‘ข้าวสารดำ’ พิธีกรรมหลังความตาย

พิธีกรรมหลังความตายเมื่อหลายพันปีมาแล้ว พบหลักฐานโบราณคดีว่ามีข้าวเปลือกและไฟเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ยังไม่พบคำอธิบายเป็นทางการจากนักวิชาการด้านมานุษยวิทยา หรือนักวิชาการด้านอื่นๆ

ข้าวเปลือก ใช้รองและคลุมร่างคนตายที่เป็นบุคคลสำคัญของชุมชน

ไฟ ใช้เผาข้าวเปลือกที่รองและคลุมร่างคนตาย (ไม่ได้เผาร่างคนตาย)

เริ่มด้วยจุดไฟเผาข้าวเปลือก จากนั้นเอาดินกลบหลุมเป็นเนิน

เผาข้าวเปลือกฝังดินพร้อมร่างคนตาย “น่าจะ” เป็นสัญลักษณ์ของการส่งข้าวเป็นอาหารไปกินเมืองผี พบความเชื่อสืบเนื่องในพิธีศพของชาวอีสานว่า “ข้าวเปลือกในพิธีศพ คนอีสาน จะใช้นำมาคั่วเป็นข้าวตอก ผู้คั่วต้องเป็นคนใกล้ชิดผู้ตาย ข้าวตอกนี้จะหว่านนำหน้าขบวนศพ เชื่อว่าผีขวัญจะลงมากิน ทำให้ศพที่หามไปป่าช้ามีน้ำหนักเบาลง” (คำให้การจากความทรงจำของ ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ จ.ร้อยเอ็ด)

กิจกรรมนี้คาดเดาด้วยการประมวลข้อมูลจากที่พบในรายงานของนักโบราณคดีที่ขุดค้นหลายแห่งแหล่งฝังศพของหัวหน้าเผ่าพันธุ์และโคตรตระกูล แล้วพบข้าวสารดำในหลุมฝังศพ

พร้อมกันนั้นได้คำแนะนำทางวิชาการจาก อ.สุรพล นาถะพินธุ (อดีตคณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูงมากทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์)

ข้าวสารดำ เป็นข้าวเปลือกถูกเผาไหม้ด้วยความร้อนจากไฟอุณหภูมิไม่สูง เมื่อเปลือกข้าวถูกเผาไหม้จนทำให้เหลือเมล็ดข้าวสารเป็นสีคล้ำหรือดำ จึงเรียกข้าวสารดำ (ดังนั้น ข้าวสารดำ ไม่ใช่ “ข้าวก่ำ” หรือข้าวเหนียวดำ ที่เป็นพันธุ์ข้าวต่างหากโดยเฉพาะ แต่หลายครั้งถูกเรียกปนกันจนแยกไม่ได้)

ข้าวเปลือกถูกความร้อนต่ำจากไฟเผาไหม้เหลือเมล็ดข้าวเป็นสีดำเรียกข้าวสารดำ พบจำนวนมากรวมกันอยู่ในหลุมที่เนินอุโลก อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา

ข้าวสารดำในพิธีปลงศพ

อ.สุรพล นาถะพินธุ บอกข้อมูลให้อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ (มติชน) ได้ความโดยสรุปว่า

1. ข้าวสารดำ เกิดจากการถูกความร้อน แต่ความร้อนไม่สูง (ถ้าความร้อนสูงจะกลายเป็นขี้เถ้า) อยู่ในความร้อนที่มีออกซิเจนน้อย เหมือนเผาถ่าน

2. สันนิษฐานว่าข้าวสารดำที่พบในหลุมศพ เป็นลักษณะที่มีการสุมไฟในพิธีปลงศพ ทำนองเดียวกับที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ อ.วังม่วง จ.สระบุรี พบกระดูกคนบางส่วนเป็นสีดำ กระดูกหมาที่ฝังอยู่ก็เป็นสีดำ สันนิษฐานว่าเมื่อวางศพ วางสิ่งของที่ฝังรวมกับศพแล้วก็สุมไฟ ในบางกรณีอาจจะมีดินคลุมบางๆ ก่อน แล้วจุดไฟซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมก่อนที่จะกลบหลุม

3. ที่แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เท่าที่เคยอ่านรายงาน จะมีส่วนหนึ่งที่เหมือนกับเอาข้าวเปลือกคลุมศพ ข้าวเปลือกก็ไหม้ กลายเป็นข้าวสารดำ ดังนั้นต้องมีการใช้ไฟที่ไม่สูง

4. เชื่อว่าการจุดไฟเป็นขั้นตอนหนึ่งในพิธีกรรมฝังศพ วางศพ วางสิ่งของ เอาดินคลุมนิดหนึ่ง แล้วก่อกองไฟ กองไฟอาจจะไม่ใหญ่มากนัก แล้วกลบดินอีกทีหนึ่ง จนกลายเป็นพูนดินเหนือหลุมศพ

5. บ้านโนนวัดมีการใช้ข้าวสารดำ ส่วนที่อื่นพบอยู่บ้างแต่ไม่มากแบบคลุมศพ ส่วนบ้านเชียงพบข้าวที่เป็นสีดำ แต่ไม่ได้คลุมศพมากเหมือนบ้านโนนวัด คงพบปนๆ ในชั้นดินของหลุมฝังศพก็มี แต่ไม่ได้มาก ไม่ได้คลุมแบบปริมาณมากทับศพแบบโนนวัด

6. ในพิธีปลงศพสมัยโบราณมักวางเครื่องใช้สอยและอาหารใส่ลงในที่ฝังศพเป็นของอุทิศให้ผู้ตาย ข้าวคงเป็นของอุทิศประเภทอาหารชนิดหนึ่งซึ่งสังคมนั้นมีอยู่และใช้ในบางครั้ง เช่นเดียวกับชิ้นส่วนจากสัตว์ (เช่น ขาหมู ขาวัว หอยขม หอยกาบ เป็นต้น)

7. แหล่งโบราณคดีสมัยหินใหม่ของจีนเคยอ่านเอกสารพบว่าหลายแห่งได้พบธัญพืชหลายชนิด รวมทั้งข้าว ซึ่งถูกความร้อนจนกลายเป็นเนื้อถ่านสีดํา (carbonized grains หรือ charred grains) ในชั้นทับถมทางโบราณคดี ทั้งที่เป็นชั้นทับถมจากกิจกรรมการอยู่อาศัยสามัญ (domestic activity) และที่เป็นหลุมเก็บตุนธัญพืช (storage pit) แต่รายงานเหล่านั้นไม่เคยระบุว่าเป็นธัญพืชที่ซึ่งคนสมัยโบราณจงใจเผาให้เป็นเนื้อถ่าน

ส่วนในประเทศต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เคยได้อ่านเอกสารของเขาน้อยมาก เนื่องจากไม่มีรายงานของเขาและอ่านภาษาเขาไม่ออก เท่าที่เคยอ่านก็ยังไม่เคยอ่านพบว่าใช้ข้าวสารสีดํา

อนึ่ง ธัญพืชปลูกยุคแรกๆ ของโลก เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ พบในแหล่งโบราณคดีของเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ยุโรป รวมทั้งข้าวฟ่างและข้าวซึ่งพบในจีน ก็ล้วนพบในสภาพเมล็ดธัญพืช ซึ่งเปลี่ยนเป็นสีดําเนื่องมาจากถูกความร้อนจนเนื้อกลายเป็นถ่านสีดําแล้ว จึงคงสภาพอยู่ ไม่ผุสลายไปหมด เราจึงขุดค้นพบเมล็ดธัญพืชได้และรวบรวมมาศึกษาได้

[ข้อมูลจาก อ.สุรพล นาถะพินธุ สัมภาษณ์โดย อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ เมื่อเดือนมีนาคม 2567]

แกลบข้าวและข้าวสาร อัดแน่น ใช้รองศพและคลุมศพ ที่เนินอุโลก อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา

พลังของข้าวสีดำ

กํ้ากึ่งระหว่างข้าวสารดำกับข้าวเหนียวดำ มีนิทานจากจำปาสัก (ลาว) ดังนี้

“พญาโคตรบอง เดิมเป็นคนไม่แข็งแรง เวลาเข้าป่าไปตัดไม้กับเพื่อนๆ จึงได้รับมอบหน้าที่ให้นึ่งข้าวเตรียมอาหาร วันหนึ่งพระอินทร์ได้เสกไม้งิ้วดำมามอบให้เพื่อใช้คนข้าว เมื่อคนข้าวในหวดที่นึ่ง ข้าวเหนียวกลายเป็นสีดำ ท้าวสีโคตรกลัวโดนตำหนิ จึงกินข้าวนั้น ทำให้ท้าวสีโคตรมีพลังแข็งแรง ไปปราบช้างล้านตัวที่มาถล่มเมืองเวียงจันท์ด้วยกระบองไม้งิ้วดำ จึงได้เป็นกษัตริย์เวียงจันท์ล้านช้าง มีกระบองงิ้วดำเป็นอาวุธ มีพระนามว่า พญาศรีโคตรบอง ส่วนข้าวเหนียวดำที่เหลือได้เททิ้ง เกิดแข็งเป็นหิน เรียกว่าข้าวเหนียวดำหรือข้าวสารดำ เป็นของศักดิ์สิทธิ์แต่นั้นมา”

(ความทรงจำของ ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ จ.ร้อยเอ็ด)

ข้าวเปลือกติดอยู่กับเครื่องมือเหล็ก อายุราว 2,000 ปีมาแล้ว พบในหลุมศพที่เนินอุโลก อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา [จาก สยามดึกดำบรรพ์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงสุโขทัย โดย ชาร์ลส ไฮแอม และรัชนี ทศรัตน์ ฉบับภาษาไทย สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2542 หน้า 160-161]
อำนาจของข้าวสาร

1.ข้าวสารมีอำนาจไล่ผีร้าย ดังนั้น ในสมัยก่อนหมอมดหมอขวัญ “ซัดข้าวสาร” หมายถึงเอามือกำข้าวสารโปรยไปรอบบ้านตั้งแต่หลังคาบ้านลงมา เพื่อป้องกันและกำจัดผีร้ายที่มารังควาน

2. ขงเบ้ง (สามก๊ก) สั่งความว่าถ้าเขาตายเป็น “ศพนั่ง” ให้เอาข้าวสาร 7 เมล็ดใส่ปากไว้ (และมีอื่นๆ อีก) เพื่อกำจัดศัตรูมารุกราน

ยังมีอีก

พลังอำนาจของข้าวเปลือก-ข้าวสาร น่าจะมีอีกมากที่ยังค้นไม่พบ และเข้าใจไม่ได้ เพราะเข้าไม่ถึงสัญลักษณ์เหล่านั้น •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ