นุ่งห่มสมตัว (2)

ญาดา อารัมภีร
"พลายแก้วเข้าห้องนางพิม" จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลย์ไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย

‘ผ้า’ มีระดับสูงต่ำ คนไทยสมัยโบราณใช้ผ้านุ่งห่มสมฐานะของตนเอง เรามีสำนวนไทยใช้กันว่า ‘นุ่งเจียมห่มเจียม’ ความหมายคือ แต่งตัวและทำตัวให้เหมาะสมแก่ฐานะของตน ดังคติเตือนใจตอนหนึ่งจาก “สุภาษิตสอนหญิง”

“เห็นผู้ดีมีทรัพย์ประดับแต่ง อย่าทำแข่งวาสนากระยาหงัน

ของตัวน้อยก็จะถอยไปทุกวัน เหมือนตัดบั่นต้นทุนสูญกำไร

จงนุ่งเจียมห่มเจียมเสงี่ยมหงิม อย่ากระหยิ่มยศถาอัชฌาสัย

อย่านุ่งลายกรายกรุยทำฉุยไป ตัวมิใช่ชาววังมิบังควร”

ข้อความนี้บอกให้รู้ว่า ‘ผ้าลาย’ ใช้เฉพาะชาววัง และน่าจะเหมาะกับคนหนุ่มมากกว่าคนแก่ ดังจะเห็นได้จากบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” ตอนที่ท้าวยศวิมลและนางจันท์เทวีปลอมตัวเป็นชาวบ้านเดินชมตลาด แม่ค้าชวนให้ซื้อ

“ร้านค้าผ้าผ่อนล้วนดีดี เลือกดูที่งามงามตามชอบใจ”

ท้าวยศวิมลแกล้งยั่วมเหสีก็ถูกนางเหน็บแนม

“พระเสแสร้งแกล้งว่ากับท่านยาย จะซื้อลายสุหรัดสักผืนหนึ่ง

เข้าไปต่อเฝ้าพะเน้าพะนึง ห้าสลึงมิได้ก็ไม่ซื้อ

ท่านยายว่าน่าชังแก่จะตาย จะนุ่งลายทำหนุ่มอยู่อิกฤๅ”

“ผ้าลายสุหรัดหรือผ้าสุหรัด หรือผ้ากุศราต คือผ้าที่ทำส่งออกจากเมืองสุหรัด (Guzerat) ลายแขก สีดีไม่มีตก มีหลายชนิดแต่เนื้อหยาบ” (จาก “อยุธยาอาภรณ์” อาจารย์สมภพ จันทรประภา เรียบเรียง)

 

ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” มีอยู่ตอนหนึ่งแสดงถึงระดับของผ้าที่ใช้อย่างชัดเจน ขณะที่พลายแก้วต่อปากต่อคำกับนางพิมพิลาไลยที่ไร่ฝ้าย เมื่อนางเปรียบความรักกับผ้าเก่าว่าแรกรักกันก็มอบชีวิตให้เหมือนได้ผ้าใหม่ก็หวงแหนทะนุถนอมใช้ นุ่งซ้ำๆ อยู่ผืนเดียวอยู่นั่นแล้ว ครั้นได้ผ้าผืนใหม่มารวมเป็นสองผืน ก็ปะชุนซ่อมแซมผ้าผืนเก่า ไม่นุ่งห่มอวดใคร แต่เอาไปใช้เป็นผ้าอาบน้ำแทน ถึงตอนนั้นใช้อย่างไรก็ได้ไม่ต้องระวัง ทั้งเช็ดถู ซัก ฟาดจนขาดวิ่น ไม่มีทางเป็นผ้าเนื้อดีดังเดิมได้อีก

พลายแก้วก็ใช้คารมคมกริบพลิกสถานการณ์ทันที

“เหมือนผ้าเก่าเศร้าทรุดพิรุธนัก จะซ้ำซักเสียให้ขาดหาควรไม่

เป็นยกทองต้องตกก็อาลัย มิใช่ตาบัวปอกแลเมล็ดงา

กว่าจะได้ห่มนุ่งบำรุงกาย มิใช่ง่ายต่อตามกันหนักหนา

กับอนึ่งก็แพงแรงราคา ถึงเก่าแล้วก็อุตส่าห์ถนอมชม

ประจงใส่หีบหอมถนอมไว้ เมื่อมีงานการใหญ่เป็นการสม

จึงหยิบคลี่ด้วยเป็นที่คนนิยม แล้วอบรมกลิ่นฟุ้งจรุงใจ

ถึงผ้าอื่นผืนใหม่ได้มามาก ก็นุ่งลากเสียดอกไม่ดีได้”

ความหมายก็คือ นางพิมพิลาไลยมิใช่ไพร่ที่นุ่งได้แต่ผ้าชั้นต่ำ เช่น ผ้าบัวปอกเม็ดงาเท่านั้น แต่นางเป็นลูกผู้ดีมีตระกูล เป็นกุลสตรีมีศักดิ์สมฐานะของ ‘ผ้ายกทอง’ ในที่นี้พลายแก้วยกย่องนางพิมว่าแม้เป็นผ้าก็เป็นผ้ายกทองราคาแพง หายาก เจ้านายและผู้ดีมีบรรดาศักดิ์เท่านั้นที่นุ่งได้ ถึงผ้ายกทองเก่าก็ต้องบรรจงใส่หีบไม้หอมถนอมรักษาไว้อย่างดี เมื่อใดมีงานใหญ่สมเกียรติถึงจะนำออกมานุ่งห่ม

ส่วนผ้าอื่นที่ได้มาใหม่ก็เอาไว้ใส่นุ่งถูลู่ถูกังอย่างไรก็ได้

 

อาจารย์สมภพ จันทรประภา อธิบายถึง ‘ผ้ายก’ ไว้ในหนังสือ “อยุธยาอาภรณ์” ตอนหนึ่งว่า

“คำว่า ‘ผ้ายก’ หมายถึง ผ้ามีลาย ไม่ใช่ริ้ว มีทั้งยกไหม ยกทอง คำว่า ‘ยก’ มาแต่กระบวนทอ เส้นด้ายที่เชิดขึ้นเรียกว่า ‘เส้นยก’ เส้นด้ายที่จมลงเรียกว่า ‘เส้นข่ม’ แล้วพุ่งกระสวยไปในหว่างกลาง ถ้าจะให้เป็นลายเลือกยกเส้นข่มขึ้นบางเส้น ทอไปให้เกิดเป็นลายขึ้นจึงได้ชื่อว่า ‘ผ้ายก’ เพราะต้องคอยยกเส้นข่มบางเส้นให้เกิดเป็นลายขึ้นมา”

‘ผ้ายก’ ในวรรณคดีมีอยู่เป็นระยะๆ การแต่งกายของตัวละครกษัตริย์หรือเชื้อสายกษัตริย์ เช่น พระธิดาทั้งเจ็ดของท้าวสามลในบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” ล้วนแต่

“นุ่งยกห่มตาดนาดกราย ผันผายไปเฝ้าพระภูมี”

ขุนช้างผู้มั่งคั่งแต่งตัวแต่ละครั้งไม่ขาดผ้ายก เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” บรรยายว่า

“แล้วนุ่งยกอย่างดีมีราคา พึ่งซื้อหามาได้แต่ในวัง

ห่มส่านอย่างดีสีสะอาด เข็มขัดคาดราคากว่าสิบชั่ง”

ส่วนพลายแก้วก่อนยกทัพไปปราบลาวก็ได้รับผ้าพระราชทานจากสมเด็จพระพันวษา ดังที่ตรัสว่า

“กูจะให้อาวุธไปราวี ดาบนี้ที่ด้ามประจุพราย

ประทาน ‘ผ้ายก’ ดีสีสะอาด สนับเพลาเจียระบาดอันเฉิดฉาย

ทั้งหมวกตุ้มปี่มีระบาย พลายแก้วกราบถวายบังคมลา”

ผ้าสมัยโบราณจึงมิได้เป็นแค่เครื่องนุ่งห่ม แต่เป็นหนึ่งในบำเหน็จรางวัลที่กษัตริย์พระราชทานแก่ข้าราชการผู้ทำความดีความชอบ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร