สเต๊กเพาะเลี้ยง Made in Thailand! | ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ
ภาพสร้างใน DALLE-2

ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ของวงการเกษตรระดับเซลล์ เมื่อกระทรวงสาธารณสุขของประเทศอิสราเอลได้อนุมัติให้ “อเล็ปคัตส์ (Aleph Cuts)” เนื้อสเต๊กเพาะเลี้ยงจากห้องทดลองสามารถออกจำหน่ายได้ในท้องตลาด…

ทีมจากบริษัท “อเล็ปฟาร์มส์ (Aleph Farms) เผย “นี่คือไฟเขียวแรกในโลกใบนี้ สำหรับเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจากห้องทดลองที่ไม่ใช่เนื้อไก่”

เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะหลังจากที่เนื้อไก่เพาะเลี้ยงจากแล็บของ UPSIDE Foods และ East Just ผ่านการอนุมัติจาก FDA และ USDA ของสหรัฐ จนสามารถเปิดตัวได้อย่างสะท้านสะเทือนในภัตตาคารของเชฟระดับดาวมิชลิน อย่างบาร์เครนน์ (Bar Crenn) ของโดมินีก เครนน์ (Dominique Crenn) และไชน่าชิลคาโน (China Chilcano) ของโฮเซ่ แอนเดรซ (Jose Andres) ไปเมื่อกลางปี 2023 ที่ผ่านมา แนวคิดในเรื่องเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจากเซลล์ที่เคยเป็นเรื่องที่จับต้องยาก เพราะราคาแพงถล่มทลาย ก็กลายมาเป็นหนึ่งในคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามองของวงการอาหารแห่งอนาคต

และพอได้ยินว่าเนื้อไก่เพาะเลี้ยงจะวางตลาดให้ทดลองชิมได้ จาคอป เฟนสตัน (Jacob Fenston) และอแมนดา มิเชลล์ โกเมซ (Amanda Michelle Gomez) ผู้สื่อข่าวจากสถานีวิทยุ WAMU88.5 ในวอชิงตัน ดี.ซี. ก็ไม่รีรอ พวกเขาอยากรู้ว่าเนื้อไก่ที่สร้างขึ้นมาจากเซลล์ไก่ที่เพาะเลี้ยงอยู่ในถังสเตนเลสขนาดใหญ่ในห้องทดลอง ใช้สารอาหารสังเคราะห์เพาะเลี้ยงจนเติบโต จนสามารถเก็บเกี่ยวขึ้นมาได้โดยไม่ต้องฆ่าไก่ ฟังดูแล้ว น่าอัศจรรย์ ราวกับหลุดออกมาจากนิยายวิทยาศาสตร์ จะมีรสชาติและเนื้อสัมผัสเนียนนุ่มชุ่มลิ้น…กินสนุกขนาดไหน

สองนักชิมตัดสินใจบุกตะลุยไชน่าชิลคาโน เพื่อตามหาสัมผัสแห่งรสชาติที่แท้จริงของเนื้อไก่เพาะเลี้ยงจากแล็บ

 

“สําหรับเชฟ ผมรับรู้ได้ถึงความแตกต่างของเนื้อไก่ดั้งเดิมและเนื้อไก่เพาะเลี้ยงจากแล็บ แต่ถ้าให้ปิดตาแล้วชิม ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่น่าจะแยกออก” แดเนียล ลูโก (Daniel Lugo) หัวหน้าเชฟจากภัตตาคารไชน่าชิลคาโนให้สัมภาษณ์กับจาคอปและอแมนดาแบบมีการแอบบลั๊ฟฟ์เล็กๆ…

“สำหรับพวกคุณก็น่าจะประมาณว่า โอ พระเจ้า นี่มันเนื้อไก่แท้ๆ เลย” แดเนียลย้ำอย่างมั่นใจ

แม้ว่าแดเนียลจะออกมาการันตีความเหมือน แต่ทั้งจาคอปและอแมนดาก็ยังไม่หายสงสัย และเพื่อให้หายข้องใจ ทั้งคู่จึงตัดสินใจยอมควักกระเป๋า 70 เหรียญ หรือราวๆ 2,500 บาท ซื้อคอร์สชิมอาหารของไชน่าชิลคาโนเสียเลย

เพื่อจะได้ทดลองชิมเนื้อไก่เพาะเลี้ยงจากห้องแล็บให้รู้ชัดไปเลยว่าของจริงหรือเปล่า

 

ไม่นาน เนื้อไก่ย่างเสียบไม้สไตล์เปรู “อันติกูโชส เด ปอโย (Anticuchos de Pollo)” ฝีมือเชฟแดเนียล ก็มาเสิร์ฟ และพอได้ชิม พวกเขาก็ต้องแปลกใจ

“เมื่อเรากัดลงไปในชิ้นไก่ เราค่อยๆ ลองลิ้มรสทีละส่วน หาว่ามีตรงไหนที่มันแตกต่างบ้าง แม้ว่าชิ้นไก่ย่างนั้นจะมีรสชาติของไก่อย่างเด่นชัด แต่เนื้อสัมผัสมันเนียนนุ่มกว่าไก่จริง ไม่มีส่วนไหนเลยในชิ้นที่เหนียวผิดปกติ แล้วก็ไม่มีชิ้นไขมันติดอยู่เลย…ถ้าไม่นับตรงนั้น ที่เหลือนั้นเหมือนกันเป๊ะ”

นี่เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมาก…และนั่นทำให้เชฟแถวหน้าหลายคน รวมทั้งเซเลบริตี้เชฟชื่อดังแห่งนครนิวยอร์กอย่าง มาร์คัส แซมมูเอลส์สัน (Marcus Samuelsson) เริ่มหันมาให้ความสนใจกับกระแสเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงไปกับเขาด้วย

และบริษัทที่มาร์คัสเลือกจับมือด้วยก็คือ อเล็ปฟาร์มส์

มาร์คัสเผยว่า เขาประทับใจพันธกิจของอเล็ปฟาร์มส์ที่มาดหมายจะมุ่งหาหนทางเพื่อสร้างแหล่งอาหารยั่งยืนเพื่อโลกใบนี้ด้วยเทคโนโลยีเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงของพวกเขา

เขาเชื่ออย่างหมดใจว่านี่คือยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมเกษตร

…และอีกไม่นาน ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการอาหารจะถูกเขียนขึ้นมาด้วยเทคโนโลยี

และในทันทีที่ผลิตภัณฑ์ของอเล็ปฟาร์มส์ได้รับการอนุมัติให้ขายได้ในสหรัฐอเมริกา มาร์คัสก็พร้อมจะรังสรรค์เมนูสุดพิเศษจากเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงเวอร์ชั่นอเล็ปฟาร์มส์ได้ทันที คราวนี้ไม่ใช่ “เนื้อไก่” แต่เป็น “ชิ้นสเต๊ก”

ในมุมมองของเขา การตัดสินใจครั้งนี้คือการลงทุนแห่งอนาคต…ที่อาจจะพลิกโฉมวงการอาหารไปตลอดกาล…

 

แต่แล้วในช่วงปลายปี 2023 วงการเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงก็ถึงคราวสะดุดอย่างแรง

เมื่อมีข่าววงในออกมาทั้งในนิตยสาร Wired และ Bloomberg ว่า เทคโนโลยีที่ทีมผู้บริหารของ UPSIDE Foods พาไปทัวร์ตอนเปิดตัวเนื้อไก่เพาะเลี้ยงนั้น มันไม่ตรงปก

เอมี่ เฉิน (Amy Chen) ซีโอโอของ UPSIDE Foods ยอมรับว่า “ถังหมักสเตนเลสที่ดูล้ำสมัยที่เห็นตอนทัวร์นั้นไม่ใช่ถังจริงที่เอาไว้ใช้ผลิตชิ้นเนื้อไก่เพาะเลี้ยงที่เอามาขายในบาร์เครน ที่ใช้จริงนั้นเป็นถังหมุนขนาดเล็กที่มีความจุแค่ 2 ลิตรเท่านั้น…”

ซึ่งสอดคล้องกับที่ สตีฟ ไมริก (Steve Myrick) อดีตซีโอโอของ UPSIDE Foods ให้สัมภาษณ์ไว้ตั้งแต่ปี 2021

“เราผลิตไก่ออกมาแบบเป็นเนื้อไก่ชิ้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นเนื้อเยื่อทั้งชิ้น ไม่ได้ผลิตออกมาเป็นเซลล์แขวนลอยในอาหารเหลว (suspension) หรือเป็นสเลอรี่ (ของเหลวทำข้น) เราผลิตเนื้อเยื่อทั้งชิ้นเลยโดยตรงจากถังเพาะเลี้ยง”

ซึ่งปัญหาของเทคโนโลยีแบบนี้คือการขยายขนาดการผลิต หรือที่คนในวงการอุตสาหกรรมมักจะเรียกว่าการ “สเกลอัพ (scale up)”

และนั่นคือสิ่งที่หลายสื่อออกมาช่วยกันขยี้

 

พนักงานปัจจุบันของ UPSIDE Foods เผยว่าระบบการผลิตเนื้อไก่แบบถังหมุนจะให้ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่เพาะเลี้ยงที่พอจะเอาไปใช้ได้แค่ 2-3 กรัมเท่านั้น ซึ่งถ้าเทียบกับขนาดเนื้อไก่จริงๆ ที่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 170 กรัม

“คุณไม่สามารถสร้างอุตสาหกรรมได้จากขวดหมุน” ริคาร์โด ซาน มาร์ติน (Ricardo San Martin) ผู้อำนวยการห้องทดลองเนื้อทางเลือกของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ให้ความเห็น…

ด้วยกำลังการผลิตเท่านี้ เทคโนโลยีนี้ยังไงก็ไม่น่าจะเกิดและอยู่รอดได้…ถ้าจะต้องทำขายจริงๆ ในระดับอุตสาหกรรม

ประเด็นนี้ทำให้เกิดแรงกระแทกอย่างรุนแรงไปที่ UPSIDE Foods ถ้าเปรียบก็เป็นเหมือนหมัดฮุกที่ยิงเข้าแสกหน้าอย่างจัง…เพราะมันทำลายความน่าเชื่อถือของบริษัท (และวงการเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง) อย่างรุนแรง

ถึงขนาดที่พนักงานบางคนใน UPSIDE Foods เองยังถึงกับตั้งคำถามขึ้นมาเองเลยว่า “เป็นไปได้มั้ยว่าในอนาคต UPSIDE Food จะกลายเป็นเธอรานอสแห่งวงการอาหาร”

 

สาหัสถึงขนาดที่ทำให้ อูมา วาเลติ (Uma Valeti) นั่งไม่ติด ต้องรีบออกแถลงการณ์เพื่อโต้แย้งประเด็นในบทความในทันที

“ในเวลานี้ เรากำลังลงทุนอย่างมหาศาลในเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเซลล์แบบแขวนลอยของพวกเรา ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีแรกที่เราจะขยายขนาดไปสู่การผลิตเพื่อการค้า” อูมาแถลง

“ในเวลานี้ กำลังการผลิตปกติของ UPSIDE Foods สำหรับผลิตเซลล์เนื้อไก่ด้วยเทคโนโลยีแขวนลอยนั้นอยู่ที่ขนาดสองพันลิตร ซึ่งเทคโนโลยีนี้คือเทคโนโลยีที่ผ่านการอนุมัติของ FDA ของสหรัฐอเมริกา”

“เมื่อปลายปี 2022 สิ่งที่สื่อทั้ง Wired และ Bloomberg เอามาวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นเทคโนโลยีเก่าที่เขาไม่ใช้กันแล้ว”

ทั้งยังเผยต่ออีกว่าในเร็วๆ นี้ UPSIDE Foods จะสร้างโรงงานเพาะเลี้ยงเซลล์แบบแขวนลอยที่มีขนาดการผลิตขั้นต่ำล้านปอนด์ (หรือราวๆ ห้าแสนกิโลกรัม)

และในอนาคตก็จะขยายกำลังการผลิตให้ถึงสามสิบล้านปอนด์ (หรือราวๆ สิบห้าล้านกิโลกรัม) เลยทีเดียว

 

นี่อาจจะเป็นแค่เทคนิคในการดูดเงินนักลงทุนก็เป็นได้ เพราะถ้ามองในแง่การระดมทุน ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา UPSIDE Foods ก็กวาดเงินลงทุนไปแล้วมากถึง 600 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราวๆ สองหมื่นหนึ่งพันห้าร้อยล้านบาท)

ซี่งไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเพราะเหตุนี้หรือเปล่า ในเดือนมกราคม 2024 ในขณะที่กระแสเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงกำลังมาแรง บาร์เครนน์ก็ประกาศถอดเนื้อไก่เพาะเลี้ยงออกจากเมนูของพวกเขา

แม้จะดูเหมือนว่านี่เป็นหนี่งในวิกฤตครั้งใหญ่ของ UPSIDE Foods แต่อูมายังมีวิธีแก้ลำที่น่าสนใจ

เขาเผยว่าการถอดเมนูเนื้อไก่เพาะเลี้ยงออกไปนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะประเด็นปัญหาอะไรที่หลายๆ คนคิด ที่จริงแล้ว พวกเขากำลังซุ่มรอที่จะเปิดตัวแคมเปญใหม่ เนื้อไก่เพาะเลี้ยงสัญจร “กับเชฟ เครนน์ และเชฟอื่นๆ” ในเร็วๆ นี้

แต่ที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่าก็คือ หลังจากที่อเล็ปฟาร์มส์ได้รับอนุมัติแล้ว พวกเขาก็เริ่มเซ็นสัญญาสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจอีกหลายแห่ง อาทิ Fermbox bio เตรียมพร้อมเปิดโรงงานผลิตสเต๊กเวอร์ชั่นหลอดทดลองแล้ว

…และหนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับอเล็ปฟาร์มส์ ก็คือบริษัทสัญชาติไทย “บีบีจีไอ”…

และโรงงานที่ว่าจะตั้งในประเทศไทย นั่นหมายความว่า…โอกาสที่เราจะได้ลองลิ้มชิมรส “สเต๊กเพาะเลี้ยง Made in Thailand” นั้นก็อาจจะอยู่ไม่ไกลเกินฝัน ขอแค่อย่ามีดราม่าแบบบริษัทรุ่นพี่ในวงการให้ตุ๊มๆ ต้อมๆ ก็พอ

อย่างที่มาร์คัสว่า “นี่คือการลงทุนสำหรับเทคโนโลยีแห่งอนาคต ที่อีกไม่นาน อาจจะผันตัวกลายมาเป็นเทคโนโลยีที่เราคุ้นเคยก็เป็นได้…”

ในส่วนของผู้บริโภค เราก็คงต้องเริ่มเตรียมตัวให้พร้อม เพราะบางที เทคโนโลยีแห่งอนาคตอาจจะเข้ามาใกล้ ไวกว่าที่เราคิด!…