เปลี่ยน ส.ว. จากกลไกค้ำรัฐประหาร ถ้าไม่จัดการ…ต้องรออีก 5 ปี

มุกดา สุวรรณชาติ

ทำไมต้องมี ส.ว.
ในระบอบประชาธิปไตยไทย

ในสมัยก่อนรัฐไทยแต่ดั้งเดิมไม่มีทั้ง ส.ว. และ ส.ส. แต่จะมีเหล่าอำมาตย์ ขุนนาง ขุนศึกต่างๆ

โครงสร้างแบบนี้เกิดมานับพันปีและค่อยๆ ปรับปรุงให้เป็นระบบมากขึ้น

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในระบอบประชาธิปไตย นโยบายจะต้องมีผู้เสนอและวางแผนเพื่อนำไปปฏิบัติ ซึ่งเดิมเป็นหน้าที่ของอำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่

การมี ส.ส.หรือผู้แทนจากประชาชนในครั้งแรกจึงยังมีข้ออ้างว่า ส.ส.อาจจะไม่มีความรู้ความชำนาญพอเพียงที่จะเสนอนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติให้สำเร็จ

ถ้าแต่งตั้ง ส.ว.ขึ้นมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงในช่วงแรกการดำเนินงานจะเป็นไปโดยราบรื่นเพราะ ส.ว.ส่วนใหญ่ก็จะมาจากอำมาตย์เก่าซึ่งมีความรู้และข้าราชการซึ่งเป็นกลไกในการปฏิบัติ

ตลอด 90 ปีของการพยายามเดินบนเส้นทางประชาธิปไตย ถ้าวิเคราะห์ในเชิงอำนาจการเมืองจะเห็นว่าการมี ส.ว. กลายเป็นช่องทางให้กลุ่มอำนาจเก่ามีเวที มีพื้นที่ทางการเมือง ร่วมกับตัวแทนประชาชน คือ ส.ส. เป็นการลดความขัดแย้ง ไม่ต้องต่อสู้ชิงอำนาจกันถึงตาย

 

การเลือก ส.ว.จากประชาชนโดยตรงมีสองครั้ง

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การมี ส.ว.จึงเป็นเรื่องปกติ และส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ นี่จึงเป็นข้อได้เปรียบของผู้กุมอำนาจ ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ จึงยังแต่งตั้ง ส.ว. เพื่อเป็นกลไกค้ำอำนาจรัฐ แต่ยอมลดจำนวน ส.ว.อย่างช้าๆ

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รัฐธรรมนูญ 2517 แม้กระแสประชาธิปไตยขึ้นสูง แต่ก็ยังกำหนดให้มี ส.ว.แต่งตั้ง 100 คน

หลังรัฐประหาร 2520 ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มี รธน. 2521 ให้มี ส.ว.แต่งตั้ง 3 ใน 4 ของ ส.ส. แถมให้ทหารประจำการมาเป็น ส.ว.ได้

หลังรัฐประหาร 2534 ของ รสช. รธน. 2534 ให้มี ส.ว.แต่งตั้ง 2 ใน3 ของ ส.ส.

ช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน รธน. 2540 ให้มี ส.ว. 150 คน (มี ส.ส. 500) จากการเลือกของประชาชนโดยตรง มีการเลือกจริง ปี 2543 และ 2549 (แต่ครั้งหลังนี้ เป็นได้ไม่กี่เดือนก็ถูกรัฐประหาร)

หลังรัฐประหาร 2549 ของ คมช. รธน. 2550 ให้มี ส.ว. 150 ครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง ครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา หลังรัฐประหาร 2557

รธน. 2560 ให้มี ส.ว.แต่งตั้งตามบทเฉพาะกาล 250 คนมาจากข้าราชการเก่าไม่น้อยกว่า 150 คนซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทหาร

 

อำนาจของ ส.ว.ปัจจุบันมีมากกว่าอดีต

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 การตั้งฝ่ายบริหาร ส.ส.ยังสำคัญกว่า ส.ว. เพราะ ส.ว.โหวตตั้งรัฐบาลไม่ได้ (ยกเว้นช่วงที่ใช้บทเฉพาะกาล 5 ปีที่ผ่านมา) และ ส.ส.ยังมีอำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และหลังเดือนพฤษภาคม 2567 ส.ว.ไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี

แต่คนเขียนรัฐธรรมนูญยังให้ความสำคัญกับ ส.ว. นอกจากอำนาจ หน้าที่ตามปกติ คือการกลั่นกรองและตรวจสอบกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนฯ ยังสามารถลงมติในการคัดเลือกกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ ที่จะชี้ถูกชี้ผิดและลงโทษฝ่ายบริหารได้

1. เลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้…จะเห็นว่ามีคนที่ถูกสรรหาเข้าไป แต่ไม่ผ่านการลงมติของ ส.ว. ก็ต้องสรรหาใหม่

2. เลือกกรรมการองค์กรอิสระได้ทั้งหมด คือ กกต. 7 คน ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 คน ป.ป.ช. 9 คน กสม. 7 คน คตง. 7 คน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

ใครจะเป็นกรรมการองค์กรอิสระ แม้ผ่านการสรรหามาแล้ว ก็ต้องผ่านความเห็นชอบของ ส.ว. ถ้า ส.ว.ไม่เอา ก็คือสอบตก

3. มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบการดำรงตำแหน่งที่สำคัญอื่นๆ อีก เช่น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, กรรมการ กสทช., เลขาธิการ ป.ป.ท. ฯลฯ

4. กล่าวหาถอดถอน ป.ป.ช.ได้ แบบนี้ ป.ป.ช.ก็ต้องกลัว ส.ว.

5. ตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยตั้งกระทู้ถาม และเปิดอภิปรายได้

6. ควบคุมนโยบาย และการทำงานของรัฐบาล ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี

7. มาตรา 256 กำหนดว่า หากมีข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่หนึ่ง และวาระที่สาม ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. อย่างน้อยหนึ่งในสามของจำนวน ส.ว.ที่มีอยู่ (67 คน) จึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้)

บทเรียนของโครงสร้างอำนาจและการใช้อำนาจจริง หลังรัฐประหาร 2549 ถึงปัจจุบัน คือ อำนาจ ส.ว.แต่งตั้งได้แทรกเข้าไปในอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ รับใช้คณะรัฐประหาร และเสริมสร้างระบอบอำมาตยาธิปไตยมาตลอด 5 ปี

 

ส.ว.จึงเป็นกุญแจไขความยุติธรรม
ประชาชนต้องให้ความสำคัญ
การเลือก ส.ว. เท่ากับ ส.ส.

แม้ ส.ว.แต่งตั้งหมดไป แต่ ส.ว.ที่ได้เลือกตั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 ส.ว.ใหม่ 200 คนจะยังคงเป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับ ส.ส.ทั้งสภา และจะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดตัวคณะกรรมการองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญว่าจะเลือกคนที่มีคุณสมบัติอย่างไร ที่จะเข้ามาเป็นผู้ตัดสินที่ชี้ถูกชี้ผิด พรรคการเมืองจะถูกยุบหรือไม่? แม้ ส.ว.ไม่ใช่เป็นผู้ตัดสิน แต่ก็ถือว่ามีส่วนสำคัญในการเลือกผู้ตัดสิน

ส.ส.ที่ประชาชนทั้งประเทศเลือกมา ไม่มีอิทธิพลต่อองค์กรอิสระเท่ากับ ส.ว.

ดังนั้น การคัดเลือก ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้จะต้องคัดเลือกอย่างถี่ถ้วนเพื่อให้ได้คนที่มีความยุติธรรมไปทำงาน สามารถการตรวจสอบ ควบคุม คัดเลือกและถอดถอนฝ่ายบริหาร กรรมการองค์กรอิสระต่างๆ ได้ อย่างเที่ยงธรรม

พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ว. 2561 ที่จะมาใช้ แม้ไม่ให้ประชาชนออกมาโหวตเลือกโดยตรง แต่เมื่อศึกษาดูแล้วก็ถือว่ายังใช้ได้ มีคนวิจารณ์ว่ามีลักษณะกีดกันสายการเมืองเพราะสมาชิกสภาทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น แม้แต่สมาชิก อบต.ก็ไม่สามารถสมัครได้ ยกเว้นจะออกจากตำแหน่งมาแล้ว 5 ปี

ในขณะเดียวกันข้าราชการ ลูกจ้างรัฐก็ไม่สามารถมาสมัครได้นอกจากลาออก แต่ในความเป็นจริงข้าราชการที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปที่กำลังก้าวหน้า ใครจะเสี่ยงไปลาออกมาสมัคร ส.ว.

ดังนั้น ถ้าวิเคราะห์ดูแล้วโอกาสนี้จะเปิดกับผู้สูงอายุทั้งหลายที่เกษียณไปแล้วและคนที่ทำงานเอกชน หรือเจ้าของกิจการ ผู้ที่มีอาชีพอิสระ ที่จะมาลงสมัคร ส.ว. เพื่อเป็นตัวแทนกลุ่มต่างๆ แม้การเลือก ส.ว.

ครั้งนี้จะซับซ้อน แต่ถ้าคนดีมีความสามารถ มีความรู้ มีประสบการณ์เข้าร่วมเยอะๆ ก็จะทำให้สามารถคัดคนที่เหมาะสมได้

การปฏิรูปการเมืองให้เป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จำเป็นต้องเหยียบบันไดขั้นนี้ขึ้นไป นั่นคือการเลือกตั้ง ส.ว.ในเดือนมิถุนายน 2567 เพราะถ้าพลาดจากครั้งนี้ก็ต้องรออีก 5 ปี