ธนาคารไทยแห่งภูมิภาค

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ว่าด้วยกระแสคลื่นใหม่ ธนาคารพาณิชย์ไทย กับความพยายามขยายเครือข่ายระดับภูมิภาค

กรณีล่าสุด เกี่ยวกับบริษัท เอสซีบี จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX (ชื่อย่อในตลาดหุ้น-SCB)

“ขอแจ้งให้ทราบว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ได้ลงนามในสัญญาซื้อขาย กับ Home Credit N.V. เพื่อเข้าซื้อส่วนของทุน ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของ Home Credit Vietnam Finance Company Limited ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 20,973 พันล้านดอง (หรือเทียบเท่าประมาณ 31,000 ล้านบาท)…”

นั่นคือสาระสำคัญในถ้อยแถลงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งได้รับความสนใจไปทั่ว

ทั้งนี้ ตามกระบวนการแล้วต้องใช้เวลาพอสมควร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในครึ่งปีแรกของปี 2568

นอกจากนั้น มีข้อมูลสั้นๆ เกี่ยวกับ Home Credit Vietnam ว่า เป็นหนึ่งในผู้นำในตลาดสินเชื่อผู้บริโภคในประเทศเวียดนาม ก่อตั้งขึ้นในปี 2551

พร้อมทั้งเน้นอีกครั้งว่า “นับเป็นก้าวสำคัญในแผนยุทธศาสตร์ เพื่อมุ่งสู่การเป็นกลุ่มเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำของภูมิภาค”

ว่าไปแล้ว เป็นความต่อเนื่องกับการปรับตัวครั้งใหญ่ใช้เวลานานทีเดียว ตั้งแต่ปี 2561 ด้วยประกาศแผนการอันครึกโครม “กลับหัวตีลังกา” (Going Upside Dow) จากนั้นอีก 3 ปี (กันยายน 2564) จึงจัดตั้ง “ยานแม่” ภายใต้ชื่อ SCBX (เอสซีบี เอกซ์) “เพิ่มความคล่องตัวและขีดความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค…”

ไม่กี่เดือนต่อจากนั้น (1 มีนาคม 2565) มีประกาศการซื้อหลักทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)

กระบวนการนั้นได้สิ้นสุดลง เมื่อบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (ชื่อย่อ SCB เหมือนเดิม) เข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน แทนที่ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเริ่มซื้อขายตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2565

 

อันที่จริง ช่วงก่อนหน้านั้น ว่าด้วยแผนการขยายเครือข่ายภูมิภาค เมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารใหญ่ไทย โดยเฉพาะ ธนาคารกรุงเทพ และ กสิกรไทย แล้ว SCB ดูจะไม่มีความกระตือรือร้นเท่าที่ควร และขณะระหว่างแผนการใหญ่ SCB กำลังดำเนินไปนั้น ธนาคารใหญ่ไทยทั้งสองได้เดินหน้าไปก่อนอีกขั้น

เปิดฉากขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยแผนการใหญ่ใหม่เชิงรุกของธนาคารไทย ขยายเครือข่ายในภูมิภาคโดยการเข้าครอบงำกิจการ (Merger &Acquisition)

“อินโดนีเซียเป็นตลาดสำคัญของธนาคารกรุงเทพมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ซึ่งหลังจากที่ธนาคารตั้งสาขาแห่งแรก ณ กรุงจาการ์ตาในปี 2511 ธนาคารยังคงเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกิจการในตลาดอินโดนีเซียมาอย่างต่อเนื่อง และครั้งล่าสุดในปี 2563 ธนาคารประสบความสำเร็จในการเข้าถือหุ้นธนาคารเพอร์มาตา (Permata Bank)” ดังข้อมูลธนาคารกรุงเทพ ระบุถึงเครือข่ายธนาคารใหญ่เป็นอันดับสองรองจากไทย ด้วยมีมากถึง 237 สาขา

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยเดินแผนตามหลังมา มีดีลใหญ่ผ่านบริษัทลูก “กสิกรวิชั่นไฟแนลเชียล ลงนามซื้อหุ้น 67.50% ในธนาคารแมสเปี้ยน (Bank Maspion)” (ข่าวสารเป็นทางการของธนาคาร-30 พฤษภาคม 2565)

ว่าด้วยมุมกว้างขึ้น แนวทางข้างต้น แม้ดูเป็นเรื่องตื่นเต้นสำหรับธนาคารพาณิชย์ไทย แต่หลายๆ คนเชื่อว่าเป็นภาวะลดทอนแรงเฉื่อยบางระดับ สำหรับธนาคารใหญ่ไทยอันทรงอิทธิพล เคยชินอยู่ภายใต้การปกป้องด้วยเกราะอันแข็งแรงมาช้านาน ขณะธนาคารใหญ่ระดับภูมิภาคอย่างที่เป็นอยู่ เดินแผนเช่นนั้นมาแล้ว ตามแต่ละสถานการณ์ที่เป็นไป อ้างอิงเฉพาะธนาคารที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทยมากเป็นพิเศษก็ได้

นั่นคือธนาคารต่างชาติ เข้ามาปักหลักในสังคมไทยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จนกลายเป็นธนาคารใหญ่ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยไปแล้ว – ธนาคารยูโอบี (ไทย) กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา

 

ตามไทม์ไลน์ UOB เครือข่ายธนาคารใหญ่แห่งสิงคโปร์ ขยายตัวครั้งใหญ่อีกครั้งช่วงคาบเกี่ยว “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ตามแบบแผนซื้อและควบรวมธนาคารในหลายกรณี ทั้งในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และโดยเฉพาะในไทย เข้ามาในจังหวะธนาคารพาณิชย์ไทย เผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ UOB เปิดฉากด้วยการซื้อธนาคารรัตนสิน (2542) ตามมาด้วยธนาคารเอเชีย (2547) ต่อมาได้ควบรวมกัน (2548) เป็น UOB (ไทย)

อีกกรณีเกิดขึ้นในกลางปี 2556 Mitsubishi UFJ Financial Group, Inc. หรือ MUFG “เป็นบริษัทในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ซึ่งเป็นกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก” เข้าถือหุ้นใหญ่ที่สุดในธนาคารกรุงศรีอยุธยา (หรือเรียกย่อว่า ธนาคารกรุงศรี) ถึง 75%

สำหรับ MUFG ถือเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของแผนการขยายเครือข่ายภูมิภาคอาเซียน ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการหลอมรวมระบบเศรษฐกิจอาเซียน เป็นความเคลื่อนไหวอย่างเป็นขบวน เริ่มต้นที่ประเทศเวียดนาม (2555) ได้เข้าถือหุ้น Vietinbank ในสัดส่วน 20% ในช่วงก่อนหน้า ดีลธนาคารกรุงศรีอยุธยาไม่นาน ตามมาที่ประเทศฟิลิปปินส์ (2559) เข้าถือหุ้น 20% ของ Security Bank

ดีลต่อมาที่ประเทศอินโดนีเซีย (2562) MUFG เข้าถือหุ้นในสัดส่วนถึง 94% ใน Bank Danamon

 

หากว่าด้วยขนาดธุรกิจในปัจจุบัน “กรุงศรีเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อันดับ 5 ของประเทศ ด้านสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินฝาก” ข้อมูลทางการของธนาคารเองระบุไว้ (ข้อมูลทั่วไปหรือ Fact Sheet กันยายน 2566) ระบุ ส่วน UOB ในไทย (อ้างอิง UOB Presentation, Bangkok. OCT 2023) ระบุว่าเป็นธนาคารต่างชาติที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในไทย และเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย

ภาพที่ปรากฏชัดในเวลาต่อมา ธนาคารกรุงศรีภายใต้เครือข่าย MUFG แสดงบทบาทอย่างแตกต่างออกไปจากที่เคยเป็น ดูไปแล้วเป็นไปในทิศทางและแนวทางสอดคล้องกับ MUFG เชื่อว่าจะเป็นบทเรียนเทียบเคียง ส่งแรงกระเพื่อมต่อระบบธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมด้วยไม่มากก็น้อย

ธนาคารกรุงศรียุคใหม่ เปิดฉากเป็นกรณีตัวอย่างก่อนใคร (ตุลาคม 2563) เข้าซื้อหุ้น 50% ของ SB Finance, Inc. ซึ่งประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยในประเทศฟิลิปปินส์ จากนั้น (พฤษภาคม 2566) เข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 50% ของ SHBank Finance Company Limited (SHB Finance) ในประเทศเวียดนาม และตามหลังดีลธนาคารกสิกรไทยมาติดๆ ธนาคารกรุงศรีได้เข้าซื้อกิจการ PT. Home Credit Indonesia บริษัทสินเชื่อผู้บริโภคชั้นนำในอินโดนีเซีย (พฤศจิกายน 2565) ดีลนี้มากับฐานลูกค้าในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 6 ล้านราย และมีเครือข่ายสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ (ข้อมูลข้างต้น อ้างอิงข้อมูลจาก Fact File เช่นกัน)

ว่าด้วยดีลข้างต้น เป็นที่รู้ว่าเป็นความร่วมมือทางธุรกิจกับเครือข่ายธุรกิจ BTMU ส่วนหนึ่งได้วางรากฐานไม่ก่อนหน้านั้น “ในฐานะธนาคารแห่งภูมิภาค (Regional Bank) และมีเครือข่ายธุรกิจครอบคลุม 5 ประเทศในอาเซียน สอดคล้องกับกลยุทธ์ตามแผนธุรกิจระยะกลางของกรุงศรี…” ปรากฏในถ้อยแถลงข่าวครั้งหนึ่งของผู้บริหารธนาคารชาวญี่ปุ่น สะท้อนยุทธศาสตร์ใหม่ธนาคารกรุงศรี (ตุลาคม 2566)

ส่วน UOB Group แห่งสิงคโปร์ เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยดีลใหญ่เพิ่งผ่านไป เข้าซื้อเครือข่ายธุรกิจรายย่อยของ Citi Bank (Citi consumer banking business) แล้วเสร็จ (อ้างจาก UOB Group presentation, March 2024) ทั้งในไทยและมาเลเซีย (พฤศจิกายน 2565) รวมทั้งเวียดนาม (มีนาคม 2566) และอินโดนีเซีย (พฤศจิกายน 2566)

จากนี้ไป จะเฝ้ามองความเป็นไปธนาคารไทยใหญ่ ในฐานะ “ธนาคารแห่งภูมิภาค” อย่างไม่ลดละ โดยเฉพาะว่าด้วยความสามารถในการบริหารเครือข่ายนอกประเทศ •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com