เรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่น (ใหญ่) หัดไหว้เจ้า : ประเพณีไหว้เทพเจ้าโชคลาภในคืนวันตรุษจีน?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

หลังจากที่แต่ละบ้านตั้งไหว้โฮ่เฮียตี๋ในตอนบ่ายแล้ว ส่วนมากก็จะแยกย้ายกันพักผ่อน บางคนก็ออกไปหาเพื่อนฝูง เล่นไพ่ แล้วก็รอกลับมากินข้าวเย็นพร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว เป็นช่วงเวลาที่สำคัญอีกช่วงหนึ่งในเทศกาลตรุษจีน

บางท่านถือธรรมเนียมไม่นอนในคืนสิ้นปี หรืออย่างน้อยๆ ต้องรอให้เที่ยงคืนผ่านพ้นไปแล้ว เท่ากับได้อยู่รับปีใหม่ด้วยกันทั้งครอบครัว บางบ้านอาจอุ่นอาหารทานกันอีกรอบตอนดึก ทั้งนี้ แต่ละครอบครัวก็มีธรรมเนียมปฏิบัติต่างกันออกไป

วันรุ่งขึ้นซึ่งบ้านเราเรียกกันว่า “วันเที่ยว” ตรงกับวันหนึ่งค่ำเดือนอ้ายจีน อันถือเป็นวันปีใหม่จริงๆ ตามปฏิทินแล้ว ใครมีเสื้อผ้าใหม่สีสันสดใสหรือสีแดงก็จะใส่ออกไปหาญาติพี่น้อง เอาข้าวของไปฝาก แจกเงินซองแดงหรืออั่งเปากัน บ้างออกก็ออกไปท่องเที่ยวตามที่ต่างๆ ใช้เงินใช้ทองให้สุขสราญใจ

ผมถามเต็กซือหูว่าทำไมซินแสบางคนถึงบอกว่าให้กินเจในมื้อเช้าของวันปีใหม่ ทั้งที่หมูเห็ดเป็ดไก่ซึ่งแปลงร่างเป็นของรวนเค็มไม่ให้เน่าเสีย กับจับฉ่ายที่เอากับข้าวเหลือมาต้มรวมกันก็ยังมีอีกมากมาย

ท่านว่าเพราะบางคนถือการกินเจในวันพระจีน คือวันหนึ่งค่ำและสิบห้าค่ำ (โช่ยอิดจับหง่อ) ของทุกเดือนอยู่แล้ว เผอิญวันปีใหม่ตรงกับวันหนึ่งค่ำหรือวันพระจีนพอดี จึงได้กินเจตามที่ได้ปฏิบัติมาตลอด อย่างน้อยๆ ก็กินเสียมื้อหนึ่ง พอสวดมนตร์ไหว้พระเสร็จแล้วก็ออกเจ ทานอาหารที่มีมากมายจากวันก่อนและเฉลิมฉลองกับญาติมิตรไปตามเทศกาล

เรื่องนี้พอคนไม่ทราบที่มาที่ไป ก็กำหนดให้ถือกันอย่างเถรส่องบาตร บ้างก็ให้เหตุผลง่ายๆ ว่าจะได้โชคดี น่าเสียดายที่ทำให้ไม่ทราบเหตุผลเดิม

 

ที่จริงในคืนวันไหว้ ช่วงก่อนย่างเข้าปีใหม่ในยามแรกราวห้าทุ่มนั้น มีหลายบ้านรอคอยที่จะเซ่นไหว้รอรับเทพเจ้าแห่งโชคลาภ (จ่ายสีนเอี๋ย/ไฉซิ้งเอี๊ย/ฉ่อยซันเหย๋) และต้องคอยฟังซินแสออกมาบอกว่า ปีนี้ต้องตั้งไหว้ด้วยอะไรบ้าง หันหน้าไปทางทิศไหนอย่างไร เวลากี่โมงกี่ยาม

ที่จริงประเพณีดังกล่าวนี้เป็นประเพณีของชาวกวางตุ้งเพื่อไหว้รับเทพโชคลาภตามคติของตน (ฉ่อยซัน และ ไฮซัน) และตามตำราของเขา ต้องรอเทพเข้ามาตามทิศลมและเวลาที่กำหนดไว้ในทางโหราศาสตร์ ไม่ใช่พิธีโดยทั่วๆไปของทุกกลุ่มภาษา อีกทั้งแต่เดิมก็นิยมปฏิบัติกันในกลุ่มคนทำค้าขายโดยเฉพาะ

ทว่า ชาวจีนภาษาอื่นๆ โดยเฉพาะคนแต้จิ๋วที่ใกล้ชิดคนกวางตุ้งในทางภูมิศาสตร์ ก็คงได้เรียนรู้เรื่องนี้จากคนกวางตุ้งที่คุ้นเคยกัน จึงได้นำมาปฏิบัติด้วย ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม

ครั้นซินแสทั้งหลายรับเอาเรื่องนี้ไปตีฟูว่าการไหว้เช่นนี้เน้นเรื่องความร่ำรวยเป็นพิเศษ ใครจะไม่อยากรวยล่ะครับพิธีดังกล่าว จึงกลายเป็นพิธีไฮไลต์สำคัญอย่างหนึ่งในช่วงตรุษจีนไปเลย ซึ่งไม่ว่าคุณจะเป็นจีนหรือไม่จีนก็ล้วนปฏิบัติตามๆ กันไปทั้งสิ้น

ที่จริงใครไหว้อะไรยังไงผมก็ไม่มีปัญหาหรอกครับ เพราะมันเงินของเขา ส่วนผมเองพอเห็นว่าไม่ใช่ประเพณีของภาษาเรา จึงไม่ได้ปฏิบัติด้วยและยังจำได้ว่าสมัยยังเด็กอยู่บ้านนอกก็ไม่เห็นมีใครไหว้ อย่าให้ต้องไหว้เพิ่มอีกเลย

แล้วคิดไปว่าไหนๆ ก็ไหนแล้ว ควรเขียนให้เห็นว่าพิธีนี้ไม่ใช่พิธีที่ทำกันโดยทั่วไปมาก่อน เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม แล้วค่อยๆ ขยายออกมาจนฮิตในไม่กี่ปีมานี้

แต่ใครจะไหว้ก็ตามสบายเถิด

 

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งชวนประหลาดใจอีกสองอย่าง อย่างแรกคือเดี๋ยวนี้ผมเห็นว่า เริ่มมีการจัดไหว้เทพโชคลาภตรุษจีนแบบเป็นอีเวนต์ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ รวมคนมากๆ มาไหว้แล้วก็แยกย้าย แต่เผอิญเทพโชคลาภแบบที่ไหว้กันนี้เป็น “ไหว้รับ” คือปกติก็ไหว้บ้านใครบ้านมัน ไหว้เสร็จก็ยกกระถางธูปเข้าบ้าน เป็นสัญลักษณ์ว่าโชคลาภเข้าบ้านไปแล้ว พอจัดเป็นอีเวนต์แบบรวมๆ คน หรือไปใช้ที่สาธารณะ ก็งงว่าจะมีหลักคิดยังไงดี

ที่ยิ่งไปกว่านั้นจะหาว่าผมครึก็ได้ครับ คือตงิดๆ กับลูกเจ๊กหลานจีนด้วยกันที่ไม่ไหว้บรรพชนแต่เน้นไหว้ไฉ่สีนเอี๋ยอย่างจริงจังในทุกๆ ปี เพราะชวนให้นึกถึงคำสอนของอาจารย์ขงจื่อบทหนึ่งที่ว่า

“หวังซุนเจี๋ยถามว่า ‘ประจบเทพเจ้าเตาไฟดีกว่าบูชาเจ้าที่’ นั้น หมายความว่าอย่างไร อาจารย์ (ขงจื่อ) ตอบว่า ไม่ใช่เช่นนั้น ผู้ละเมิดสวรรค์ไม่อาจขอพรได้”

อาจารย์สุวรรณา สถาอานันท์ ท่านกรุณาให้อรรถาธิบายว่า เจ้าที่ (ทิศตะวันตกเฉียงใต้) ในที่นี้หมายถึง “เทพบรรพชน” ส่วนเจ้าเตาไฟก็หมายถึงความอุดมสมบูรณ์

ผมตีความว่า คล้ายกับหวังซุนเจี๋ยยกคำพูดที่คนพูดกันคือให้ประจบเทพเจ้าที่มอบความร่ำรวยและความอุดมสมบูรณ์ให้ (เจ้าเตาไฟ) ดีกว่าบูชาเทพบรรพชน เช่นนี้มันถูกต้องไหม

ขงจื่อรีบปฏิเสธว่า ไม่ใช่อย่างนั้น ผู้ละเมิดสวรรค์มิอาจขอพรได้ ซึ่งก็น่าจะมีความหมายว่า การเซ่นไหว้บรรพชนนั้นเป็นการปฏิบัติตามขนบซึ่งเป็นกฎของฟ้า เป็นคุณธรรมที่ควรดำเนินตาม เป็นความรับผิดชอบในฐานะลูกหลาน แต่หากเราละเมิดคุณธรรมพื้นฐานคือละทิ้งการเซ่นไหว้บรรพชนซึ่งเป็นหน้าที่ของลูกหลานแล้ว จะยังควรไปขอพรต่ออะไรอีกหรือ

แถมการประจบเจ้าเตาไฟก็ยังแสดงให้เห็นชัดๆ ว่า เป็นการเซ่นไหว้หวังผลในทางโภคทรัพย์ ซึ่งที่จริงก็ไม่ผิดอะไร หากการหวังผลในทางโภคทรัพย์นั้นไม่ได้ทำให้ละเลยต่อคุณธรรมละความรับผิดชอบอื่นๆ

 

อันที่จริงก็เข้าใจคนที่ไหว้เฉพาะจ่ายสีนตามกระแสนะครับ เพราะมันง่ายและเป้าหมายชัดเจนตาม “ลัทธิบูชาความมั่งคั่ง” อันเป็นกระแสความเชื่อหลักในสังคมไทยที่อาจารย์ปีเตอร์ แจ๊กสัน ท่านเสนอไว้ในหนังสือ “เทวา มนตรา คาถา เกจิ : ไสยศาสตร์ยุคใหม่กับทุน (ไทย) นิยม” นั่นแหละ

ส่วนการไหว้บรรพชนนั้นเป็น “ภาระ” ทั้งทางใจ กาย เวลาและเงินตรามากพอสมควร เคยไหว้แล้วจะเลิกก็ไม่ได้ แถมก็ไม่ชัดเจนว่า ไหว้แล้วจะได้อะไรหรือก็แค่ไหว้ไปตามที่ทำมา สู้ไปไหว้เทพที่เล็งเห็นผลชัดๆ ดีกว่า

แต่ถ้าถามผม ผมก็ยังยืนยันนอนยันให้ไหว้บรรพชนก่อนเทพครับ อาจารย์ถาวร สิกขโกศล เคยพูดไว้ว่า ในจีนโบราณ ก่อนสมัยขงจื่อ สุขอนามัยในบ้านเมืองยังไม่ดีนักคนมักตายเสียตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ลูกหลานจึงมิทันได้เลี้ยงดูพ่อแม่ ดังนั้น การเซ่นไหว้เท่ากับเป็นการแสดงความกตัญญูแทน

ต่อมาคนมีอายุยืนยาวขึ้น คำสอนให้เลี้ยงดูพ่อแม่จึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นตามไปด้วย กระนั้นก็ยังไม่ทิ้งการเซ่นไหว้ในฐานะสิ่งแสดงความความกตัญญูอยู่

การไหว้บรรพชนจึงเป็นการฝึกตนในวิถีขงจื่อไปทีละน้อยหากเรามีความเข้าใจ และเป็นการสร้างสำนึกถึงรากเหง้าที่มาที่ไปของตัวเรา ทำให้เราไม่ลืม “ต้นน้ำ” อันเป็นฐานแห่งการดำรงอยู่หรือตัวตนของเราในปัจจุบัน

ส่วนการไหว้เทพนั้น หากไหว้ด้วยทัศนคติที่ถูกต้องก็เป็นการฝึกฝนเช่นกัน เพียงแต่การไหว้เทพเจ้ามีคติทางศาสนาและความเชื่อแฝงอยู่มากกว่า และมักมีผลหรือเป้าหมายที่ทำให้หลงลืมตัวคำสอนได้มากกว่า

 

ที่จริงในช่วงเทศกาลตรุษจีน มีวันที่ไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภกันอีกวันหนึ่ง คือในวันห้าค่ำเดือนอ้าย เหตุที่ต้องเป็นวันห้าค่ำ ก็เพราะถือว่าเทพเจ้าแห่งโชคลาภมีห้าองค์ ผสมกันทั้งปางบู๊ปางบุ๋น มีคุณสมบัติต่างกันออกไป บ้างก็เรื่องค้าขาย บ้างก็ทรัพย์วิเศษ สถิตในทิศทั้งห้า

วันไหว้เทพเจ้าห้าค่ำนี้ เรียกว่า วันไหว้ “รับเทพเจ้าโชคลาภเปิดคลังสมบัติ” (จิ๊จ่ายสีนคุยค้อ)

ผมเข้าใจว่า อันที่จริงเหตุที่เรียกว่าเป็นวันเปิดคลังสมบัติ ก็เพราะวันห้าค่ำเดือนแรกถือเป็นวันเริ่มเปิดกิจการของคนค้าขาย (เก้คุ้ย) หลังจากที่ได้หยุดมาหลายวันตั้งแต่ปลายปีจนถึงตรุษจีนเข้าวันที่สี่แล้ว ครั้นจะหยุดนานกว่านี้ก็อาจกระทบการค้าของตน จึงได้เปิดทำการค้าขายก่อนอาชีพอื่นๆ ที่ยังคงหยุดต่อเนื่องยาวนานต่อไป

ดังนั้น จะเปิดกิจการต้นปีก็ต้องกราบไหว้เทพที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายและความร่ำรวยก่อน ให้เทพท่านเปิดคลังสมบัติให้เป็นฤกษ์เป็นชัย การเซ่นไหว้เทพโชคลาภทั้งห้าจึงมิได้เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันโดยทั่วๆ ไป แต่นิยมปฏิบัติกันในคนค้าขายเป็นหลัก

ส่วนเลข “ห้า” เป็นเลขของความอุดมสมบูรณ์ในวัฒนธรรมจีนเพราะสะท้อนความสมบูรณ์ในธรรมชาติ เช่น ธาตุห้า ธัญพืชห้า ฤดูกาลทั้งห้า ฯลฯ ยังสะท้อนถึงความเป็นมงคลทั้งห้าอันเป็นยอดปรารถนาในชีวิตผู้คนด้วย ได้แก่ความมีอายุยืนยาว, ความมั่งคั่งร่ำรวย, ความมีสุขภาพดี, ความมีคุณธรรมอันประเสริฐ และการได้ตายดี

ผมคิดว่าพรทั้งห้าประการนี้ น่าสนใจที่รวมเอาเรื่องคุณธรรมและความปราถนาที่จะตายดีเข้าไว้ด้วย เพราะชีวิตที่มีแต่ความร่ำรวยเงินทองเพียงประการเดียว ก็ไม่อาจถูกมองว่าเป็นชีวิตที่ดีในทัศนะแบบจีนได้เลย พูดง่ายๆ คือมันไม่ “สง่างาม” ครับ

ที่จริงคราวนี้กะจะเล่าถึงพิธีกรรมอันหนึ่งที่ค่อยๆ เลือนหายไปจากเทศกาลตรุษจีน คือการตั้ง “ชุ้นตั๋ว” หรือโต๊ะไหว้รับวสันต์ ซึ่งได้ปฏิบัติกันมาก่อนการไหว้ฉ่อยซันหรือเทพโชคลาภอันเป็นที่นิยมมากๆ ในปัจจุบันนี้

แต่เนื้อที่หมดเสียแล้ว

โปรดติดตามต่อไป •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง