สิ่งที่งานไทยยังไม่มีและไปไม่ถึง | คำ ผกา

คำ ผกา

“ผ้าขาวม้าไม่ได้มีความเชื่อมโยงอะไรกับผ้าสีขาวหรือม้าเลยสักนิด แต่รากศัพท์ของ ‘ผ้าขาวม้า’ มากจากภาษาเปอร์เซีย คำว่า ‘กะมัรบันด์’ (Kamar band) กะมัร แปลว่า เอว และ บันด์ แปลว่า พัน คาดว่าคนไทยรับวัฒนธรรมการทอและการสวมใส่ผ้าขาวม้าจากผ้าคาดเอวลายตารางของขุนนางและพ่อค้าชาวเปอร์เซียสมัยอยุธยา และพ่อค้าโมกุลสมัยอยุธยาตอนปลาย มากกว่าฟังก์ชั่นคาดเอว ยังเป็นเครื่องหมายบ่งบอกสถานะของผู้สวมใส่ด้วย

ถ้าตามรอยบรรพบุรุษผ้าขาวม้าไปไกลถึงประเทศเปอร์เซีย แล้วถามหา ‘กะมัรบันด์’ อาจจะได้เข็มขัดเส้นยาวมาแบบคาดไม่ถึง เพราะว่ายุคสมัยเปลี่ยน ความหมายกะมัรบันด์ก็เปลี่ยน และคนเปอร์เซียเองก็เลิกใช้ผ้าคาดเอวกันแล้ว แต่คำว่ากะมัรบันด์ก็ยังมีความหมายว่า ผ้าคาดเอว ผ้าขาวม้า ซึ่งกลายเป็นคำศัพท์โบราณในปัจจุบัน” 1

 

เป็นเรื่องเป็นราวเมื่อนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ไปออสเตรีเลีย เยอรมนี ฝรั่งเศส แล้วพาผ้าขาวม้าและกระเป๋ากระจูดสานไปด้วยความตั้งใจอยากพาสินค้าไทยไปอินเตอร์

ด้วยเหตุว่าทุกครั้งที่ลงพื้นที่โดยเฉพาะภาคอีสาน จะมีพ่อแม่พี่น้องนำผ้าขาวม้ามาคาดเอวให้นายกฯ เยอะแยะไปหมด

จึงเป็นแรงบันดาลใจให้นายกฯ เศรษฐาอยากจะให้งานหัตถกรรมของคนไทยเป็นที่รู้จัก และสอดคล้องกับนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ที่ต้องการเปิดตลาดสินค้าทางวัฒนธรรมของไทย

เพราะดูจาก “สภาพ” ประเทศ ณ ขณะนี้ที่เราเจอสภาวะทศวรรษที่สูญหายอันเกิดจากการรัฐประหารไปสองทศวรรษเต็ม ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในแง่เทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ ของเราแข่งกับใครไม่ได้เลย

หรือพูดอีกอย่างว่าเรา “ตกขบวน” การแข่งขันไปนานมากแล้ว และไม่น่าจะพลิกฟื้นขึ้นมาได้โดยง่าย

สิ่งเดียวที่จะหยิบฉวยมาขายนำเม็ดเงินเข้าประเทศในระยะสั้นแบบตีหัวเข้าบ้านคือ “ขายของเก่ากิน”

ไม่ว่าจะเป็นขายการท่องเที่ยว เทศกาลงานแห่ อาหารไทย กางเกงช้าง กางเกงประจำจังหวัดต่างๆ รวมไปถึงงาน “หัตถกรรม” ซึ่งหากได้รับการยกระดับ ก็จะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้เติมเข้าไปในครัวเรือนได้เลย

หลายคนวิจารณ์ว่า ทั้งผ้าขาวม้า ทั้งกระเป๋า ที่นายกฯ เอาไปนำเสนอต่อชาวโลกนั้นไม่สวย รสนิยมแย่ ทำแบบนี้จะทำให้ผ้าขาวม้าไทยเป็นที่ต้องการของชาวโลกจริง หรือบ้องตื้น คิดสั้น อะไรก็ว่ากันไป

แต่ฉันมองเรื่องนี้เป็นสองระดับ

 

ระดับแรก เป็นการสื่อสารกับ “คนนอก” การที่นายกฯ สวมสูทราคาแพงระยับกับผ้าขาวม้าที่พี่น้องไทบ้านให้มา นายกฯ จะตั้งใจหรือเปล่าฉันไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ มันสร้างภาพ contrast ที่มีพลังมาก

ผ้าขาวม้าสีฉูดฉาดคือภาพจำของชนบทที่มักถูกมองและตัดสินจากชนชั้นกลางว่า “บ้านนอก”

ตรงกันข้ามกับคำว่า sophisticated อันเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางทั้งหลายหลงใหลไฝ่ฝันและอยากครอบครอง

นัยของการเอาความ “บ้านนอก” ไปอยู่กับสูทสากลราคาแพงของนายกฯ เศรษฐา ด้านหนึ่งมันสื่อถึงความ “ไม่ยี่หระ” ต่อ judgment ของคนชั้นกลาง หรือของใครก็ตาม

มันคือการประกาศว่า “ฉันไม่แคร์” ว่าใครจะมองฉันอย่างไร แต่สำหรับฉันในฐานะนายกฯ ฉันมีหน้าที่ทำให้ประตูแห่งโอกาสเปิดสู่คนไทยทุกคน

ฉันมีหน้าที่เดินทางออกไปข้างนอก เอาสินค้าในประเทศของฉันไปให้ชาวต่างชาติดู ไปบอกเขาว่า นี่คือสิ่งที่เรามี เราอยากขาย

และถ้ามันดีไม่พอ เราก็อยากให้พวกคุณมาบอกเราว่า เราต้องทำอะไรอีก เราต้องเพิ่มตรงไหน ลดตรงไหน พวกคุณถึงจะซื้อ

เรามีแรงงานที่มีฝีมือแบบนี้รอพวกคุณอยู่ที่ประเทศไทย พวกคุณสนใจจะร่วมงานกับเราไหม คุณมีไอเดีย คุณมีดีไซน์ คุณมีประสบการณ์

ส่วนเรามี “ผู้คน” เหล่านี้มีฝีมือแบบนี้ พวกคุณสนใจหรือไม่?

 

ระดับที่สอง เป็นการสื่อสารกลับเข้ามาหา “คนใน” นั่นคือ นายกฯ เศรษฐากำลังบอกชาวไทบ้านที่อยู่ “บ้านนอก” นั้นว่า ผมมี commitment ต่อพวกคุณ

“ผ้า” ที่ชาวบ้านนำมามอบให้ผมด้วยความรัก ความหวังว่า นายกฯ คนนี้จะมาทำงานเพื่อให้ชีวิตของพ่อแม่พี่น้องดีขึ้น

วันนี้ ผมนำผ้าเหล่านั้นมากับผม ในทุกโต๊ะเจรจากับนักลงทุนชาวต่างประเทศ ผมไม่ได้มาเพื่อขายผ้าขาวม้า

แต่การที่ผมมีผ้าขาวม้าของพี่น้องพันรอบคอผมมาด้วยมันคือการสื่อสารว่า ทุกบาททุกสตางค์ที่ออกเดินทางไปค้าขาย มันหมายถึงผลประโยชน์ที่พี่น้องคนไทยทุกคนพึงได้รับ

ต่อให้เป็นการคุยเรื่องพลังงาน เรื่องรถอีวี เรื่องเทคโนโลยี หากมันจะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มันหมายถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจของผู้คน แม้แต่คนที่ยังมีชีวิตอยู่กับผ้าขาวม้าซึ่งโดยนัยมันหมายถึงชนบทและภาคการเกษตร

ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ถกเถียงกันได้ว่าทำแล้วดีหรือไม่ดี ได้ผลหรือไม่ได้ผล แต่มันไม่ใช่ประเด็นของการมี “รสนิยม” ที่ดีหรือไม่ดีแน่ๆ

และสิ่งที่สะท้อนเป็นพลังกลับมาแน่นอนคือ บรรดาพี่น้องไทบ้านเจ้าของผ้าพันคอที่นายกฯ นำติดตัวและเอาไปพันคออย่างไม่ยี่หระต่อสายตาใคร มันได้ empowering พี่น้องประชาชนเหล่านั้นไปเรียบร้อยว่า

“เฮ้ย นายกฯ เขาให้ความสำคัญกับเราจริงๆ นะ นายกฯ เขาไม่อายที่จะพันผ้าขาวม้าไปเจอฝรั่ง นายกฯ เขาเอาผ้าพันคอเราไปเจอกับแบรนด์ดิออร์เลยว่ะ”

ผลทางจิตใจนี้ฉันคิดว่าประเมินค่าเป็นตัวเงินไม่ได้ มันคือการทำให้ประโยคที่บอกว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เกิดเป็นรูปธรรมและจับต้องได้

 

ส่วนงานคราฟต์ไทยจะไประดับโลกได้แค่ไหนแบบจริงๆ จังๆ ฉันคิดว่าทุกคนรู้ดีว่าไม่ง่าย และเราก็ต้องจำนนต่อข้อเท็จจริงว่าประเทศที่เป็นหนึ่งในเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมก็มักจะเป็นประเทศที่เป็นหนึ่งและเป็นเลิศในเรื่องงานคราฟต์ด้วยเช่นกัน

เพราะเอาเข้าจริง งาน วัสดุ ดีไซน์ เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์มันเป็นเรื่องเดียวกัน!

เวลาที่เราพูดเรื่องผ้า เรากำลังพูดเรื่องเส้นใย สิ่งทอ และประเทศที่ทำวัสดุเหล่านี้ได้เป็นเลิศคือ เยอรมนี สเปน อิตาลี ไหมพรม ไหมและวูลที่ดีที่สุดก็ยังมาจากยุโรป ฝ้าย ลินินที่ดีที่สุดก็ไม่ใช่สิ่งที่ประเทศไทยผลิตได้เอง ไม่ต้องพูดถึงเทคนิคการฟอกการย้อม

และอย่างที่บอกว่า มันคือองค์ความรู้ มันคือนวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อพูดถึง “ผ้าพิมพ์ลาย” มันก็เป็นเรื่อง นวัตกรรมของสี เคมีภัณฑ์ (แม้จะใช้สีธรรมชาติ แต่มันคือองค์ความรู้ทางเคมี) วัสดุของแม่พิมพ์ เป็นต้น

ดังนั้น งานที่รียกว่างานคราฟต์ จริงๆ แล้วมีความเป็นวิทยาศาสตร์ และมีความอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าอยู่ในนั้นสูงยิ่ง

ประเทศอย่างเยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น จีน และสแกนดิเนเวียจึงเป็นกลุ่มที่ครองความเป็นเลิศทั้งงานอุตสาหกรรมตั้งแต่เครื่องบิน รถยนต์ มาจนถึงผ้าพันคอและการส่งออกไหมพรมที่ดีที่สุด

จึงไม่ต้องแปลกใจที่ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยอย่าง จอมพล ป. ถึงจริงจังกับการลงทุนสร้างโรงฟอกหนัง ในช่วงที่เป็นนายกฯ

เพราะนี่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญในการต่อยอดผลิตสินค้าอีกสารพัดตั้งแต่รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงสินค้าแฟชั่น

 

น่าเสียดายที่เรามักมองข้ามเรื่องเหล่านี้และไปสร้าง narrative หรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับงานคราฟต์ งานหัตถกรรมที่เชื่อมโยงกับความโบราณ วิถีชีวิตชาวชนบทอันงดงาม สังคมเกษตรกรรมที่เนิบช้า งานฝีมือที่แข่งกันแต่เรื่องความละเอียด ทั้งๆ ที่ fact คืองานคราฟต์ หัตถกรรมเท่ากับงาน นวัตกรรม เทคโนโลยี และโลกทุนนิยม งานเครื่องเขินที่ดีที่สุด คือเครื่องเขินที่ทำในห้องปลอดเชื้อ ปลอดฝุ่นที่สุด นั่นแปลว่ามีความเป็นวิทยาศาสตร์สูงสุด

ย้อนกลับไปที่ต้นทางของ “ผ้าขาวม้า” ที่มาจากเปอร์เซีย อันเนื่องมาจากอยุธยาคือเมืองท่า ฉันคิดว่า การพัฒนางานคราฟต์ไทยต้องเดินออกไปหา “ลักษณะสากล” และเลิกคิดว่าเราทำงานเหล่านี้ออกมาในนามของความภูมิใจในมรดกไทย

ผ้าขาวม้ามาจากเปอร์เซีย ลายตารางหมากรุก เป็นลายสากลของมนุษยชาติ มีมาบนโลกใบนี้นับพันปี เรียกกันว่าลาย checkered ลาย tartan บ้าง เรียกลายสก็อต มีลาย Gingham (กิงแฮม) ลาย Houndstooth (ฮาวส์ทูธ) ลาย Argyle (อาร์ไกล์) ลาย Plaid (แพลด) เป็นต้น

ลายเหล่านี้หน้าตาคล้ายลายผ้าขาวม้า และแบรนด์ผ้าขาวม้าไทยร่วมสมัยหลายแบรนด์ก็นำเอาลายตารางที่เป็นสากลเหล่านี้มาผลิตมากขึ้น

ทางเลือกทางรอดของงานคราฟต์ไทย อันดับแรกคืองานวัสดุศาสตร์ ซึ่งฉันคิดว่าต้องมาก่อนดีไซน์ด้วยซ้ำ และเป็นจุดอ่อนด้อยที่สุดของงานสินค้าหัตถกรรมงานฝีมือของเรา

นายกฯ พันคอด้วยผ้าขาวม้าไปเปิดตัวเชิงสัญลักษณ์แล้ว แต่งาน “ไทย” จะไปได้ไกลจริงบนเวทีโลก เราต้องนึกภาพคู่แข่งของเราให้ออกว่า เจ้าแห่งงานคราฟต์บนโลกใบนี้คือเยอรมนี ญี่ปุ่น สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส

และวันนี้เรายังห่างชั้นกับเขาอยู่มากเหลือเกิน และสิ่งที่เราขาดคือองค์ความรู้เรื่อง “วัสดุ” และงานวิจัยเกี่ยวกับผู้คน สรีระ การเคลื่อนไหว สี อารมณ์ แสง ผิว ฯลฯ ที่นำไปสู่ “ดีไซน์” ที่ Timeless

นั่นคือสิ่งที่งานไทยยังไม่มีและไปไม่ถึง


1 https://readthecloud.co/pakaoma/