คืนเดือนหงายและลำน้ำเจ้าพระยา คือเข็มทิศของนักบินทิ้งระเบิดสัมพันธมิตร

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

คืนเดือนหงายและลำน้ำเจ้าพระยา

คือเข็มทิศของนักบินทิ้งระเบิดสัมพันธมิตร

 

ในช่วงปลายสงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรโหมการโจมตีทางอากาศทั้งพระนคร

และจุดยุทธศาสตร์ทางการทหารต่างๆ อย่างหนักทั้งกลางวันและกลางคืน

ความทรงจำของนักบินทิ้งระเบิด

 

หากเครื่องบินมาโจมตียามกลางคืน “จะเห็นแสงไฟฉายจับเครื่องบินบนท้องฟ้า ได้ยินเสียงระเบิด เสียงปืน ป.ต.อ. ที่ยิงเครื่องบิน เสียงปืนกลที่เครื่องบินยิงกราดลงมา

ถ้าเครื่องบินมากลางวัน นอกจากจะได้เห็นเครื่องบินชัดเจนแล้ว ยังเห็นเครื่องบินปล่อยระเบิดลงมาเป็นสายครั้งละ 7-8 ลูก เมื่อกระทบพื้นดินจะได้ยินเสียงระเบิด

ถ้าเป็นระเบิดเพลิงก็เกิดไฟไหม้ควันพวยพุ่งขึ้นไปบนท้องฟ้าเป็นกลุ่มใหญ่

หากเป็นกลางคืนจะเห็นไฟไหม้จับท้องฟ้าแดงฉาน ถ้าเป็นระเบิดทำลายลงที่ไหนพังที่นั่น เครื่องบินที่กำลังจะทิ้งระเบิดจะบินสูงมาก มองเห็นอยู่ลิบๆ แล้วจิกตัวลงมาจะได้ยินเสียง แช้ด ตามมาด้วยทุกครั้ง นอกจากนั้น จะได้ยินเสียงระเบิด บึ้ม ถี่ๆ ตามจำนวนที่ตกลงมา” (lek-prapai.org/home/view.php?id=191)

สะพานแห่งหนึ่งในไทยถูกโจมตีจากฝ่ายสัมพันธมิตร และใบปลิวฝ่ายสัมพันธมิตรจากฟากฟ้า เครดิตภาพ : NARA

นักบินทิ้งระเบิดอเมริกันคนหนึ่งที่เคยนำเครื่องบินไปทิ้งระเบิดพระนคร เล่าให้คนไทยคนหนึ่งฟังว่า “ฉันนี่แหละไปบอมบ์กรุงเทพฯ ตั้งสองหน เมื่อต้นเดือนมกราคม 2488 เราเอาของขวัญวันเกิดไปให้พวกญี่ปุ่น เราเสียใจมากที่หลีกเลี่ยงการทำให้พลเรือนชาติเดียวกับเธอที่อยู่ใกล้จุดทิ้งระเบิดพ้นอันตรายไม่ได้ เนื่องจากบางครั้ง บอมบ์นั้นตกผิดที่หมายไปบ้าง”

นักบินทิ้งระเบิดเล่าเพิ่มอีกว่า “เขายังจำได้ดีเกี่ยวกับการไปโจมตีครั้งนี้ เรารับประทานอาหารเย็นเสร็จราว 19.00 น. ดื่มกาแฟถ้วยสุดท้ายแล้วก็บินออกจากฐานทัพ ในฟิลิปปินส์ มีช็อกโกแลตใส่กระเป๋าติดตัวไปกินกลางทางสามสี่แท่ง กะว่าประมาณตีหนึ่งถึงกรุงเทพฯ ในคืนเดือนหงายมองเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นประดุจสายสีเงินทอดคดเคี้ยวไปมา ยอดปรางค์และปราสาทของวัดและพระราชวังของนครหลวงของเธอต้องแสงจันทร์งามระยับ” (เกริก มังคละพฤกษ์, 72-73)

ขุนวิจิตรมาตราเล่าว่า เขาทราบมาว่า นักบินจะยึดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา เจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน และเจดีย์ภูเขาทองเป็นหลักในการพิจารณาพื้นที่ปฏิบัติการทิ้งระเบิด (ขุนวิจิตรมาตรา, 465)

นักบินเล่าต่ออีกว่า หากมีภารกิจการโจมตีทางอากาศพระนครในคืนเดือนมืด นักบินจะทิ้งโคมส่องสว่างจากท้องฟ้าลงมาก่อนเพื่อให้เห็นเป้าหมายเบื้องล่าง เขาเล่าเสริมว่า “เห็นทหารญี่ปุ่นขนาดเท่ามดวิ่งวุ่นวายกันไปหมด พอได้ทีก็ปล่อยระเบิดพลุลงไป แล้วค่อยทยอยกันกลับฐานทัพในมะนิลา ทันเวลากินกาแฟพอดี พวกญี่ปุ่นดูให้ความสะดวกเราดีมากในการโจมตี ดูเขาไม่ค่อยอยากรบกวนเราเท่าไรนัก ปล่อยให้เราทำงานตามสบาย” (เกริก มังคละพฤษ์, 76-77)

ความเสียหายละแวกสถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อ 12 มกราคม 2487

การโจมตีทางอากาศในยามกลางคืนนั้น สังข์ พัธโนทัย เล่าถึงที่ย่านตรอกจันทร์แถบที่พักของเขาถูกโจมตีว่า “อนิจจา บ้านใกล้เรือนเคียงยุบไปหลายหลัง ลูกระเบิดหล่นห่างบ้านสัก 5-6 วา หลุมระเบิดใหญ่โตเอาการ…เช้า ได้ยินข่าวคนที่ไปช่วยขนของกลับมาบอกว่า เจ้าหน้าที่ตรวจพบลูกระเบิดขนาดใหญ่ลูกหนึ่งฝังดินอยู่ข้างห้องชั้นล่างที่เรานอนหลบระเบิดกันอยู่ ห่างสัก 1 วา ยังไม่ระเบิด สงสัยว่าจะด้าน ฟังเขาพูดอย่างนั้นหัวใจเกือบหยุดเต้น” (สังข์ พัธโนทัย, 2499, 29)

ความทรงจำของวราห์ โรจนวิภาต ชาวบางไส้ไก่ ฝั่งธนบุรี บันทึกว่า ภายหลังการโจมตีทางอากาศแล้วผู้คนอพยพลงเรือในคลองบางหลวงมากมาย ทั้งเรือพาย เรือแจว บรรทุกสิ่งของต่างๆ พายหลบเข้าไปอยู่ในสวนลึกๆ มีผู้คนอพยพกันทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น ส่วนมากเป็นคนฝั่งพระนคร พื้นที่สวนของฝั่งธนฯ ก็เป็นสวนจริงๆ ยากแก่การพักอาศัย ส่วนริมคลองภาษีเจริญก็ยังเป็นทุ่งนา คนอพยพอาจไปอยู่บ้านญาติหรือพักตามวัดก็เป็นไปได้ บ้างก็อาจอพยพข้ามจังหวัดไปเลยก็มี (lek-prapai.org/home/view.php?id=191)

ในช่วงสงคราม ครอบครัวของวราห์ ไม่ได้ย้ายไปไหน เพราะอยู่ในสวนฝั่งธนฯ อยู่แล้ว พ่อของเขาชอบออกไปดูเครื่องิบนมาทิ้งระเบิดแถวตรอกวัดประดิษฐาราม บ้างก็ไปยืนอยู่บนสะพานสูงเพื่อดูเครื่องบิน เครื่องบินมาทิ้งระเบิดทั้งกลางวันและกลางคืน หากเป็นเวลากลางคืนจะเห็นลำแสงไฟฉายที่สาดส่องไปจับยังลำเครื่องบินบนท้องฟ้า เราจะเห็นกระสุนต่อสู้อากาศยานถูกยิงออกไป แต่ส่วนใหญ่ยิงไม่ถูก เพราะเครื่องบินบินสูงมาก (lek-prapai.org/home/view.php?id=191)

สภาพของโรงเรียนเทพศิรินทร์ที่สูญเสียอาคารแม้นนฤมิตรจากการโจมตีทางอากาศเมื่อ 2487

อาจินต์ ปัญจพรรค์ ชาวปากคลองตลาดบันทึกการทิ้งระเบิด ช่วงปี 2487 ไว้ว่า เมื่อ 10 มกราคม 2487 เวลา 22.10 สัมพันธมิตรทิ้งระเบิดที่ ร.พัน 9 โรงเรียนวชิราวุธ หลังโรงเรียนนายเรือ ย่านฝั่งธนฯ ที่อ่าวไทยถูกทิ้งทุ่นระเบิดขัดขวางการเข้าออกของเรือรบไทย ญี่ปุ่น

ส่วนวันที่ 12 มกราคม เวลา 21.10 มีการทิ้งระเบิดที่ดอนเมือง สะพานพระราม 6 พังเสียหาย โรงงานปูนบางซื่อ วัดลานวัว วัดละมุดที่ย่านบางพลัด โรงเรียนเทศบาลวงเวียนใหญ่ วังสวนกุหลาบ หน้าโรงแรมตุ้นกี่ ด้านหน้าหัวลำโพง โรงฆ่าสัตว์ใกล้หัวลำโพง ไปรษณีย์กลางบางรัก โรงแรมโทรคาเดโร เชิงสะพานสีลม ปากตรอกวัดสวนพลู สถานทูตเยอรมนี ตรอกไก่บางรัก สถานีตำรวจยานนาวา (อาจินต์, 284-286)

ในช่วงปลายสงครามระหว่างปี 2486-2487 กรุงเทพฯ ถูกโจมตีทางอากาศแห่งเดียวไม่น้อยกว่า 4,000 ครั้ง ทำให้เกิดความเสียหายและคร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมาก ทั้งนี้ จากสถิติการโจมตีทางอากาศในกรุงเทพฯ ปี 2487 ที่รวบรวมโดยกระทรวงการต่างประเทศของไทย มีถึง 1,907 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1,306 คน บาดเจ็บ 752 คน มูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 18,376,157 บาท (แถมสุข นุ่มนนท์, 129)

สภาพโรงเรียนสายปัญญา ริมคลองผดุงกรุงเกษม เมื่อ 19 มกราคม 2487

หน่วยกู้ภัยเก็บศพจาการทิ้งระเบิด

ในช่วงที่ไทยโดนโจมตีทางอากาศอย่างหนัก เกินกว่าหน่วยราชการการเดินตรวจตราให้ความช่วยเหลือประชาชน ได้ปรากฏอาสาสมัครหน่วยกู้ภัยขึ้น อาสาสมัครเหล่านี้เป็นชาวบ้านที่เดินตีนเปล่า ไม่สวมเสื้อ มีจิตอาสาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ช่วยกันคุ้ยหาศพของประชาชนใต้กองซากปรักหักพังของอาคารที่โดนระเบิดเอาขึ้นรถกุดังไปเผาที่วัด

อาสาสมัครบางคนก็ช่วยกันสาดน้ำดับไฟจากระเบิดเพลิงด้วยการช่วยกันตักน้ำจากคลองใกล้เคียงใส่กระป๋องเหวี่ยงส่งกันเป็นทอดๆ แทนการรอรถดับเพลิงของหน่วยราชการซึ่งขณะนั้นมีอยู่ไม่กี่คัน อันไม่สามารถรองรับสถานการณ์ยามสงครามได้ (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 107)

ครั้งหนึ่งภายหลังการโจมตีกรุงเทพฯ และธนบุรีแล้ว หน่วยกู้ภัยพยายามกู้ซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือนเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ประเก็บ คล่องตรวจโรค เล่าว่า

“เราระดมขุดกันตลอดทั้งคืน ขุดจนทะลุผ่านหลังคา พื้นบ้านชั้นบนและพื้นบ้านชั้นล่างที่จมอยู่ใต้ดิน เราได้แขนได้ขาเจ้าของบ้านหลายศพ โดยมากโดนระเบิดอัดจนตัวแหลกเหลวไปทั้งนั้น บางคนถือสายสร้อยทองห่อใหญ่ เราก็ส่งมอบให้ตำรวจไป เราขุดศพได้มากกว่า 20 ศพ บางคนนอนอยู่บนเตียง บางคนหลบอยู่ในห้องใต้บันไดขี้โคลนอัดแน่นตายทั้งเป็น มี 2-3 คนแขนขาห้อยกะรุ่งกะริ่ง…” (ประเก็บ, 211-212)

กล่าวได้ว่า ท่ามกลางโศกนาฏกรรมความเป็นความตายของคนไทยที่รัฐบาลไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ได้ปรากฏหน่วยอาสาสมัครของประชาชนร่วมมือร่วมใจกันบรรเทาสาธารณภัยกันเอง เป็นความเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมชาติท่ามกลางเพลิงสงคราม

สภาพความเสียหายภายในโรงเรียนสวนกุหลาบฯ เมื่อ 2487
รถเข็นเก็บศพของมูลนิธิเต็กเซี่งตึ๊งฮั่วเคี่ยวป๊อ