‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ ว่าที่ประธานสภาพัฒน์ ส่งสัญญาณอันตราย เศรษฐกิจไทยบน ‘เรือไททานิก’

ชื่อของ “ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ถือเป็นกูรูนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของประเทศ ซึ่งในอดีตเคยเป็นคู่ชิงเก้าอี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในสมัยที่ ดร.วิรไท สันติประภพ ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ นอกจากนี้ ดร.ศุภวุฒิก็ยังเป็นอดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566

ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานด้าน Thinktank ของประเทศ โดยในขณะนี้ยังรอประกาศราชกิจจานุเบกษาแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ

ดร.ศุภวุฒิเปิดประเด็นโจทย์ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยว่า ประเทศไทยเผชิญทั้งปัญหาการเติบโตหรือการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าศักยภาพ ขณะเดียวกันศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

สิ่งที่มองว่าน่ากลัวสำหรับประเทศไทยมากที่สุด และผู้กำหนดนโยบายยังไม่ได้ให้ความสำคัญ และยังไม่ได้แก้ปัญหามากพอคือ “แรงงาน” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุน และสร้างผลิตภาพ (productivity) ของประเทศ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาแรงงานที่ลดลงทั้งในแง่ของ “ปริมาณ” และ “คุณภาพ”

ประเทศไทยต้องการคนวัยทำงานเพิ่มมากขึ้น แต่จากข้อมูลสหประชาชาติ พบว่าในช่วงปี 2020-2030 ประชากรวัยแรงงาน (15-64 ปี) จะลดลงเฉลี่ยปีละ 3 แสนคน และปี 2030-2050 จะลดลงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.5 แสนคนต่อปี

“ในแง่คนวัยทำงาน เหมือนกับประเทศไทยถอยหลังกลับ จากปี 2020 มีแรงงานสูงสุดอยู่กว่า 50 ล้านคน ตอนนี้กำลังลดลงและคาดว่าปี 2030 จะเหลือ 47 ล้านคน และปี 2050 เหลือ 38 ล้านคน”

ทำให้ศักยภาพด้านแรงงานที่สร้างผลผลิต ตอบโจทย์การลงทุนของประเทศลดลง แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่ม productivity แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทดแทนกับการลดลงของประชากรในวัยทำงาน

“นี่คือโจทย์ใหญ่ของประเทศ เห็นได้ว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทยไหลลงไปเรื่อยๆ ซึ่งการพัฒนาที่ดีที่สุดคือ การทำให้ประชาชนมีผลผลิตต่อหัวสูงขึ้น จากการ Up skill/Reskill ทำให้ประชาชนมีการศึกษาที่ดี เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดี คือการทำให้ประชาชนมีโปรดักติวิตี้สูงที่สุด”

ดร.ศุภวุฒิให้มุมมองว่า เมื่อเรามีประชากรลดลง ก็ต้องทำให้คุณภาพดีขึ้น ฉะนั้น การศึกษาของประชาชนจึงเป็นเรื่องใหญ่มากและเป็นเรื่องหลักที่จะสร้างอนาคตให้กับประเทศ

การปลดล็อกศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาว คือปัญหาขาดแคลน “แรงงาน” ทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในประเทศทั้งเรื่องพลังงาน รวมถึงทรัพยากรน้ำ เพราะเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลต้องมีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ จะได้รู้ว่าจะขับเคลื่อนประเทศโดยใช้นโยบายอะไร

 

สําหรับประด็นปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้นก็คือ การขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ซึ่งก็มีข้อถกเถียงกันเรื่อง “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” 2.5% ปัจจุบันสูงเกินไปหรือไม่ในการที่จะเกื้อกูลให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ในขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่องกันมา 5 เดือน

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ลดลง 0.77% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และคาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคม 2567 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยคาดว่าในช่วงเดือนพฤษภาคมเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวก เป็นผลมาจากการสิ้นสุดมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน

ทำให้เกิดประเด็นคำถามว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่

คำถามนี้ ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า แบงก์ชาติยืนยันว่าไม่ใช่เงินฝืด แต่ให้ระวัง คือเห็นเงินเฟ้อติดลบมา 5 เดือนก็หนาวแล้ว คือถ้าเงินฝืดแล้วมันกลับยาก

“เห็นได้ว่าญี่ปุ่นเงินฝืดมา 20 ปีแล้ว มูลค่า GDP เป็นดอลลาร์สหรัฐไม่เพิ่มขึ้นเลย เสียโอกาสทางเศรษฐกิจมา 20 ปี แบงก์ชาติญี่ปุ่นจดจ่ออยากให้เงินเฟ้อสูงขึ้นทุกเดือน ทั้งพิมพ์เงินออกมาทั้งลดดอกเบี้ย แต่เงินเฟ้อก็ไม่ขึ้น แต่ญี่ปุ่นโชคดีตรงที่ประชาชนรวย ไม่ได้เป็นหนี้”

ดร.ศุภวุฒิย้ำว่า สำหรับประเทศไทย ถ้าเงินเฟ้อยังติดลบหรืออยู่ที่ 0% ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันก็จะสูงเกินไปที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจโต

ส่วนถ้าแบงก์ชาติกลัวว่าลดดอกเบี้ยจะทำให้ก่อหนี้เพิ่ม และทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น แบงก์ชาติก็ควรทำนโยบายเกี่ยวกับการปล่อยกู้ คือไม่ปล่อยกู้ให้กับคนมีหนี้มากเกินไป ประเด็นคืออย่าให้ดอกเบี้ยมีปัญหาทำให้จีดีพีโตช้า อย่าให้มีปัญหาเกิดภาวะเงินฝืด

อีกประเด็นคือ “ดอกเบี้ยสูง” จะทำให้ลูกหนี้พังเร็ว ถ้าอยากทำให้คนไม่เป็นหนี้ต้องทำให้เศรษฐกิจโต ทำให้คนมีงานทำและเงินเดือนเพิ่มขึ้น อย่าใช้นโยบายอะไรที่กีดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะคือการโตของรายได้ประชาชน และที่น่ากลัวคือภาวะเงินฝืด หรือกรณีเงินเฟ้อติดลบ จะทำให้คนที่เป็นหนี้มูลค่าจริงของหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่เงินเดือนไม่ขึ้น

“ฉะนั้น ควรระวังอย่าให้เข้าสู่ภาวะเงินฝืดเด็ดขาดในยุคที่มีหนี้เยอะ ต้องพยายามให้มีเงินเฟ้อนิดหน่อย จะได้ไม่เป็นภาระของลูกหนี้”

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2567 ดูจากตัวเลขฐานปีก่อน แบงก์ชาติจะยืนนโยบายการเงินแบบนี้ ยังมีข้อมาสนับสนุนแนวคิด “ไม่ลดดอกเบี้ย” ได้ แต่ถ้าถึงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2567 แล้วเงินเฟ้อยังติดลบอยู่ นึกไม่ออกว่าแบงก์ชาติจะอธิบายยังไง และปัญหาคือถึงตรงนั้นสงสัยตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ก็จะยังไม่ดี และถ้าลดดอกเบี้ยตอนนี้กว่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจก็ต้องรอไปอีก 12-18 เดือน

คือพูดง่ายๆ ปีนี้เศรษฐกิจก็จะไม่ดีไปเลย

แต่หลายคนก็มองว่าเศรษฐกิจครึ่งหลังจะดีขึ้น เงินเฟ้อจะขยับขึ้นมาได้ จากที่การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ที่จะออกมาได้ในช่วงไตรมาส 2-3 รวมทั้งการเร่งงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ออกมาในไตรมาส 4 จะเป็นตัวขับเคลื่อน

 

ว่าที่ประธานสภาพัฒน์สรุปว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังมีแนวโน้มลดลง เพราะเศรษฐกิจไทยเผชิญทั้งปัญหา “โตต่ำกว่าศักยภาพ” เพราะมีตัวบ่งชี้เพราะ GDP ก็โตแค่ 2% จากตอนแรกที่คิดว่าจะโตได้ 3% เงินเฟ้อเป้าหมายจะโต 2% ก็ติดลบ

ขณะที่ “ศักยภาพเศรษฐกิจไทยก็ต่ำลง” คือจากแต่ก่อนศักยภาพประเทศไทยอยู่ที่การเติบโต 4-5% ก็ทรุดลงไปเรื่อยๆ เรียกว่ามีทั้ง 2 ปัญหา

“สถานการณ์แบบนี้ที่มีคนถามว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต ต้องบอกว่า เศรษฐกิจไทยเวลานี้ ก็เหมือนว่าเราอยู่บนเรือไททานิกที่ใกล้จะชนน้ำแข็ง แน่นอนถ้าชนน้ำแข็งก็อาจวิกฤตได้ ยังไม่ชนน้ำแข็งก็ยังไม่วิกฤต แต่ถามจริงๆ ใครที่รู้แบบนี้แล้วไปอยู่บนเรือไททานิกจะไม่ทำอะไรเลยเหรอ”

“เหมือนกฎหมายบอกว่าต้องชนน้ำแข็งก่อนถึงจะใช้มาตรการฉุกเฉินได้ คือกฎหมายเขียนไว้แบบนั้น”