กว่าจะรู้ก็ร่วง | คำ ผกา

“เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 67 นพ.เหวง ได้เข้ายื่นหนังสือ ทวงคืนสัญญารื้อฟื้นคดีที่ถูกแช่แข็งตั้งแต่ปี 2553 กับทางพรรคเพื่อไทย โดยมี นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้รับหนังสือ แต่ไม่มีความคืบหน้า

“ไม่มีความคืบหน้าเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดหวังมาก เพราะเรื่องใหญ่ๆ อย่างนี้มันควรจะมีท่าทีทางการเมืองออกมาอย่างชัด ไม่รับก็บอกมาเลยว่าไม่เอา เป็นเรื่องที่ 14 ปีแล้วจะมาทวงความยุติธรรมอะไรอีก ถ้ารับก็บอกมาตรงๆ เลย พรรคเพื่อไทยจะให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง เพื่อทวงความยุติธรรมให้ถึงที่สุด…” นพ.เหวง ตั้งคำถามทำไมรัฐบาลไม่กล้าทำ หลังไปยื่นหนังสือเรียกร้องเช่นนี้กับพรรคเพื่อไทย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา”

 

ฉันคิดว่าคุณหมอเหวงในฐานะภาคประชาสังคม และในฐานะแกนนำคนเสื้อแดงที่ต่อสู้กับอำนาจมืดของคณะรัฐประหารมายาวนาน ชีวิตต้องติกคุกติดตะรางไปหลายครั้งท่านย่อมมีความชอบธรรมที่จะติดตามทวงคืนความเป็นธรรมให้กับคนเสื้อแดงที่บาดเจ็บล้มตายจากมาตรการปราบม็อบของเจ้าหน้าที่รัฐ

และยิ่งพอเรามีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งแล้วก็ยิ่งต้องเร่งทวงรื้อฟื้อแสวงความยุติธรรมคืนให้คนเสื้อแดง

ในอีกด้านหนึ่งฉันคิดว่าบางทีเราก็อาจจะหลงลืมประวัติศาสตร์ “ระยะใกล้” ณ วันนี้ที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลพร้อมรอย “ตำหนิ” ว่าไปรวมอยู่กับพรรคการเมืองที่เคยเป็นนั่งร้านให้กับรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้พรรคเพื่อไทยอยู่ในสถานะที่ถูกวางในตำแหน่งคนทรยศ ถูกวางไว้ในตำแหน่งที่ไปกราบเพื่อเอาตัวรอด

เลวร้ายกว่านั้นแม้แต่คนที่เคยสนับสนุนรัฐประหาร สนับสนุนการฆ่าเสื้อแดง แล้วหันมาฟอกตัวใน “น้ำส้ม” ก็ฉวยโอกาสนี้ขี่วาทกรรมตระบัดสัตย์ข้ามขั้ว เพื่อไทยเป็นประชาธิปไตยจอมปลอม ทรยศหลงลืมคนเสื้อแดง

หรือเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์การเมืองปี 2549 ก็คิดว่าในประเทศไทยมีจิตร ภูมิศักดิ์ แล้วก็มามีพรรคก้าวไกลเลยที่สู้ที่สุด เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ที่เหลือเป็นเศษซากปรสิต

ฉันเลยคิดว่าน่าจะมีการทบทวนกันสักนิดว่าพรรคเพื่อไทยได้ทำอะไรมาบ้าง ไม่ใช่เพื่อลำเลิก แต่เพื่อไม่ให้ “วาทกรรม” ทำงานอย่างลอยนวลจนข้อเท็จจริงบางชุดถูกหลงลืมไป

 

ในวันนี้มีใครจำได้บ้างว่ารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากชนะการเลือกตั้งในปี 2554 สิ่งแรกที่รัฐบาลนี้ทำ และได้อนุมัติไปเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 คืออะไร

ครม.ยิ่งลักษณ์อนุมัติให้ใช้งบฯ กลาง 111 ล้านบาทไปประกันตัวนักโทษคดีการเมืองทั้งหมด 96 ราย ใช้เงินไปทั้งสิ้น 82,155,000 บาท โดยให้ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยใช้ตำแหน่งของตนเองไปประกันตัวด้วย 1

สำหรับนักโทษคดีการเมืองที่ไม่ได้รับการประกันตัว ครม.ยิ่งลักษณ์ ให้จัดสถานที่คุมขังสำหรับนักโทษการเมือง โดยไม่ต้องอยู่ในเรือนจำรวมกับนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ โดยจัดให้เป็นเหมือนสถานที่ “ควบคุมตัว” ในระหว่างการสู้คดี

และที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของไทยเลยคือการใช้งบฯ กว่า 1.9 พันล้านบาท จ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง

รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์จ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2548-2553 การจ่ายเงินล็อตแรก มีทั้งหมด 522 ราย ประกอบด้วยกรณีเสียชีวิต 44 ราย และผู้ทุพพลภาพ 6 ราย ได้รับการชดเชยเป็นมูลค่า 7.75 ล้านบาทต่อราย แบ่งเป็นเช็คเงินสด 3 ล้านบาท ค่าทำศพ 250,000 บาท และสลากออมสินอีก 4.5 ล้านบาท ยกเว้นผู้เสียชีวิตชาวต่างชาติซึ่งญาติได้รับเช็คเงินสดเต็มจำนวน 7.75 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีผู้บาดเจ็บสาหัส 58 ราย ผู้บาดเจ็บ 177 ราย ผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 239 ราย รวมเป็นเงินที่จ่ายเยียวยาล็อตแรกทั้งสิ้น 577,663,079 บาท โดยผู้ได้รับเงินเยียวยาได้รับเป็นเช็คเงินสดจำนวนหนึ่งตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และสั่งจ่ายจำนวนเงินที่เหลือในรูปแบบสลากออมสิน

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เปิดรับลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา ระหว่างวันที่ 8 มีนาคม-12 เมษายน 2555 มีผู้ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาทั้งสิ้น 5,885 ราย และมีผู้ผ่านการตรวจสอบรับเงินเยียวยางวดแรก จำนวน 522 ราย 2

และจากเรื่องนี้ก็ทำให้ถูกยื่นฟ้อง ป.ป.ช. ข้อหา “ถูกกล่าวหาว่า จ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2548-2553 โดยไม่มีอำนาจและไม่มีกฎหมายรองรับ เพื่อช่วยเหลือพวกพ้องของตน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 66 และตามประมวลกฎหมายอาญา”

และเพิ่งถูกตีตกไปในปี 2565 นี้เอง

 

ยํ้าอีกครั้งว่านี่ไม่ใช่การลำเลิก และย้ำอีกครั้งว่าเงินเท่าไหร่ก็ไม่สามารถเอาชีวิตของคนที่ตายไปแล้วจากน้ำมืออำมหิตของรัฐให้ฟื้นกลับมาได้

ย้ำอีกครั้งว่าเงินเท่าไหร่ก็ไม่อาจเยียวยาบาดแผลทางใจของคนที่ต้องสุญเสียคนที่รักไปในการปราบปรามผู้ชุมนุมทางการเมือง

แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้เงินจะกอบกู้อะไรออกมาไม่ได้ แต่มาตรการเยียวยาชดใช้ด้วยเงินเป็นการแสดงความรับผิดชอบอย่างหนึ่งที่รัฐสามารถมีให้กับประชาชนได้

เพราะหากเบื้องต้นไม่ชดใช้ด้วยเงินแล้วรอกระบวนการ “คืนความเป็นธรรม” ทำงาน ก็ไม่รู้ว่าต้องรออีกกี่ปีกี่เดือนกี่วัน ระหว่างที่รอให้กระบวนการยุติธรรมทำงาน หากรัฐจะเอา “เงิน” ออกมาเยียวยาก่อน เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐบาล “รับรู้, ตระหนัก, พยายาม” ตอบสนองต่อความสูญเสียนี้

มิพักต้องย้ำว่าอันเป็นการกระทำที่ไม่มีรัฐบาลไหนของไทยเคยทำมาก่อนในลักษณาการของ solidarity ที่มีร่วมกัน

ไม่ใช่ในลักษณาการของการเองเงินฟาดหัวให้จบๆ ไป เพราะพรรคเพื่อไทย นักการเมืองพรรคเพื่อไทยก็คือหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเช่นกัน

และมิพักจะต้องบอกว่าผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารคนแรกอย่างอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ยังอยู่ในห้วงวิบากรรมลี้ภัยอยู่ต่างประเทศด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้น จะบอกว่าในประวัติศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย ไม่เคยต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชนผู้รักประชาธิปไตยต่อต้านรัฐประหารก็ต้องบอกว่าเรื่องนี้ไม่จริง

จะบอกว่าพรรคเพื่อไทย เมื่อเข้าสู่อำนาจแล้วไม่พยายามผลักดันมาตรการเพื่อดูแลผู้ล้มตาย บาดเจ็บ ติดคุก ก็ต้องบอกว่าไม่จริง

หลายต่อหลายคนอาจจะบอกว่าเขาควรสู้มากกว่านี้ ซึ่งก็พูดได้ แต่การพูดว่าเขาไม่สู้และไม่ทำอะไรเลย อันนี้ไม่จริง บิดเบือนและโกหก

 

ถามต่อไปว่า สถานะของพรรคเพื่อไทยตอนนี้สามารถทำอะไรได้?

คนที่เคยออกไปร่วมเป่านกหวีดกับ กปปส. ควรจะต้องออกมาขอโทษตัวเอง ขอโทษคุณยิ่งลักษณ์ และขอโทษคนที่สนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หากในวันนั้น ไม่มีม็อบนกหวีด ไม่มีการล้มเลือกตั้งปี 2557 และไม่มีการกวักมือเรียกการรัฐประหาร ไม่มีมวลชนบ้าคลั่ง เสียสติ เกลียดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งขนาดนั้น และคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ และออกจากการเป็นนายกฯ โดยวิถีทางของการเลือกตั้ง วิถีทางของรัฐสภา

ลองจินตนาการดูว่า ป่านนี้ 10 ปีผ่านไป กระบวนการยุติธรรม กระบวนการคืนความเป็นธรรมของเราจะคืบหน้าไปขนาดไหน

ป่านนี้การลงนาม ICC การฟ้องร้องเอาผิดคนฆ่าประชาชน ก็อาจจะจะคืบหน้าไปทีละเล็กทีละน้อย ในขณะการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองก็จะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 ไม่ต้องรอมาจนถึงวันนี้

ตัวฉันเองยังเสียใจที่ตอนนั้นคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งไปกับเขา

คิดแต่ว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะรอด กว่าจะฉลาดก็สายไปเสียแล้ว จะมีหรือไม่มี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สองคนนั้นก็รอด แต่ที่ไม่รอด คือคนเสื้อแดงยากจนที่ติดคุกคดีตั้งแต่คดีเล็กๆ ไปจนถึงเผาศาลากลาง

วันนี้พรรคเพื่อไทยจะทำอะไรได้ ท่ามกลางซากปรักหักพังทางเศรษฐกิจ การเมืองที่ต้องร่วมกันซ่อมสร้างขึ้นมาก่อน ความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองถูกทำลายไปสิ้น

และเมื่อไม่ได้ชนะแลนด์สไลด์ ตั้งรัฐบาลผสม ชนกับตอในระบบราชการที่สมัย regime รัฐประหารทิ้งมรดกเอาไว้ให้

ตัวพรรคเพื่อไทยเองก็ง่อยเปลี้ยเสียขา การต่อสู้เพื่อคืนความยุติธรรมของคดีการเมืองที่ผ่านไปเกือบยี่สิบปี จึงไม่อาจเป็นจุดแข็งของพรรคเพื่อไทย เท่าๆ กับสามารถเป็นจุดแข็งของพรรคก้าวไกลเพราะเป็นฝ่ายค้านจึงไม่จำเป็นต้อง “ทำ” แค่ “พูด” ก็ถือว่าทำสำเร็จแล้ว เพราะเป็นฝ่ายค้าน

สำหรับฉันตราบใดที่รัฐบาลพลเรือนไม่อาจลงหลักปักฐานได้ถึงสามหรือสี่สมัย กระบวนการจัดการกับประวัติศาสตร์บาดแผลไม่มีทางเกิดขึ้นได้

คำถามคือเราพร้อมจะมีขันติธรรมกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอันมาจากการพรรคการเมืองที่เราไม่ชอบหรือแม้แต่เกลียดหรือไม่?

ลองตั้งสติตอบคำถามนี้กับตัวเองดู

 


1 https://www.sanook.com/news/1872230/

2 https://mgronline.com/daily/detail/9550000064582