ประวัติศาสตร์ ของ ‘จักรยาน’ ในไทย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

อะไรที่เรียกว่า “จักรยาน” นั้น มีใช้ในไทยมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วนะครับ โดยคุณยศ วัชรเสถียร เจ้าของนามปากกา พงษ์เพชร ได้เคยค้นคว้าและอ้างไว้ว่าเอกสารในระหว่างช่วงเรือน พ.ศ.2440-2441 แสดงให้เห็นว่า มีจักรยานใช้อยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่ก็ยังถือเป็นของที่แพงเอามากๆ และใช้กันในหมู่ชนชั้นสูงเท่านั้นแหละ เพราะไพร่ทั่วไปกระเป๋าสตางค์ยังคงไม่ตุงมากพอที่จะจับจ่ายซื้อหาไว้ใช้สอยเป็นการส่วนตัว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน และสอดคล้องกับข้อสันนิษฐานของคุณยศ ที่ผมก็อยากจะนำมาให้อ่านกันเพื่อประกอบการพิจารณาก็คือ ข้อความตอนหนึ่งในอัตชีวประวัติ ที่หม่อมศรีพรหมา กฤดากร มีข้อมูลที่หม่อมท่านให้สัมภาษณ์ไว้อยู่ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อสมัยยังไม่โตจนเต็มสาว พวกเด็กๆ ได้ชวนกันไปดูเจ้าจอมเอิบ ในรัชกาลที่ 5 หัดขี่จักรยาน ดังนี้

“วันหนึ่งเป้าบอกว่าพรุ่งนี้เช้าจะต้องไปหัดคุณเอิบ คือเจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมตัวโปรดในเวลานั้น ที่เป็นบุตรเจ้าพระยาสุรพันธ (เจ้าเมืองเพชรบุรีในครั้งกระโน้น, ผู้เขียน) ในวังมักจะพูดถึงเจ้าจอมชื่ออักษร อ ว่า ก๊ก อ ซึ่งมีหลายคนด้วยกัน โดยเฉพาะคุณจอมเอิบ โปรดปรานจนสวรรคต เป้าบอกว่าต้องระวังเพราะเป็นคนโปรด พอเด็กได้ข่าวก็นัดจะไปดูกันเพราะไม่ค่อยจะเคยเจอคุณจอมคนนี้ เธอไม่ได้ไปหัดที่สวนเต่าแต่จะหัดกันที่ลานหน้าสวนขวาใกล้พระที่นั่งดุสิต”

 

สารภาพตามตรงว่า ผมไม่รู้จัก “เป้า” ในบทสัมภาษณ์ว่าคือใคร? มากไปกว่าที่เป็นผู้หัดจักรยานให้คนในวังเท่านั้น

แต่สำหรับ “หม่อมศรีพรหมา” นั้น ท่านเป็นธิดาในพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าประเทศราชผู้ครองเมืองน่านในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งถูกยกให้เป็นลูกบุญธรรมของพระยามหิบาลบริรักษ์ ตั้งแต่อายุได้สามขวบเศษ จึงได้ย้ายเข้าไปใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ จากนั้นพระมหิบาลบริรักษ์ต้องไปรับราชการที่ประเทศรัสเซีย เลยได้ถวายตัวเจ้าศรีพรหมา ไว้ในพระอุปการะของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5

เจ้าศรีพรหมา จึงเคยได้ใช้ชีวิตอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน ของพระบรมมหาราชวัง ซึ่งก็เป็นสถานที่ของสวนเต่าที่คนในวังสมัยนั้นใช้เป็นที่หัดขี่จักรยานกันเป็นประจำ (ส่วนพระที่นั่งดุสิต ในข้อความที่ผมยกมาคือ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลาง) ในวัยทำงาน หลังจากที่หม่อมศรีพรหมาได้แต่งเข้าสกุลกฤดากรแล้ว ท่านยังได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ในรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ถึง 2 สมัย และมีคุณูปการต่อความก้าวหน้าทางเกษตรกรรมในประเทศไทย อย่างมากมายอีกด้วย

เรียกได้ว่า หม่อมศรีพรหมา ท่านเป็นอีลิตคนหนึ่งของสยามในสมัยนั้นอย่างเต็มขั้น

ส่วนเจ้าจอมเอิบ ซึ่งถูกพาดพิงถึงว่าเป็นเจ้าจอมคนโปรดซึ่งจะหัดจักรยานด้วยนั้น เป็นหนึ่งในเจ้าจอมก๊ก อ. (ซึ่งเป็นสายสกุลที่สำคัญในยุคนั้นอย่าง บุนนาค กันทั้งก๊ก) ซ้ำยังเป็นเจ้าจอมคนโปรดในรัชกาลที่ 5 อย่างที่หม่อมศรีพรหมาท่านให้สัมภาษณ์ไว้ และผมยกมาให้อ่านกันข้างต้นนั่นแหละครับ

ดังนั้น ถ้าจะถือว่าหม่อมเจ้าพรหมาเป็นอีลิตในสมัยของพระองค์ ก็ต้องนับว่าเจ้าจอมเอิบเป็นอีลิตระดับพิเศษเลยทีเดียว

ช่วงแรกที่ “จักรยาน” ได้แพร่หลายเข้ามาในสยามนั้น จึงเป็นของไว้ใช้สำหรับการออกกำลังกาย และประดับบารมี สำหรับชนชั้นสูงในสังคมกันมากกว่าจะขี่เป็นพาหนะสำหรับใช้เดินทางกันจริงๆ จังๆ

ภาพจาก https://www.matichonacademy.com/content/article_47192

และถึงแม้ว่า เมื่อแรกเริ่มทีเดียวในสมัยรัชกาลที่ 5 “จักรยาน” จะเป็นของนำเข้ามันมาทั้งดุ้น แต่พอล่วงเข้ามาสู่สมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีช่างไทยที่ทำตัวถังจักรยานเองได้แล้ว ถึงจะยังต้องนำเข้าอะไหล่ส่วนอื่นๆ จากเมืองนอกอยู่ก็เถอะ แต่ก็ทำให้ราคาถูกลงมากเลยทีเดียว

ในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา ประชาชนที่มีฐานะรองลงมาจึงเริ่มสามารถซื้อหาจักรยานมาใช้เองได้ และเกิดจักรยานที่เป็นยี่ห้อไทยๆ ขึ้นมาในท้องตลาด ทำให้จักรยานกลายเป็นพาหนะที่ใช้กันทั่วไปโดยแพร่หลาย เพราะถูกกว่ารถยนต์ที่แพงเอามากๆ แต่ก็มีความเป็นส่วนตัวมากกว่าใช้การบริการรถรางสาธารณะในสมัยนั้นแน่

ที่น่าสนใจก็คือ จักรยานที่ผลิตในประเทศสยามช่วงระหว่างสมัยรัชกาลที่ 6 ไปจนถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 มีลักษณะที่สร้างสรรค์เอามากๆ เพราะมีทั้งการลดขนาดตัวถังให้สั้นกว่าของนำเข้า และลดความกว้างของแฮนเดิ้ลลง จนมีขนาดกะทัดรัด จนเหมาะสมกับรูปร่าง ขนาดความสูง ใหญ่ ยาว ของคนไทย ที่เรียกกันในสมัยนั้นว่าแบบ “สปอร์ต”

แถมยังมีแบบที่ทำเอาใจเด็กแว้นพระนครในยุคหลังพระพุทธเจ้าหลวง โดยทำแฮนด์ให้มีทั้งแบบกางยาว และโค้งเหมือนเขาแกะภูเขา แน่นอนจักรยานพวกนี้เรียกว่า “เสือหมอบ” แต่ที่ต่างไปจากปัจจุบันคือ เสือหมอบสมัยโน้นจะไม่มีทั้งบังโคลน และเบรก เพราะเฟืองหลังใช้แบบสเตอร์ลิง (Sterling)

(อันที่จริงแล้ว สเตอร์ลิง เป็นชื่อยี่ห้อของเกียร์ ไม่ใช่ประเภทของเกียร์ เช่นเดียวกับที่คนไทยเคยเรียกผงซักฟอกอย่างติดปากว่า แฟ้บ หรือการถ่ายเอกสารว่า ซีร็อกซ์ นั่นเอง แต่การที่คนสยามในยุคนั้น เรื่อยมาจนถึงเมื่อสัก 20 กว่าปีก่อน นิยมนำเฟืองแบบที่ฟรีขาไม่ได้ยี่ห้อนี้มาใช้มาก จึงทำให้คนไทยเรียกเฟืองหรือเกียร์ประเภทนี้ว่า สเตอร์ลิงไป)

แน่นอนครับ จักรยานแบบที่ว่าปัจจุบันรู้จักกันในชื่อจักรยานแบบ “ฟิกเกียร์” นั่นแหละ

 

ประมาณช่วงเรือน พ.ศ.2476-2477 เกิดการนำเอาจักรยานมาผสมกับรถลากของเจ๊ก กลายเป็นสามล้อถีบ โดยแรกเริ่มทีเดียวนั้น มีที่นั่งพ่วงอยู่ทางด้านข้าง ต่อมาเอามาไว้ข้างหลังแบบเดียวกับรถลากของเจ๊กแต่เดิมเลย ผลคือทุ่นแรงมากกว่า บรรทุกของมากกว่า และใช้ในพื้นที่เวลาน้ำชุ่มแฉะถนนได้ดีกว่า ทำให้รถลากแบบเดิมๆ หายไปในที่สุด

แต่ช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะเป็นช่วงเวลาเดียวที่จักรยาน (แต่ก็หมายถึงเฉพาะ สามล้อถีบ เท่านั้นแหละครับ) ถูกประเมินค่าในฐานะที่เป็นพาหนะสำหรับการเดินทาง หรือบรรทุกสิ่งของ มากกว่าอรรถประโยชน์อื่นๆ เพราะในช่วงหลัง พ.ศ.2500 เป็นต้นมา ผลจากการถมคลอง และตัดถนน เพื่อรถยนต์ และรถสาธารณะอื่นๆ ทำให้ที่ทางของจักรยานบนถนนหายไป แน่นอนว่าพวกสามล้อถีบ ซึ่งก็คือลูกผสมของจักรยานอย่างกลายๆ ก็เลยหายไปจากถนนในเมืองด้วย

ในขณะที่ที่ทางใหม่ของสามล้อถีบย้ายไปอยู่แถบชานเมือง ซึ่งรถยนต์ และรถสาธารณะในยุคแรกๆ นั้นยังมีอยู่ไม่มากนักแทน จักรยานกลับยังมีที่ทางหลงเหลือในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ อยู่บ้าง ถึงจะไม่ใช่บนถนนหนทางในฐานะพาหนะเดินทางกระแสหลักก็เถอะ

จักรยานเช่าเคยมีให้ถีบเล่น และเป็นที่นิยมอยู่ที่สนามหลวง ซึ่งสมัยนั้นเป็นตลาดนัด (ก่อนจะเทครัวทั้งตลาดไปอยู่ที่สวนจตุจักรแทน) แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในสายตาของคนกรุงในสมัยนั้น จักรยาน ถูกผูกเข้ากับการพักผ่อนหย่อนใจ, การออกกำลังกาย หรือการแสดงออกถึงรสนิยมบางอย่าง มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของพาหนะสำหรับเดินทาง ไม่ต่างอะไรกับในช่วงแรกเริ่มที่ชาวสยามได้ทำความรู้จักกับจักรยาน

จึงไม่แปลกอะไรเลย ที่ในสมัยหนึ่งจะมีจักรยานให้เช่าปั่นเล่นริมชายหาดอยู่เต็มไปหมด เพราะการเที่ยวทะเลคือการพักผ่อนหย่อนใจ หรือการตากอากาศ ตามอุดมคติแบบคนชั้นกลางในเมืองกรุง ซึ่งก็คือคนกลุ่มเดียวกับที่ไปเช่าจักรยานปั่นที่ท้องสนามหลวงนั่นแหละ

เอาเข้าจริงแล้ว อะไรที่เรียกว่า “จักรยาน” ในประวัติศาสตร์ของไทยนั้น จึงแทบจะไม่เคยถูกใช้งานในสถานะของการเป็น “พาหนะ” มากเท่ากับการที่เป็น “ของเล่น” หรือ “เครื่องแสดงสถานะ” ของชนชั้นนำ และชนชั้นกลางค่อนสูง ในสมัยต่อๆ มา •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ