นุ่งห่มสมตัว (1)

ญาดา อารัมภีร
ขุนแผนกับนางวันทอง : ภาพจากระบบศูนย์ข้อมูลงานศิลปกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

‘ผ้า’ ในสมัยรัตนโกสินทร์สัมพันธ์กับ ‘ตัวตนผู้ใช้’ เป็นสำคัญ ตัวตนมีทั้งกำเนิด ฐานะ หน้าที่การงานและสถานภาพทางสังคม

“สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน” โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เล่มที่ 15 บันทึกว่า

“พวกชาวบ้านทั่วไปมักจะใช้ผ้าตาบัวปอก ผ้าดอกส้มดอกเทียน ผ้าเล็ดงา ผ้าตามะกล่ำ ผ้าตาสมุก”

ซึ่งสอดคล้องกับ ‘พระราชกำหนด’ ในสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ.2331 ห้ามราษฎรนุ่งห่มทำเทียมเจ้านาย บันทึกไว้ใน “จดหมายเหตุโหรฉบับพระประมูลธนรักษ์” ดังนี้

“จุลศักราช ๑๑๕๐ วอกศก ห้ามราษฎร ขุนนาง มิให้ห่มผ้าสีต่างๆ จี้กุดั่น เกี้ยวกำไล เข็มขัดประจำยาม แหวนลงยา กำไลหลังเจียด กำไลเท้าทอง ลูกปะหล่ำลงยา ผ้าปูมเชิงม่วง นุ่งตามฐานาศักดิ์ ไพร่นุ่งบัวปอกเม็ดงา ดอกส้ม ดอกเทียน ห้ามผ้าลายเป็นขาดทีเดียว”

 

“สารานุกรมสำหรับเยาวชนฯ” เล่มที่ 15 อธิบายถึงผ้าสำหรับไพร่หรือสามัญชนไว้หลายชนิด อาทิ

“ผ้าบัวปอก คือ ผ้าฝ้ายเนื้อหยาบ ชาวบ้านใช้ โดยเฉพาะผู้หญิงใช้เป็นผ้านุ่ง

ผ้าตามะกล่ำ ผ้าตาเล็ดงา ผ้าตาสมุก คือ ผ้าฝ้ายสีคล้ำมีลายเล็กๆ ใช้เป็นผ้านุ่ง

ผ้าตาโถง เป็นผ้าลายตาสี่เหลี่ยมหรือลายตาทแยง ใช้เป็นผ้านุ่งของผู้ชาย คล้ายผ้าโสร่ง”

(ผ้าเล็ดงา – ผ้าเม็ดงา – ผ้าตาเล็ดงา และผ้าตาเล็ดงาด้าย คือ ผ้าชนิดเดียวกัน)

ชื่อของผ้าเหล่านี้ส่วนใหญ่ปรากฏในวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเมื่อกล่าวถึงตัวละครชาวบ้าน หรือตัวละครกษัตริย์ที่ปลอมตัวแต่งตัวเป็นชาวบ้าน นุ่งห่มสอดคล้องกับสภาพที่เป็นอยู่

 

ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ก่อนที่นางแก้วกิริยาจะพบขุนแผนและนางวันทองโดยไม่คาดคิด กวีบรรยายถึงนางว่า

“อาบน้ำทาแป้งแต่งกายา น้ำมันทาลูบผมพอสมตัว

นุ่งตาเล็ดงาห่มผ้าผวย ไม่ชุ่มชวยด้วยระคายเป็นหม้ายผัว”

ผ้านุ่งของนางแก้วกิริยาเป็นผ้าชั้นต่ำราคาถูก ทอด้วยด้ายขาวดำควั่นเป็นเกลียว มีสีเทาๆ ปนลายเม็ดเล็กๆ ในเนื้อผ้า สีสันไม่สดใส นางแต่งตัวสมเป็นชาวบ้านไม่ต่างกับพระไชยเชษฐ์ในบทละครนอกเรื่อง “ไชยเชษฐ์” แม้เป็นกษัตริย์เมื่อต้องปลอมเป็นไพร่หรือคนสามัญก็แต่งตัวสมฐานะ

“คิดพลางเปลื้องเครื่องออกทันใด ให้พี่เลี้ยงซ่อนใส่ย่ามสะพาย

พระจึงจัดแจงแปลงองค์ แกล้งทรงผ้าตาเล็ดงาด้าย”

ไม่ต่างจากท้าวยศวิมลและนางจันท์เทวีที่ตามหาพระสังข์โอรสในบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง”

“สั่งพลางทางเปลื้องเครื่องทรง เอาซ่อนใส่ลงในย่ามใหญ่

นางถอดเครื่องประดับฉับไว ซ่อนใส่ในกระทายมิทันช้า

ภูมีคลี่ผ้าตาโถงนุ่ง คาดพุงเขียวครามงามหนักหนา

โฉมยงทรงนุ่งตาเล็ดงา ห่มผ้าขาวมุ้งรุงรัง”

 

“พจนานุกรมผ้าและเครื่องถักทอ” ของศาสตราจารย์วิบูลย์ ลี้สุวรรณ ราชบัณฑิต ช่วยให้เราทราบว่า ผ้าตาโถงที่ท้าวยศวิมลทรงสวมใส่เป็นผ้าฝ้ายลายตารางรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่นเดียวกับผ้าขาวม้าใช้นุ่งอยู่บ้าน เรียกว่า ‘ผ้าตาโถง’ หรือ ‘ผ้าตะโถง’

ทำนองเดียวกับการแต่งตัวตอนพลายแก้วยกขันหมากไปสู่ขอนางพิมพิลาไลย ตาสน ตาเสา ยายมิ่ง ยายเม้ารับคำไหว้วานจากนางทองประศรีไปสู่ขอลูกสาวนางศรีประจัน

“เฒ่าแก่รับคำแล้วอำลา ไปเคหาแต่งตัวขมีขมัน

นุ่งผ้าตามะกล่ำดูขำครัน ห่มปักไหมมันดูเหมาะตา

ทองประศรีนุ่งผ้าตาบัวปอก ห่มขาวพุดดอกพอสมหน้า”

ทั้งผ้าตามะกล่ำสีคล้ำๆ ของบรรดาเถ้าแก่และผ้าตาบัวปอกของแม่ฝ่ายชายล้วนเป็นผ้าฝ้ายเนื้อหยาบๆ ชาวบ้านใช้ ราคาไม่แพง

ฉบับนี้ ผ้าสามัญธรรมดาๆ

ฉบับหน้า ผ้ามีระดับ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร