เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) เจ้าเมืองพระตะบอง ต้นตระกูลอภัยวงศ์

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

โดยทั่วไปแล้วข้อมูลของไทยมักจะระบุว่า “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน, เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.2352)” ผู้เป็นต้นตระกูลของสกุล “อภัยวงศ์” นั้น เป็นแม่ทัพคนหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าตากสิน โดยในรัชสมัยนั้นยังมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยายมราช ดังนั้น จึงทำให้ใครหลายคนเข้าใจไปว่า ท่านเป็นคนไทยนะครับ

อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนเรื่อง “พระยาอภัยภูเบศร ตระกูลแขมร์แท้ที่ถือครองพระตะบองร่วม 110 ปี ในนามรัฐไทย” ของคุณอภิญญา ตะวันออก ที่เขียนลงในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 23 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม พ.ศ.2561 ได้อ้างว่า ในพงศาวดารเก่าของกัมพูชานั้นระบุว่า พระยายมราช (แบน) คนนี้เดิมเป็นขุนนางชาวเมืองตาแก้ว ในประเทศกัมพูชา ดังนั้น หากพงศาวดารกัมพูชาไม่โกหก (ซึ่งก็ไม่เห็นว่าจะมีเหตุผลอะไรให้ต้องโกหก) ท่านก็ไม่น่าจะใช่คนไทยแน่

พงศาวดารกัมพูชายังระบุต่อไปว่า แต่เดิมพระยายมราช (แบน) มีตำแหน่งเป็น ออกญาวงศา (ออกญา ของเขมรมีตำแหน่งเทียบเท่ากับ พระยา ของไทย) ต่อมาเมื่อสมเด็จพระรามราชา (นักองค์โนน) กษัตริย์เมืองอุดงมีชัย (บันทายเพชร) แห่งกัมพูชา (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2318-2322) ได้เลื่อนยศออกญาวงศา ขึ้นเป็นพระยายมราช (ดังนั้น ตำแหน่งพระยา/ออกญายมราชของท่าน จึงได้รับมาจากราชสำนักของกัมพูชา ไม่ใช่ได้มาจากกรุงธนบุรี) แล้วให้ยกทัพไปทำการปราบปรามเจ้าฟ้าทลหะ (มู) ที่กำลังก่อการกบฏ

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า พวกของเจ้าฟ้าทลหะ (มู) เป็นฝ่ายที่ได้รับชัยชนะ สมเด็จพระรามราชาถูกสังหาร ฝ่ายกบฏจึงถวายคืนราชสมบัติให้แก่นักองค์เอง เจ้าชายน้อยผู้เป็นโอรสของสมเด็จพระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน, ครองราชย์ พ.ศ.2301-2318) กษัตริย์พระองค์ก่อนหน้านี้ แล้วให้เจ้าฟ้าทลหะขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการ

ส่วนออกญายมราช (แบน) นั้น ถูกส่งไปรับราชการที่เมืองกำปงสวาย

 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ซึ่งชำระขึ้นโดยผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยอย่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ระบุว่า หลังจากนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้ทรงส่งท้องตราไปยังเจ้าฟ้าทลหะ (มู) ให้ส่งตัวออกญายมราชมารับราชทัณฑ์ด้วยโทษฐานที่ไม่ปกป้อง ห้ามปราม และปล่อยให้สมเด็จพระรามราชา รวมถึงเชื้อพระวงศ์ทั้งหมดถูกสังหารสิ้น (แน่นอนว่า สมเด็จพระรามราชนั้นย่อมมีสัมพันธ์อันดีกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน ในขณะที่กษัตริย์องค์ก่อนหน้านี้คือ สมเด็จพระนารายณ์ราชา กับเจ้าฟ้าทลหะ [มู] นั้นมีสัมพันธ์อันดีกับพวกญวน)

โดยข้อมูลของทางฝ่ายกัมพูชานั้นระบุว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ลงโทษออกญายมราชคนนี้ด้วยการเฆี่ยนด้วยหวาย 100 ครั้ง แล้วตัดบางส่วนของหูทั้งสองข้างออก จากนั้นก็จับคุมขังเอาไว้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 เล่มเดิมว่า ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินลงโทษออกญายมราช (แบน) นั้น ก็ด้วยทรงสังเกตเห็นว่า ทั้งที่ออกญายมราชนั้นแสดงออกว่า ฝักใฝ่อยู่ข้างเดียวกับสมเด็จพระรามราชา แต่กลับไม่เป็นอันตรายเช่นเดียวกับพรรคพวกของสมเด็จพระรามราชาคนอื่นๆ ดังนั้น จึงเป็นไปว่า ออกญายมราชจะมีส่วนรู้เห็นอยู่กับฝ่ายกบฏอยู่ลับๆ จึงต้องทรงเรียกตัวมาลงราชทัณฑ์

ส่วนสาเหตุที่สมเด็จพระเจ้าตากสินสามารถเรียกเอาตัวข้าราชบริพารในราชสำนักกัมพูชามาได้นั้น ก็เป็นเพราะว่าพระองค์เคยรบชนะกัมพูชามาก่อน จึงทำให้มีอำนาจและบารมีในราชสำนักกัมพูชาในขณะนั้นมาก ถึงขนาดที่เคยทำให้สมเด็จพระนารายณ์ราชายอมสละราชสมบัติ แล้วให้สมเด็จพระรามราชา ผู้ที่พระองค์สนับสนุนขึ้นครองราชย์แทนมาแล้ว ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินต้องนำออกญายมราชมาลงโทษด้วยนั่นเอง

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม) เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย

เมื่อ พ.ศ.2325 ในช่วงขณะที่ออกญายมราช (แบน) ถูกคุมขังอยู่นั่นเอง สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระราชโองการให้ยกทัพไปขจัดอิทธิพลของราชสำนักญวนในราชสำนักกัมพูชา โดยมีเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) เป็นหนึ่งในแม่ทัพคนสำคัญที่ร่วมทัพไปด้วย

เจ้าพระยาจักรีจึงได้ทูลขอให้ออกญายมราชร่วมทัพไปด้วย ด้วยเหตุผลที่ว่า ออกญายมราชนั้นรู้จักทั้งผู้คนและสภาพภูมิประเทศในกัมพูชาเป็นอย่างดี จึงต้องการตัวให้ไปช่วยราชการสงคราม ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินก็ทรงอนุญาต

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักประวัติศาสตร์ระดับไอคอนของไทยผู้ล่วงลับอย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในตำราเล่มคลาสสิคของท่านที่ชื่อ “การเมืองไทย สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” (จัดพิมพ์โดยศิลปวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ.2529) เอาไว้ว่า

“ใน พ.ศ.2321 เมื่อครั้งที่เจ้าพระยาจักรีได้นำทัพไปตีเมืองเวียงจันท์นั้นได้มาขอไพร่พลกับเสบียงอาหารจากสมเด็จพระรามราชาที่บันทายเพชร ครั้งนั้นพระรามราชาก็ได้เกณฑ์กองทัพเขมรจำนวน 10,000 ไปช่วย เพราะฉะนั้น เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ก็คงมีความคุ้นเคยกับนายทัพเขมรมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ครั้งที่ตีเวียงจันท์แล้ว

นอกจากนี้ เจ้าพระยาจักรีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระยายมราชนั้นได้เป็นผู้ช่วยจัดราชการในเมืองเขมรหลังจากที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตีเมืองเขมรได้แล้วอิทธิพลโดยส่วนตัวของเจ้าพระยาจักรีในหมู่พระยาพระเขมรจึงมีอยู่ไม่น้อย

การได้พระยายมราช (แบน) มาในกองทัพอีกก็จะช่วยให้กำลังคนของเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์มีมากกว่ากำลังพลของเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ (นามเดิม จุ้ย พระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าตากสิน ผู้ซึ่งควรจะเป็นแม่ทัพใหญ่ตัวจริงในการเดินทัพไปกัมพูชา เมื่อ พ.ศ.2325-ผู้เขียน) อย่างมาก เพราะได้กำลังเขมร-ญวนมาสมทบ และจึงทำให้สามารถกันกำลังทัพของเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์มิให้เข้าไปขัดขวางการรัฐประหารที่เมืองธนบุรีไว้ได้” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ แต่จัดย่อหน้าใหม่เพื่อให้อ่านได้ง่ายดายมากขึ้นโดยผู้เขียน)

จากข้อวินิจฉัยข้างต้นของ อ.นิธิ เราอาจเห็นได้ถึงบทบาท และเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าพระยาจักรี ผู้ซึ่งต่อมาจะเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กับออกญายมราช (แบน) ผู้นี้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงปมในจิตใจจากการต้องราชทัณฑ์จากสมเด็จพระเจ้าตากสิน ก็ยิ่งทำให้เห็นถึงสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์กำลังจะผลัดราชวงศ์ อันเป็นช่วงเวลาที่ต่อเนื่อง และคาบเกี่ยวอย่างมีนัยยะสำคัญอยู่กับการเดินทัพไปยังกัมพูชาครั้งนี้เอง

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรหรอกนะครับ ที่เมื่อล่วงเข้าสู่รัชสมัยในแผ่นดินของรัชกาลที่ 1 แล้ว พระองค์จะทรงเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้ออกญายมราช (แบน) เป็น “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร” โดยให้ไปปกครองเมืองสำคัญอย่างพระตะบอง

แต่ก็ไม่ใช่ว่า เมื่อรัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ออกญายมราช (แบน) จะได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าเมืองพระตะบองในทันที เพราะมีหลักฐานระบุว่า ในปี พ.ศ.2325 นั้นเอง ออกญายมราชคนเดียวกันนี้ (ซึ่งคงจะไม่ได้ร่วมทัพกลับไปที่กรุงธนบุรี) ได้ร่วมกับออกญากลาโหม (สู) สังหารเจ้าฟ้าทลหะทิ้งที่เมืองอุดงมีชัย แต่จากนั้นไม่นานทั้งคู่ก็แตกคอกัน จนทำให้เกิดออกญากลาโหม (สู) ต้องสิ้นชีวิตลง แล้วออกญายมราชจึงได้ตั้งตนเป็น “เจ้าฟ้าทลหะ (แบน)”

พ.ศ.2326 หรือเพียงหนึ่งปีหลังจากนั้น ออกญามหาเทพ เจ้าเมืองตะโบงฆนุม ได้นำทัพชาวจามเข้ามาตีเมือง ทำให้เจ้าฟ้าทลหะ (แบน) ต้องนำนักองค์เอง ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 10 ชันษา ลี้ภัยเข้ามาที่กรุงเทพฯ

รัชกาลที่ 1 โปรดรับเจ้าชายน้อยองค์นี้ไว้เป็นราชบุตรบุญธรรม พร้อมทรงสั่งให้สร้างตำหนักให้ที่ ต.คอกกระบือ โดยต่อไปด้วยแรงสนับสนุนของพระองค์ เจ้าชายองค์นี้จะขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2337-2339) เราจึงจะเห็นได้ถึงความสำคัญของเจ้าชายเขมรที่เจ้าฟ้าทลหะ (แบน) พามาสู่ราชสำนักสยามพระองค์นี้

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกอะไรอีกเหมือนกัน ที่ในคราวที่นำนักองค์เองเข้ามาที่กรุงเทพฯ รัชกาลที่ 1 จะพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เจ้าฟ้าทลหะเป็น “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร” โดยมีพระราชทินนามเต็มว่า “เจ้าพระยาอภัยธิเบศร วิเศษสงคราม รามนรินทร์ อภัยไพรี บวรกรมพาหุ” (ชาวเขมรเรียกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ว่า เจ้าพระยาอภัยภิเบศร) โดยแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองพระตะบอง

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) จึงได้กลายเป็นเจ้าเมืองพระตะบอง ภายใต้อำนาจรัฐสยามคนแรก โดยตำแหน่งดังกล่าวได้สืบทอดกันในสายตระกูลอภัยวงศ์กันมาอีกร้อยกว่าปี ก่อนที่จะสิ้นสุดลงหลังข้อตกลงในการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนใครที่สนใจอยากร่วมทริปไปตามรอยตระกูลอภัยวงศ์ ที่เมืองพระตะบองกับมติชนเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ตามช่องทางในภาพประกอบได้เลยครับ •