โรดโชว์ ‘อนาคต 2020’ จาก ‘จินตนาการ’ สู่ ‘คดีอาญา’

ในประเทศที่มีรัฐประหารเฉลี่ย 6 ปีต่อ 1 ครั้งนี้ “การเมือง” มักจะครอบงำและใช้กลไกในกระบวนการยุติธรรมทำลายคน

เริ่มตั้งแต่ “ถ้า” ครอบงำตำรวจได้ ก็ใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือในการปกป้องคุ้มกันตัวเองกับคุกคามกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่น

“ถ้า” ครอบงำอัยการได้ ก็ใช้ “ตัดตอน” สั่งไม่ฟ้องคดี ไม่ให้ไปถึงมือศาล หรือไม่ก็ “ต่อเติม” ด้วยการ “สั่งฟ้อง” ทำให้ชีวิตต้องประสบกับความยุ่งยากยุ่งเหยิง

ที่ว่าการดำเนินคดีอาญาของอัยการใช้ “หลักดุลพินิจ” นั้น ในบางกรณีจึงกลับกลายเป็น “หลักธุรกิจ” ไม่ได้ยืนหยัดในหลักการ “ฟังความทุกฝ่าย” ไร้เมตตาธรรม และไม่แฟร์

ซ้ำร้ายในซอกหลืบที่เร้นลับของกระบวนการยุติธรรม บางยุค “ผู้มีบารมี” ช่วงใช้ชี้นำตุลาการบางคนสร้างความเสียหายแก่ภาพรวมองค์กร

 

ก่อนหน้าจะถึง “วันพิพากษา” 4 มีนาคม 2567 “คดีโรดโชว์ สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020” เป็น 1 ในคดีที่ถูกจับตา

คดีนี้จำเลยที่ 1-3 (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล และสุรนันทน์ เวชชาชีวะ) เป็นนักการเมือง

ส่วนจำเลยที่ 4-6 (มติชน, สยามสปอร์ต, ระวิ โหลทอง) เป็นสื่อ ที่ประกอบอาชีพโดยสุจริตด้วยการรับจัดอีเวนต์เป็นงานอีกประเภทหนึ่งมายาวนานนับสิบปี

งาน “โรดโชว์ สร้างอนาคตประเทศไทย 2020” ถูก “ป.ป.ช.” ฟ้องต่อ “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” กล่าวหาจำเลยที่ 1-3 ว่า ทุจริตต่อหน้าที่ ครอบงำ จูงใจ และร่วมกันกำหนดตัวผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้าโดยเจตนามิให้มีการแข่งขันราคาจัดจ้างอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 4-6 ส่วนจำเลยที่ 4-6 เป็นผู้ช่วยเหลือการกระทำความผิด

คดีนี้เป็นคดีการเมือง !

 

ลําดับเหตุการณ์จะสะท้อนให้เห็นถึง “บริบทการเมือง”

23 สิงหาคม 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์แถลง “ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ” ต่อรัฐสภา ผนวกรวมถึงการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่เชื่อมชานเมืองและหัวเมืองหลัก การพัฒนารถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพมหานครไปยังภูมิภาค และการบริหารจัดการระบบขนส่งสินค้า

ถือว่าเป็นทั้งการทำหน้าที่ และเป็นอำนาจของ “ฝ่ายบริหาร”

กระบวนการล่วงผ่านไป 1 ปี

7 สิงหาคม 2555 ครม.มีมติเห็นชอบและรับทราบ ตามที่สภาพัฒน์เสนอผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งฯ

15 มกราคม 2556 “ครม.” มีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง คมนาคม สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือร่วมกันเพื่อยกร่าง “พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินมาเพื่อลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ”

โครงการขนาดใหญ่อย่างนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาลต้องจัดให้มี “กระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน”

ระหว่างตุลาคม-พฤศจิกายน 2556 จึงจัดงาน “โรดโชว์ สร้างอนาคตประเทศไทย 2020” ขึ้นในพื้นที่ 12 จังหวัด จนสิ้นสุด 27 พฤศจิกายน 2556

27 พฤศจิกายน 2556 ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ให้วินิจฉัยว่า “ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ” ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

รุ่งขึ้นปี 2557 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตกอยู่ในภาวะระส่ำ

13 มกราคม 2557 “สำนักงานตรวจการแผ่นดิน” ถึงมีหนังสือ “ด่วนที่สุด” ถึง “สุรนันทน์” เลขาธิการนายกฯ ให้ทบทวนการใช้เงินเพื่อจัดโครงการ

23 มกราคม 2557 “สุรนันทน์” มีหนังสือชี้แจงถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

14 มีนาคม 2557 นักร้องคนที่ 1 ร้องเรียนกล่าวหาโครงการนี้

22 พฤษภาคม 2557 “คสช.” รัฐประหาร!!

ถัดไปอีกเดือนเดียวเท่านั้น

20 มิถุนายน 2557 ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีหนังสือ “ด่วนที่สุด” อีกแล้ว!!

คราวนี้ถึง “หัวหน้า คสช.”!

แต่ระหว่างวันที่ 24 และ 28 กรกฎาคม 2557 นั้นทั้ง “มติชน” และ “สยามสปอร์ต” ในฐานะ “ผู้รับจ้าง” ก็มีหนังสือ “ทวงหนี้” ที่ยังไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญา

พฤศจิกายน 2557 นักร้องคนที่ 2 ร้องซ้ำให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบการทุจริต

กระทั่งปี 2558

ในวันที่ 3 มีนาคม พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบขั้นตอนดำเนินการ “โครงการโรดโชว์ สร้างอนาคตประเทศไทย 2020”

ในที่สุดก็สรุปว่า ตั้งแต่เริ่มจนจบสิ้นกระบวนการ ทำถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) แห่ง “คสช.” จึงแจ้งว่า “ชำระค่าจ้างได้” จากนั้นจึงมีการอนุมัติและเบิกจ่ายค่าจ้าง

 

กล่าวอย่างเป็นธรรม ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการขนส่งฯ นั้นเป็นเสมือน “ความฝัน” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

คิดการใหญ่และฝันจะทำให้เสร็จภายใน 7 ปี (2557-2563)

1 ในนั้นคือ รถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ตัดผ่าน 29 จังหวัด จะก่อเกิดเมืองเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมากมาย ที่กระจายความเจริญกระจายรายได้ ผู้คนมีงานทำ มีกินมีใช้ ช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เจริญมั่นคง

ทั้งหมดนั้นเป็น “จินตนาการที่จับต้องได้”

ประเทศไทยน่าจะพลิกโฉมไปตั้งแต่ปี ค.ศ.2020 หรือ พ.ศ.2563 แล้ว

รถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงกรุงเทพฯ เชียงใหม่ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย หัวหิน ปาดังเบซาร์ และระยอง รถไฟฟ้า 10 สายในเมืองหลวงและปริมณฑล ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สถานีขนส่งสินค้า ท่าเรือ ด่านศุลกากร คำนวณได้ว่า ถ้าทำสำเร็จ ประเทศจะลดการสูญเสียจากน้ำมันเชื้อเพลิงได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้าน ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลงไม่น้อยกว่า 2% ฯลฯ

หากแต่ “ฝัน” นั้นต้องดับวูบลงทันที ที่ปรากฏ “วรรคทอง” จากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เป็นหมัน

“ต้องรอให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศไทยก่อนที่จะไปคิดถึงระบบความเร็วสูง”

 

สุดท้ายการจัดโรดโชว์ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมรับฟังและแสดงความเห็นต่อโครงการใหญ่ๆ ที่จะเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตก็กลายเป็น “คดีอาญา”

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไต่สวน ค้นหาความจริง

ถึงแม้ “เหลี่ยมคดี” อาจมีได้หลายมุมให้เห็นต่าง ตีความและต่อสู้กัน แต่ “ข้อเท็จจริง” ย่อมมีเพียง 1 เดียว!

ในคดีอาญา บุคคลจะรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดย “เจตนา”

องค์คณะ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ มีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” จำเลยทั้งหมด ด้วยมติ “เอกฉันท์” 9 : 0

คำพิพากษายาวราว 70 หน้ากระดาษ ละเอียดถี่ถ้วน ไล่เรียงไปทุกคน วินิจฉัยกระจ่างแจ้งทุกประเด็นน่าศึกษาอย่างยิ่ง!?!!