นับ 1 ChatGPT

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ปีนี้ ผมมีปณิธานแบบ “ยางยืด” ไว้เรื่องหนึ่ง

คือ ผมจะเรียน ChatGPT

เพราะผมเชื่อว่า AI ตัวนี้จะเปลี่ยนโลกครั้งใหญ่

ความมหัศจรรย์ของ AI นั้นถึงขั้นทำให้มีคนบอกว่าต่อไปโลกใบนี้จะแบ่งคนเป็น 2 กลุ่ม

คือ คนที่ใช้ AI เป็น

กับคนที่ใช้ AI ไม่เป็น

AI ตัวอื่นยังเฉยๆ แต่พอ ChatGPT เกิดขึ้นบนโลกใบนี้

ผมตื่นเต้นมาก และคิดว่าเจ้าตัวนี้จะเปลี่ยนแปลงโลก

เพราะทำให้ “ปราชญ์” จับต้องได้ง่าย

ความรู้ต่างๆ ที่สั่งสมกันมานานไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย แพทย์ บัญชี ฯลฯ เจ้า AI จะเข้าไปศึกษาเรียนรู้ และทำตัวเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ให้คำปรึกษากับคนทั่วไป

แบบไม่มีอคติ

ถามบ่อยๆ ก็ไม่บ่น

สั่งงานยากๆ ก็ไม่เถียง

ที่สำคัญเขาใช้เวลาเพียงแป๊บเดียว สามารถให้คำปรึกษาได้ทันที

แค่เพียงการเริ่มต้นของ ChatGPT ก็สร้างความแตกตื่นให้กับคนทั่วโลก

และนับจากนี้พัฒนาการของ ChatGPT จะเร็วขึ้นเรื่อยๆ

เพราะยิ่งคนใช้มากเท่าไร

มันก็ฉลาดเร็วขึ้นเท่านั้น

ปีนี้ผมจึงตั้งเป้าหมายว่าจะลงเรียน ChatGPT อย่างจริงจัง

ต้องทำความรู้จักมันให้ได้

แต่เพื่อให้เป็นไปตามปรัชญาการดำเนินชีวิตแบบ “ชีวิตไม่ยาก ถ้าตั้งโจทย์ง่าย”

ผมก็เลยตั้งเป้าหมายแบบ “ยางยืด”

ไม่เป๊ะๆ จนเกินไป

ปีหนึ่งมี 12 เดือน

เริ่มเมื่อไรก็ได้

ผมจะเชื่อมั่นในหลักที่ว่า “คนเราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต”

แต่เด็ก คนหนุ่มสาว วัยกลางคน หรือผู้อาวุโส ก็มีวิธีคิดเรื่องการเรียนรู้แตกต่างกัน

วัยเด็กหรือหนุ่มสาว ไม่ต้องเลือกมาก

ชอบอะไรก็ลองดู

เพราะเวลาในชีวิตเหลืออีกเยอะ

ส่วนวัยกลางคนหรือผู้อาวุโสต้องคิดมากหน่อย

เพราะเวลามีน้อย ต้องใช้สอยอย่างประหยัด

จะเรียนรู้เรื่องอะไรดี

ต้องเลือกหน่อย

ผมอยู่ในกลุ่ม “อาวุโส” แล้วครับ

ตอนนี้เวลามีคนเขียนถึง บางทีเขาก็เรียกว่า “สื่ออาวุโส”

“สื่ออาวุโส” นามปากกา “หนุ่มเมืองจันท์”

คนอ่านคงจะงงนิดหนึ่ง

บางคนถามว่าตกลงจะ “หนุ่ม” หรือ “อาวุโส”

ผมก็บอกว่าให้เรียกง่ายๆ ว่า “หนุ่มอาวุโส” ก็แล้วกันครับ 555

เมื่อรู้ว่าอยู่ในกลุ่ม “อดีตยาว-อนาคตสั้น”

เวลาเกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาบนโลกใบนี้

บางเรื่องก็เกินกว่าที่จะเข้าใจ

ผมก็จะปลอบตัวเองว่า “โชคดี” มากที่ “แก่”

เพราะคนอายุเยอะ ไม่รู้เรื่องใหม่ๆ

…ไม่ผิด

ยิ่งพ้นวัยทำงานด้วย ยิ่งมีความชอบธรรมสูง

เพราะไม่ต้องเรียนรู้เพื่อใช้ในการทำงาน

คนที่น่าสงสารที่สุดตอนนี้ คือ คนอายุ 45 ขึ้นไปที่ยังต้องทำงานอยู่

เพราะความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก

ทำให้ “ความรู้เก่า” หมดอายุอย่างรวดเร็ว

ในขณะที่คนกลุ่มนี้ต้องปรับตัวกับ “ความรู้ใหม่” ที่โหมกระหน่ำเข้ามาซึ่ง “คนรุ่นใหม่” จะได้เปรียบมากกว่า

แค่เรื่องโซเชียลมีเดียเรื่องเดียวก็หนักแล้ว

ผมโชคดีที่ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปแล้ว

อยู่ในระดับ “ไม่รู้-ไม่ผิด”

มีคนเคยบอกว่าผมควรเรียนรู้เรื่อง “โซเชียลมีเดีย” อย่างจริงจัง

แต่ผมกลับคิดว่า “โซเชียลมีเดีย” ตอนนี้ไปไกลแล้ว

เรียนรู้ตอนนี้ก็เหมือนกับการนับ 1

ในขณะที่คนอื่นไปไกลแล้ว

ที่สำคัญผมรู้สึกว่า “โซเชียลมีเดีย” เป็นแค่ “ของเล่น” สำหรับผม

รู้แค่พอใช้งานเป็นก็พอแล้ว

ไม่เหมือนกับ ChatGPT

เห็นปั๊บ รู้สึกเลยว่าสิ่งนี้จะเปลี่ยนแปลงโลก

ใครจะมองว่าเป็น “ปัญหา” สำหรับคนรุ่นเก่า

แต่ผมกลับมองเป็น “โอกาส”

เพราะถ้าเริ่มเรียนรู้วันนี้

ทุกคนเริ่มนับ 1 เหมือนกันหมด

 

ผมได้บทเรียนนี้จากคุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ของสหพัฒน์

คุณบุณยสิทธิ์ จบการศึกษาแค่ชั้น ม.6

คุณเทียม โชควัฒนา ส่งคุณบุณยสิทธิ์ไปทำงานที่บริษัท เคียวโกะ ที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่อายุ 17 ปี

เรียนรู้เหมือนเป็นพนักงานคนหนึ่งอยู่ 6 ปี

ก่อนจะกลับมาเมืองไทยช่วยคุณเทียม

ช่วงนั้นเขาทำงาน-ทำงาน-ทำงาน อย่างหนัก

จนวันหนึ่งก็ขึ้นมารับไม้ต่อจากคุณเทียม

วันนั้น เขาอยากเรียนต่อ

แต่ถ้าเรียนตามระบบ คือ เรียนต่อปริญญาตรี

กว่าจะจบต้องใช้เวลา 4 ปี

เหมือนเขาต้องนับ 1 ในขณะที่คนอื่นไปไกลแล้ว

คุณบุณยสิทธิ์ทำอย่างไรรู้ไหมครับ

ตอนนั้น “คอมพิวเตอร์” เป็นนวัตกรรมใหม่

ในเมืองไทยยังไม่มีบริษัทไหนนำเข้ามาเลย

คุณบุณยสิทธิ์เป็นคนชอบเรื่องเทคโนโลยี สมัยเด็กชอบซ่อมนาฬิกาเอง

สหพัฒน์จึงเป็นบริษัทแรกๆ ในเมืองไทยที่นำเข้าคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่มาใช้งาน

ใช้คอมพิวเตอร์ทำใบแจ้งหนี้ และอื่นๆ อีกมากมาย

ครับ คุณบุณยสิทธิ์เลือกเรียนรู้เรื่อง “คอมพิวเตอร์”

วิธีคิดของเขา ก็คือ ถ้าเขาเรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์

เหมือนกับเขาเริ่มนับ 1 เหมือนกับเรียนปริญญาตรี

แต่ “คอมพิวเตอร์” เป็นเรื่องใหม่ที่มีคนน้อยมากที่เริ่มนับ 1 พร้อมกับเขา

เขาได้เปรียบ

ดังนั้น อย่าแปลกใจที่วันนี้คุณบุณยสิทธิ์ในวัย 88 ปีจะรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ดีมาก

พูดถึง “บิ๊กดาต้า” หรือ “ดิจิทัล ทรานฟรอมเมชั่น” แบบคล่องปาก

เพราะเขาเข้าใจลึกซึ้งในเรื่องนี้

หรืออีกตัวอย่างที่หนึ่งที่ผมเขียนถึงบ่อยๆ คือ เรื่องวิธีคิดของ “จีน” เรื่องรถอีวี

มีคนบอกว่าจีนอยากกระโดดเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์มานานแล้ว

แต่ถ้าแข่งขันในเกมเดิม คือ รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

ญี่ปุ่น เยอรมนี นับไปถึง 100 แล้ว

แต่จีนเพิ่งเริ่มนับ 1

แข่งอย่างไรก็สู้ไม่ได้

แต่ถ้าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ทุกคนเริ่มนับ 1 เท่ากันหมด

ยิ่ง “โตโยต้า” ยักษ์ใหญ่รถยนต์ของญี่ปุ่นไม่เชื่อในทิศทางนี้

ยิ่งเป็น “โอกาส” ของจีน

เพราะเขานับ 1-2-3-4…

ไปจนถึง 50 แล้ว

“โตโยต้า” เพิ่งขยับ

การกระโดดเข้ามาแบบเอาจริงเอาจังของ “จีน” ทำให้ “รถยนต์ไฟฟ้า” เกิด “อิโคโนมีออฟสเกล” เพราะสามารถผลิตรถยนต์จำนวนมากๆ ได้ในต้นทุนที่ต่ำ

บริษัททั่วไปใช้ “ห้องทดลอง” สำหรับสินค้าใหม่

แต่ “ห้องทดลอง” ของ “จีน” มีขนาดเป็น “เมือง” ครับ

ไม่แปลกที่วันนี้รถยนต์อีวีของจีนจึงกลายเป็น “ยักษ์ใหญ่” ของโลก

เพราะเขาเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่

ที่เชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงโลก

 

ปลายเดือนนี้ผมจะเริ่มเรียน ChatGPT

ลงเรียนแล้วครับ

เริ่มนับ 1 พร้อมกับทุกคน

เมื่อวันก่อน ผมเพิ่งลองใช้ ChatGPT ในการคิดปกหนังสือ

ที่ผ่านมาเรามีไอเดียอยู่ในหัว

แต่ความสามารถทางศิลปะไม่สามารถทำให้เป็นภาพได้

ครั้งนี้ ผมให้น้องที่รู้เรื่อง ChatGPT ช่วย

เริ่มต้นจากคำว่า “โอกาส”

ผมอยากรู้ว่ามีอะไรที่เป็นสัญลักษณ์ของคำว่า “โอกาส” บ้าง

โห…มาเยอะเลยครับให้เราเลือก

ตอนแรก ผมชอบภาพ “รุ้งกินน้ำ”

ลองให้มันออกแบบปกดู

เปลี่ยนพื้นเป็นสีขาว

เปลี่ยนเป็นสีดำ

ขอให้ “มินิมอล” ลงอีก

แค่ไม่ถึงนาทีก็เห็นภาพแล้ว

เพิ่มโน่น เปลี่ยนนี้ เล่นไปเรื่อยๆ สนุกมากเลยครับ

ยังไม่ถึงขนาดที่ใช้งานได้

แต่ทำให้เกิดไอเดียมากมาย

ดังนั้น ใครที่บอกว่า ChatGPT คือ “ปัญหา”

สำหรับผม นี่คือ “โอกาส”

“โอกาส” ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ •

 

 

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์