ยอด ‘พระผงญาณวิลาศ’ วัตถุมงคลหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐเพชรบุรี

“หลวงพ่อแดง รัตโต” หรือ “พระครูญาณวิลาศ” วัดเขาบันไดอิฐ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ยอดพระเกจิผู้มีชื่อเสียง ไม่เพียงแต่ในจังหวัดเท่านั้น

สร้างวัตถุมงคลไว้หลายชนิด ในวาระและโอกาสต่างๆ เป็นที่นิยมและเสาะแสวงหากันอย่างแพร่หลาย

หลังสร้างเหรียญรุ่นแรกจนได้รับความนิยมแล้ว ยังมีวัตถุมงคลอีกรุ่นที่ยอดฮิต ได้แก่ “พระผงญาณวิลาศ” อันเป็นราชทินนามสมณศักดิ์

ในปี พ.ศ.2510 เมื่อครั้ง ร.ท.ประสงค์ เจิมพร นำแม่พิมพ์พระแบบสมเด็จ ไปถวายให้ได้ชม และนมัสการถามว่า “พระนี้จะขอให้นามว่า พระสมเด็จหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ”

หลวงพ่อแดงจึงบอกว่า “ไม่เหมาะดอกหมวด ฉันเป็นเพียงพระครูเท่านั้น ไม่ใช่สมเด็จเสียหน่อย จะทำอย่างนั้นไม่ได้ อาศัยพิมพ์รูปแบบพระสมเด็จของเจ้าประคุณสมเด็จก็หนักหนาพอแล้ว จะเอายศของท่านมาใช้อีกมันไม่เหมาะเลย”

ร.ท.ประสงค์จึงเรียนถามต่อว่า “แล้วจะใช้นามว่าอะไรดีขอรับ”

หลวงพ่อแดงจึงบอกว่า “เอาง่ายๆ พระผงญาณวิลาศ วัดเขาบันไดอิฐ พอแล้ว”

อันเป็นที่มาของชื่อ “พระผงญาณวิลาศ”

พระผงญาณวิลาศ

พระรุ่นนี้ หลวงพ่อแดงได้มอบชานหมาก พร้อมทั้งผงวิเศษต่างๆ ที่ได้ทำไว้ และของดีต่างๆ รวมทั้งแร่เกาะล้าน ที่ว่าเป็นของกายสิทธิ์ นำมาบดผสมลงไปในเนื้อพระ เริ่มกดพิมพ์ แล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ.2511

ประกอบพิธีประจุพระพุทธคุณอีก 3 ไตรมาส ตั้งแต่ปี พ.ศ.2511-2513

สร้างประมาณ 40,000 องค์ สร้างเพียงรุ่นเดียว และทำลายพิมพ์ทั้งหมด มีอยู่ด้วยกัน 3 สี คือ สีแดง สีดำ และสีเหลือง

เมื่อปลุกเสกแล้ว จึงนำออกมาให้บูชาในวัดส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งนำไปบรรจุเจดีย์ พร้อมกับพระปิดตาเนื้อตะกั่วที่ปลุกเสกพร้อมกัน

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับด้านแคล้วคลาดว่า ร.ท.ประสงค์เคยกระโดดร่มลงมา แต่ร่มไม่กาง แต่ก็รอดตายเหมือนปาฏิหาริย์ เพียงนอนโรงพยาบาลดูแลอาการอยู่ 7 วันเท่านั้น แต่ก็ไม่เป็นอะไรมาก

จัดเป็นวัตถุมงคลที่นิยมของชาวเพชรบุรีอย่างมาก

หลวงพ่อแดง รัตโต

อัตโนประวัติ เกิดในสกุล อ้นแสง ที่บ้านสามเรือน หมู่ที่ 4 ต.บางจาก อ.เมือง จ.เพชรบุรี เมื่อวันพุธขึ้น 2 ค่ำ เดือน 11 พ.ศ.2422 บิดาชื่อนายแป้น มารดาชื่อนางนุ่ม อ้นแสง มีพี่น้องรวมกัน 12 คน ท่านเป็นคนที่ 5

วัยเด็กช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา ไม่มีโอกาสร่ำเรียนหนังสือ

ครั้นถึงวัยหนุ่ม พ่อแม่หวังจะให้บวชเรียน จึงพาไปฝากกับพระอาจารย์เปลี่ยน วัดเขาบันไดอิฐ

อายุ 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดเขาบันไดอิฐ ต.ไร่ส้ม อ.เมือง จ.เพชรบุรี มีพระครูญาณวิสุทธิ วัดแก่นเหล็ก อ.เมือง จ.เพชรบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า รัตโต

เคร่งครัดต่อพระวินัยและปฏิบัติต่อพระอาจารย์เป็นอย่างดี พระอาจารย์เปลี่ยนจึงเมตตาสอนวิชาการวิปัสสนา และวิธีนั่งปลงกัมมัฏฐานให้ รวมถึงถ่ายทอดวิยาคมให้อย่างไม่ปิดบัง

เหตุนี้ทำให้มีความปีติเพลิดเพลินในการศึกษาวิชาความรู้ ยิ่งนานวันก็ยิ่งสำนึกในรสพระธรรม ไม่มีความคิดลาสิกขาแต่อย่างใด จึงกลายเป็นพระปฏิบัติดีที่มีอาวุโสสูงสุด

กระทั่งพระอาจารย์เปลี่ยนมรณภาพลง จึงรับหน้าที่เป็นสมภารวัดเขาบันไดอิฐแทน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2461 เป็นต้นมา และแม้จะได้เป็นสมภารซึ่งต้องมีภารกิจมาก แต่ก็ยังปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิในถ้ำเพื่อแสวงหาวิมุตติภาวนาทุกวัน

ไม่เคยอวดอ้างในคุณวิเศษใดๆ แต่ผลของเลขยันต์เป่ามนต์ได้สำแดงออกมาให้ประจักษ์ว่าคุ้มครองป้องกันภัยได้

 

มีเรื่องเล่ากันมาว่า ระหว่าง พ.ศ.2477-2480 เวลานั้นเกิดโรคระบาดสัตว์ วัวควายเป็นโรคปากเท้าเปื่อยที่ติดต่อร้ายแรง พากันล้มตาย สัตวแพทย์ก็ไม่มี ต้องขอให้ทางการมาช่วยฉีดยา ราษฎรจึงพากันไปหาให้ช่วยปัดเป่าป้องกันโรคระบาดสัตว์ให้

จึงปลุกเสกลงเลขยันต์ในผืนผ้ารูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ แจกให้ชาวบ้านที่เลี้ยงวัวควายนำไปผูกปลายไม้ปักไว้ที่คอกสัตว์ ปรากฏว่า คอกสัตว์ที่ปักผ้าประเจียดยันต์ไม่ตาย ทุกบ้านในตำบลใกล้เคียงวัดเขาบันไดอิฐ เมื่อรู้กิตติศัพท์จึงพากันมาขอยันต์ทุกวันมิได้ขาด

กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ มหาสงครามเอเชียบูรพา เมืองเพชรบุรีมีระเบิดลงทุกวันทำลายสถานีรถไฟ สะพานข้ามแม่น้ำ บ้านเรือน โรงเรียนต้องสั่งปิด ข้าราชการไม่ได้ไปทำงาน ทุกหน่วยราชการปิดหมด และปรากฏเรื่องเป็นที่ฮือฮาว่า บ้านคนที่มีผ้ายันต์หรือเหรียญ กลับไม่ได้รับอันตรายใดๆ

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2502 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูญาณวิลาศ

เป็นพระใจดีมีเมตตาสูง และอารมณ์ดีเสมอ ไม่ชอบดุด่าว่าใคร โดยเฉพาะคำหยาบคายถึงพ่อแม่ ห้ามขาด เพราะทุกคนเขาก็มีพ่อมีแม่ การด่าถึงบุพการีทำให้ความดีงามเสื่อมถอย ถึงห้อยพระท่านก็ไม่คุ้มครอง

มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2517 สิริอายุ 96 ปี พรรษา 74

ก่อนสิ้นลม ได้ฝากฝังกับพระปลัดบุญส่ง ธัมมปาโล รองเจ้าอาวาสขณะนั้น ว่า “เมื่อฉันหมดลมหายใจแล้วอย่าเผา ให้เก็บร่างฉันไว้ที่หอสวดมนต์ และให้เอาเหรียญที่ปลุกเสกรุ่น 1 ใส่ปากไว้พร้อมเงินพดด้วง 1 ก้อน ส่วนนี้ฉันเอาไปได้ และให้เอาขมิ้นมาทาตัวฉันให้เหลืองเหมือนทองคำ”

พระปลัดบุญส่ง รับปากและได้ทำตามประสงค์ไว้ทุกประการ

ทุกวันนี้ ยังเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวจังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งผู้มีจิตศรัทธาไม่เสื่อมคลาย •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]