จาก ‘ถ่างผิง’ ถึง ‘ลูกแหง่’ ยุค 5G

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

เป็นที่ทราบกันดี ว่า “วัฒนธรรมการทำงาน” ในประเทศจีน มีการใช้รหัส 996 ในการอ้างอิง ซึ่งหมายถึง ทำงานตั้งแต่ 9 นาฬิกา ถึง 21 นาฬิกา 6 วันต่อสัปดาห์

เป็น “วัฒนธรรมการทำงานหนัก” แต่กลับไม่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกวาดล้าง และเข้าควบคุมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชาวจีนรุ่นใหม่

ได้ทำให้ “ทางเลือก” ในตลาดงานแคบลง เพราะเกิดข้อกำหนดที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นในบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ไปจนถึงข้อจำกัดในอุตสาหกรรมเรียนพิเศษ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสั่งจับตา ห้ามบริษัทด้านการศึกษาจากต่างชาติมาลงทุน นำไปสู่การที่ตำแหน่งงานลดลงเป็นอย่างมาก

กระหน่ำซ้ำด้วยปัจจัยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช่วงหลัง COVID ของจีน ซึ่งล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้อัตราว่างงานสูงขึ้นเป็นอย่างมาก

โดยอัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะเลวร้ายลงอีก เพราะมีนักศึกษาจบใหม่สูงถึง 12 ล้านคน ที่กำลังจะทะลักเข้าสู่ตลาดแรงงานในปีนี้

นอกจากนี้ นายจ้างจำนวนมากมีแนวโน้มลดการจ้างนักศึกษาจบใหม่ หรือ “กระดาษเปล่า” ซึ่งหมายถึงคนที่ไม่มีประสบการณ์ทำงาน

หรือมีประสบการณ์น้อยกว่าบัณฑิตจบใหม่รุ่นก่อนๆ อันเป็นผลจากการ Lockdown เนื่องจาก COVID ทำให้นักศึกษาไม่ได้ฝึกงานเลย

ทำให้คนรุ่นใหม่ในจีนรู้สึกอ่อนล้า จนถึงขั้นต้องออกมาสร้างกระแสเพื่อตอกย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่

นั่นก็คือ “ถ่างผิง”

“ถ่างผิง” หมายถึง “นอนราบ” มีจุดเริ่มต้นจากโพสต์หนึ่งใน Weibo ซึ่งเป็น Social Media ยอดนิยมของจีน

ที่ต่อมาเป็นคำที่ถูกนำไปทำเป็นภาพล้อเลียนต่อๆ กันเป็นจำนวนมาก

“นอนราบ คือการเคลื่อนไหวที่ฉลาดที่สุดของฉัน” คือประโยคเริ่มต้น

“มีเพียงแค่การนอนราบลงเท่านั้น ที่จะทำให้มนุษย์ลดการถูกตีค่าว่าเป็นเครื่องจักร”

ต่อมาได้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง จากนั้น “ถ่างผิง” ก็กลายเป็นศัพท์ยอดนิยมอย่างรวดเร็ว

หลังจาก “ถ่างผิง” กลายเป็นกระแสใหม่ที่รู้จักกันกว้างขวาง ว่าเป็นยาถอนพิษจากแรงกดดันของสังคมในการหางานทำ และต้องทำผลงานให้ดี แม้จะต้องมีชั่วโมงทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน

ในช่วงนั้น คนจำนวนมากชื่นชมแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังคำว่า “ถ่างผิง” คือการไม่ทำงานหนักเกินไป และให้ความสำคัญกับความสำเร็จที่พอจะทำให้เกิดขึ้นได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้เวลาตัวเองในการผ่อนคลาย ซึ่งตรงกับแนวคิด Work-Life-Balance

“การส่งประวัติการทำงานเพื่อไปสมัครงาน ไม่ต่างจากการงมเข็มในมหาสมุทร”

“การที่สังคมคอยแต่ทำร้ายคุณ เพราะคุณเพียงแค่ต้องการชีวิตที่ผ่อนปรนมากขึ้น”

“ดังนั้น การนอนราบ จึงไม่ใช่การรอคอยความตาย ผมยังคงทำงาน เพียงแค่ขอให้ไม่ตึงเครียดจนเกินไป” นานาคำสะท้อนของนักศึกษาจบใหม่ในจีน

 

ก่อนหน้าที่ “ถางผิง” จะเป็นคำฮิตในจีน มีกระแสหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เช่น ในปี ค.ศ.2016 ภาพนักแสดงจีนนั่งเอนหลังอยู่บนโซฟาในซิตคอมยุคทศวรรษ 1990 กลายเป็นภาพล้อเลียนยอดนิยม

ปีต่อมา ชาวเน็ตรุ่นใหม่ในจีนพากันโพสต์ภาพ “ไข่ขี้เกียจ” ซึ่งเป็นตัวละครในการ์ตูนญี่ปุ่น

รวมๆ กันแล้ว มีผู้เปรียบเปรยสิ่งเหล่านี้ว่าเป็น “วัฒนธรรมซ่าง” โดยคำว่า “ซ่าง” แปลว่า “ไว้อาลัย” หรืออาจแปลได้ว่า “วัฒนธรรมโลกาวินาศ” หรือ Doomsday Culture ในภาษาอังกฤษ

ทั้งหมดนี้ เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้คนจีนรุ่นใหม่ “มีจริยธรรมในการทำงานที่ลดลง ขาดแรงจูงใจ และมีลักษณะที่เฉื่อยชา

คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ เกิดในขณะที่จีนมีนโยบายลูกคนเดียว และได้รับการคาดหมายให้ทำงานยาวนานขึ้นกว่าคนรุ่นก่อนๆ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนมากเป็น 2 เท่าของคนรุ่นใหม่ และกำลังอยู่ในวัยเกษียณอายุ

นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่กลุ่มดังกล่าว ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ต้องแสดงให้เห็นว่า พวกเขามีความรับผิดชอบต่อสังคม

ด้วยการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่ตั้งขึ้นภายใต้ระบบ “คะแนนความน่าเชื่อถือทางสังคม” หรือ Social Credit Score นอกจากนั้น คนกลุ่มนี้ยังถูกเรียกร้องให้แสดงความรักชาติ ด้วยการเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทต่างชาติจำนวนมากอีกด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สังคม Online ของจีนเต็มไปด้วยภาพถ่ายวันรับปริญญาที่ผิดปกติ ซึ่งสะท้อนถึงความท้อแท้ และสิ้นหวังของบัณฑิตจบใหม่

เพราะส่วนใหญ่เป็นรูปคนรุ่นใหม่ “ถ่างผิง” ในชุดรับปริญญา

อีกไม่น้อย เป็นภาพนักศึกษาจบใหม่ชูใบปริญญาเหนือถังขยะ เหมือนจะสื่อว่า กำลังจะโยนปริญญาทิ้งลงถัง

 

ทั้งหลายทั้งปวง นอกจากจะสะท้อนวัฒนธรรม “ถ่างผิง” แล้ว ยังนำไปสู่ปรากฏการณ์ “ลูกแหง่” ยุค 5G

“ลูกแหง่” ยุค 5G หรือ “ลูก Full Time” กำลังเป็น Trend ของคนรุ่นใหม่จีน ที่ต้องรับมือกับงานหนัก ชั่วโมงทำงานที่หนักหน่วง

ขณะที่งานกลับหายาก เนื่องจากตลาดงานมีบรรยากาศที่น่าหดหู่ จนหลายคนต้องขอกลับบ้านเพื่อ “รับจ้างเป็นลูก”

ภาวะ Burn-out นี้ กำลังผลักให้คนวัยทำงานต้องกลายเป็น “ลูก Full Time” ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก หากพิจารณาจากสมดุลระหว่างการทำงาน และการใช้ชีวิต หรือ Work-Life-Balance ที่ย่ำแย่ของจีน

ที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่จีนถูกพร่ำสอนเสมอมาว่าความพยายามอย่างหนักทั้งเรื่องเรียน และการได้ใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยดีๆ จะนำไปสู่ความสำเร็จ

แต่เวลานี้ พวกเขาหลายคนกลับรู้สึกพ่ายแพ้ และติดกับ

ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ คนวัยทำงานของจีนหลายคนกำลังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า “คำสาปวัย 35” ซึ่งเป็นความเชื่อในจีนว่า นายจ้างจะไม่ค่อยอยากจ้างคนงานที่มีอายุมากกว่า 35 ปี และมักเลือกคนงานรุ่นใหม่ที่ “ค่าจ้างถูกกว่า” แทน

นอกจากนี้ ความสิ้นหวังยังลามไปถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยที่กำลังเรียนอยู่อีกด้วย จนบางคนถึงกับตั้งใจทำข้อสอบผิดๆ ให้สอบตก เพื่อจะได้จบการศึกษาให้ช้าลง เพราะไม่อยากไปเผชิญหน้ากับความจริงอันโหดร้ายของตลาดแรงงาน

แน่นอนว่า คนหนุ่มสาวที่ต้องการพักผ่อนก่อนจะเริ่มงานใหม่ แต่คนว่างงานส่วนใหญ่ทุกวันนี้ ล้วนดิ้นรนหางาน แต่หางานทำไม่ได้

เพราะกว่า 1 ใน 5 ของหนุ่มสาวจีนในปัจจุบัน ที่อายุระหว่าง 16-24 ปี ยังคงว่างงาน ขณะที่อัตราการว่างงานโดยรวมได้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 21.3% ตามข้อมูลของรัฐบาลที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับแต่ทางการจีนเริ่มเผยแพร่ข้อมูลในปี ค.ศ.2018 และตัวเลขนี้ยังไม่นับข้อมูลจากตลาดแรงงานในแถบชนบท

กลุ่มคนหนุ่มสาวที่เรียกตัวเองว่า “ลูก Full Time” กล่าวว่า ตั้งใจอยู่บ้านเพียงชั่วคราวเท่านั้น มันเป็นช่วงเวลาที่ได้ผ่อนคลาย ทบทวนตัวเอง และหางานใหม่ที่ดีกว่า

แต่สิ่งเหล่านี้ พูดง่ายกว่าทำได้จริง

 

เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.2023 หนังสือพิมพ์ People Daily ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เรียกร้องให้คนรุ่นใหม่ “กล้ำกลืนความขมขื่น”

ซึ่งเป็นคำกล่าวเชิงเปรียบเปรยในภาษาจีนว่า “ให้อดทนต่อความยากลำบาก”

แม้ว่าชาวจีนรุ่นใหม่จะว่างงานอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม