ทำตัวอย่างไรให้ปลอดภัยจากฟ้าผ่า | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509
ฟ้าผ่าแบบบวก ภาพโดย Tom Burow ที่มา : https://www.facebook.com/lauren.rautenkranz/photos/a.243336569123069/2163772480412792/?type=3

ในบทความก่อนหน้านี้เรื่อง “‘ฟ้าผ่า’ ทำอันตรายคนเราด้วยกลไกอะไรได้บ้าง?” ผมได้เล่ากลไกต่างๆ ที่ฟ้าผ่าสามารถทำอันตรายต่อคนเรา (และสัตว์) ไปแล้ว คราวนี้จะขอสรุปกฎและคำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงจากอันตรายที่เกิดจากฟ้าผ่าให้อ่านแบบชัดๆ คำแนะนำแต่ละข้อมีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับ

ในที่นี้ขอแนะนำกฎที่ต้องรู้ และการปฏิบัติตัวในสถานการณ์ต่างๆ ได้แก่ อยู่ในรถยนต์ อยู่ในที่โล่งแจ้ง และอยู่ในอาคาร ดังนี้ครับ

ภาพและข้อมูลจากงานวิจัยซึ่งแสดงว่าสายฟ้าสามารถฟาดลงพื้นห่างจากจุดกำเนิดตามแนวนอนได้ไกลถึง 40 กิโลเมตร
ที่มา : https://www.weather.gov/pub/lightningBoltBlue

กฎ 30/30

กฎ 30/30 หรือที่ฝรั่งเรียกว่า The 30/30 Rule มีความหมายและข้อสังเกตดังนี้

เลข 30 ตัวแรก คือ 30 วินาที หมายความว่าหากเห็นฟ้าแลบแล้วได้ยินเสียงฟ้าร้องตามมาภายในเวลาไม่เกิน 30 วินาที ก็แสดงว่าเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่ใกล้เพียงพอที่ฟ้าผ่าจะทำอันตรายคุณได้ ให้หาสถานที่ปลอดภัยทันที

ตัวเลข 30 วินาทีมาจากการที่เสียงในอากาศเดินทางเร็วประมาณ 346 เมตรต่อวินาที (ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส) ดังนั้น ระยะเวลาต่ำกว่า 30 วินาที จึงแปลว่าเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่ห่างคุณไม่ถึง 10.5 กิโลเมตร โดยประมาณ

แม้ว่ากฎ 30/30 จะให้ค่าตัวเลขราว 10.5 กิโลเมตรเอาไว้ แต่ค่านี้เป็นเพียงตัวเลขเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากมีหลักฐานว่าสายฟ้าสามารถเคลื่อนที่เป็นระยะทางในแนวระดับที่ไกลกว่านี้มากก่อนที่จะฟาดลงสู่พื้น จากงานวิจัยหนึ่งพบว่าสายฟ้าที่รัฐฟลอริดาฟาดลงบนพื้นห่างจากจุดกำเนิดถึงราว 40 กิโลเมตร โดยระยะเวลาที่ใช้ในการเคลื่อนที่ไม่ถึง 1 วินาที! (ดูภาพ)

สายฟ้าส่วนใหญ่ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ คือ ฟ้าผ่าแบบบวก (positive lightning) ซึ่งเป็นสายฟ้าที่ออกมาจากยอดเมฆฝนฟ้าคะนอง

 

เลข 30 ตัวหลัง คือ 30 นาที หมายความว่า หลังจากที่ฝนหยุดตกและไม่มีเสียงฟ้าร้องแล้ว คุณควรรออยู่ในสถานที่ปลอดภัยอีกอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้มั่นใจว่าเมฆฝนฟ้าคะนองได้ผ่านไปหรือสลายตัวไปแล้ว

กรณีที่คุณอยู่ในรถยนต์ : รถยนต์เป็นสถานที่ค่อนข้างปลอดภัยหากทำตามคำแนะนำดังนี้

– ปิดกระจกให้สนิททุกบาน (หมายเหตุ : รถที่ไม่มีหน้าต่างให้ปิด เช่น รถกอล์ฟ ไม่ปลอดภัยจากฟ้าผ่า)

– อย่าใช้โทรศัพท์มือถือที่กำลังพ่วงต่อกับที่ชาร์จไฟของรถ

– หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับวิทยุในรถ (คำอธิบาย : วิทยุเชื่อมต่อกับเสาอากาศที่อยู่บริเวณหลังคารถ หากฟ้าผ่าลงบนหลังคารถและคุณกำลังหมุนปุ่มหาคลื่นวิทยุ กระแสไฟฟ้าก็จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางวิทยุได้)

ท่านั่งหมอบเพื่อลดความเสี่ยงอันตรายจากฟ้าผ่า ท่านี้ใช้ในกรณีที่หาที่ปลอดภัยไม่ได้เท่านั้น
ที่มา : https://yourgrange.co.uk/tips-advice-thunderstorms-lightning/

กรณีที่คุณอยู่ในที่โล่งแจ้ง

– รีบหาสถานที่ที่ปลอดภัย ได้แก่ รถยนต์ หรืออาคารขนาดใหญ่

– ห้ามอยู่ใกล้ต้นไม้สูงใหญ่ หรือโครงสร้างที่มีลักษณะสูง

– ถ้าอยู่กันหลายคน อย่าอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (คำอธิบาย : หากอยู่ใกล้กัน แล้วคนใดคนหนึ่งถูกกระแสไฟฟ้าจากฟ้าผ่าทำร้าย กระแสไฟฟ้าอาจจะกระโดดออกจากคนคนนั้นไปหาคนที่อยู่ใกล้ๆ ได้ เรียกว่า ไซด์แฟลช (side flash))

– ถ้าหาที่หลบภัยที่ปลอดภัยไม่ได้และจำเป็นต้องอยู่ในที่โล่งแจ้ง ให้ “นั่งยองๆ เท้าชิด มือปิดหู” เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายอันเนื่องจากฟ้าผ่า ท่านี้เรียกว่า lightning crouch หรือ lightning safety position

– ห้ามนอนราบลงกับพื้น เพราะหากฟ้าผ่าบริเวณใกล้ๆ กระแสไฟฟ้าจะไหลมาตามพื้น (เรียกว่า ground current) และเข้าสู่ร่างกายของคุณได้ในปริมาณมาก

ท่านอนราบไม่ปลอดภัย เนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่ไหลมาตามพื้นจะทำอันตรายคุณได้

กรณีที่คุณอยู่ในบ้านหรืออาคาร

– อย่าใช้โทรศัพท์บ้านแบบมีสาย

– ถอดสายไฟอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่ไม่จำเป็น และควรทำก่อนเกิดฝนฟ้าคะนอง

– หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ยังไม่ได้ถอดสาย

– อยู่ห่างจากหน้าต่าง

– อย่านั่งหรือนอนบนพื้นคอนกรีต และอย่าพิงผนังคอนกรีต

– นำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในที่ปลอดภัย เช่น ภายในตัวบ้าน

ข้อมูลที่ให้ไว้นี้เป็นประเด็นหลักๆ ที่ต้องรู้เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายจากฟ้าผ่า ส่วนรายละเอียดมากกว่านี้ สามารถอ่านได้จากเว็บของ NOAA ที่ https://www.weather.gov/safety/lightning-safety ครับ