นายกรัฐมนตรีลงใต้ เรื่องดราม่า ‘นายกฯ อยู่ ด่านหาย นายกฯ ไป ด่านกลับมาเหมือนเดิม’

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

เรื่องดราม่าในโลกโซเชียลและวงน้ำชาคนชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก

เมื่อนายกรัฐมนตรีและคณะบินลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในกิจกรรมที่ผ่านสื่อต่างๆ “เที่ยวใต้สุดใจ” ที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ระหว่างวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ปรากฏว่าทั้งสามวันดังกล่าว หรือก่อนหน้านี้ 1 วันคือวันที่ 26 กุมภาพันธ์นั้นด่านความมั่นคงต่างๆ ในพื้นที่หายไปหมด ถนนโล่ง สบาย

แต่หลังจากนั้นแค่วันเดียว กลับพบว่าด่านความมั่นคง กลับมีเหมือนเดิม สะท้อนการแก้ปัญหาแบบผักชีโรยหน้า?

จนชาวบ้านสะท้อนตรงกันว่า เมื่อไม่มีด่าน เหตุการณ์ไม่เกิด ควรยกเลิกถาวร?

หรือน่าจะให้นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ทุกวัน?

สําหรับด่านตรวจความมั่นคงในเส้นทางสายสำคัญในช่วงนายกฯ มา เช่น ด่านตรวจเกาะหม้อแกง ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อม จ.สงขลา กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกยกสิ่งกีดขวางและด่านตรวจออก เช่นเดียวกับบริเวณด่านตรวจใกล้ค่ายอิงคยุทธบริหาร ที่เชื่อมระหว่าง จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา และด่านตรวจบริเวณเส้นทางเข้าเมืองปัตตานี ที่มีการยกเลิกการตั้งด่านตรวจเช่นกัน

ในส่วนด่านในหมู่บ้าน ชุมชน หรือเส้นทางรองที่ไม่จำเป็นก็ได้รื้อถอนออกไปทั้งหมดเช่นกัน เว้นแต่บางด่านที่ยังมีความจำเป็นต้องคงไว้ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้ประชาชน

“ด่านตรวจที่ผ่านมาได้ผลทั้งในแง่ความมั่นคงและการป้องกันอาชญากรรม ไม่ได้มีแค่จับกุมผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงได้เท่านั้น แต่ยังสามารถจับยาเสพติดได้จำนวนมาก แม้แต่ด่านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนถนนสายหลักก็มีผลงานอยู่ตลอด” พ.อ.เอกวริทธิ์ ชอบชูผล โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้เปิดเผยไว้

ในขณะที่รอมฎอน ปัญจอร์ ให้ทัศนะว่า “ปัจจุบัน พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีด่านและฐานปฏิบัติการกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ บางด่านตรวจเป็นด่านที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ และมีสัญญาณไฟส่องสว่างไม่ชัดเจน อยู่ในมุมอับ จนประชาชนที่สัญจรไปมาได้รับอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อีกทั้งฐานปฏิบัติการบางฐานอยู่ในเขตชุมชน โรงเรียน และวัด ซึ่งสถานที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ของพลเรือน อาจส่งผลให้พื้นที่ของประชาชนกลายเป็นเป้าหมายในการก่อความไม่สงบ จึงต้องการหารือกับหน่วยงานต่างๆ ถึงแนวทางการลดด่านและฐานปฏิบัติการ”

ทั้งนี้ สามจังหวัดและสี่อำเภอของจังหวัดสงขลานั้น จากการเปิดเผยของ พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 นั้นมีด่านตรวจจำนวน 23 ด่าน ที่เป็นลักษณะด่านใหญ่จริงๆ เช่น จุดตรวจด่านขุนไวย์ ตั้งอยู่ทางเข้าเมืองยะลา, ด่านตรวจบ้านเตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี, ด่านตรวจถาวรบ้านควนมีด บ้านคลองเปรียะ หมู่ 5 ต.คลองเปรียะ อ.จะนะ จ.สงขลา

การ “เอาด่านออก” ช่วงนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่สามวันนั้น

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า “ภ.จว.นราธิวาส ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่าด่านตรวจปลักปลาเป็นด่านตรวจที่จัดตั้งขึ้นโดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตามแผนเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจําปี 2567 อยู่ในความรับผิดชอบของ ฉก.นย.ทร. โดยให้ ฉก.ตร.นราธิวาส 93 (เป็นหน่วยขึ้นควบคุมทางยุทธการของ ฉก.นย.ทร.) จัดกําลังของหน่วยร่วมกับ สภ.เมืองนราธิวาส และ ศปก.อ.เมืองนราธิวาส ทําการตรวจบุคคลและยานพาหนะ โดยให้กําลังพลปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในวันที่นายกฯ มีกําหนดการเดินทางมาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ จ.นราธิวาส เดินทางโดยรถยนต์จากท่าอากาศยานราธิวาส ไปยังพุทธมณฑลจังหวัดนราธิวาส ต.ลําภู อ.เมืองนราธิวาส และพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามฯ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส

การเดินทางทั้งขาไปและขากลับจะผ่านด่านตรวจปลักปลา ทำให้เจ้าหน้าที่ประจําด่านตรวจ ได้ยกสิ่งกีดขวางบริเวณด่านตรวจออกทั้งหมด ก่อนกําหนดการเดินทางของคณะรัฐมนตรี 3 ชั่วโมง เพื่ออํานวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับประชาชน ที่เดินทางเข้าและออกจากเขตเมืองนราธิวาส รวมถึงปฏิบัติตามแผนการรักษาความปลอดภัยและอํานวยความสะดวกด้านการจราจรของ จ.นราธิวาส ที่กําหนดให้ห้ามปิดการจราจรโดยเด็ดขาด เพื่อให้ขบวนการเดินทางของรัฐมนตรีใช้เส้นทางร่วมกับประชาชนได้ และป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อนในการสัญจร

ทั้งนี้ เนื่องจาก จ.นราธิวาส เป็นจังหวัดปลายทางในการลําเลียงยาเสพติดและแรงงานต่างด้าว จึงมีความจําเป็นต้องคงด่านตรวจ เพื่อป้องกันการไหลทะลักของยาเสพติด และแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นปัญหาหลักของชาติ”

“การลงพื้นที่ตรวจราชการของนายกรัฐมนตรีทุกครั้ง นายกฯ กำชับส่วนราชการทุกส่วนให้ปฏิบัติในทิศทางเดียวคือ จะต้องไม่ให้กระทบสร้างความเดือดร้อนต่อการเดินทางสัญจรไปมาของพี่น้องประชาชน ซึ่งการลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เหมือนกัน นายกฯ ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ขออย่าโยงเป็นเรื่องการเมือง สร้างความเข้าใจผิด สร้างความขัดแย้งขึ้นมาในสังคม”

อ้างอิงจาก https://www.khaosod.co.th/politics/news_8120130#lt9i70ruw0a06y3shzn

 

ข้อเสนอแนะ

จากที่มีด่านและฐานปฏิบัติการกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ จนเป็นเรื่องดราม่าเมื่อนายกรัฐมนตรีไปชายแดนใต้นั้น คงต้องหารือกับหน่วยงานต่างๆ ถึงแนวทางการลดด่านและฐานปฏิบัติการ ทั้งนี้ หน่วยความมั่นคงมองว่ายังจำเป็นมากๆ

ดังนั้น “จะยกเลิกหรือคงไว้ด่านความมั่นคง” ควรได้รับการประเมิน ตรวจสอบ ปรับปรุง พัฒนาในอนาคตที่ได้รับประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

โดยใช้องค์กรใดองค์กรหนึ่งที่ยึดโยงกับประชาชน แล้วออกแบบร่วมกันโดยตั้งบนหลักวิชาการ รวมทั้งเทคโนโลยีแทนกำลังคนที่ถืออาวุธให้มากที่สุด

โดยอาจใช้รัฐสภาเป็นเจ้าภาพซึ่งให้กรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบ และดำเนินการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และเพื่อรับทราบถึงแนวทางการปรับลดด่าน และฐานปฏิบัติการ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งต้องการรับทราบถึงประสิทธิภาพการจัดการกับผู้ก่อการร้ายในพื้นที่จากการตั้งด่านและฐานปฏิบัติการ

นอกจากนี้ มติ กมธ.ยังสามารถส่งรายงานเรื่องที่เกิดขึ้นไปยังรัฐบาลให้ได้รับทราบแก้ปัญหาได้อย่างเร่งด่วนและเป็นระบบในฐานะฝ่ายบริหาร รวมถึงผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร

เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาคู่ขนานอย่างยั่งยืน