ศึกษา Soft Power ผ่าน The Great Wave off Kanagawa

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นนำภาพ The Great Wave off Kanagawa มาเป็นรูปด้านหลังธนบัตร 1,000 เยน ทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนค้นข้อมูลเกี่ยวกับภาพเขียนดังกล่าว

The Great Wave off Kanagawa หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ” เป็นผลงานของ Katsushika Hokusai ศิลปินใหญ่ชาวญี่ปุ่น ผู้มีชีวิตอยู่ในสมัย Edo

The Great Wave off Kanagawa สร้างสรรค์ผ่านเทคนิคใช้บล็อกไม้ เรียกว่า “ภาพพิมพ์ Ukiyo-e” ที่สัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมชนชั้นพ่อค้าในสมัย Edo

Katsushika Hokusai เขียน The Great Wave off Kanagawa ในปี ค.ศ.1831 ในช่วงปลายยุคไดเมียวตระกูล Tokugawa เป็นโชกุน ซึ่งกินเวลายาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ.1603 ถึงปี ค.ศ.1867

สมัย Edo หรือยุค Tokugawa เป็นห้วงเวลาที่ญี่ปุ่นมีความเจริญก้าวหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจ ที่เปิดค้าขายกับต่างชาติ รวมถึงการก่อรูปเทคโนโลยีด้านต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเฟื่องฟูของวัฒนธรรมในทุกด้าน เป็นรากที่หยั่งลึก และหนุนเนื่องให้ยุค Meji (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5) พัฒนาอย่างก้าวกระโดด และต่อยอดจนเป็นญี่ปุ่นในวันนี้

มีการตีความกันว่า เรือประมงใน The Great Wave off Kanagawa คือการที่ Tokugawa เผชิญหน้ากับคลื่นยักษ์แห่งการล่าอาณานิคมของตะวันตกในยุคต้นศตวรรษที่ 19

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นโยบายเรือปืน” ของประธานาธิบดี Millard Fillmore ที่ส่งนายพล Matthew Perry มาหยั่งเชิง Tokugawa ผ่านการเจริญสัมพันธไมตรี ที่รู้จักกันว่า The Perry Expedition

 

อันที่จริง The Great Wave off Kanagawa เป็นเพียงภาพหนึ่งในผลงานชุด “ทัศนียภาพ 36 มุมของฟูจิ” หรือ Thirty-Six Views of Mount Fuji ที่นำเสนอมุมมองที่มีต่อฟูจิ ในฤดูกาลที่แตกต่างกัน

The Great Wave off Kanagawa มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนไกลที่สุด คือภูเขาไฟฟูจิ ส่วนที่เห็นเด่นชัดที่สุด คือคลื่นยักษ์ที่กำลังเกรี้ยวกราด และส่วนที่ต้องสังเกต คือเรือสามลำที่กำลังเผชิญหน้ากับคลื่น

องค์ประกอบของภาพ ทำให้เรามองเห็นความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่เปี่ยมไปด้วยพลัง เพราะในความเรียบง่ายมีความสวยงามอยู่เสมอนั่นเอง

หากเราเทียบ The Great Wave off Kanagawa กับ “ปรัชญาหยิน-หยาง” คลื่นยักษ์ ก็คือ “พลังหยาง” ที่ร้อน และแรง ขณะที่ฟูจิ ก็คือ “พลังหยิน” ที่นิ่ง-สงบ-เยือกเย็น

และถ้ายิ่งพิจารณาอย่างลึกซึ้งขึ้นไปอีก ก็อาจจะพบว่า The Great Wave off Kanagawa เต็มไปลูกเล่นด้านมุมมอง เช่น “ฟูจิ” ที่จงใจถูกทำให้มีขนาดเล็ก คล้ายกับว่า กำลังจะถูกคลื่นยักษ์กลืนหายไปในอีกไม่นาน

หรือจะเป็นการเล่นกับทัศนวิสัยที่คลุมเครือ ว่าเป็นละอองน้ำทะเล หรือปุยหิมะที่กำลังจะตกลงมาบนยอดฟูจิกันแน่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์ประกอบต่างๆ ที่วางตัวรอบๆ ภูเขาไฟ ทั้งความโค้งของคลื่น จุดเรือที่ลงต่ำพอให้เห็นตัวฟูจิ และยอดสีขาวของคลื่นยักษ์ที่ช่วยขับเน้นฟูจิให้ดูสวยพอดี

จุดเด่นที่สุดคือ การจัดองค์ประกอบภาพที่สมดุลทั้งหลัก 9 ช่อง และ Golden Ratio

 

นอกจาก The Great Wave off Kanagawa หนึ่งในผลงานชุด Thirty-Six Views of Mount Fuji แล้ว Katsushika Hokusai ยังเป็นที่จดจำในฐานะ “ศิลปินมังงะ” ที่ผลิตผลงานแบบ “ขายได้เรื่อยๆ”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Hokusai Manga งานรวมเล่มภาพพิมพ์ ที่รวมงานของ Katsushika Hokusai เอาไว้จำนวนหลายพันภาพ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1815 ถึงปี ค.ศ.1878

กล่าวได้ว่า ผลงาน Thirty-Six Views of Mount Fuji ของ Katsushika Hokusai โดยเฉพาะอย่างยิ่ง The Great Wave off Kanagawa เสมือนเป็นตัวแทนของ Ukiyo-e

ที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น Soft Power รุ่นบุกเบิกของญี่ปุ่น

เหตุผลหลักก็คือ Ukiyo-e ส่งอิทธิพลที่สำคัญต่อพัฒนาการของศิลปะสมัยใหม่ของยุโรปขณะนั้น นั่นคือ Impressionism

โดยมีสถานการณ์ 2 จุดตัดด้วยกัน

 

จุดตัดแรก Philipp Franz von Siebold นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน นำงานศิลปะของ Katsushika Hokusai ไปเผยแพร่ให้ชาวตะวันตก

Philipp Franz von Siebold เคยอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นระหว่างปี ค.ศ.1823 ถึงปี ค.ศ.1831 โดยถูกเนรเทศออกจากญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1831 ข้อหาพยายามเอาแผนที่ญี่ปุ่นออกนอกประเทศ

ถึงแม้ว่า Philipp Franz von Siebold จะเอาแผนที่ออกมาไม่ได้ แต่สิ่งที่เขาเอาออกมาได้คือ Hokusai Manga 15 ฉบับ อัดแน่นด้วยรูปมากถึง 3,900 ภาพ

โดย Philipp Franz von Siebold นำผลงานของ Katsushika Hokusai มาพิมพ์ขาย ทั้งรูปคน ภาพธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ์ตูน และแน่นอนว่าภาพชุด Thirty-Six Views of Mount Fuji ก็ถูกตีพิมพ์ด้วย

 

จุดตัดที่ 2 คือปี ค.ศ.1867 ที่มีการนำ Ukiyo-e ไปจัดแสดงเป็นครั้งแรกในกรุงปารีส ช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้ศิลปินฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่ม Impressionism

นอกจากนี้ ความนิยมใน Ukiyo-e ยังเผื่อแผ่ความสนใจไปยังศิลปะแขนงต่างๆ ของญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความนิยมตามมาในยุโรป หรือที่เรียกว่า Japonisme ความนิยมดังกล่าว สร้างความประหลาดใจแก่ชาวญี่ปุ่นในยุคนั้นเป็นอย่างมาก

ศิลปินระดับโลกชาวตะวันตกหลายคน สนใจความงาม และสีสันของ Ukiyo-e ไม่ว่าจะเป็น Manet, Degas, Monet หรือจะเป็นศิลปินภาพพิมพ์อย่าง Rodin รวมถึงนักเขียนอย่าง Edmond และ Jules de Goncourt

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Starry Night ของ Van Gogh ที่เกิดขึ้นจากการมองท้องฟ้ายามค่ำคืน ที่ว่ากันว่า นี่อาจเป็นงานได้รับแรงบันดาลใจจาก The Great Wave off Kanagawa

เพราะเคยมีการวิเคราะห์กันถึงเกลียวเมฆบนท้องฟ้า ที่วางอยู่ในตำแหน่งเดียวกับคลื่นยักษ์ หรือลักษณะการหมุนวนของกระแสลม ก็มีความใกล้เคียงกับลักษณะของเกลียวคลื่น

 

Katsushika Hokusai รังสรรค์ The Great Wave off Kanagawa ในวัยย่าง 70 และเป็นอัมพาตจากภาวะเส้นเลือดสมองแตก ทว่า เขายังสามารถทำงานสุดวิเศษชิ้นนี้ได้

เขากล่าวว่า “ตอนอายุ 50 ฉันเริ่มสร้างงานที่นำมาซึ่งชื่อเสียง แต่ที่จริงแล้ว งานทั้งหมดที่ฉันทำก่อนอายุ 70 ไม่ควรค่าความสนใจเลย เพราะตอนอายุ 73 ฉันเริ่มเข้าใจเสียงนก และสัตว์ต่างๆ หมู่แมลง ปลา และต้นไม้ที่กำลังเจริญเติบโต ถ้าฉันยังทำต่อไป ฉันมั่นใจว่าจะเข้าใจธรรมชาติเมื่ออายุ 86 เพราะฉะนั้น ตอนอายุ 90 ฉันจะสร้างงานที่แทรกตัวไปในธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน ตอนอายุ 100 ฉันจะเข้าใจมันอย่างที่สุด ตอนอายุ 130, 140 หรือมากกว่านั้น ทุกจุด และทุกเส้นที่ฉันวาดจะมีชีวิต ขอสวรรค์ดลบันดาลให้ชีวิตฉันยืนยาวพอ เพื่อพิสูจน์ว่า สิ่งที่ฉันพูดนี้ มิใช่เรื่องโกหก”

The Great Wave off Kanagawa ของ Katsushika Hokusai เป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของศิลปะญี่ปุ่น ที่ยังคงยืนยาวมาถึงทุกวันนี้ แม้ว่า Katsushika Hokusai ได้จากโลกนี้ไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1849

Katsushika Hokusai เสียชีวิตในวัย 89 ปี โดยได้ฝากผลงานที่ท่านสร้างสรรค์เอาไว้มากมาย

หาก “สวรรค์ดลบันดาล” ให้ชีวิตของ Katsushika Hokusai “ยืนยาวพอ” หมายถึง Katsushika Hokusai มีอายุยืนตามที่เขาหวัง Katsushika Hokusai จะผลิตสุดยอดผลงานออกมาได้อีกมากเพียงไร

เพราะลำพัง “คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ” เพียงภาพเดียว ยังสามารถถล่มโลกศิลปะได้มากเพียงนี้

เรื่องราวชีวิต และผลงานของ Katsushika Hokusai จึงเป็นไปตามภาษิตกรีก ที่ว่า Ars longa, vita brevis “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น”