สำรวจ ‘ค่าตอบแทน’ ครูทั่ว ปท. ก่อน ศธ.ดีเดย์ปรับขึ้นเงินเดือน 1 พ.ค.67

จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 มีมติขึ้น “เงินเดือนข้าราชการ” ตามการศึกษาแนวทางปรับเงินเดือนข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โดยหลักการจะอิงการปรับฐานเงินเดือน ค่าแรงขั้นต่ำปี พ.ศ.2555 ที่มีการปรับฐานเงินเดือนแรกเข้า ใช้บังคับวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และวันที่ 1 พฤษภาคม 2568

โดยวุฒิ “ปริญญาตรี” ภายใน 2 ปีแรกเข้า ปรับแล้วไม่ต่ำกว่า 18,000 บาท ปรับปีละ 10% ปีแรกปรับเป็น 16,500 บาท และปีที่ 2 ปรับเป็น 18,000 บาท ส่วนวุฒิ “ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)” ปรับปีละ 10% ไม่ต่ำกว่า 11,000 บาท

ส่วน “ข้าราชการเดิม” ที่ฐานเงินเดือนต่ำกว่า 18,000 บาท กลุ่มนี้จะได้ปรับชดเชย เพื่อให้ได้ระดับมาตรฐานเดียวกัน

นอกจากนี้ จะปรับเงินเพิ่ม “การครองชีพชั่วคราว” ซึ่งมีหลักการว่าใครเงินเดือนต่ำกว่า 13,285 บาท ให้ได้เงินค่าครองชีพเดือนละ 2,000 บาท ของใหม่จะปรับฐานรวมกับค่าครองชีพชั่วคราวไม่เกิน 14,600 บาท ถ้ามีเงินเดือนไม่เกิน 14,600 บาท จะได้เงินครองชีพชั่วคราวอีก 2,000 บาท

อีกกลุ่มคือ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ที่เงินเดือนต่ำมาก จะบวกเงินเพิ่มค่าครองชีพ หากไม่เกิน 11,000 บาท จะเพิ่มให้ถึง 11,000 บาท

โดยงบประมาณส่วนเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว จะใช้ประมาณ 3 พันล้านบาท และงบฯ เพื่อปรับเงินดือนข้าราชการ ปีแรกใช้งบฯ 7.2 พันล้านบาท ปีที่ 2 ใช้ 8.8 พันล้านบาท โดยจะเริ่มดีเดย์วันที่ 1 พฤษภาคม 2567

 

สําหรับการปรับเงินเดือนข้าราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้หารือการเตรียมความพร้อมการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมติ ครม.

โดยสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้จัดเตรียมร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรอง เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรอง (การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุใหม่) (อำนาจ และหน้าที่ ก.ค.ศ.) และร่างกฎ ก.ค.ศ.การให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำ หรือสูงกว่าขั้นสูงของอันดับ พ.ศ….

เพื่อรองรับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ และปรับชดเชย ผู้ได้รับผลกระทบสำหรับคุณวุฒิปริญญาเอก ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2568

ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มีนโยบายเร่งรัดให้เตรียมความพร้อมการปรับเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

โดยให้แต่ละหน่วยงานจะต้องมีข้อสรุปเรื่องของบุคลากร ให้ทันภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567

 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตําแหน่งครูผู้ช่วย ซึ่งมีอัตราว่างที่คาดว่าจะได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง หลังวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 จํานวน 9,843 อัตรา ซึ่งรายละเอียดอยู่ระหว่าง ก.ค.ศ.กําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อให้การดําเนินการสอดคล้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

โดยครูผู้ช่วยทั้ง 9,843 ราย จะเป็นครูบรรจุใหม่ที่จะได้รับเงินเดือนตามมติ ครม.ทันที โดยในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 จะได้รับเงินเดือน 16,500 บาท และหากได้รับการบรรจุในวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 อัตราเงินเดือนแรกบรรจุจะขยับขึ้นมาเป็น 18,000 บาท

สำหรับข้าราชการครูที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นเงินเดือนแรกบรรจุ ซึ่ง สพฐ.อยู่ระหว่างการรอเกณฑ์จากสำนักงาน ก.ค.ศ.นั้น ยังสรุปตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้ ว่ามีข้าราชการครูเดิมที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ จำนวนเท่าไหร่ และจะได้รับการชดเชยเท่าใด เพราะต้องรอความชัดเจนของหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนดก่อน

แต่โดยหลักการแล้ว การจะได้รับเงินชดเชยเพิ่มเท่าใด จะขึ้นอยู่กับฐานเงินเดือนปัจจุบัน

ขณะนี้สำนักงาน ก.ค.ศ.อยู่ระหว่างนำเสนอช่วงเงินเดือนของผู้ที่คาดว่าได้รับผลกระทบ หรืองบฯ ต่อสำนักงาน ก.พ.แต่โดยหลักการ ครูที่รับราชการมาแล้ว 10 ปี ด้วยวุฒิปริญญาตรี จะเป็นครูที่อยู่ในระดับครูชำนาญการ คือเป็นครูผู้ช่วย 2 ปี + ครู 4 ปี + ครูชำนาญการ 4 ปี ซึ่งเงินเดือนจะอยู่ในช่วงที่ได้รับการปรับเงินเดือนชดเชย

นอกจากนี้ ถ้าดูข้อมูลจำนวนครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในเว็บไซต์ จะพบว่าปี 2566 มีครูผู้ช่วยจนถึงครูที่มีวิทยฐานะครูชำนาญการ ที่น่าจะบรรจุมาแล้ว 10 ปี กว่า 1.2 หมื่นคน อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการปรับเงินเดือนชดเชย

 

อย่างไรก็ตาม หากนำตัวเลข “ค่าตอบแทน” ที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ อัตราเงินเดือน และเงินวิทยฐานะ มาเปรียบเทียบทั้งก่อน และหลัง ว่ามีแนวโน้มจะได้ปรับเพิ่มเงินเดือนเท่าไหร่ ตามตำแหน่งข้าราชการครู ได้แก่ “ครูผู้ช่วย” จบปริญญาตรี เป็นตำแหน่งแรกบรรจุที่ยังไม่มีประสบการณ์, “คศ.1” ข้าราชการครูฯ 1 ยังไม่มีวิทยฐานะ, “คศ.2” ข้าราชการครูฯ 2 วิทยฐานะครูชำนาญการ, “คศ.3” ข้าราชการครูฯ 3 วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ, “คศ.4” ข้าราชการครูฯ 4 วิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ และ “คศ.5” ข้าราชการครูฯ 5 วิทยฐานะครูเชี่ยวชาญพิเศษ

โดยสายงานการสอน ครูมีอัตราเงินเดือนรวมกับค่าวิทยฐานะ ดังนี้ ครูผู้ช่วย เพดานเงินเดือนเริ่มต้น 15,050-24,750 บาท, ครู คศ.1 เพดานเงินเดือนเริ่มต้นจาก 15,440-34,310 บาท, ครู คศ.2 เพดานเงินเดือนเริ่มต้นจาก 16,190-41,120 บาท ยื่นขอวิทยฐานะครูชำนาญการได้ หากผ่านความเห็นชอบจาก ก.ค.ศ.จะได้รับเงินวิทยฐานะครูชำนาญการ 3,500 บาท/เดือน, ครู คศ.3 เพดานเงินเดือนเริ่มต้นจาก 19,860-58,390 บาท ยื่นขอวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษได้ หากผ่านความเห็นชอบจาก ก.ค.ศ.จะได้รับเงินวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ 5,600 บาท/เดือน

ครู คศ.4 เพดานเงินเดือนเริ่มต้นจาก 24,400 บาท และไต่ไปเรื่อยๆ จนสิ้นสุดที่ 69,040 บาท ยื่นขอวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญได้ หากผ่านความเห็นชอบจาก ก.ค.ศ.จะได้รับเงินวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ 9,900 บาท/เดือน และครู คศ.5 เพดานเงินเดือนเริ่มต้นจาก 29,980 บาท เงินเดือนไต่ไปเรื่อยๆ จนไปสิ้นสุดที่ 76,800 บาท ยื่นขอวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญพิเศษหากผ่านความเห็นชอบจาก ก.ค.ศ.จะได้รับเงินวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญพิเศษ 13,000-15,600 บาท/เดือน

ซึ่งปกติเงินเดือนครูจะไต่ระดับไปเรื่อยๆ ตามลู่วิ่งของตัวเอง จนชนเพดานสูงสุดในแต่ละอันดับ เมื่อชนเพดานแล้ว จะขยับไปกินเงินเดือนในลู่วิ่งต่อไปโดยอัตโนมัติ แต่สำหรับคนที่ต้องการให้เงินเดือนขยับสูงขึ้นเร็วกว่าระบบปกติ จะมีระบบฟาสต์แทร็ก คือการยื่นขอวิทยฐานะ เพื่อให้เลื่อนขั้นเงินเดือนเร็วขึ้น และวิทยฐานะดังกล่าว ก็ยังมีเงินวิทยฐานะด้วย โดยระบบวิทยฐานะ มีเพื่อจูงใจให้ครูพัฒนาตัวเอง และนำความรู้ไปพัฒนานักเรียนต่อ

ทั้งนี้ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ศธ.ต้องลุ้นว่าตัวเลขของผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นเงินเดือน ที่สำนักงาน ก.ค.ศ.อยู่ระหว่างนำเสนอ จะมีเท่าใด และจะได้ปรับเพิ่มเงินเดือนเท่าไหร่!! •

 

| การศึกษา