หอศิลป พีระศรี : คุณค่าและบทบาทต่อสังคมไทย (1)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

หอศิลป พีระศรี

: คุณค่าและบทบาทต่อสังคมไทย (1)

 

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2567 ที่จะถึงนี้ เป็นวาระบรรจบครบรอบ 50 ปีของการเปิด “หอศิลป พีระศรี” The Bhirasri Institute of Modern Art (BIMA) อย่างเป็นทางการ และครบ 36 ปีที่หอศิลปฯ ต้องปิดตัวไป

สำหรับศิลปินไทยรุ่นกลางไปจนถึงรุ่นใหญ่คงไม่มีใครไม่รู้จักหอศิลปฯ แห่งนี้ และไม่ใช่เพียงแค่แวดวงศิลปะ คนที่คลุกคลีกับงานด้านวัฒนธรรมแขนงอื่นๆ ไปจนถึงคนทั่วไปในยุคสมัยนั้นก็มีเป็นจำนวนไม่น้อยที่รู้จักคุ้นเคยกับสถานที่แห่งนี้เป็นอย่างดี เพราะตัวหอศิลปฯ มิได้ทำตัวเองเป็นพื้นที่ศิลปะอันสูงส่งเข้าถึงยาก แต่คือพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เปิดกว้างหลากหลายและเข้าถึงผู้คนในวงกว้างได้อย่างน่าชื่นชม

ในปลายเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ระหว่างวันที่ 28-30 โชคดีมากที่ผมได้รับอนุญาตจาก “มูลนิธิหอศิลป พีระศรี” ให้เข้าไปใช้พื้นที่สำหรับโครงการ Revitalizing Bangkok Through Art and Architecture : A Case Study on BIMA’s Vision for the City’s Future ซึ่งเป็นความพยายามในการฟื้นชีวิตและคืนความทรงจำให้กับสถานที่แห่งนี้อีกครั้ง แม้จะเป็นระยะเวลาเพียงแค่ 3 วันก็ตาม

และด้วยเหตุนี้ผมจึงคิดว่าควรใช้คอลัมน์นี้บอกเล่าคุณค่าและบทบาทที่สำคัญของหอศิลปฯ ที่มีต่อสังคมไทย

ภาพถ่ายด้านหน้าอาคารหอศิลป พีระศรี เมื่อปี พ.ศ.2517
ที่มาภาพ : ฐานข้อมูล มูลนิธิหอศิลป พีระศรี

หอศิลป พีระศรี เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2517 แต่แนวคิดการจัดตั้งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้ง อ.ศิลป พีระศรี ยังมีชีวิต โดยได้รับการสนับสนุนจาก ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

จดหมายของ ดร.ป๋วย ที่เขียนถึง อ.ดำรง วงศ์อุปราช เมื่อ พ.ศ.2509 เล่าย้อนเหตุการณ์จุดเริ่มต้นหอศิลปฯ เอาไว้ว่า

“…เมื่อก่อนอาจารย์ศิลปจะถึงแก่กรรม เผอิญผมได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับศิลปและผมพบบทความของอาจารย์ศิลปบทความหนึ่ง บทความนั้นกล่าวถึงศิลปในประเทศไทย และบอกว่ามีข้อบกพร่องอยู่มาก แต่ที่สำคัญที่สุด ไม่มีแกลเลอรี่สำหรับ Modern Art ในขณะนั้นผมยังเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณผมจึงเชิญอาจารย์ศิลปมาพบ และบอกว่าเป็นโอกาสแล้วที่ผมจะช่วยในเรื่องนี้ได้…”

ทั้งสองท่านมีโอกาสปรึกษาเรื่องนี้ต่อมาอีก 2-3 ครั้ง มีการทำแบบก่อสร้างและประเมินงบประมาณกันเรียบร้อยแล้ว

แต่น่าเสียดายที่ในเวลาต่อมา (พ.ศ.2505) อ.ศิลปถึงแก่กรรม และทำให้โครงการจัดสร้างหอศิลปฯ ต้องหยุดชะงักลง แต่ไม่นานโครงการก็ได้รับการสานต่อจาก ดร.ป๋วยและลูกศิษย์หลายท่านของ อ.ศิลป โดยร่วมกันก่อตั้ง “มูลนิธิหอศิลป พีระศรี” จนสำเร็จเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2507 และได้เชิญ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร มาเป็นประธาน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือจัดหาสถานที่ตั้งและทำการก่อสร้างหอศิลปฯ

ในปี พ.ศ.2516 แม้มูลนิธิสามารถระดมทุนได้เกือบ 3 ล้านบาทสำหรับสร้างอาคาร แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จนทำให้โครงการมีท่าทีว่าจะต้องถูกยกเลิกไป

อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ ได้เสนอให้ใช้ที่ดินของท่าน 1 ไร่ ที่ ซ.อรรถการประสิทธิ์ สาธรใต้ เป็นสถานที่ก่อสร้าง

ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าว ทำให้โครงการดำเนินต่อไปได้ และมีงบประมาณเพียงพอที่จะก่อสร้างตัวอาคาร

บรรยากาศนิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้นภายในหอศิลป พีระศรี
ที่มาภาพ : ฐานข้อมูล มูลนิธิหอศิลป พีระศรี

อาคารหอศิลปฯ ออกแบบโดย ม.ล.ตรีทศยุทธ เทวกุล ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เริ่มการก่อสร้างเมื่อมิถุนายน พ.ศ.2516 แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ.2517 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในอีกราว 2 เดือนถัดมา

ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ เขียนไว้ในหนังสือวันเปิดหอศิลปฯ ตอนหนึ่งว่า

“…ความสำเร็จนี้เป็นแต่เพียงก้าวแรก เราจะต้องร่วมมือกัน และพยายามต่อไปในการที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายของมูลนิธิที่วางไว้ 2 ประการ กล่าวคือ ความพยายามสนับสนุนให้ประชาชนเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปประการหนึ่ง และส่งเสริมให้มีการสร้างงานศิลปร่วมสมัยที่มีคุณสมบัติดีเด่น เป็นแบบอย่างของไทยโดยเฉพาะอีกประการหนึ่ง…”

อ.ดำรง วงศ์อุปราช ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ หอศิลป พีระศรี คนแรกเมื่อ พ.ศ.2517 ได้เขียนบันทึกถึงการสร้างอาคารแห่งนี้ไว้ว่า

“…การสร้างหอศิลปขึ้นมานั้น ก็เนื่องจากความขาดแคลนสถานที่ที่แสดง และเผยแพร่ศิลปสมัยใหม่ ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างศิลปสมัยใหม่กับประชาชน…หอศิลป พีระศรี จึงนับว่าเป็นหอศิลปสมัยใหม่แห่งแรกในประเทศไทย…”

ด้วยเป้าหมายที่เน้นไปในทางศิลปะสมัยใหม่ (และร่วมสมัยในเวลาต่อมา) ทำให้การออกแบบพื้นที่ใช้สอยมีความทันสมัยสอดคล้องกับแนวโน้มศิลปะในระดับสากล และอาจถือว่าเป็นพื้นที่ศิลปะอันดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ขณะนั้น

อาคารหอศิลปฯ มีการแบ่งพื้นที่ใช้งานภายในอาคารออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่

หนึ่ง ห้องนิทรรศการหมายเลข 1 ขนาด 15 x 7 เมตร เป็นห้องนิทรรศการชั่วคราวหมุนเวียนตลอดปี

สอง ห้องนิทรรศการหมายเลข 2 (ชั้นลอย) มีบันไดเชื่อมกับห้องแรก ขนาด 12 x 7 เมตร เป้าหมายแรกเริ่มของพื้นที่ส่วนนี้คือห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรสำหรับจัดแสดงผลงาน อ.ศิลป พีระศรี แต่ภายหลังมีการปรับเป็นพื้นที่ให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงชั่วคราว

สาม หอประชุม ความจุ 250 คน ขนาด 20 x 11 เมตร สำหรับจัดกิจกรรม เช่น ดนตรี ละคร ภาพยนตร์ การแสดง การสัมมนา และสามารใช้เป็นห้องนิทรรศการชั่วคราวได้เช่นกัน

สี่ ห้องสมุดทางศิลปะ ขนาด 5 x 13 เมตร ตั้งอยู่ที่ชั้นสองด้านหลังของอาคาร

ห้า ห้องเก็บผลงานศิลปะและห้องปฎิบัติงาน ขนาด 10 x 13 เมตร เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้มาชมงานศิลปะ เชื่อมต่อกับพื้นที่นอกอาคารที่จะออกแบบเป็นลานประติมากรรมกลางแจ้ง และสามารถใช้จัดแสดงดนตรีกลางแจ้งได้

หก สำนักงานหอศิลป์ ขนาด 6 x 9 เมตร เป็นที่ทำงานเจ้าหน้าที่ และที่ขายหนังสือศิลปะ

 

อย่างไรก็ตาม ความทันสมัยของหน้าตาอาคารและการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายใน มิใช่ความพิเศษที่สุดของอาคารหลังนี้

จากข้อมูลของทีมภัณฑารักษ์หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) พบว่า ตลอดเวลาเกือบ 14 ปีที่เปิดทำการ มีกิจกรรมถูกจัดขึ้นในหอศิลปฯ มากถึง 246 งาน หรือพูดง่ายๆ คือ ในแต่ละเดือนจะมีกิจกรรมเกิดขึ้นใหม่ 1.5 งาน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก ยิ่งหากเราย้อนมาดูแกลเลอรี่ในโลกปัจจุบัน ยิ่งไม่มีทางเลยที่จะจัดกิจกรรมด้วยความถี่เช่นนี้

ลักษณะดังกล่าวยังสอดคล้องกับแนวคิดในการออกแบบตัวอาคาร

เนื่องจากที่ดินอันเป็นที่ตั้งของหอศิลปฯ มีลักษณะแคบยาว กว้างเพียง 13 เมตร ลึกเข้าไปราว 100 เมตร ตัวอาคารจึงถูกกำหนดโดยรูปร่างของที่ดิน และทำให้หอศิลปฯ มีรูปทรงแคบยาวตามไปด้วย สถาปนิกได้เปลี่ยนข้อจำกัดนี้ให้กลายเป็นแนวคิดของการออกแบบ โดยเปรียบเปรยไว้อย่างน่าสนใจว่า ตัวอาคารเป็นเสมือนลิ้นของตัวกินมด เป็นลิ้นที่แคบ-ยาว ตวัดออกมาเชิญชวนผู้คนให้เข้าไปในหอศิลปฯ (อ้างถึงในบทสัมภาษณ์ ม.ล.ตรีทศยุทธ เทวกุล โดย Cheng Jia Yun ในหนังสือ Suddenly Turning Visible : Art and Architecture in Southeast Asia 1969-1989)

นอกจากนี้ ในหนังสือครบรอบ 1 ปีของการเปิด หอศิลป พีระศรี (2518) ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ ยังได้พูดถึงหัวใจของงานศิลปะและหอศิลปฯ แห่งนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

“…ศิลปมิใช่เป็นสมบัติผูกขาดของผู้หนึ่งผู้ใด มิใช่สมบัติของพวกนายทุน ขุนศึก และพวกศักดินา แต่เป็นสมบัติของประชาชน ของสังคม ของมวลมนุษย์ หอศิลปฯ แห่งนี้แม้จะเป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิ แต่ก็เป็นสถานที่ส่งเสริมสมบัติ ทั้งรูปธรรม และนามธรรมอันล้ำค่าของประชาชน หอศิลปฯ แห่งนี้มิใช่สถานที่มอมเมาแต่เป็นสถานที่ที่ต้องการส่งเสริมงานศิลปที่มีคุณสมบัติดีเด่น เป็นแบบอย่างของไทย…”

 

เราจะเห็นได้ชัดเลยนะครับว่า หอศิลป พีระศรี ถูกคาดหวังจากกลุ่มผู้ก่อตั้งสูงยิ่ง และเมื่อย้อนกลับไปดูสิ่งที่หอศิลปฯ สร้างขึ้นตลอดนับตั้งแต่ปีแรกที่เปิดทำการ (พ.ศ.2517) จนถึงปีสุดท้ายที่ต้องปิดตัวลง (พ.ศ.2531) ก็เห็นเลยว่า หลายอย่างเป็นไปตามสิ่งที่ได้ถูกคาดหวังไว้

หอศิลป พีระศรี ในช่วงเวลานั้นคือพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะและกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่สำคัญมากของสังคมไทย หลายคนกล่าวยกย่องว่าเป็น “หอศิลปสาธารณชน” แห่งแรก และเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสสำหรับการทดลองนำเสนอศิลปะแนวทางใหม่ ๆ ที่ท้าทายขนบงานศิลปะแบบเดิม แม้กระทั่งเป็นพื้นที่สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์สังคม

กล่าวได้ว่า หอศิลป พีระศรี เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้าง โอบรับ และดึงดูดผู้คนเข้ามาใช้งานอย่างหลากหลาย ซึ่งลักษณะพิเศษดังกล่าวจะขอกล่าวถึงในสัปดาห์ต่อๆ ไป