Quiet Quitting ‘ลาออกซ่อนเร้น’ ปัญหาใหญ่ องค์กรยุคใหม่

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

ผมเคยเขียนบทความ “จาก ‘ถ่างผิง’ ถึง ‘ลูกแหง่’ ยุค 5G” ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ของเราแห่งนี้

“ถ่างผิง” หรือ Lying Flat หมายถึง การไม่ทำงานหนักเกินไป และให้ความสำคัญกับความสำเร็จที่พอจะทำให้เกิดขึ้นได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิต ให้เวลาตัวเองกับการพักผ่อน ซึ่งตรงกับแนวคิด Work-Life-Balance

“ถ่างผิง” หมายถึง “นอนราบ” มีจุดเริ่มต้นจากโพสต์ๆ หนึ่ง ใน Weibo ซึ่งเป็น Social Media ยอดนิยมของจีน

ที่ต่อมา เป็นคำที่ถูกนำไปทำเป็นภาพล้อเลียนต่อๆ กันเป็นจำนวนมาก

“นอนราบ คือการเคลื่อนไหวที่ฉลาดที่สุดของฉัน” คือประโยคเริ่มต้น

“มีเพียงแค่การนอนราบเท่านั้น ที่จะทำให้มนุษย์ลดการถูกตีค่าว่าเป็นเครื่องจักร”

ต่อมา ได้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง จากนั้น “ถ่างผิง” ก็กลายเป็นศัพท์ยอดนิยมอย่างรวดเร็ว

หลังจาก “ถ่างผิง” กลายเป็นกระแสใหม่ที่รู้จักกันกว้างขวาง ว่าเป็น “ยาถอนพิษ” จาก “แรงกดดันของสังคม” ในการหางานทำ และต้องทำผลงานให้ดี แม้จะต้องมีชั่วโมงทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน

“การนอนราบ ไม่ใช่การรอคอยความตาย ผมยังคงทำงาน เพียงแค่ขอให้ไม่ตึงเครียดจนเกินไป” นี่คือคำสะท้อนของนักศึกษาจบใหม่ในจีน

จาก “ถ่างผิง” ปัจจุบัน ได้มีการพัฒนามาสู่ปรากฏการณ์ Quiet Quitting

 

มีการสำรวจกันว่า เกิด Quiet Quitting มากถึง 50% ของตลาดแรงงานในสหรัฐเลยทีเดียว!

ส่งผลให้บริษัทต่างๆ ในอเมริกา มีต้นทุนเพิ่มขึ้นถึง 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

Quiet Quitting หมายถึง การที่พนักงานทำงาน “เฉพาะหน้าที่” ที่กำหนดไว้ใน Job Description หรือ JD เท่านั้น โดยไม่มีใจให้กับการร่วมกิจกรรมขององค์กร หรืองานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการใหม่ๆ หรือภาระหน้าที่พิเศษนอกเวลางาน

แปลไทยเป็นไทยก็คือ Quiet Quitting หมายถึง การทำงานให้เสร็จไปวันๆ สิ้นเดือนรับค่าจ้าง ไม่มีแรงบันดาลใจอื่นใด หรือไม่สนใจภารกิจใหม่ๆ ขององค์กร

มีผู้ให้คำจำกัดความ หรือคำแปลของ Quiet Quitting เอาไว้มากมาย อาทิ “ดื้อเงียบ” “ประท้วงเงียบ” “ประชดนาย” “ทำงานแค่เบสิก” “ปฏิบัติหน้าที่ขั้นต่ำ” “การหลีกหนี-ไม่อยากมีส่วนร่วมกับองค์กร” หรือ Actively Disengaged

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ลาออกเงียบ” ซึ่งผมมองว่าไม่ค่อยตรงกับนัยของศัพท์เท่าใดนัก กระทั่งพาความหมายออกไปไกลจากคำแปลมากกว่าที่ควรจะเป็น

ผมจึงขออนุญาตเสนอคำว่า “ลาออกซ่อนเร้น”

เพราะการ “ลาออกซ่อนเร้น” นั้นแปลความได้ถึง การที่ตัวพนักงานยังคงอยู่ในตำแหน่ง และยังคงทำงานตาม JD ที่ได้ตกลงไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างงาน หรือในสัญญาจ้างงาน

ทว่า พฤติกรรมโดยภาพรวม พนักงานคนนั้น “ไร้ใจ” ในการทำงาน ดื้อแพ่ง เมื่อองค์กรมอบหมายภารกิจอื่นๆ นอกเหนือไปจาก JD

เหมือนกับการทำงานตาม Scope ของงานในตำแหน่งแต่เพียงอย่างเดียว

แต่ใจของพนักงานนั้น “ลาออก” จากองค์กรไปแล้ว

 

มองกันอย่างหยาบๆ คล้ายกับว่า Quiet Quitting อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่เรื่องโต เพราะพนักงานที่ Quiet Quitting ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ของตนตาม JD ทุกประการ

KPI (Key Performance Indicator) ยังเหมือนเดิม และมีแนวโน้มที่จะทำงานได้สำเร็จลุล่วงตาม KPI ทุกประการ

แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า พนักงานที่เต็มใจจะทำงานเกินหน้าที่ มีผลให้หลายองค์กรเกิดความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ

งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันตรงกัน ว่าการที่องค์กรใดๆ มีพนักงานที่ Quiet Quitting มาก จะส่งผลเสียต่อผลลัพธ์ขององค์กร

เช่น หลายองค์กรในอังกฤษกำลังประสบภาวะสูญเสียต้นทุนมากถึง 20% ของเงินเดือนประจำปีของพนักงานที่มีพฤติกรรม Quiet Quitting

ผลกระทบอีกประการหนึ่งซึ่งชัดเจนมาก หากองค์กรใดมีพนักงานที่ Quiet Quitting เยอะ ก็คือ องค์กรมีผลิตภาพต่ำลง

เพราะแม้ว่า พนักงานจะยังคงทำงานตาม KPI และ JD ของตัวเองไปตามปกติ แถมบางครั้ง พนักงานที่ Quiet Quitting สามารถทำตาม KPI และ JD ได้ดีกว่าพนักงานที่ไม่ Quiet Quitting เสียด้วย

อย่างไรก็ตาม พนักงานที่ Quiet Quitting จะไม่มีส่วนร่วมกับความเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมองค์กร ไม่มีส่วนร่วมกับกิจกรรมพิเศษ ไม่มีใจในการทำภารกิจใหม่ๆ ร่วมกับองค์กร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พนักงานที่ Quiet Quitting จะหลีกเลี่ยงเวทีระดมความคิดเห็นใหม่ๆ (Brainstorming) หรือการประชุมกลุ่มย่อยต่างๆ

การจะดูว่าใคร Quiet Quitting ง่ายๆ เลยก็คือ คนไหนที่ “ปิดคอมพิวเตอร์ทันทีเมื่อถึงเวลาเลิกงาน” หรือ “ทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างดี แต่มีเส้นแบ่งเรื่องงานกับสุขภาพอย่างชัดเจน”

 

ในช่วงที่ผ่านมา มีความพยายามทำความเข้าใจ ว่า Quiet Quitting เกิดจากอะไร บ้างก็ว่า พนักงานที่ Quiet Quitting นั้น ในอดีตเคยเป็นคนกระตือรือร้น หากแต่ประสบกับภาวะที่แบกรับภารกิจที่หนักหน่วงเกินตัว หรือทำงานหนักเกินไป

ประกอบกับการได้รับการประเมินคุณค่าที่ต่ำเกินไป และไม่ได้รับการเอาใจใส่ ทำให้ขวัญ-กำลังใจตกต่ำลง นำไปสู่ความกระตือรือร้นในงานที่ลดน้อยถอยลงในที่สุด

ขณะเดียวกัน เกิดการถกเถียงกันต่อมา ว่าปรากฏการณ์ Quiet Quitting ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการโทษพนักงานแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาจากฝั่งนายจ้างก็มีไม่น้อย

ไล่ตั้งแต่ ความคาดหวังในตัวพนักงานขององค์กรที่ไม่เคยลดลง การคาดหมายให้พนักงานทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา แต่กลับไม่เพิ่มผลตอบแทนให้พนักงาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมอบหมายงานที่เกินขอบเขต และการตามงานในเวลาส่วนตัว

พนักงานจึงหมดใจกับองค์กร ทำงานแค่ใน JD ของตัวเอง และเอาเวลาที่เหลือไปพักผ่อน เพื่อรักษาสมดุลระหว่างชั่วโมงทำงานกับชีวิตส่วนตัว

Quiet Quitting จึงเกิดขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ องค์กรจำนวนมากเริ่มรู้เท่าทันกระแส Quiet Quitting ผู้บริหารหลายคนจึงออกนโยบายแก้เผ็ด ที่ชื่อว่า Quiet Firing หรือการ “ไล่ออกซ่อนเร้น”

Quiet Firing คือการที่เมื่อองค์กรพบพนักงาน Quiet Quitting องค์กรจะเริ่มปฏิบัติการ Quiet Firing คือ “เพิกเฉย” ต่อพนักงานคนนั้น

“เพิกเฉย” เป็นเพียงมาตรการแรกที่แม้จะดูอ่อน แต่ก็แข็งอยู่ในที หากพนักงานยังไม่เลิก Quiet Quitting ขั้นที่ 2 ก็คือ ลดความสำคัญของพนักงาน

ตามมาด้วยการแสดงคำพูด และภาษากายแบบไม่ให้เกียรติกันอีกต่อไป คล้ายการเล่นเกมบีบพนักงานที่ Quiet Quitting แบบกลายๆ ผ่านมาตรการทางสังคม

เป้าหมายเพื่อบีบให้พนักงานที่ Quiet Quitting ละอายใจ และลาออกไปเอง โดยที่องค์กรจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

พร้อมๆ กันนั้น ผู้บริหารจะสั่งให้ HR ดำเนินมาตรการคู่ขนานไปกับ Quiet Firing เมื่อพบพนักงานที่ Quiet Quitting นั่นคือ Quiet Hiring

Quiet Hiring หรือ “จ้างงานซ่อนเร้น” หมายถึง การสรรหาพนักงานผู้ทุ่มเทการทำงานให้กับองค์กร “จากภายในขององค์กร” พูดอีกแบบก็คือ เป็นการค้นหา ว่าพนักงานคนไหนชอบทำงานหนัก

โดยองค์กรจะเสนอตำแหน่งงาน และเงินเดือนใหม่ให้ และตำแหน่งงานนั้นก็คือ ตำแหน่งของคนที่ Quiet Quitting นั่นเอง

 

ทั้งหมดนี้ คือปรากฏการณ์ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในองค์กรยุคใหม่ ไล่ตั้งแต่ “ถ่างผิง” หรือ Lying Flat มาจนถึง Quiet Quitting ที่เป็นกระแสมาอย่างต่อเนื่อง

ก่อนที่องค์กรต่างๆ จะเริ่มรู้ทัน จึงพากันออกนโยบายแก้เผ็ด อย่าง Quiet Firing และตามมาติดๆ ด้วย Quiet Hiring ออกมาแก้ลำ Quiet Quitting

เข้าทำนอง “ขิงก็รา ข่าก็แรง” นั่นเอง