‘หมอมิ้ง’ เสนาธิการตึกไทยคู่ฟ้า เปิดสูตรแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ‘จะไม่ยอมให้กบตาย’

“หมอมิ้ง” – นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เขาเปรียบตัวเองว่าเป็น “ผู้ช่วยพ่อครัว” ให้กับนายกรัฐมนตรี 2 คน

คนแรก ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนที่ 23

“ทักษิณ” เคยบรรจงเขียนคำนิยมในหนังสือ “พรหมไม่ได้ลิขิต” อัตชีวประวัติของ “นพ.พรหมินทร์” ตอนหนึ่งถึงบทบาทในฐานะเลขาธิการนายกฯ ทำหน้าที่เป็น “เสนาธิการตึกไทยคู่ฟ้า” ว่า

“ช่วงที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรี หมอพรหมินทร์เป็นผู้ช่วยที่คอยเตรียมงานและติดตามการสั่งการ สะสางงานให้บรรลุผลสำเร็จ หมอเป็นคนเรียนรู้เร็ว รอบรู้ ละเอียดรอบคอบ และรับผิดชอบ ประกอบกับความมีมนุษยสัมพันธ์ดี ประสานกับรัฐมนตรี นักการเมือง และข้าราชการผู้ใหญ่ได้ดี จึงเป็นผู้ช่วยผลักดันงานจนสามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี”

“หากเปรียบผมเป็นพ่อครัว หมอพรหมินทร์ก็เปรียบเสมือนผู้ช่วยพ่อครัวที่คอยจ่ายตลาด จัดหาอาหารสด เครื่องเทศ เครื่องปรุง และอุปกรณ์ทำครัว เพื่อรอผมมาลงมือปรุงเป็นอาหารสำเร็จรูปในขั้นตอนสุดท้ายแล้วหมอก็เป็นผู้นำไปเสิร์ฟต่อ”

ผ่านมา 20 ปี นพ.พรหมินทร์ กลับมาทำหน้าที่ผู้ช่วยพ่อครัวให้กับ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ คนที่ 30

เขาเล่าถึงภาระหน้าที่ในยุครัฐบาลเศรษฐาว่า “ผมเป็นส่วนประกอบหนึ่ง ก็ถือว่าเราจัดการส่วนที่เราคุ้นเคยและจัดการได้ ปรับศักยภาพในภาครัฐให้เข้าสู่เป้าหมาย ร่วมในการศึกษาและกำหนดทิศทาง ค้นหาศักยภาพของประเทศขึ้นมา”

“สิ่งที่ช่วยท่านนายกฯ ตอนนี้ เหมือนกับท่านนายกฯ ดำริริเริ่มการจะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง ต้องอาศัยองคาพยพต่างๆ ช่วยกันมองหาโอกาส มองหาศักยภาพอยู่ ทำงานร่วมกันเป็นคณะ คณะนี้รวมถึงในคณะรัฐมนตรีด้วย”

นพ.พรหมินทร์ ฉายสิ่งที่เหมือน และสิ่งที่ต่างระหว่างนายกฯ คนที่ 23 กับนายกฯ คนที่ 30 ว่า สิ่งที่เหมือนกันคือ 1.ความมุ่งมั่นและจิตใจที่อยากทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง 2.ประสบการณ์หรือความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก โลกที่ต้องอาศัยเศรษฐกิจ เพราะการเมืองที่แท้จริงคือการสร้างเศรษฐกิจให้ประชาชนในประเทศ ความเข้าใจ และประสบการณ์ 2 สิ่งนี้เหมือนกัน

สิ่งที่สำคัญ ด้วยประสบการณ์ที่แตกต่างกัน อาจมีวิธีการที่ต่างกันบ้าง แต่เป้าหมายและเจตนารมณ์ที่ต้องการทำประโยชน์ให้กับประชาชนนั้นเหมือนกัน

ส่วนที่ต่างคือ รายละเอียดคนละสไตล์ ประสบการณ์คนละแบบ เครือข่ายไม่เหมือนกัน แต่ในที่สุดเป้าหมายเป็นทางร่วมกัน

เครือข่ายไม่เหมือนกันคือ เพื่อนฝูง เพื่อนในต่างประเทศ โอกาส แต่พรรคการเมืองเอาเครือข่ายต่างๆ มารวมกัน ศักยภาพมารวมกัน มาช่วยผสมผสานอยู่ในทิศเดียวกัน มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน

ในวันที่ประเทศกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจ ตามที่รัฐบาลเพื่อไทยพยายามสื่อสารถึงประชาชน นพ.พรหมินทร์ เปิดสูตรแก้วิกฤตว่า ต้องใช้ทั้งมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต และมาตรการลดดอกเบี้ย

“พูดถึงปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้ ถ้าเราสามารถดำเนินการดิจิทัลวอลเล็ต ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง และออกได้ก่อนหน้านี้ก็ช่วยพยุงได้เยอะ ตัวเลขที่เรามีการคาดการณ์ ผมใช้คำว่าเศรษฐกิจของเราเหมือนอยู่ในภาวะกบต้ม พูดง่ายๆ ว่าซึมยาว คล้ายๆ ว่าเศรษฐกิจค่อยๆ ลง จนคนเคยชินกับมัน แต่พอถึงวิกฤตจริงๆ ทนไม่ได้แล้ว เหมือนกบต้ม ต้มสุก กว่าจะรู้ตัวก็ตายเสียแล้ว”

ล่าสุด การคาดการณ์จากสถาบันต่างๆ ไม่ว่าสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกระทรวงการคลัง ประเมินว่าเศรษฐกิจจะโตดีกว่านี้ แต่ความจริงปรากฏว่า การเติบโตจริงต่ำกว่าเป้า

การเติบโตปี 2566 คือ 1.9% ถ้าดูให้ดียังต่ำกว่าก่อนหน้าโควิด-19 หมายความว่า เราตกต่ำเพราะโควิด-19 ไป 6.5% แล้วยังไม่ฟื้นมาถึงที่เก่าเลย อย่างนี้เราเรียกว่าวิกฤตยาว

ตัวชี้วัดสำคัญ คนบางคนที่มีรายได้สูง หรือยังอยู่ได้ จะเห็นชัดว่าคนที่มีรายได้สูงพ้นทุกข์ไปตั้งแต่ปีแรกแล้ว ในขณะที่กว่า 50% ยังไปไม่ถึง ตัวเลขนี้ชี้ชัดคือ หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของเราเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาจาก 70% มาเป็น 91.6% ถามว่าคนเหล่านี้อยู่ได้ด้วยอะไร ตัวเลขฟ้องอีกเหมือนกันว่า คนที่รายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท ค่าใช้จ่ายมากกว่ารายรับ คืออยู่ได้ด้วยหนี้ ตัวนี้ฟ้องทันทีว่าทำไมหนี้ถึงโต เพราะค่าใช้จ่ายเปลี่ยนแปลงไม่ได้

เหตุที่เราต้องพูดเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ก็เพราะเราต้องเพิ่มกำลังซื้อ ขณะนี้โรงงานอุตสาหกรรม เราลงทุนไปแล้ว 100% ขณะนี้ Capacity Utilization (อัตราการใช้กำลังผลิต) 57% ตกลงไปจากหลายเดือนก่อน ซึ่งอยู่ที่ 60%

ไม่ต้องพูดถึงเงินเฟ้อ ยังติดลบอยู่เป็นเดือนที่ 5 แสดงว่ากำลังซื้อไม่มี ซื้อเท่าที่จำเป็น กำลังซื้อหดหายหมด สิ่งเหล่านี้ต้องประกอบกัน

อย่างที่มีการเรียกร้องจากหลายภาคส่วน ถ้าลดดอกเบี้ยได้ เท่ากับลดภาระของประชาชนที่เป็นหนี้อยู่ เรากำลังคืนเงินให้ประชาชนให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ช่วยได้ แต่ต้องมีความร่วมมือ อย่างไรก็ตามเราต้องเคารพในการตัดสินใจของสถาบันนั้น (ธปท.)

ขณะเดียวกัน “นพ.พรหมินทร์” กล่าวว่า การลงทุนในประเทศ และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะรอดจากวิกฤตกบต้ม

สิ่งที่ทำให้นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจะต้องเกิดขึ้นจากการบริหารที่ถูกต้อง geopolitics ต้องถูกต้อง นั่นหมายความว่าโลกทุกวันนี้เราอยู่คนเดียวไม่ได้ และถ้าอยู่เฉยๆ ก็ช้าไปเสียแล้ว เพราะคนอื่นเดินขึ้นหน้าไปหมด หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เราต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ข้างบ้านมากทีเดียว ดังนั้น เราต้องสร้างโอกาสให้ทัดเทียม เพราะไม่เช่นนั้น เราจะถูกทิ้งและด้อยไปเรื่อยๆ

การลงทุนของทุกค่ายมองถึงระยะยาว และยังโชคดีที่เรามีทรัพยากร ศักยภาพมากมาย รวมถึงทิศทางการปรับตัวเองไปสู่โลกยุคใหม่ที่ต้องการเทคโนโลยี green economy เราไปในทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างดี เตรียมพลังงานทดแทนอย่างชัดเจน เป็นจุดที่ดึงดูดการลงทุน รวมถึงรายได้จากการท่องเที่ยวที่เป็นเรื่องควิกวิน

เขามั่นใจว่า ถ้าอยู่ในมือของรัฐบาลนี้จะไม่ยอมให้กบตาย นั่นหมายความว่าเราต้องทำให้พ้นทุกข์ให้ได้ เครื่องมือมีจำกัด แต่ไม่ได้จำกัดศักยภาพและปัญญา และความร่วมมือของประชาชน

“สิ่งที่นายกฯ เดินทางออกไปต่างประเทศ ไม่เฉพาะพบปะกับผู้นำประเทศต่างๆ เพื่อฟื้นความสัมพันธ์ ฟื้นการติดต่อค้าขาย และแน่นอนที่สุด พบกับภาคธุรกิจและปรากฏดอกผลเป็นรูปธรรมแล้ว”

“หมอมิ้ง” ทิ้งท้ายว่า ปีนี้เขาอายุ 70 ปี จริงๆ ควรจะพัก เลี้ยงหลาน แต่เมื่อประเทศกำลังวิกฤต เขารู้สึกว่าถ้าได้ทำประโยชน์อย่างเต็มความสามารถ ก็เป็นความปีติของตัวเอง

นั่นคือความท้าทายในครั้งนี้ วันที่จะต้องกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ และร่วมผลักดันไปกับรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ให้สำเร็จในที่สุด