วรรณกรรมพานแว่นฟ้า : ‘ของ’ ที่อยู่บนพานยังอยู่อีกหรือ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

วรรณกรรมพานแว่นฟ้า

: ‘ของ’ ที่อยู่บนพานยังอยู่อีกหรือ

 

เมื่อวันศกร์ศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2567 ผมไปร่วมอภิปรายในหัวข้อ “แนวคิดทางการเมืองและสังคมในระบอบประชาธิปไตย…สู่วรรณกรรม” ที่ห้องประชุมสัมมนา B1-2 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เพื่อประกวดงานวรรณกรรมพานแว่นฟ้าที่ดำเนินการมา 2 ทศวรรษแล้ว

เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจแม้ดูเผินๆ จะไม่ใคร่เป็นหน้าที่โดยตรงของสำนักเลขาธิการรัฐสภาก็ตาม

แต่หากขยายความหมายของระบอบประชาธิปไตยอันเป็นหัวใจของการดำรงอยู่ของรัฐสภาแล้ว ก็อนุโลมได้ว่าการส่งเสริมวรรณกรรมแนวการเมืองย่อมยังประโยชน์ต่อการสร้างระบอบประชาธิปไตยได้เหมือนกัน

งานวรรณกรรมพานแว่นฟ้าดำเนินการมานับแต่ปี 2545 ในตอนนั้นประธานรัฐสภาคือนายอุทัย พิมพ์ใจชน ส่วนรองประธานสภาคือ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและส่งเสริมงานวรรณกรรมพานแว่นฟ้าขึ้นมา จนกลายมาเป็นกิจกรรมประจำของสำนักเลขาธิการรัฐสภาไปแล้ว

ผมเคยมีประสบการณ์กับพานแว่นฟ้านิดหน่อย ราวปี 2555 คุณรวี สิริอิสสระนันท์ หรือที่รู้จักกันดีในนามปากกาว่า “วาด ระวี” ได้ติดต่อให้ผมไปช่วยระดมสมองในการยกระดับวรรณกรรมไทยไปสู่อาเซียน

นอกจากผมแล้วที่ผมเจอในห้องประชุมในอาคารรัฐสภาเก่าคือ อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ จากคณะศิลปศาสตร์ ธรรรมศาสตร์ก็มาร่วมการประชุมพูดคุยด้วย ฝ่ายนักเขียนและนักจัดพิมพ์เท่าที่จำได้มี อธิคม และ วชิระ บัวสนธิ์ และอีกหลายท่าน

จากการพูดคุยกันผมจึงสังเกตว่าคนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงและกระตือรือร้นในการขับเคลื่อนวรรณกรรมพานแว่นฟ้าอย่างมากคนหนึ่งคือ “ไม้หนึ่ง ก.กุนที” หรือ “ไผ่” “กวีราษฎร” บรรยากาศของรัฐสภาและการขับเคลื่อนแนวความคิดทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยในตอนนั้น มาจากการที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลและประธานสภาผู้แทนฯก็เป็นของพรรคเพื่อไทย ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงมีบทบาทการเมืองในนั้นค่อนข้างมากและหลากหลายเวที

วรรณกรรมจึงเป็นอีกพื้นที่ที่คนเสื้อแดงมีบทบาทอยู่อย่างแข็งขัน ทว่า หลังจากรัฐประหาร 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พื้นที่รัฐสภาก็เปลี่ยนไปอีกอย่างแทบตรงข้ามกันเลยในทุกมิติ

ความเป็นมาของ “วรรณกรรมการเมือง”

วาด ระวี

เมื่อมองการเกิดวรรณกรรมที่มีลักษณะทางการเมืองในหลายประเทศ ข้อที่ผมเห็นว่าน่าแปลกคือในประเทศและสังคมที่การเปลี่ยนผ่านทางสังคมและการเมืองจากยุคก่อนสมัยใหม่เพื่อจะเข้าสู่ยุคใหม่นั้น หากเป็นสังคมที่ความขัดแย้งในประเทศยอกย้อนและไม่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติและการก่อเกิดคนในชนชั้นใหม่ไม่อาจดำเนินไปได้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ นานา

เช่น ในสังคมนอกตะวันตกซึ่งพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่เช่นระบบทุนนิยมไม่เข้มแข็งและไม่สามารถนำไปสู่การสร้างชนชั้นกระฎุมพีที่เป็นอิสระและมีอำนาจการเมืองของพวกเขาขึ้นมาได้ อำนาจและอิทธิพลยังอยู่ในการครอบครองและผูกขาดโดยชนชั้นเจ้าที่ดิน พัฒนาการของวรรณกรรมที่เป็นตัวแทนของชนชั้นก้าวหน้าจึงไม่อาจเกิดขึ้นมาและพัฒนาต่อไปได้อย่างมีพลัง

ในระยะเปลี่ยนผ่านดังกล่าวทำให้มีโอกาสในการเกิดวรรณกรรมอีกแบบหนึ่งซึ่งไม่ได้เพียงแต่ทำหน้าที่ทางวรรณศิลป์จากภายนอกเท่านั้น หากแต่เข้าร่วมการต่อสู้และร่วมในขบวนการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้นและกระทั่งเข้ามาเป็นปัจจัยในการชี้นำขบวนการด้วย เกิดเป็น “วรรณกรรมการเมือง” ขึ้นมา

ในขณะที่ประเทศที่สามารถเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของตนไปสู่อันใหม่ได้อย่างราบรื่น มีความขัดแย้งแต่จำกัดและยุติในเวลาไม่นานนัก เช่น การปฏิวัติอเมริกา การเกิดวรรณกรรมใหม่ก็จะไม่ค่อยเป็นการเมืองมากนัก

อิตาโล คัลวิโน นักเขียนใหญ่ชาวอิตาลีผู้ล่วงลับไปแล้วเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า

“นี่เป็นข้อขัดแย้งในอำนาจของวรรณกรรม เนื่องจากว่ามันจะแสดงออกถึงพลังอำนาจที่แท้จริงของมัน แสดงถึงพลังในการท้าทายสิทธิอำนาจของผู้ใหญ่ ก็ต่อเมื่อมันถูกกดขี่บีบคั้น แต่ในสังคมเสรีที่ทำอะไรก็ได้อย่างของเรา วรรณกรรมสร้างได้ก็แต่ เพียงการเอาอกเอาใจคนอ่านเป็นครั้งคราว ในขณะที่โดยทั่วไปมันสร้างแต่สิ่งไร้สาระเต็มไปหมด”

ฟิลลิป รอธ นักเขียนอเมริกันเดินทางไปเยี่ยมยุโรปตะวันออกหลายปีก่อนการยุติของสงครามเย็น เขาก็พูดทำนองนี้เช่นกัน

“ความแตกต่างก็คือในเรื่องของเสรีภาพและความแตกต่างในทรรศนะของข้าพเจ้าซึ่งเห็นได้ชัดดังนี้ กล่าวสำหรับตัวข้าพเจ้าเองทุกสิ่งทุกอย่าง (ในการเขียน) ทำได้ทั้งนั้นแต่ไม่มีอะไรสำคัญสักอย่าง (everything goes and nothing matters) ในภาวการณ์ของนักเขียนยุโรปตะวันออก ไม่มีอะไร (ในงานเขียน) ที่ทำได้ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างสำคัญไปหมด” (nothing goes but everything matters)

นี่อาจเอามาอนุโลมใช้กับนักเขียนไทยได้เช่นกัน ภายใต้บรรยากาศและการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นฯ อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู มันได้ทำให้ “อะไรๆ ก็ทำไม่ได้ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำสำคัญไปหมด”

ปรากฏการณ์ของการเกิดวรรณกรรมเพื่อชีวิตในสังคมกึ่งสมัยใหม่ที่มีวัฒนธรรมจารีตและการผลิตแบบทุนนิยมพ่อค้า อันมีนัยถึงการก่อรูปและดำเนินไปของชนชั้นกระฎุมพี ย่อมมีผลต่อการสร้างและเสพย์งานวรรณกรรมด้วย

ความขัดแย้งในลักษณะทางชนชั้นประการหนึ่งของชนชั้นกระฎุมพีหรือนายทุนในประเทศกึ่งสมัยใหม่นั้นได้แก่การมีความคิดและความปรารถนาที่เป็นอิสระเสรีมากขึ้นเรื่อยๆ

ชนชั้นกระฎุมพีสามารถสร้างจินตนาการของชนชั้นตนขึ้นมาได้อย่างงดงามมีศิลปะและมีความหมายทางสังคม ทว่า การสร้างสรรค์ดังกล่าวมีข้อจำกัดทางสังคมและการเมือง

พัฒนาการดังกล่าวไม่อาจเกิดและเติบใหญ่ไปได้หากปริมณฑลทางการเมืองถูกปิดกั้นและอำนาจถูกผูกขาดรวมศูนย์อยู่กับผู้นำจำนวนน้อยที่ไม่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมเลย

ในภาวะทางการเมืองดังกล่าวผลักดันให้นักเขียนและศิลปินจำนวนหนึ่งตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการต่อสู้ทางการเมือง อันถือว่าการสร้างวรรณกรรมก็คือการแสดงออกในเสรีภาพทางความคิด เป็นปฏิบัติทางการเมืองประการหนึ่ง

สภาพแวดล้อมทางการเมืองและโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจดังกล่าวล้วนมีผลต่อการผลักดันให้ปัญญาชนและนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ไปถึงศิลปินผู้มีใจเป็นธรรมและมีความคิดเป็นอิสระ ต้องนำความแหลมคมและสุนทรียภาพของศิลปวรรณกรรมเข้าไปสู่สายธารของการต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

นั่นคือที่มาทางประวัติศาสตร์และการเมืองของการเคลื่อนไหวและพัฒนาการของวรรณกรรมและนักเขียนไทยในช่วงหนึ่ง ที่รู้จักกันในนามของ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต”

อันที่จริงการเกิดขึ้นของการเขียนที่เรียกว่า “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” นั้น ได้เคยเกิดขึ้นมาก่อนยุคสมัยของขบวนการเดือนตุลาคม 2516 แล้ว เช่น กลุ่มสุภาพบุรุษในทศวรรษปี พ.ศ.2470 และกลุ่ม “มหาชน” และ “อักษรสาส์น” ในทศวรรษ 2490 เพียงแต่ว่ามันไม่ได้นำไปสู่การเกิดขึ้นของขบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเหมือนเช่นขบวนการสิบสี่ตุลาและหกตุลา

ในระยะแรกคือทศวรรษปี 2470 ความหมายของวรรณกรรมเพื่อชีวิตเป็นไปอย่างกว้างว่าหมายถึงวรรณกรรมที่ให้ความสำคัญไปที่การเสนอรูปแบบของความจริงทางสังคมที่ไม่ใช่แบบประเพณีและของชนชั้นนำเก่าอีกต่อไป หากแต่กลายเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนความจริงของ “คนใหม่” ในสังคมที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่สังคมที่หยุดนิ่งหรือตั้งอยู่ในความแตกต่างทางฐานันดรอันตายตัวอยู่อีกต่อไป

นิยามความหมายนี้จะเปลี่ยนไปในทศวรรษปี 2490 เมื่อมีการนำเสนอแนวคิดใหม่นี้โดยเรียกอย่างกว้างๆว่า “ศิลปะเพื่อชีวิต” คนที่ประดิษฐ์วลีนี้คืออุดม สีสุวรรณ หรือบรรจง บรรเจิดศิลป์ ในบทความเรื่อง “ดูวรรณคดีจากสังคม ดูสังคมจากวรรณคดี” ในปี 2493 ซึ่งอธิบายว่าที่มาของศิลปะมาจากชีวิต ดังนั้น มันจึงต้องรับใช้ชีวิต ชีวิตก็ต้องเป็นของประชาชนส่วนใหญ่คือกรรมกรและชาวนา อันนำไปสู่คำขวัญที่ว่า “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน”

กล่าวได้ว่าที่มาและทฤษฎีที่รองรับและให้น้ำหนักแก่แนวคิดศิลปะเพื่อชีวิตที่ว่านี้ก็คือทฤษฎีและลัทธิมาร์กซ์ ซึ่งช่วยสร้างโลกทรรศน์ใหม่ให้แก่นักคิดนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก

แนวคิดดังกล่าวนี้จะถูกรื้อฟื้นอีกครั้งและกลายมาเป็นพลังทางความคิดการเมืองของ “คลื่นลูกใหม่” ในขบวนการเคลื่อนไหวและต่อสู้ทางการเมืองของนิสิตนักศึกษาและประชาชนยุคสิบสี่ตุลาที่นำไปสู่การสถาปนาระบบรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์มากขึ้นและได้ก้าวออกไปสู่การเมืองระดับโลกในขณะนั้นด้วยการต่อยอดโลกใบเล็กๆ ของคนไทยไปสู่ความคิดว่าด้วยระบบสังคมนิยมอีกก้าวหนึ่ง

 

ในที่นี้เห็นได้ชัดเจนว่า รูปแบบหลักของวรรณกรรมเพื่อชีวิตได้รับอิทธิพลหรือร่วมอยู่ในกระแสของวรรณกรรมสัจนิยมในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 กล่าวได้ว่ารูปแบบของวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ก็ดำเนินไปเคียงข้างของรูปแบบนานาชาติ (หรือสมัยใหม่) ที่ต่างออกไปได้แก่วัตถุดิบและเนื้อหาอันมีลักษณะที่เป็นของท้องถิ่น

ดังเห็นได้จากนวนิยายเรื่อง “สงครามชีวิต” (2475) ของศรีบูรพาเป็นต้น ที่ได้อิทธิพลด้านเนื้อหาจากเรื่อง Poor Folks ของดอสโตเยฟสกี้ ซึ่งเสนอชีวิตจริงของคนยากจนแบบสัจนิยม กุหลาบจึงนำประสบการณ์ในการเขียนจดหมายกับเพื่อนมาเรียบเรียงเป็นนวนิยายขึ้น

ตรงนี้เองจึงเห็นได้ว่าวิภาษวิธีระหว่างรูปแบบต่างชาติกับวัตถุดิบและประสบการณ์ท้องถิ่นของนักเขียน ได้นำไปสู่การสรรค์สร้างวรรณกรรมใหม่ที่มีรูปแบบของท้องถิ่นเองและก็มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมสยามในยุคนั้นด้วย

ผมออกจากรัฐสภาด้วยความระลึกถึงสองศิลปินที่ได้ร่วมกันคิดทำงานวรรณกรรมใหม่อย่างสั้นๆ ยังไม่ทันเป็นแม้แต่เชิงอรรถ ยิ่งไปกว่านั้นเรื่องที่ไม่อาจคิดว่าจะเกิดก็ได้เกิดขึ้น เมื่อไม้หนึ่ง ก.กุนที ถูกลอบสังหารเสียชีวิตในร้านอาหารที่ลาดปลาเค้าในเมืองหลวงในวันที่ 23 เมษายน 2557 ไม่กี่วันก่อนรัฐประหาร ต่อมารัฐสภาก็ถูกยึดและอำนาจเปลี่ยนมือ วันที่ 14 พฤษภาคม 2565 วาด ระวี ก็เสียชีวิตลง วรรณกรรมก็ถูกปิดโดยการเมืองอย่างสมบูรณ์

“ของ” ที่อยู่บนพานแว่นฟ้า บัดนี้ก็ไม่แน่ใจว่ายังอยู่อีกหรือ