‘วันสุดท้ายของชีวิต’ คนญี่ปุ่นเตรียมตัวอย่างไร

(Photo by Yoshikazu TSUNO / AFP)

คนญี่ปุ่นต่างตระหนักถึงความโดดเดี่ยวเมื่ออยู่ใน “สังคมผู้สูงวัย” (高齢化社会) จึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับ “วันสุดท้ายของชีวิต” ในขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะ

สำหรับคนที่มีครอบครัว มีลูกหลาน ก็พอจะพึ่งพาได้บ้าง แม้ไม่อยากให้เป็นภาระลูกหลานที่ส่วนใหญ่แยกย้ายกันไปสร้างครอบครัวในจังหวัดอื่นๆ

แต่สำหรับคนที่อยู่ตัวคนเดียว ไม่ว่าจะเป็นเพราะคู่ชีวิตจากไปก่อน หย่าร้าง หรือเป็นคนโสด ต่างก็ยิ่งต้องกระตือรือร้นเตรียมพร้อมแต่เนิ่นๆ

ที่เขตโทชิมะ (豊島区) ซึ่งเป็นเขตใหญ่ใจกลางกรุงโตเกียว และเป็นเขตที่มีอัตราส่วนของผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่คนเดียว (一人暮らしの高齢者) สูงที่สุดในญี่ปุ่น เมื่อปีที่ผ่านมา สำนักงานเขตจึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ให้คำปรึกษาเตรียมรับวันสุดท้ายของชีวิต” ขึ้น

เปิดให้คำปรึกษาและลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ที่จะให้ทางเขตช่วยเหลือ เมื่อถึงวันสุดท้ายของชีวิต อาทิ การทำและจัดเก็บพินัยกรรม การแจ้งตำรวจ การส่งโรงพยาบาลกรณีฉุกเฉิน และแสดงความจำนงล่วงหน้าเกี่ยวกับการรักษาหากเจ็บป่วยจนไม่สามารถสื่อสารได้ ชื่อคนในครอบครัวที่ให้ติดต่อ หรือการจัดการพิธีศพ ฯลฯ

กล่าวโดยสรุปคือ การมอบ “บันทึกสุดท้าย” (エンディングノート หรือ ending note) เป็นข้อมูลอย่างละเอียดให้ทางเขตเก็บไว้

 

หญิงวัย 62 ปี ผู้อาศัยอยู่ในเขตนี้คนเดียว หลังจากสามีของเธอจากไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เข้ามาใช้บริการเป็นรายแรกๆ จากประสบการณ์เมื่อสามีเสียชีวิตโดยไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า เธอจัดการงานศพและใช้เวลาอีก 1 ปีในการจัดการทรัพย์สินต่างๆ ในชื่อสามี สำหรับตัวเธอเองไม่อยากเป็นภาระของลูกชายและลูกสะใภ้ผู้อยู่คนละจังหวัด

เธอจึงมาเขียน “บันทึกสุดท้าย” ที่เขต ขอคำแนะนำรูปแบบการจัดพิธีศพ จะเก็บอัฐิที่สุสาน หรือนำไปลอยอังคารพร้อมกับอัฐิของสามีที่บ้านเกิดที่โอกินาวา เป็นต้น

เมื่อแจ้งความประสงค์อย่างละเอียดไว้แล้วก็รู้สึกสบายใจหมดห่วง

ทางเขตยังมีนโยบายเชิงรุกในเรื่องนี้ โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมผู้สูงวัยที่อยู่คนเดียวในอพาร์ตเมนต์ต่างๆ ไปให้คำแนะนำ ผู้สูงวัยบางคนก็ไม่สะดวกมาที่เขต เช่น คุณยายวัย 82 ปี ที่ได้รับบาดเจ็บที่ขาเมื่อ 3 ปีก่อน แนะนำให้คุณยายเตรียมเขียน “บันทึกสุดท้าย” ให้เขตเก็บรักษาไว้

นอกจากนี้ ทางเขตยังได้จัดการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดพิธีศพ สุสานเก็บอัฐิ และการเขียนรายละเอียดใน “บันทึกสุดท้าย” จัดบรรยายครั้งแรกก็มีคุณตา คุณยายวัยตั้งแต่ 60-80 ปีให้ความสนใจแน่นขนัดทีเดียว ต่างก็บอกว่าต้องเริ่มวางแผนให้ชัดเจน เพื่อไม่เป็นภาระของผู้อยู่ข้างหลัง เพราะความประสงค์สุดท้ายที่ระบุในบันทึกนี้ย่อมแตกต่างกันไปตามวิถีชีวิตของแต่ละคน

น่ายินดีว่าการเตรียมพร้อมของผู้สูงวัยเช่นนี้ จะช่วยลดกรณี “การตายอย่างโดดเดี่ยว” (孤独死 ‘โคะโดขุชิ’) ลงได้

การตายอย่างโดดเดี่ยวที่ผู้สูงวัยอาศัยอยู่คนเดียว ไม่ได้ติดต่อกับครอบครัว ญาติมิตร สร้างปัญหาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ต้องจ้างทนายติดตามหาญาติ เพื่อจัดการทรัพย์สมบัติในห้องร้างที่ผู้ตายทิ้งไว้ หรือมาชำระค่าส่วนกลางค้างจ่ายจำนวนมาก บางกรณีญาติไม่ประสงค์จะยุ่งเกี่ยว เพราะญาติเองก็อยู่ไกลและแก่เฒ่าแล้วเช่นกัน

(อ่าน สุภา ปัทมานันท์ “2 เก่าและแก่” (2つの老い) ในญี่ปุ่น มติชนสุดสัปดาห์ 6 ธันวาคม 2565)

 

ผู้สูงวัยบางคนที่สามารถเตรียมพร้อมรับวันสุดท้ายของชีวิตด้วยตัวเองได้ โดยไม่พึ่งความช่วยเหลือจากทางการก็มีไม่น้อยที่ตื่นตัวกันมากขึ้น

คุณตาวัย 83 ปี อาศัยอยู่คนเดียวในบ้านเดี่ยว ยอมรับว่าเมื่อภรรยาเสียชีวิต 11 ปีก่อน ขณะนั้นไม่ได้คุยกับภรรยาเพื่อถามความต้องการของเธอสำหรับวันสุดท้ายของชีวิตไว้เลย ยังนึกเสียใจอยู่จนบัดนี้ สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ ดูแลกุหลาบในสวนให้สวยงามอยู่นานเท่านานเพื่อรำลึกถึงภรรยา

สำหรับตัวเองนั้น คุณตาจึงต้องกำหนดเอง โดยติดต่อบริษัทรับจัดพิธีศพ เลือกรูปแบบของพิธี และชำระเงินไว้เรียบร้อย

นอกจากนี้ ยังเตรียมเขียน “คำกล่าวอำลา” ที่มีเนื้อหาขออโหสิกรรมและขอบคุณญาติมิตร ให้ผู้แทนอ่านในพิธี ที่ทางเข้าสถานที่จัดงานให้ประดับดอกกุหลาบที่ปลูกในสวนของคุณตา และประดับภาพถ่ายที่เคยไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ส่วนในโลงศพขอให้ใส่หนังสือที่ชอบอ่าน 2 เล่มลงไปด้วย

เพียงเท่านี้ คุณตาบอกว่าสบายใจ หมดห่วงแล้ว และพร้อมที่จะรอ “วันสุดท้าย” เมื่อพ่ายแพ้ต่อมะเร็งที่ต่อสู้มานานจนร่างกายร่วงโรยลง แต่กำลังใจเต็มเปี่ยม มีความสุขที่เห็นดอกกุหลาบในสวนเบ่งบาน

 

มิโดริ โคทานิ ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย ให้ความเห็นสนับสนุนการแสดงความประสงค์อย่างละเอียดเตรียมพร้อมรับ “วันสุดท้ายของชีวิต” ขอให้เลิกความคิดว่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครอบครัวตามแต่จะจัดการให้ เนื่องจากมีตัวอย่างไม่น้อยที่เกิดเหตุไม่คาดฝันกับคนที่หวังพึ่งพิง จนไม่สามารถมาช่วยจัดการงานศพให้ได้

ขณะเดียวกัน ก็มีคนที่วิตกกังวล หวาดกลัวที่จะเผชิญกับวาระสุดท้ายของชีวิต อยากแนะนำให้ค่อยๆ พิจารณาแยกแยะ จัดลำดับสิ่งที่ต้องทำ แล้วคิดว่าจะจัดการอย่างไร หรือขอให้ใครจัดการ การสละเวลามาเตรียมพร้อมเช่นนี้สำคัญมากสำหรับผู้สูงวัย เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

“วันสุดท้าย” จะมาถึงเมื่อไร ไม่มีใครรู้ได้ เมื่อเตรียมทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ก็ใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีความสุข ละทิฐิต่างๆ และมีความสัมพันธ์ที่ดี โดยเฉพาะการผูกมิตรกับเพื่อนบ้านในละแวกที่อาศัย

บางทีเพื่อนผู้อยู่ใกล้อาจจะดีกว่าญาติผู้อยู่ไกล…

เพียงเท่านี้ก็พร้อมแล้วสำหรับวันนั้น…