ลุ้นจีดีพีไตรมาสแรกชี้ชะตา เศรษฐกิจไทยถดถอย?

ตั้งแต่เปิดศักราชใหม่จนเข้าเดือนที่ 3 ของปี 2567 ถึงเวลาตรวจแถวเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปีนี้กันแล้ว

สัญญาณอาจไม่สดใสนัก หากพิจารณาข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4/2566 การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 1.7% เร่งขึ้นจากไตรมาส 3/2566 ขยายตัว 1.4% เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4/2566 หดตัวลงจากไตรมาสที่ 3/2566 ที่ 0.6% สะท้อนว่าโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลง

โดยเฉพาะปัจจัยหลักกดดันเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2566 มาจากการลงทุนภาครัฐบาลติดลบที่ 20.1% จากไตรมาสก่อนติดลบ 3.4% นับว่าเป็นการติดลบ 3 ไตรมาสติด เนื่องจากติดปัญหาความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 4/2566 ขยายตัว 5% จากไตรมาสก่อนขยายตัวที่ 3.5%

รอยต่อเศรษฐกิจเริ่มหดตัวลงในรายไตรมาส อาจเข้าตำราทางเศรษฐศาสตร์ที่ระบุว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (เทคนิคอล รีเซสชั่น) หากจีดีพีติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน

ความเสี่ยงนี้น่าห่วง เพราะระยะฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจะใช้เวลานานกว่าจะเฟื่องฟูอีกครั้ง และกว่าจะกลับมาบูม จะทำได้ยากขึ้น

 

ตัวชี้วัดความเสี่ยงคือ ตัวเลขเศรษฐกิจจริงในไตรมาส 1/2567 ฉายภาพจาก “ชญาวดี ชัยอนันต์” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุก่อนจะประเมินทิศทางเศรษฐกิจไตรมาส 1/2567 ต้องย้อนไปที่จุดตั้งต้นของการมองเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2566 เศรษฐกิจเติบโตค่อนข้างช้าจาก 3 เหตุผล คือ

1. การส่งออกโตช้าและการผลิตหดตัว สาเหตุมาจากการค้าโลกเติบโตไม่ค่อยดี และปัจจัยเชิงโครงสร้างเป็นปัจจัยของประเทศไทยในแง่ของความสามารถการแข่งขัน

2. รายรับของนักท่องเที่ยว แม้ไตรมาส 4/2566 จำนวนนักท่องเที่ยวจะออกมาค่อนข้างดีแต่รายรับนักท่องเที่ยวต่ำกว่าปกติ

และ 3. การใช้จ่ายของภาครัฐบาลล่าช้าตามการพิจารณางบประมาณปี 2567

หากพิจารณาเศรษฐกิจไตรมาส 4/2566 ไปที่ไตรมาส 1/2567 ในแง่สัญญาณบวกอาจมีไม่เยอะ จากข้อมูลเดือนมกราคม 2567 สัญญาณการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาดีแล้ว แต่การส่งออกและรายจ่ายภาครัฐบาลยังต้องรอไปก่อน ดังนั้น ไตรมาส 2/2567 อาจเป็นจุดที่ต้องจับตาว่าถ้างบประมาณออกมาและการลงทุนภาครัฐบาลดี จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจให้ขยายตัวในไตรมาส 2/2567

“ปัจจัยภายนอกที่ต้องจับตาคือ การฟื้นตัวของการค้าโลก การส่งสินค้าหรือการค้าระหว่างกันในโลกน่าจะค่อยๆ ทยอยปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ แม้วัฏจักรจะเริ่มฟื้นแต่เป็นสินค้าที่ไทยยังไม่ได้ผลิต อาทิ กลุ่มที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ซึ่งไต้หวันและเกาหลีได้อานิสงส์ แต่ไทยมาช้าและยังผลิตสิ่งที่ซับซ้อนไม่ได้ รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และการเลือกตั้งในประเทศเศรษฐกิจหลักที่ต้องติดตามใกล้ชิด” น.ส.ชญาวดีระบุ

 

ขณะที่ “ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าเศรษฐกิจไตรมาส 1/2567 จะเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค หรือการขยายตัวเศรษฐกิจเมื่อเทียบรายไตรมาสจะติดลบต่อเนื่องจากไตรมาส 4/2566 หรือไม่ จากการประเมินที่เศรษฐกิจมีตัวเลขฐานต่ำในไตรมาสก่อน จึงไม่ได้มองว่าจีดีพีไตรมาส 1/2567 จะหดตัว

เพราะยังมีภาคการส่งออกยังขยายตัวได้ และโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวเติบโตต่อเนื่อง ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 6.4 ล้านคน หรือโตกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยสนับสนุน ทั้งมาตรการวีซ่าชั่วคราวและถาวร การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงสายการบินระหว่างประเทศที่มาไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 จะยังคงไม่ติดลบ แต่จะขยายตัวไม่ถึง 2% แน่นอน

“ตัวที่เป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวช้าคือการเบิกจ่ายภาครัฐบาลโดยงบประมาณ 2567 ยังล่าช้าและไม่สามารถเบิกจ่ายได้เต็มที่ แม้รัฐบาลจะมีการเบิกจ่ายแต่ใช้ได้ในงบประจำ ไม่มีการใช้จ่ายด้านการลงทุนในโครงการใหม่ๆ จึงยังไม่เห็นแรงส่งจากภาครัฐบาลเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจ” ณัฐพรระบุ

 

ด้าน “พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บล.เกียรตินาคินภัทร ระบุเศรษฐกิจไตรมาส 1/2567 ยังไม่มีสัญญาณแย่ลง แม้เศรษฐกิจจากไตรมาส 3 ไปไตรมาส 4/2566 ติดลบมาจากการเบิกจ่ายของภาครัฐบาลล่าช้า และข้อมูลจีดีพีไตรมาส 4/2566 สะท้อนตัวเลขการลงทุนภาครัฐบาล ติดลบ 20% การอุปโภคภาครัฐบาลติดลบ 3% ขณะเดียวกัน ภาคการผลิตไทยติดลบ จากปัญหาการส่งออกสินค้าได้น้อย รวมถึงมีการผลิตสินค้าและขายไม่ออก จึงมีการชะลอในการผลิตสินค้าลง เพื่อลดยอดสินค้าคงคลังลง

อย่างไรก็ตาม จากไตรมาส 4/2566 ไปไตรมาส 1/2567 เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น แต่ไม่ได้แย่ลง เพราะเห็นสัญญาณการส่งออกที่ดีขึ้นและเริ่มเป็นบวกจากการค้าโลกทยอยกลับมามากขึ้น แต่เศรษฐกิจจะหดตัวติดลบต่อเนื่องหรือไม่ ต้องจับตาดูการบริโภคภายในประเทศ การส่งออก และการท่องเที่ยว ถ้าเห็นการท่องเที่ยวมาต่อเนื่องจะเป็นตัวช่วยและที่เหลือจะเป็นการบริโภคภายในประเทศว่าจะแย่ลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่เห็นหรือไม่

“ถ้างบประมาณปี 2567 ผ่าน จะกลายเป็นเครื่องมือช่วยบูสต์เศรษฐกิจ เพราะจากเครื่องมือที่ถูกดีเลย์มาจะต้องถูกเร่งเบิกจ่ายมากขึ้นในไตรมาส 2/2567 ดังนั้น ในไตรมาส 1/2567 รัฐบาลต้องทำให้เบิกจ่ายได้ หรืออะไรที่ใช้ได้ก็ต้องรีบใช้ ถ้างบฯ ของรัฐบาลใช้ไม่ได้อาจไปเอางบฯ จากรัฐวิสาหกิจที่ต้องเร่งเบิกจ่ายก่อน เพราะเศรษฐกิจตกท้องช้างในไตรมาสที่ 1/2567 ไปแล้วจากเงินยังติดอยู่และไม่ได้ใช้ ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจแผ่วลงส่วนหนึ่งเป็นปัญหาจากการเบิกจ่ายของรัฐบาล” พิพัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

เศรษฐกิจไทยที่ขาหนึ่งก้าวไปรอ ลุ้นอีกข้างก้าวตามเพื่อเดินและวิ่งสุดแรง หากสะดุดมีหวังถกถอยแท้จริงแน่!!