ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 มีนาคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | สมชัย ศรีสุทธิยากร
ต้นทุนประชาธิปไตย
สำหรับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาชุดที่สองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีงบประมาณในการจัดการที่คาดการณ์โดยคณะกรรมการเลือกตั้งอยู่ที่เกือบ 2,000 ล้านบาท เพื่อให้ได้สมาชิกวุฒิสภา 200 คน หรือเป็นต้นทุนเกือบ 10 ล้านบาทต่อคน
สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ จะมาปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 5 ปี เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ให้คำแนะนำในการบริหารราชการแผ่นดินแก่รัฐบาล ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ กำกับดูแลการทำงานของรัฐบาล สามารถเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้รัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ และหน้าที่อื่นๆ ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญทั้งในฐานะวุฒิสภาและในฐานะรัฐสภาที่ต้องประชุมร่วมกันกับสภาผู้แทนราษฎร
แต่ต้นทุนในการได้มาไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ยังมีต้นทุนของฝ่ายต่างๆ รวมถึงของฝ่ายประชาชนอีกสูงลิ่วซึ่งจะคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้รับมาหรือไม่ ยังเป็นเครื่องหมายคำถามอันใหญ่
ผู้เลือกต้องเป็นผู้สมัคร
มาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ระบุว่า วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม
ประชาชนทั่วไปจึงไม่มีสิทธิในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา แต่ผู้สมัครด้วยกันเท่านั้นจึงเป็นผู้มีสิทธิเลือก
ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ข้อ 51(10) กำหนดค่าสมัครไว้ที่คนละ 2,500 บาท
และหากมีผู้สมัคร 100,000 คน ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งคาดหมาย เท่ากับคือต้นทุนทางฝ่ายประชาชนที่ประสงค์จะเข้าไปในกระบวนการคัดเลือกอีก 250 ล้านบาท
สำหรับผู้สมัครที่มีฐานะปานกลางและประสงค์จะผ่านกระบวนการเลือก เงิน 2,500 บาทเป็นเงินจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับการสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่กำหนดค่าสมัครถึง 10,000 บาท และเงินที่ใช้ในการหาเสียงอีกเกือบสองล้านบาทต่อเขต
แต่ในขณะที่ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา มีแค่การแนะนำตัวตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ไม่มีการรณรงค์หาเสียง
แต่สำหรับผู้สมัครในกลุ่มอาชีพเกษตรกร เช่น ชาวนา ชาวสวน หรือประกอบอาชีพอิสระ หรือการเรียกร้องให้ประชาชนไปสมัครเพื่อใช้สิทธิในการเลือกผู้อื่นเข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา เงิน 2,500 บาท ถือเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อย
เป็นการให้ประชาชนต้องเสียสละมากเกินไป สำหรับการสมัครเพื่อใช้สิทธิในการเลือกตั้ง
ธุรกิจเพื่อจัดหาคะแนนเสียง
ภายใต้กติกาที่ซับซ้อน มีการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ สลับด้วยการเลือกไขว้ และทำกันถึงสามระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและระดับประเทศ
การสมัครกระทำที่อำเภอหรือเขตในแต่ละกลุ่มอาชีพและเริ่มต้นด้วยการคัดเลือกกันเองให้เหลือ 5 คนในแต่ละกลุ่มอาชีพ โดยผู้สมัครหนึ่งคนจะมี 2 สิทธิ ที่อาจใช้เลือกตนเองและเลือกผู้อื่นได้รวม 2 คะแนน หลังจากนั้นจึงเอาผู้สมัครที่มีอันดับ 1 ถึง 5 ไปให้ผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายของตนเลือกเพื่อให้เหลือ 3 คนในกลุ่มอาชีพ เพื่อไปเลือกในระดับจังหวัดและระดับประเทศในลักษณะเลือกกันเองและเลือกไขว้ จนในขั้นสุดท้ายจะได้กลุ่มอาชีพละ 10 คน จาก 20 กลุ่มอาชีพรวมเป็น ส.ว. 200 คนตามต้องการ
หากเป็นไปตามธรรมชาติ เราจะเห็นการเลือกสมาชิกวุฒิสภาโดยสุจริตและเห็นคนที่มีความรู้ ความสามารถผ่านกระบวนการคัดเลือกตามขั้นตอนตามที่ออกแบบในกฎหมาย (ดูกราฟิกที่ 1)
แต่สำหรับผู้มีอำนาจ มีเงิน มีอิทธิพลในพื้นที่ การผ่านกระบวนการคัดเลือกในระดับอำเภอ และระดับจังหวัด โดยใช้บารมีและเงิน เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก (ดูกราฟิกที่ 2)
เริ่มจากการจัดหาผู้สมัครในกลุ่มอาชีพที่ตนเองต้องการลงสมัครในจำนวนที่คาดว่าจะทำให้มีคะแนนเสียงเพียงพอในการเลือกกันเองรอบแรกในระดับอำเภอหรือเขต ยอมออกเงินค่าสมัครและค่าป่วยการในการไปเลือก หลังจากนั้นในกระบวนการในติดต่อแลกเปลี่ยนประโยชน์กับผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกในกลุ่มอาชีพอื่นในสายเดียวกันที่จับสลากมาได้ เชื่อว่า ผู้มีบารมีในระดับจังหวัด จะสามารถผ่านมาถึงการเลือกในระดับประเทศได้โดยไม่ยาก
ส่วนพอมาถึงระดับประเทศ ก็เป็นเรื่องของการสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองในระดับประเทศเพื่อให้ได้รับการเลือกทั้งในขั้นภายในกลุ่มอาชีพเดียวกันจากทั้งประเทศ ให้เหลือ 40 คน ในแต่ละกลุ่มอาชีพแล้วให้ไปเลือกไขว้โดยกลุ่มอาชีพอื่นให้เหลือ 10 อันดับแรกในแต่ละกลุ่มอาชีพที่จะเป็นสมาชิกวุฒิสภารวม 200 คน
กระบวนการที่ออกแบบซับซ้อน แต่ก็อาจมีธุรกิจการจัดหาคะแนนในแต่ละขั้นซึ่งเป็นการกระทำโดยมิชอบ และยังไม่เห็นแนวทางในการจัดการกับเรื่องดังกล่าวเพื่อป้องปรามและเตรียมการจัดการแก้ปัญหาการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนนัก
ต้นทุนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่ใช้เงินโดยมิชอบ เทียบกับการใช้เงินในการซื้อเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงต่ำกว่าหลายสิบเท่าและยั่วยวนต่อผู้ประสงค์จะผ่านการคัดเลือกในแต่ละขั้นไม่น้อย
ประชาชนยังเสียต้นทุนอะไรอีก
ต้นทุนทางประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องเสียแม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ต้องเสียเงินสมัคร คือ ความคุ้มค่าจากผลผลิตการเลือกสมาชิกวุฒิสภาว่าจะได้คนที่มีความรู้ความสามารถหลากหลายเป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพต่างๆ เข้าไปทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาอีก 5 ปี ตามเจตนาของการเขียนรัฐธรรมนูญหรือไม่
หากการลงทุนนับพันล้านบาทแล้วได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาแล้วได้คนที่เหมาะสมก็ถือว่าเป็นการลงทุนทางประชาธิปไตยที่คุ้มค่า
แต่ในทางตรงกันข้าม หากการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในคราวนี้ เป็นเพียงอีกหนึ่งครั้งของการทดลองออกแบบที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของการเมืองไทย ที่เคยแต่งตั้งมาเป็นเลือกตั้ง จากเลือกตั้งมาเป็นเลือกตั้งผสมกับการสรรหา และปัจจุบันมาใช้เป็นการคัดเลือกกันเองจากผู้สมัครในแต่ละกลุ่มอาชีพ
แล้วกลับได้สมาชิกวุฒิสภาที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการให้ตนเองได้รับเลือก จากเทคนิคการเลือกกลุ่มที่แข่งขันน้อย ใช้เงิน ใช้บารมีได้ง่ายจนสามารถผ่าด่านการเข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภาแต่กลับไม่สามารถทำงานตามเจตนารมณ์ของการมีวุฒิสภาได้จริง หรือกลับกลายเป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจ กลุ่มการเมือง ไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพ
การลงทุนทางประชาธิปไตยครั้งนี้ ก็จะเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าพอๆ กับการมีวุฒิสภาหลายต่อหลายครั้งในอดีต
การเลือกวุฒิสภา ก็จะเป็นอีกครั้งหนึ่งของบทเรียนประชาธิปไตยราคาแพงของประเทศและนำไปสู่การออกแบบใหม่ในรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งซึ่งยังไม่มีคำตอบว่า จะออกแบบการได้มาอย่างไรจึงจะเกิดผลดีที่สุด
สำหรับคนที่รู้จักเพลง Where have all the Flowers gone? คงจำเนื้อเพลงในท่อนสุดท้ายได้ที่บอกว่า
When will they ever learn? ต้องใช้เวลาเท่าใด ต้องผ่านไปนานแค่ไหน จึงจะได้เรียนรู้กัน?
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022