ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 มีนาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คลุกวงใน |
ผู้เขียน | พิศณุ นิลกลัด |
เผยแพร่ |
คลุกวงใน | พิศณุ นิลกลัด
Facebook : @Pitsanuofficial
แฟนกีฬากับความเครียดและความสุข
แฟนกีฬายอดเหนียวแน่น หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ฮาร์ดคอร์ (Hardcore) ที่เอาจริงเอาจังกับเชียร์กีฬา
ดีใจสุดขั้วเมื่อทีมสุดโปรดของตัวเองชนะ
หรือเสียใจจะเป็นจะตายเมื่อทีมโปรดของตัวเองแพ้นั้น
ได้มีการทำวิจัยศึกษาจากหลายสถาบันถึงสภาพจิตใจ เวลาที่ทีมกีฬาโปรดชนะหรือแพ้
ซึ่งได้ผลการศึกษาน่าสนใจดังนี้
จากการศึกษาของยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ยูทาห์ (University of Utah) พบว่า ผู้ชายเวลาชมกีฬา ไม่ว่าจะชมในสนามแข่งขันจริงหรือชมผ่านทางโทรทัศน์ หากทีมกีฬาโปรดของตัวเองชนะ จะทำให้
ฮอร์โมนเพศชาย เทสโทสเตอโรน (Testosterone) เพิ่มสูงขึ้น
โดยทำการศึกษาผู้ชาย 21 คน ที่กำลังดูการแข่งขันฟุตบอลโลกทางโทรทัศน์ระหว่างทีมชาติของตัวเองกับประเทศอื่น ตรวจฮอร์โมนเพศชายทางน้ำลายก่อนและหลังการแข่งขันฟุตบอลสิ้นสุด
พบว่า หากทีมชาติตัวเองชนะ ฮอร์โมนเพศชายจะเพิ่มสูงขึ้น แต่หากทีมชาติตัวเองแพ้ ฮอร์โมนเพศชาย เทสโทสเตอโรนจะมีระดับลดลง
เทสโทสเตอโรน เป็นฮอร์โมนเพศที่สำคัญที่สุดของผู้ชาย ซึ่งการที่มีระดับฮอร์โมนเพศชายในระดับที่สมบูรณ์ เหมาะสม จะทำให้ร่างกายแข็งแรง กระปรี้กระเปร่า
และที่สำคัญมากสำหรับผู้ชายทั่วโลก ทำให้มีสมรรถภาพทางเพศ
แต่การที่มีระดับฮอร์โมนเพศชายลดลง จะทำให้เหนื่อยง่าย อารมณ์ทางเพศลดลง นอนไม่หลับ
จากการศึกษาของ Ohio State University พบว่า สำหรับแฟนกีฬาตัวยง จะมีความสุขสุดยอดหากทีมของตัวเองชนะอย่างเฉียดฉิว มีระดับความสุขสูงกว่าเวลาที่ทีมสุดรักชนะคู่แข่งแบบขาดลอย
แม้จะเครียดจัดขณะเชียร์เพราะสูสี แต่หากทีมชนะวินาทีสุดท้าย จะสุขสุดยอด
โดยได้ทำการศึกษานักศึกษามหาวิทยาลัย 113 คน ที่เป็นแฟนสุดขั้วของทีมบาสเกตบอล Ohio State University
แต่อย่างไรก็ตาม มีแพทย์แนะนำว่า สำหรับแฟนกีฬาอย่าเชียร์เอาเป็นเอาตาย เพราะตัวเองอาจถึงตายได้
โดยจากการศึกษาของคุณหมอ โรเบิร์ต โคลเนอร์ (Robert Kloner) แห่ง University of Southern California พบว่า ในการแข่งขันชิงแชมป์อเมริกัน ซูเปอร์โบว์ล ในปี 2008 ระหว่างทีมนิวอิงแลนด์ แพทริออตส์ (New England Patriots) ซึ่งเป็นทีมของรัฐแมสซาชูเซตส์ กับทีมนิวยอร์ก ไจแอนต์ส (New York Giants) ซึ่งเกจิวิเคราะห์ว่าเป็นทีมรองนิวอิงแลนด์ แพทริออตส์ อย่างมาก
แต่ผลปรากฏว่าการแข่งขันสูสีมาก เป็นหนึ่งในสุดยอดการแข่งขันซูเปอร์โบว์ลที่ตื่นเต้นในประวัติศาสาตร์ และทีมนิวยอร์ก ไจแอนต์ส เฉือนเอาชนะนิวอิงแลนด์ แพทริออตส์ ในวินาทีสุดท้าย
ทำเอาแฟนๆ นิวอิงแลนด์ แพทริออตส์ หัวใจสลาย ซึ่งผลปรากฏว่า ภายในช่วงระยะเวลา 8 วันหลังการแข่งขันการแข่งขันซูเปอร์โบว์ลสิ้นสุด
จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย และอาการเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ ในรัฐแมสซาชูเซตส์ เพิ่มขึ้นถึง 20% ซึ่งคุณหมอโรเบิร์ต โคลเนอร์ วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากที่ทีมนิวอิงแลนด์ แพทริออตส์ แพ้แบบเฉียดฉิว
จากการศึกษาของ University of Chicago พบว่า สำหรับแฟนกีฬาตัวยง ดูกีฬาโปรดทางโทรทัศน์หรือฟังการแข่งขันสดกีฬาทางวิทยุเป็นการออกกำลังสมองมากกว่าการชมรายการหรือฟังรายการวิทยุอีกหลายประเภท
โดยได้ทำการศึกษาการทำงานของสมองของแฟนกีฬาฮอกกี้ พบว่า เวลาการดูฮอกกี้ทางโทรทัศน์ หรือฟังการแข่งขันฮอกกี้ทางวิทยุ จะกระตุ้นให้สมองส่วนสั่งการวางแผนทำงาน เพราะนักพากย์กีฬา
นั้นจะวิเคราะห์ถึงกลยุทธ์ แผนของทีมฮอกกี้ในการแข่งให้ชนะคู่ต่อสู้
นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยพัฒนาทักษะด้านภาษาไปด้วยในตัว เพราะเวลาฟังศัพท์เทคนิคกีฬาต่างๆ ในการเล่นกีฬา กฎ กติกาต่างๆ ในการแข่งขัน สมองของผู้ชมหรือผู้ฟังกีฬาก็จะวิเคราะห์คำพูดของนักพากย์ตามไปด้วย
ในการแข่งขันกีฬาทุกประเภทต้องมีการวางแผน มีการสร้างกลยุทธ์ และปฏิบัติให้ได้ตามแผนที่วางไว้
ดังนั้น การดูกีฬาทำให้ฝึกสมองให้เรารู้จักวางแผน คิดตามไปด้วย แม้จะไม่ได้ลงแข่งขันเอง แต่การชมกีฬาก็เป็นการบริหารสมอง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022