‘หมออ๋อง’ ดับเครื่องชน! ผมเลือกทำ ในสิ่งที่เราจะไม่กลับมาเสียใจภายหลัง

หมายเหตุ ช่วงต้นเดือนมีนาคม บทบาทของ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” (หมออ๋อง) รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 จากพรรคเป็นธรรม (และอดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล) ปรากฏโดดเด่นในหน้าข่าวการเมือง ผ่านการเดินทางเข้าไปทวงถาม “ร่างกฎหมายการเงิน” หลายฉบับ ที่ค้างอยู่ในกระบวนการพิจารณาของรัฐบาล

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ รายการ “มีเรื่องมาเคลียร์ by ศิโรตม์” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ได้สัมภาษณ์ปดิพัทธ์ในหลายประเด็นที่น่าสนใจ ดังรายละเอียดบางส่วนต่อไปนี้

: เรื่องคดีล้มล้างการปกครองของพรรคก้าวไกล หมออ๋องในฐานะอดีตกรรมการบริหารพรรค ประเมินเรื่องทั้งหมดนี้ว่าอย่างไร?

ถ้าพูดจริงๆ เราไม่มีความจำเป็นต้องกังวลจนเกินไป เพราะหน้าที่ในการแก้กฎหมาย จะทำให้เราผิดกฎหมาย มันเป็นไปไม่ได้ในตัวของมันเอง

ตอนที่เราเสนอแก้กฎหมาย มันก็มีฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายวิชาการ มีเจ้าหน้าที่ (สภา) ช่วยกันดู แล้วมันเป็นแค่การแก้ไขกฎหมายอาญามาตราหนึ่งเท่านั้นเอง ซึ่งเคยเกิดขึ้นหลายครั้งแล้วในอดีต แต่ส่วนใหญ่แก้ให้ (โทษ) หนักขึ้น ผ่านคณะรัฐประหาร

ผมคิดว่าด้วยเจตนารมณ์ของเรา ด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง เราทำตามกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าศาลรัฐธรรมนูญเขียนเติมเข้ามาว่า ห้ามไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็น ห้ามแคมเปญ พูดง่ายๆ ห้ามคิด ห้ามเขียน ห้ามทำ (กิจกรรม) อะไร ฉะนั้น กระบวนการเสนอกฎหมายแบบปกติยังเป็นไปได้

ส่วนเรื่องของก้าวไกลที่เคยเกิดขึ้นในการแสดงออกทางการเมือง ถ้าเราสังเกต ก้าวไกลไม่เคยเสนอเรื่อง 112 โดยที่ไม่เคยถูก (คนอื่น) ถามก่อน

ใน 300 นโยบาย เห็นชัดเจนว่าพรรคไม่ได้บอกว่าทุกอย่างต้องเสร็จใน 4 ปี แต่ถ้าทั้ง 300 นโยบายนี้สำเร็จ ประชาธิปไตยเต็มใบจะเกิดขึ้น สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการปกป้อง และทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเดินต่อไปได้

แต่พอมีคนถาม (เรื่อง 112) ก็ต้องพูด พรรคเราไม่ใช่พรรคที่ถามแล้วไม่รู้ หรือว่าถามแล้วอึ้ง ตั้งแต่หัวหน้าพรรคถึงผู้สมัครพูดตรงกันหมด นี่ถือเป็นความชัดเจนทางนโยบายและเป็นความจริงใจของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้ง

ผมเป็นอดีตกรรมการบริหารก็เต็มใจที่จะให้ความเห็นชอบกับนโยบายในการที่จะลงเลือกตั้งด้วย

พอเราเห็นในความสม่ำเสมอ ในความชัดเจนของเราในการแก้กฎหมาย เราจึงมีเหตุที่จะชี้แจงต่อศาลได้

 

: สิ่งที่จะเกิดขึ้นหนักที่สุดกับหมออ๋องในแง่กฎหมายคืออะไร?

ต้องดูก่อน เพราะตอนนี้ยังไม่เห็นคำร้อง

แต่ถ้าจำเลยสองคนในคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ คือ คุณพิธาและพรรคก้าวไกล ผมก็จะอยู่ในหมวดของพรรคก้าวไกล เพราะเป็นกรรมการบริหารในชุดเดียวกับคุณพิธา

ผมเพิ่งลาออกตอนที่จะเข้ารับตำแหน่งรองประธานสภา

เพราะฉะนั้น ถ้ามีโทษอะไร ก็เป็นโทษแบบเดียวกับที่พรรคโดน

 

: ส่วนเรื่องการลงชื่อแก้ไข ม.112 ของ 44 ส.ส.ก้าวไกล ในสภาชุดที่แล้ว ถือเป็นอีกกรณีหนึ่งใช่ไหม?

ถ้าเข้าใจไม่ผิด จะมีคนไปยื่นในเรื่องละเมิดจริยธรรมร้ายแรง (อันนั้นคือเสี่ยงที่จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต? – ผู้ดำเนินรายการ)

ถ้าเราใช้กรณีของคุณ (ช่อ) พรรณิการ์ หรือคุณปารีณา ซึ่งก็ไม่เคยมีในอดีตนะครับ เพิ่งมามี “ฟัน” กันช่วงนี้ มาเทียบ

ก็เห็นว่าโทษสูงสุดเป็นแบบนั้น

 

: หมออ๋องประเมินว่าตัวเองเคยมีพฤติกรรมอะไร ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิตหรือไม่?

ตอนนี้ คิดว่ายัง (ไม่มี) เพราะเรื่อง 44 คน (เสนอแก้ไขกฎหมาย) นี่ก็ไม่ง่ายนะครับ ผมคิดว่าอันนี้เป็นการปักธงให้พวกเราหยุด แล้วก็ห้ามไม่ให้เสนอ (ร่างแก้ไข) กฎหมายนี้อีก แล้วนี่เป็นการปักธงทางความเชื่อไม่ใช่ความจริง ประชาชนไม่ควรเชื่อว่าเดี๋ยวก็โดน (ตัดสิทธิ์) กันหมด

ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องติดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใกล้ชิด และติดตามคำร้องของผู้ร้องต่างๆ รวมถึง กกต.ด้วย

การที่จะไปถึงศาลอาญาทุจริตฯ มันมีขั้นตอนที่ค่อนข้างเป็นปกติกว่า เพราะไม่ใช่องค์กรอิสระ มันมีการไต่สวนชัดเจน มีขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม

ผมคิดว่า 44 คนนี้ ตั้งแต่เราเซ็น เราพร้อมรับผิดชอบอยู่แล้ว เราเซ็นกฎหมาย เราไม่ได้จะไปลักทรัพย์หรือฆ่าใคร (เมื่อเห็นว่า) กฎหมายข้อนี้เปลี่ยนแปลงแล้วดีนะ เราก็เซ็น

ถ้าคนจะบอกว่าเราเซ็นแล้วผิด มันมีกระบวนการ (กลั่นกรองกฎหมาย) ปกติอยู่แล้ว เข้าสภาวาระหนึ่ง ถ้าไม่ผ่านก็จบ พอไปวาระสอง วาระสาม ไป ส.ว. ส.ว.ไม่ให้ผ่าน ก็จบ ส.ว.ผ่านแล้ว ยังมีศาลรัฐธรรมนูญอีก

ถ้าเรากังวลว่ากฎหมายที่เราเซ็นจะผิด ผมว่า ส.ส. “แย่” ส.ส.ที่จะสามารถเสนอกฎหมายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศได้ สุดท้าย คนใหญ่ที่สุดในการเสนอกฎหมาย คือ ศาลรัฐธรรมนูญ

 

: หมออ๋องน่าจะเป็นคนเดียวในบรรดาผู้นำของฝ่ายนิติบัญญัติที่พยายามตั้งคำถามว่าบทบาทหรือขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญควรจะมีแค่ไหน ทำไมรองประธานสภาอย่างหมออ๋องกล้าพูดเรื่องเขตอำนาจของสถาบันการเมือง?

พูดอย่างจริงใจที่สุด เราคิดว่าถ้าองค์กรอิสระ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เรียนรู้เรื่องของ “ตุลาการภิวัฒน์” ตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา แล้วยังคิดว่าสภาที่มาจากเสียงเลือกตั้งของประชาชน เป็นสิ่งที่เขา (ศาลรัฐธรรมนูญ) สามารถกำหนดอนาคตได้ ผมคิดว่าเรื่องนี้เราต้องสร้าง “สตอรี่” ใหม่

อำนาจจากการเลือกตั้งมันต้องสถาพร ต้องปักหลักอยู่ และถูกตรวจสอบได้แน่ๆ แต่ไม่สามารถถูกใครมากำหนด ว่าเราทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ เพราะสภามีหน้าที่ของตัวเองอยู่แล้ว เราทำอะไรได้-ไม่ได้ เรารู้

ถ้ามีแรงกดดันอื่นจากอีกสองอำนาจ ก็คือ บริหารและตุลาการ มาบอกว่าคุณต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การอภิปรายที่ลึกซึ้งเลย เป็นการพูดตรงๆ เลยว่า อันนี้ผิดหลักการของการแบ่งอำนาจ

แต่เราเอง (ฝ่ายนิติบัญญัติ) ไม่สามารถเข้าไปในขอบเขตอำนาจของฝ่ายบริหารได้เลย ศาลนี่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเข้าไป ขนาดพูดในสภาเกี่ยวกับศาล ยังต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก

ชัดเจนครับว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 “อำนาจจากการเลือกตั้ง” มีน้อยกว่า “อำนาจจากการแต่งตั้ง” ถ้าเรายังไม่พูดเรื่องนี้ต่อไป เรื่องนี้ก็จะไม่เป็นประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นฉันทามติ

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าไม่พูดไม่ได้ ต้องพูด แต่พูดโดยเคารพคำวินิจฉัย (ศาลรัฐธรรมนูญ) พูดแบบยืนอยู่บนหลักของวิชาการไม่ใช่อารมณ์ แล้วการพูดเรื่องนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่สภาและเพื่อนๆ ส.ส. มีความมั่นใจขึ้น ผมเลยตัดสินใจพูด

 

: คิดว่าทำไม ส.ส.จำนวนมาก ถึงไม่กล้าพูดเรื่องนี้?

ผมคงไม่อาจวิจารณ์ (ส.ส.) ท่านอื่น แต่ละท่านก็คงผ่านประสบการณ์ที่หนักหนามาพอสมควรกับคดีทางการเมือง แล้วคดีทางการเมืองมันสอนให้นักการเมืองหลายคนรู้จักที่จะ “อยู่เป็น” ซึ่งผมไม่โทษเขาเลย เพราะใครผ่านอะไรมาเราก็ไม่ทราบ

ทีนี้ ก้าวไกล-อนาคตใหม่ เป็นพวกต้นทุนต่ำกว่าคนอื่น ก็คือว่า “เราเข้ามาพร้อมแลก” ถ้าตัดสิทธิ์การเมืองผมตลอดชีวิต ผมก็แค่กลับไปทำงานปกติ เผลอๆ เงินเดือนเยอะกว่านี้อีก เพราะฉะนั้น เราทำเรื่องที่เราจะไม่กลับมาเสียใจทีหลังดีกว่า

ผมไม่ได้เข้ามาเพื่อจะเป็น ส.ส.ให้นานที่สุด แต่ผมเข้ามาเพื่อผลักดันวาระที่สำคัญของประเทศ

ฉะนั้น เทียบกันแล้ว “การทำในสิ่งที่เราตั้งใจ” กับ “การประคองตัวให้อยู่ไปจนจบ” ผมเลือกอันแรกดีกว่า