วันดี วันเสีย

วันดี วันเสีย

 

วันฯดี วันฯเสยฯ

วันดี วันเสีย อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า วันดี วันเสีย

ในสมัยก่อนที่ชาวล้านนาจะหันมานับถือพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด ชาวล้านนามีความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ นับถือผี บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ว่าสามารถปกป้องคุ้มครองผู้คนและชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข การประกอบกิจกรรมใดๆ จึงยึดถือในสิ่งที่เป็นสิริมงคล มีความเชื่อเรื่องฤกษ์ ยามเป็นหลัก วันไหนวันดี วันไหนวันเสีย ข้างขึ้น ข้างแรม เดือนใดควรทำกิจกรรม ชาวล้านนาได้ปฏิบัติยึดถือจนเป็นวัฒนธรรม ประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน

ระบบการนับวันของชาวล้านนามี 3 ระบบ คือ

1. นับตามจันทรคติ คือ เริ่มนับข้างขึ้น คือ ขึ้น 1 ค่ำ จนถึงแรม 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ ในแต่ละเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเกี๋ยง ยี่ สาม สี่ ห้า ไปจนถึงเดือน 12 โดยล้านนาจะนับเดือนเร็วกว่าเดือนในภาคกลางไป 2 เดือน เช่น เดือนยี่ (เป็ง) ในล้านนา ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 12 ในภาคกลาง

2. นับตามแบบมอญ หรือที่เรียกว่า “วันเม็ง” คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ บางครั้งใช้ตัวเลขแทน คือ 1-7

3. นับแบบหนไท เรียกว่า “วันไท” (อ่านว่า วันไต) ซึ่งวันหนไท ชาวไทรับมาจากจีนโบราณ เรียกว่า ระบบ “การจือ” ชาวจีนเรียกเป็นต้น กับกิ่ง ที่จับคู่กัน ทางชาวไทเปลี่ยนมาใช้คำว่า “แม่” และ “ลูก” หากนับปี ก็เป็นแม่ปี กับลูกปี หากนับวัน ก็เป็นแม่วัน กับลูกวัน

แม่ปี-แม่วัน ได้แก่ กาบ ดับ รวาย เมือง เปิก กัด กด ร้วง เต่า ก่า

ลูกปี-ลูกวัน ได้แก่ ใจ้ เป้า ยี เหม้า สี ใส้ สง้า เม็ด สัน เร้า เส็ด ใค้

แม่และลูกจับคู่กันได้ 60 วัน-ปี พอดี

เดิอฯร 4 (เหิอฯนฯอ) เสยฯ วันฯสุระฯก์ กับฯฯ วันฯพุธ อ่านว่า เดือน 4 (เหนือ) เสียวันสุก กับวันปุ๊ด แปลว่า เดือน 4 เหนือ (เดือนยี่ ภาคกลาง) วันเสียคือวันศุกร์ กับวันพุธ

เมื่อนำระบบเดือนล้านนา 12 เดือน มาผูกกับวันเม็ง คือวันในสัปดาห์ทั้ง 7 วัน จะเกิดเป็น “วันปรัสทา” หรือวันเสียประจำเดือน คือวันที่ไม่ควรกระทำการมงคลต่างๆ เป็นวันตามความเชื่อที่แพร่หลายและจดจำมากที่สุด นั่นคือ

เกี๋ยง ห้า เก้า : รวิ จันทํ เสียทิตย์กับจันท์ (จันทร์)

ยี่ หก สิบ : องฺคารํ เสียวันอังคาร

สาม เจ็ด สิบเอ็ด : โสรี คุรุ เสียเสาร์กับผัส (พฤหัสบดี)

สี่ แปด สิบสอง : สุโข พุธา เสียศุกร์กับพุธ

ส่วนการนับวันตามระบบหนไท มีการทำนายวันดี วันเสียในวันนั้น เช่น วันกาบใจ้ เป็นวันดี วันมงคล วันดับเป้า วันนี้อย่าเดินทางค้าขาย เป็นต้น และนำไปผูกหรือนำไปผสมกับเดือนล้านนา ก็จะได้เป็นวันเก้ากอง คือวันที่ไม่ควรเผาผี เป็นต้น

ระบบการหาวันดี วันเสีย ในการทำการมงคล เป็นแนวทางในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามวัฒนธรรมประเพณี แต่ว่าศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้ยึดติดในเรื่องฤกษ์ยาม ถ้าตรงกับฤกษ์สะดวกและความพร้อมของเรา ญาติพี่น้อง ผู้เฒ่าผู้แก่ ที่มาร่วมงานไม่ทักท้วง มีความสบายใจกับทุกฝ่าย ก็สามารถกระทำได้ •

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง