ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 มีนาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เครื่องเคียงข้างจอ |
เผยแพร่ |
ในแพลตฟอร์มยูทูบตอนนี้มีการฉายภาพยนตร์แอนิเมชั่นฝีมือคนไทย ชื่อเรื่องว่า “2475 Dawn of Revolution” หรือ “2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ” ความยาว 2 ชั่วโมงนิดๆ
ได้เกิดมีกระแสวิจารณ์ถึงหนังเรื่องนี้มากมายทั้งในแง่บวกและแง่ลบ
ซึ่งไม่เกินเลยการคาดเดา เพราะเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในสมัยรัชกาลที่ 7 มาเป็นระบอบประชาธิปไตย มีพื้นที่ให้เกิดการเผชิญหน้าทางด้านความคิด ความเชื่อ อยู่แล้ว แล้วแต่ใครจะมองมุมไหน
แอนิเมชั่นเรื่องนี้ผลิตโดย บริษัท นคราสตูดิโอ กำกับฯ โดย วิวัธน์ จิโรจน์กุล ซึ่งพ่วงหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์ร่วมกับ ปัณฑา สิริกุล ด้วย
การนำเรื่องจริงในประวัติศาสตร์มานำเสนอ เรื่องของข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ หนังเรื่องนี้ได้ทำการศึกษาข้อมูลต่างๆ มากมายจากหนังสือและบทความที่ได้เขียนและบันทึกไว้ผ่านบุคคลต่างๆ ทั้งผู้ที่มีส่วนกับเหตุการณ์โดยตรงและผู้ที่ได้ค้นคว้าเรียบเรียง
หากดูในเอ็นด์เครดิตตอนท้ายจะพบกับรายชื่อหนังสือร่วม 80 เรื่อง
เหตุการณ์กรณีที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 นี้ ได้เคยมีความพยายามนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วในปี 2531 โดยผู้กำกับฯ ชื่อดัง ยุทธนา มุกดาสนิท จับเอาเหตุการณ์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ซึ่งตอนนั้นมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และได้มีความพยายามลอบสังหารตัวจอมพล ป. หลายครั้ง
และผู้ที่ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นตัวการใหญ่คือพันเอกพระยาทรงสุรเดชที่คุมกองกำลังอยู่ที่เชียงใหม่ จึงได้มีคำสั่งให้กวาดล้างผู้ต้องสงสัยอย่างเอิกเกริก
นักโทษการเมืองทั้งหมดถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกองมหันตโทษ โดยนักโทษที่มีคำสั่งให้ถูกประหารชีวิต ได้ถูกทยอยนำตัวมายิงเป้าวันละ 4 คน จนครบจำนวน 18 คน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ กบฏ 18 ศพ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าผู้ถูกลงโทษทั้งหมด มีผู้ใดกระทำผิดจริงหรือไม่
หนังเรื่องนี้มีชื่อว่า “2482 นักโทษประหาร” แต่สุดท้ายก็ไม่ได้สร้างเพราะไปกระทบกับบุคคลในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับบุคคลจริงตามประวัติศาสตร์หลายคน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง
ประกอบกับบ้านเมืองตอนนั้นยังจำกัดเรื่องอิสระและเสรีภาพในการคิด เขียน พูด และสร้างสื่อสาธารณะอยู่มาก ด้วยเหตุผลสำคัญด้านความมั่นคง
จากตอนนั้นเมื่อ 35 ปีมาแล้ว มาถึงปี 2558 ที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปตามโลกที่ได้ให้ความสำคัญในการแสดงออกมากขึ้น เรื่องที่เกี่ยวพันกับนักโทษคดีลอบสังหารจอมพล ป.พิบูลสงคราม นี้ ถูกนำมาเขียนใหม่เชิงนิยายจากปากกาของนักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2540 และปี 2542 “วินทร์ เลียววาริณ” ชื่อหนังสือว่า “น้ำเงินแท้”
จากที่เป็นหนังสือก็ได้รับการขยายผลต่อในอีกสื่อหนึ่ง โดยในปี 2562 บริษัท Dreambox ได้นำตัวนิยายมาดัดแปลงสร้างเป็นละครเวทีชื่อว่า “น้ำเงินแท้ เดอะมิวสิคัล”
จากนั้นถัดมาถึงปี 2567 ก็ได้มีการนำเหตุการณ์หลักคือ เหตุการณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยตรงมาสร้างเป็นแอนิเมชั่นเรื่อง “2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ” นี้
ซึ่งจะว่าไปก็ตรงกับเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยตอนนี้ ในเรื่องที่เกี่ยวพันกับสถาบันกษัตริย์ทั้งจากพรรคการเมือง และจากคนรุ่นใหม่
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า คอลัมน์เครื่องเคียงข้างจอนี้ไม่ได้เขียนเพื่อถือข้างด้านใด ไม่ว่าจะฝ่ายอนุรักษนิยม หรือฝ่ายเสรีนิยม ที่ดูจะเป็นคู่ขัดแย้งกันโดยตรงผ่านเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งผ่านแอนิเมชั่นเรื่องนี้ด้วย
แต่ที่อยากเขียนถึงเพราะดีใจที่มีการนำเหตุการณ์สำคัญๆ ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยมานำเสนอกันมากขึ้น
หากจำกันได้เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการผลิตสารคดีเรื่อง “พิบูลสวัสดี เดอะซีรีส์” ที่เกี่ยวกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยตรงขึ้นมา ซึ่งก็ได้รับความสนใจใคร่รู้จากสังคมมากมาย
จากการนำเสนอต่างๆ เหล่านี้ จะก่อให้เกิดการกระตุ้นความสนใจ ใคร่รู้ เกิดการวิพากษ์ถกเถียงกันด้วยสติปัญญา ไม่นับเรื่องอารมณ์นะครับ เกิดเป็น “การเรียนรู้ที่สำคัญ” เป็นการเรียนรู้เพื่อนำมาใช้เป็นบทเรียนในปัจจุบัน และในอนาคต
โดยไม่มีถูกมีผิด
ในตอนต้นเรื่องของแอนิเมชั่นเรื่องนี้ ตัวละครที่ชื่อ ดอน ซึ่งเป็นบรรณารักษ์ของห้อง สมุดได้พูดกับคนรุ่นใหม่สามคนที่มาห้องสมุดเพื่อค้นคว้าทำรายงานเรื่องประชาธิปไตยไว้ว่า
“การศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้ตายตัวเหมือนสูตรคูณ มันคือทางเลือกของคนเขียน เลือกทั้งข้อมูลที่จะใส่ เลือกทั้งทิศทางที่จะตีความ มีเรื่องสำคัญอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้ถูกพูดถึง และค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา เราจึงต้องใช้หนังสือหลายเล่ม จากหลายมุมมองของผู้เขียน เพื่อเชื่อมโยงหาสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้”
และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้ทำหน้าที่เชื่อมโยงหาสิ่งที่เกิดขึ้น ผ่านการผลิตแบบแอนิเมชั่นที่มีการใช้ทั้ง 2D และ 3D ซึ่งผลงานที่ออกมาทำได้ดีกว่าที่นึกไว้ ภาพที่เป็นฉากหลังต่างๆ ทำได้สวยงามและมีรายละเอียด แม้การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวของตัวละครจะไม่ราบรื่นนัก แต่ก็คงด้วยงบประมาณและเวลาที่จำกัด
หนังเลือกวิธีการเล่าตามลำดับเวลาตรงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน จึงดูง่าย เข้าใจง่าย แม้จะขาดความเฉียบคมไปบ้าง เพราะบางตอนเหมือนฟังเล็กเชอร์ในห้องเรียน และด้วยตัวละครที่มีมากและบางครั้งหน้าตาอาจจะดูคล้ายๆ กัน ผู้ที่ไม่สันทัดเรื่องประวัติศาสตร์นักอาจจะมีความสับสนได้
ส่วนการพากย์เสียง ก็ได้ใช้นักแสดงมีฝีมือหลายคนมาพากย์ร่วมกับทีมงานพากย์มืออาชีพ
ขอกระซิบบอกด้วยความภูมิใจนิดๆ ว่า มีเพื่อนผม คุณดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค ร่วมให้เสียงในเรื่องนี้ด้วย เป็นตัวละครตัวไหนลองไปดูกันนะครับ แต่เป็นถึงหนึ่งในนายกรัฐมนตรีเชียวนา
สำหรับสิ่งที่น่าเสียดายคือ งานด้านดนตรีประกอบ ที่น่าจะทำเพื่อสร้างอารมณ์ร่วมและขับเน้นเรื่องราวให้น่าติดตามได้มากกว่านี้ หลายฉากที่ควรจะตื่นเต้นหรือรู้สึกหดหู่จึงเงียบไปสักหน่อย และดูเอื่อยๆ อยู่บ้าง
ในตอนท้ายของหนัง บรรณารักษ์ดอนได้พูดกับคนรุ่นใหม่ทั้งสามเป็นการทิ้งท้ายว่า
“ประเทศของเรามาไกลเกินกว่าที่จะต้องโทษสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตแล้ว เพราะเราย้อนเวลากลับไปแก้ไขไม่ได้ มันจึงอยู่ที่ว่าเราต้องเข้าใจความผิดพลาดในอดีต และนำมาเป็นบทเรียนเพื่อที่จะก้าวต่อไปในอนาคต”
การแสดงออกผ่านสื่อต่างๆ ก็เป็นการกระตุ้นให้เกิดความคิดและการเรียนรู้ น่าเสียดายที่หลายๆ ครั้ง ผู้มีอำนาจกลับใช้อำนาจนั้นลิดรอนและปิดกั้นการแสดงออกนี้ เพื่อรักษาอำนาจของตน โดยไม่ให้ความสำคัญกับโอกาสของประชาชนเลย
ดังนั้น เมื่อมีข่าวว่าภาพยนตร์ไทยเรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย Shakespeare Must Die” ที่ดัดแปลงจากเรื่องแม็กเบธ ของวิลเลียม เช็กสเปียร์ ซึ่งถูกสั่งระงับการฉายเมื่อปี 2555 โดยเหตุผลว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ได้รับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดให้ยกเลิกคำสั่งแบน และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้สร้างเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สังคมไทยจะได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้เรื่องราวของบ้านเมืองผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้
จึงเป็นกำลังใจให้กับนักคิด นักเขียน นักสร้างสรรค์ผลงานที่ช่วยกันเสริมสร้าง “เครื่องมือดีๆ” ที่จะช่วยกันทำให้สังคมนี้มีความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ มากขึ้น
แม้ในประโยคสุดท้ายของแอนิเมชั่นเรื่องนี้ก็ได้บอกว่า
“ความแตกต่างที่อยู่ร่วมกันได้ คือความสวยงามของประชาธิปไตย”
ขออย่าให้เป็นเพียงคำพูดสวยหรูเลยนะ ท่านๆ ที่มีอำนาจทั้งหลาย สาธุ •
เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022