ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (6)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

หลวงประดิษฐ์ฯ จากสยาม

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมและภรรยาเดินทางออกจากประเทศไทยทางเรือที่ท่าเรือบีไอโดยเรือโดยสารชื่อโกลา เมื่อ 12 เมษายน พ.ศ.2476 โดยมีผู้ให้ความนับถือไปส่งเป็นจำนวนมาก

รวมทั้งบุคคลสำคัญได้แก่ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาฤทธิอัคเนย์ พระยาศรยุทธเสนี รองประธานสภา หลวงพิบูลสงคราม พระประศาสน์พิทยายุทธ เว้นพระยาทรงสุรเดช

ผู้เข้าร่วมเดินทางไปส่งถึงสิงคโปร์ 3 คนคือ พ.ต.หลวงทัศนัยนิยมศึก ร.ท.ทวน วิชัยขัทคะ และนายจรูญ สืบแสง “เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ” ของนายหนหวย บันทึกไว้ว่า “พระยาพหลได้สวมกอดหลวงประดิษฐ์ฯ ด้วยความอาลัยรัก หลวงพิบูลฯ กับกลุ่มนายทหารหนุ่มให้กำลังใจว่าอย่างไรก็ไม่ทิ้งกัน จะพยายามหาทางเอาตัวหลวงประดิษฐ์ฯ กลับมาให้ได้ บรรดาผู้ไปส่งที่เป็นลูกศิษย์ถึงกับร้องไห้ด้วยความแค้นใจที่มาแพ้เชิงการเมืองกลุ่มคนหน้าเก่า บางคนก็แค้นใจพวกเดียวกันที่ตีจากไปร่วมกับกลุ่มเก่าเล่นงานพวกเดียวกัน”

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียง 10 วันเศษนี้ จึงถือได้ว่ากลุ่มอำนาจเก่าสามารถครองความได้เปรียบฝ่ายคณะราษฎร ด้วยชั้นเชิงทางการเมืองในสภา

ยาตาเบยังบันทึกไว้ด้วยอีกว่า” หลวงทัศนัยนิยมศึกซึ่งถูกเรียกว่าเป็นเพื่อนสนิทของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้เดินทางไปส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมถึงประเทศสิงคโปร์ และเมื่อกลับมาไม่นานได้ถึงแก่กรรมโดยไม่คาดคิด พวกกลุ่มมีความเชื่อว่าเรื่องนี้เกิดจากการวางแผนลอบวางยาพิษของฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดา พวกกลุ่มแสดงอาการโกรธแค้นอย่างถึงที่สุด”

 

เกมซ้อนเกม?

การเดินทางออกนอกประเทศของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ส่งผลสะเทือนต่อคณะราษฎรเป็นอย่างยิ่งเพราะขาดผู้นำฝ่ายพลเรือนซึ่งมีความสำคัญต่อการต่อสู้ในสภา คณะราษฎรจึงเหลือเพียงคณะผู้ก่อการฝ่ายทหารซึ่งก็มิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเนื่องจากได้เกิดความไม่ลงรอยกันระหว่าง พระยาพหลพลพยุหเสนา กับ พระยาทรงสุรเดช

เหตุการณ์ผ่านไปเดือนเศษ วันที่ 10 มิถุนายน 2476 “สี่ทหารเสือ” ก็สร้างความประหลาดใจอย่างยิ่งเมื่อพร้อมใจกันยื่นใบลาออกจากราชการต่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นเพียง 8 วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สี่ทหารเสือพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2476 โดยมิได้มีความพยายามใดๆ ในการหาทางออกต่อสถานการณ์ที่กำลังตึงเครียด

และในวันเดียวกันก็มีประกาศให้นายทหารทั้ง 4 นี้ออกจากประจำการเป็นนายทหารกองหนุน โดยให้มีผลตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2476 เป็นต้นไป

พร้อมกันนั้นในวันเดียวกันนี้ก็ได้มีประกาศให้ให้ พล.ต.พระยาพิไชยสงคราม และ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

นอกจากนั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ยังมีคำสั่งแต่งตั้งให้ พล.ต.พระยาพิไชยสงคราม และ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม กลับเข้ารับราชการในกองทัพบกในตำแหน่ง “รักษาราชการผู้บัญชาการทหารบก” และ “เจ้ากรมยุทธการทหารบก” ตามลำดับ

และที่น่าสนใจคือการแต่งตั้งให้ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้รักษาราชการในตำแหน่ง “ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ” ซึ่งเทียบเท่าตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก และอยู่เหนือเจ้ากรมยุทธการทหารบกคือ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม ซึ่งมีอาวุโสและยศสูงกว่า พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม

 

ปริศนามิตรภาพ
หลวงพิบูลฯ-หลวงประดิษฐ์ฯ

สุพจน์ ด่านตระกูล บันทึกไว้ใน “ชีวิตและงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์” ว่า พระยามโนปกรณ์นิติธาดาร่วมมือกับพระยาทรงสุรเดชในการส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมออกนอกประเทศ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ

แต่ที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งคือ ได้บันทึกว่าหลวงพิบูลสงคราม “ร่วมมือ” ด้วย

“จากการที่พระยามโนฯ ถูกโจมตีจากสมาชิกสภาผู้คุมเสียงข้างมากอย่างรุนแรง และสมาชิกสภากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์ และเป็นกลุ่มที่เรียกร้องและเร่งเร้าให้รัฐบาลประกาศแผนการเศรษฐกิจโดยไม่ชักช้า พระยามโนฯ จึงวางแผนกำจัดท่านปรีดี และปิดปากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย กล่าวคือ พระยามโนฯ ซึ่งท่านปรีดีเป็นผู้สนับสนุนขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการราษฎรครั้งแรกและเป็นนายกรัฐมนตรีในลำดับต่อมาได้ใช้เล่ห์เพทุบายดึงกำลังทหารส่วนหนึ่งซึ่งมี พ.อ.พระยาทรงสุรเดช เป็นผู้คุมกำลังสำคัญคนหนึ่ง (รองจากเจ้าคุณพหลฯ) และพร้อมด้วย พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม เป็นกำลังสำคัญมาสนับสนุนแนวความคิดของพระยามโนฯ โดยมีนายประยูร ภมรมนตรี เป็นตัวการที่ชักใยผลักดันให้ พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม เห็นผิดเป็นชอบสนับสนุนแนวความคิดของพระยามโนฯ นายประยูร ภมรมนตรี จึงนับเป็นสมาชิกคนแรกของคณะราษฎรที่แหกกฎออกไปและพยายามดึงสมาชิกคนอื่นๆ ให้แยกตามออกไปสนับสนุนพระยามโนฯ ทำการละเมิดรัฐธรรมนูญโดยการสั่งปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา”

“การกระทำของพระยามโนฯ นับเป็นจุดแรกของความคลางแคลงใจในมิตรภาพและเพื่อนร่วมตาย ระหว่าง พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม ‘สิงห์หนุ่มแห่งกองทัพบก’ กับอำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือท่านปรีดี ‘เมธีหนุ่ม’ ผู้ได้รับการยกย่องจากเพื่อนฝูงทั้งหลายในฐานะอาจารย์”

ขณะที่ อนันต์ พิบูลสงคราม บันทึกไว้ใน “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” ว่า

“พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา และ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ให้ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ไปกระซิบบอกกับท่านปรีดี พนมยงค์ ให้ยอมรับปากตามข้อเสนอของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาที่จะให้ไปอยู่ต่างประเทศ เพราะว่าเพื่อนฝูงพวกผู้ก่อการซึ่งอยู่ข้างหลังจะได้คิดแก้ไขให้กลับมาในภายหลัง”

 

ความแคลงใจ

การได้รับบำเหน็จตำแหน่งสำคัญทางทหารของหลวงพิบูลสงครามจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดาครั้งนี้ อาจเป็นแผนเหนือชั้นของฝ่ายอำนาจเก่าที่พยายามสร้างความแตกแยกให้คณะราษฎร และยังได้สร้างความแคลงใจระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ กับหลวงพิบูลสงคราม ที่อาจติดค้างอยู่ในใจมาโดยตลอด ตามที่ปรากฏในบันทึกของ สุพจน์ ด่านตระกูล ว่า อีกกว่า 10 ปีต่อมา หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งสิ้นอำนาจและถูกกล่าวหาในข้อหาอาชญากรสงคราม ได้มีจดหมายถึง นายปรีดี พนมยงค์ ชี้แจงความเป็นจริงต่อเหตุการณ์นี้ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

“ประการแรก อยากขอปรับความเข้าใจแก่อาจารย์ ซึ่งบางทีจะมีเมตตาจิตเกิดแก่ผมบ้างตามสมควร ถ้าอาจารย์จะผูกพยาบาทผมเกี่ยวแต่เรื่องเดิมๆ มาบ้าง ซึ่งอาจเป็นการเข้าใจไม่ตรงตามเป็นจริง อาจารย์จะได้ทราบความจริงไว้ คือบางทีอาจารย์อาจเข้าใจว่าผมเป็นคนช่วยปิดสภาและเนรเทศอาจารย์เกี่ยวแก่ข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เรื่องนี้ผมไม่ได้เป็นผู้ทำเลย การปิดสภานั้น พระยามโนฯ เรียกผมไป ซึ่งเวลานั้นผมเป็นเด็กอยู่มากในการเมือง เกลี้ยกล่อมผมให้เซ็นเป็นคนสุดท้าย ครั้นเห็นทุกคนเขาลงชื่อกัน ผมจะไม่ลงชื่อกับเขาก็เกรงจะเป็นภัยร้ายแรง จึงได้ลงชื่อตามพระยาพหลฯ ไป

เรื่องเนรเทศอาจารย์นั้น ถามหลวงอดุลดูว่า เป็นใครวิ่งเต้น ความจริงจะทราบว่าพระยาทรงสุรเดช ผมกับหลวงอดุลก็ถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

วันหนึ่งไปพบพระยาทรงฯ ท่านยังถามว่าลื้อกับอดุลแดงเรื่อๆ แล้วนะ เมื่อผมเปิดสภา พระยาราชวังสันยังโทรศัพท์ถามผมว่าจะเอาอะไร ผมตอบว่าเปิดสภา ท่านยังถามต่อว่าไม่แดงนะ หรือจะแดงกัน ผมเลยวางหูโทรศัพท์”

“การทำการกันครั้งนั้นเขาประชุมกัน 4-5 คน มีพระยามโนฯ เป็นหัวหน้า เมื่อเขาจะทำอะไรเขาก็ทำกันไป ผมรู้จริงจังภายหลังเสมอ ซึ่งแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะเป็นเด็กในการเมืองอยู่”

การลาออกของ 4 ทหารเสือ

หลวงพิบูลสงครามจะรู้เห็นและเกี่ยวข้องกับการเนรเทศหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเมื่อ 12 เมษายน พ.ศ.2476 หรือไม่ มีแต่หลวงพิบูลสงครามเท่านั้นที่รู้ความจริง แต่เหตุการณ์ต่อมาที่เกิดขึ้นหลังการเนรเทศหลวงประดิษฐ์มนูธรรม น่าสงสัยกว่า โดยในจดหมายฉบับเดียวกันนี้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยืนยันว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับการลาออกของ 4 ทหารเสือ

“การลาออกของ 4 ทหารเสือ ผมก็ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุเลย อยู่ๆ ก็ลาออกกันไป เขาจะทำกันอย่างไรไม่ทราบ ผมเห็นแต่มีคนมาบอกอยู่เสมอๆ ว่า พระยาทรงฯ จะออก นอกนั้นผมไม่ได้วิ่งเต้นอะไร เขาออกไปแล้ว ผมไม่ทราบอะไร เปลี่ยนการปกครองใหม่ๆ ยังอ่อนในการเมือง พระยามโนฯ ถามว่าใครที่พอจะเป็นผู้บัญชาการทหารและเสนาธิการได้ ผมก็ตอบไปตามความเป็นจริงตามหลักทางทหารว่า พระยาพิชัยรณรงค์ (หมายถึง พล.ต.พระยาพิไชยสงคราม/บัญชร) กับพระยา ดิ่น ท่าราบ (หมายถึง พระยาศรีสิทธิสงคราม/บัญชร) เขาก็เห็นดีด้วยและบรรจุโดยพระบรมราชโองการ เรื่องเก่ามีความเป็นจริงอย่างนี้ เมื่อพระยาทรงฯ ออกไปแล้ว ผมอยู่รักษาการที่กาแฟนรสิงห์ตอนกลางคืน ผมจำได้ว่าไปกับหลวงอดุล ทราบภายหลังว่า พระยาราชวังสัน พระยามโนฯ จะให้ทหารเรือจับผมขังที่นั่น เข้าใจว่า พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ เป็นผู้ชักชวน”

“เรื่องเก่าๆ มีความเป็นจริงอย่างนี้ ขออาจารย์กรุณาเข้าใจว่า ผมไม่ได้เป็นคนแกล้งเพื่อนฝูงเลย คนอื่นเขาทำกันเอง แล้วผมยังช่วยในเมื่อมีโอกาส”