การศึกษาเชิงพื้นที่ สุราษฎร์ธานีโมเดล (4) พัฒนาครู สู่พื้นที่แห่งฝัน

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายงานพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

การศึกษาเชิงพื้นที่

สุราษฎร์ธานีโมเดล (4)

พัฒนาครู สู่พื้นที่แห่งฝัน

 

นักการศึกษาบางคนมองว่า การศึกษาเชิงพื้นที่ เป็นแค่การศึกษากระแสรอง การศึกษาเก็บตกหรือเติมเต็ม อุดช่องว่างให้กับการศึกษาในระบบที่มีจุดอ่อน ขณะเดียวกันการศึกษาเชิงพื้นที่ช่วยแก้ปัญหาที่ภาครัฐก้าวไปไม่ทั่วถึง

การศึกษาแบบการกุศลอาศัยทรัพยากรจากการบริจาคหรือระดมทุนช่วยเหลือกันเองเป็นหลัก ก็สุดแท้แต่ใครจะมองการศึกษาเชิงพื้นที่ในมุมไหน การศึกษาทางเลือก ทางรอด หรือทางหลัก

หัวใจของการศึกษาเชิงพื้นที่ก็คือการให้โอกาสกับทุกคนที่เกิดปัญหาจากระบบการศึกษา ได้ค้นพบตัวเอง กลับสู่เส้นทางการศึกษาอีกครั้ง นำพาชีวิตเดินต่อไปได้อย่างมีศักดิ์ศรี

การศึกษาเชิงพื้นที่คือการศึกษาแบบมีส่วนร่วม การศึกษาเป็นของทุกคน ทุกคนมีส่วนในการศึกษา Education For All All For Education

บทสนทนาในเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างคณะผู้มาเยือนกับสมาชิกทีมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่สุราษฎร์ธานี เจ้าของและผู้เข้ารับการอบรม “ทุเรียนศึกษา” ด้วยการลงมือทำจริง ยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น

“ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับโครงการนี้” ครูใหญ่หรือนายหัวสุชาติ สะท้อนมุมมองของผู้เกี่ยวข้อง ในรายงานผลการดำเนินงานและสรุปผลการถอดบทเรียน การพัฒนาทักษะอาชีพเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน นอกระบบการศึกษา โครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำปี 2565 จังหวัดสุราษฎร์ธานี

“กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาส่งเยาวชนมาฝึกอาชีพผู้ดูแลสวนทุเรียน เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ที่ตลาดโลกต้องการและมีแนวโน้มว่า ความต้องการจะเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้ชาวสวนหันมาปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น แต่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านการดูแลสวนทุเรียนอย่างถูกต้อง ประกอบกับเยาวชนและประชากรวัยแรงงานส่วนหนึ่งยังไม่มีงานทำ จึงตรงประเด็นที่ผมคิด”

คนหนึ่งในวงสนทนาตั้งคำถามต่อ “ฉีดยาสวนทุเรียนฟุ้งกระจายไปทั้งหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ถึงขั้นต้องประชุมหาทางแก้ในระดับจังหวัด จะแก้ไขอย่างไรครับ”

ครูใหญ่ได้ฟังคำถาม ตอบทันที “ต้องรู้จักเลือกใช้ยาครับ บางตัวไม่มีกลิ่นเหม็น คนฉีดก็ต้องรู้จักป้องกัน สวมหน้ากากตลอดเวลา ที่ว่าเหม็นกลิ่นยานั้น บ้านอยู่มาก่อน เขาทำสวน หรือมาอยู่ทีหลัง เขาทำสวนกันอยู่ก่อนแล้ว”

นักสังเกตการณ์จากกรุงเทพฯ นั่งร่วมวงอยู่ ยกมือ ขอแทรกบ้าง “ปัญหาเดียวกับที่เกิดขึ้นหลายแห่ง ระหว่างวัดกับคอนโดมิเนียมสูงเสียดฟ้า คอนโดฯ ไปร้องเรียนสำนักงานเขตว่าพระตีระฆังเสียงดัง เวลามีงานวัดเปิดเสียงลำโพงเดือดร้อนรบกวนคนพักอาศัย พระท่านเลยถามว่า ระหว่างวัดกับคอนโดฯ ใครอยู่มาก่อน ใครมาทีหลัง” ครูสุชาติกล่าวต่อ “บางครั้งคนเราก็กลัวเกินกว่าเหตุ ยกตัวอย่างปลูกถั่วฝักยาวต้องฉีดทุกวัน ทุเรียนเปลือกหนาสารเคมีเข้าไม่ถึงเนื้อใน การฝึกงานในสวนมีอบรมใช้สารเคมีที่ถูกต้องด้วย ควรฉีดล่วงหน้ากี่วันถึงเก็บเกี่ยวได้ ไม่ให้เกิดผลกระทบ”

“สมัยนี้เกิดโรคใหม่กำลังกำเริบ โรคอิจฉา เพราะคนปลูก คนขาย ทุเรียนได้เยอะ ราคาดี”

“ถ้าไม่ใช้สารเคมี ใช้สมุนไพรล่ะเป็นไปได้ไหมครับ” อีกความเห็นหนึ่งดังขึ้น

“ทุเรียนอินทรีย์ อาจารย์ชวลิต วุฒิพงษ์ ข้าราชการครูเกษียณ ท่านปลูกทุเรียนอยู่ที่เขาพนม จังหวัดกระบี่ พยายามทำโดยไม่ใช้สารเคมี ขายทุเรียนอินทรีย์ได้โลละ 150 บาท มีปัญหาเพราะความเสียหายคือของเสียเยอะ ส่วนทุเรียนเคมี 120 บาท ใช้สารเคมีอย่างถูกต้องถูกวิธี ปริมาณพอดี ต้องป้องกัน สารเคมีบางตัวอยู่ได้ 3 วัน ก่อนตัดทุเรียนเป็น 10 วันเราไม่ฉีดยาเลย”

“ก่อนตัดต้องหมั่นสังเกต ดอกบานวันไหน ย้อนไปกี่วันถึงตัดได้ พยายามรณรงค์เชิญชวนให้ประกาศวันตัดทุเรียนพร้อมกัน จึงต้องมาร่วมกันกำหนดวันตัด ยังตกลงกันไม่ได้ วันที่ 22 มีนาคมนี้ จะนัดประชุมกันใหม่อีกรอบ”

“ปัญหาทุเรียนอ่อน ปัญหาโลกแตก อยู่ที่จิตสำนึกของคนในอาชีพเรา ขายทุเรียนอ่อนเพราะการแข่งขัน”

 

จบทุเรียนศึกษาวงสนทนาคุยต่อเรื่องเด็กประสบปัญหาจากการศึกษาในระบบ หันกลับเข้ามาสู่การศึกษาใหม่ เรียน กศน. หลังสรุปบทเรียนของตัวเองมาเน้นด้านการอาชีพ ประกอบกับมีระบบธนาคารหน่วยกิตเกิดขึ้น สามารถเทียบประสบการณ์ที่ผ่านมาไปตีค่าเป็นวิชาการ 40 ชั่วโมงเท่ากับหนึ่งหน่วยกิต ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานการศึกษานอกระบบ ของ กศน.

“แต่ยังมีปัญหาโดยเฉพาะผู้สูงอายุ มีประสบการณ์สูงแต่ไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้ามาเรียนนอกระบบสะสมหน่วยกิตกับธนาคาร จะขอปริญญาต้องเข้าหลักเกณฑ์ ต้องจบการศึกษาภาคบังคับ ม.3 เสียก่อน เลยเป็นข้อจำกัดในการอนุมัติปริญญา”

ผอ.กองการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี รับว่าจะพิจารณาจัดงบประมาณการศึกษาเน้นทักษะอาชีพให้มากขึ้น ที่ผ่านมาโครงการหลักสูตรทักษะอาชีพ ในระบบ นอกระบบ งบประมาณ 5 ล้าน ปรากฏในแผนพัฒนาภาพรวมทั้งจังหวัด

โดยสมัชชาเครือข่ายจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ประสานกับ กศน.และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยส่งเสริมสนับสนุนมาตลอด

“ถ้าต่างคนต่างทำ ซ้ำซ้อน ไม่บูรณาการ หากไม่แก้ไขระเบียบให้เกิดการประสานกันก็ได้ผลไม่เต็มที่” อาจารย์ชัยวัฒน์ รองประธานกรรมการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ กล่าวสรุปทิ้งท้าย

ก่อนเวทีจบลงด้วยความเข้าใจ อบอุ่น เป็นกันเอง พร้อมคำเชิญชวนให้มาเยือนพวกเขาอีกครั้งเมื่อมีโอกาส

 

โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่สุราษฎร์ธานี นอกจากการฝึกทักษะอาชีพแล้ว ยังมีการดำเนินงานอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ การพัฒนาครูและนักเรียน สร้างพื้นที่แห่งฝันเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง

โดยใช้ศิลปะ กีฬา วรรณกรรม เป็นเครื่องมือ แก่เด็ก ทั้งที่มีสภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (แอลดี) เด็กซึมเศร้า เด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงหลุดออกจากระบบ

ว่าที่ ร.ต.หรินทร์รัตน์ มะลิทิพย์ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครูขวัญศิษย์ ปี 2564 โรงเรียนดอนสักผดุงวิทย์ อบจ.สุราษฎร์ธานี 1 กรรมการและเลขานุการอนุกรรมการกิจกรรมพื้นที่แห่งฝัน เป็นกำลังสำคัญ

ภายใต้ชื่อ “นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้บนพื้นที่แห่งฝัน เพื่อพัฒนานักเรียนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงด้านอารมณ์สู่การเป็นผู้นำที่สร้างสรรค์”

เด็กนักเรียนที่ผ่านการหล่อหลอมด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้ตามกระบวนการสร้างสรรค์ (Creative Process Model) เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น กลับกลายเป็นคนละคนอย่างน่าชื่นชม

ผลจากความเสียสละทุ่มเทของครูหญิง ชายหลายคนในหลายโรงเรียนทำให้นักเรียนของครูกลับมามีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น มีความสุข ดำเนินชีวิตได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป จนมีผลงานนำมาจัดแสดงนิทรรศการด้านศิลปะ ออกแบบเสื้อจำหน่ายเป็นรายได้ให้นักเรียน

นักเรียนคนหนึ่งเขียนเรียงความส่งเข้าประกวดได้รับรางวัลโล่ชนะเลิศพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประกวดวรรณกรรม วรรณศิลป์อุชเชนี ครั้งที่ 7 ประจำปี 2566 ประเภทความเรียงระดับนักเรียน พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นผู้อัญเชิญโล่พระราชทานมอบกับนักเรียน

เด็กคนนั้นเป็นใคร ผลงานความเรียงเรื่อง “นักเรียนหลังห้อง” สะท้อนชีวิตและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเขาอย่างไร อ่านแล้วน้ำตาไหล สะเทือนใจแค่ไหน โปรดติดตามตอนจบ ศุกร์หน้า