได้ประกาศภัยพิบัติ เพราะข้อมูลค่าอากาศไม่ใช่ความลับ รู้แล้วก็ตัดสินใจเองว่าจะมาหรือไม่มา มันก็แค่นั้น

ตรงกันข้าม ถ้าประกาศภัยพิบัติ สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีคือมีผลต่อการทำประกันภัยการเดินทางของนักท่องเที่ยว เศรษฐกิจเชียงใหม่ที่เพิ่งลืมตาอ้าปากได้ช่วงหลังโควิดที่ซึมยาวไปสามปี จะได้รับผลกระทบทันที

ถามว่า เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้ว การไม่ประกาศเขตภัยพิบัติ นอกจากจะไม่ทำให้ได้อะไรเพิ่ม ไม่ก่อผลดีกับใคร ยังสร้างความเสียหายกับเชียงใหม่และชาวเชียงใหม่โดยใช่เหตุ

 

ส่วนการจัดการปัญหาฝุ่นของเชียงใหม่ เท่าที่ฉันติดตามมาในปีนี้ เราต้องเข้าใจว่า ฝุ่นเชียงใหม่มี 3 ฤดูฝุ่น PM 2.5 เชียงใหม่เกิดจากควันรถสันดาป มากหรือน้อย แปรผันตามสภาพการจราจร

ดังนั้น การแก้ไขปัญหา PM 2.5 ของเชียงใหม่ต้องทำเรื่องรถอีวี, การขนส่งมวลชน และการจัดการปัญหาการจราจร ซึ่งคนมักเข้าใจว่า PM 2.5 เชียงใหม่ เกิดจากการเผาอย่างเดียว จึงพูดเรื่องพลังงานสะอาดกันน้อย

PM 2.5 ในฤดูเผาชีวมวล (ถ้าไม่ไปฟังนักวิชาการเรื่องนี้มา ฉันจะไม่รู้จักคำนี้แน่ๆ) จะเกิดขึ้นในปลายเดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ตรงนี้น่าสนใจมากว่า ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ยืนยันด้วยตัวเลขว่า แก้ไขได้ 100% ทำให้อากาศเชียงใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ ดีตลอดเดือน ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจเชียงใหม่ เพราะตลอดเดือนนั้นคนมาเที่ยว มาใช้ชีวิตในเชียงใหม่ได้ ตรงกันข้ามกับปี 2566 ที่เดือนกุมภาพันธ์ อากาศค่อนข้างแย่

ส่วนในเดือนมีนาคม-เมษายน เป็น PM 2.5 ที่เกิดจากไฟป่า และ hotspot จากพื้นที่ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นนอกเขตเชียงใหม่ (แปลว่า ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดต้องไปกดดันกันเองแล้วว่า ของจังหวัดฉันไม่มี แต่จังหวัดเธอแดงเถือกนะ ทำให้อากาศจังหวัดของฉันพลอยแย่ไปด้วย) หรือนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้าน ที่เราทำอะไรได้น้อยมาก เว้นแต่ไปขอความร่วมมือ ซึ่งในที่สุดหากจะแก้ปัญหาก็ต้องทำในระดับพหุภาคี หรือยกให้เรื่องมลพิษทางอากาศเป็นวาระหลักของอาเซียนที่ผลักดันร่วมกัน

อ้างอิงจากนักวิจัย ที่ไปฟังการรายงานเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา พบว่า hotspot ของเชียงใหม่ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า การจัดการไฟป่าปีนี้ สามารถดับได้ภายในหนึ่งวัน ทำให้ไฟไม่ลุกลามกลายเป็นไฟแปลงใหญ่ ไหม้หลายวันติดต่อกันทำให้เกิดมลพิษสะสม

แต่เหตุที่ค่าฝุ่นรุนแรงขึ้นกว่าปีที่แล้วทั้งๆ ที่จุด hotspot ลดลง มีสาเหตุจากความกดอากาศ เป็นตัวแปรที่เราควบคุมไม่ได้ และถูกซ้ำเติมจาก hotspot ที่อยู่นอกเขตทั้งนอกเขตจังหวัดและนอกประเทศ

 

นี่คือสถานการณ์ตามความเป็นจริง ค่าฝุ่นยังแย่ รัฐบาลก็ต้องตั้งหน้าตั้งตาทำงาน แก้ปัญหาไป ไม่มีข้อแก้ตัว แต่อย่างน้อยเรารู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น และมีการทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน อนาคตจะทำอะไรต่อไป

ตรงข้ามกับปีที่ผ่านๆ มา ที่เราแทบไม่รู้แผนการทำงาน อดีต ปัจจุบัน อนาคตเลยด้วยซ้ำ

การที่เรารู้ต่างจากที่เราไม่รู้อย่างไร? การที่เรารู้ทำให้เราติดตาม KPI การทำงานของรัฐบาลได้แบบมีโฟกัส ไม่สะเปะสะปะ ตรงไหนยังห่วยอยู่ก็จะแก้ได้ถูกจุด

ปัญหาเชิงโครงสร้างจริงๆ ของเรื่อง PM 2.5 สำหรับฉันยังคงเป็นเรื่องผังเมือง การจัดการป่า และการมีขนส่งมวลชนที่ดี เชียงใหม่ไม่ควรเป็นเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยรถมอเตอร์ไซค์ หรือรถยนต์ส่วนตัวอีกต่อไป

ผังเมืองเป็นเรื่องการออกแบบเมืองให้สวยงาม มีพื้นที่สีเขียว มีทางจักรยาน มันน่าเสียดายมาก เชียงใหม่มีแม่น้ำหลายสาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำแม่คาว น้ำแม่โจ้ ฯลฯ เชื่อมต่อกับลำเหมืองสาธารณะ หากถูกพัฒนาในเชิง landscape ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เราจะได้ทางจักรยาน ทางสัญจร พื้นที่สีเขียว พื้นที่ทางงานหัตถกรรม สุนทรีย์ทางใจ

เรื่องนี้เรียกร้องมาตลอดชีวิต และสะเทือนใจทุกครั้งที่เห็นเชียงใหม่เติบโตแบบไร้รสนิยมในทางสถาปัตยกรรมผังเมือง

ปัญหาการปลูกพืชไร่ขนาดใหญ่บนภูเขา จากไร่ฝิ่น สู่ภูเขาหัวโล้น สู่ดอยปลูกกะหล่ำ สู่การเป็นดอยข้าวโพดอาหารสัตว์ และฉันไม่ได้พูดเล่นๆ หากจะบอกว่าสมัยที่ปลูกฝิ่น เรามีป่าที่ไม่ต้องเผา และอุดมสมบูรณ์กว่านี้

แต่ปัจจุบันเราต้องเปลี่ยนจากป่าดอยข้าวโพดไปสู่การเป็นป่ากาแฟ ป่าต้นคราม ป่าปลูกโกโก้ หรือไม่ นี่เป็นหนึ่งของการแก้ปัญหาระยะยาว ไปจนถึงการคิดเรื่องวัตถุดิบอาหารสัตว์ว่าถ้าไม่ใช่ข้าวโพดจะเป็นอะไร

 

ก่อนจะแก้ปัญหาระยะยาวนั้น ฉันขอชี้นิ้วไปที่สิ่งซึ่งท้องถิ่นต่างๆ ทำได้เลย (ติด สตง. อีกหรือเปล่า?) นั่นคือ การทำห้องเรียนติดแอร์ ปลอดฝุ่น ติดเครื่องฟอกอากาศ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในโรงเรียน การออกแบบอาคาร สถานที่ราชการโดยใช้วัสดุที่สร้างความเย็น มากกว่าสร้างความร้อน ลดพื้นที่การเทพื้นคอนกรีต หันมาหาวัสดุที่จรรโลงใจ จรรโลงอุณหภูมิ และดูดซับมลพิษจากภายนอกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำ

เรื่องเล็กๆ เหล่านี้ควรทำได้เลย

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล มีห้องแอร์ มีเครื่องฟอกอากาศให้คนได้เข้าไปหลบใช้ชีวิต และย้ำว่า เรามีวิกฤตพื้นที่สีเขียว ที่ต้องเสริมว่า ไม่เท่ากับการปลูกต้นไม้เชิงปริมาณ แต่ต้องปลูกอย่างมีหลักวิชาการรองรับ

ช่วยกันส่งเสียงเรื่องนี้ต่อไป ใครแก้ปัญหาฝุ่นได้ รับรองชนะเลือกตั้งยาวๆ