‘กางเกงช้าง’ แกงซอฟต์เพาเวอร์ไทย บทเรียนรัฐ…แก้เกมรีดแวตต่ำกว่า 1,500 บ.

การกลับมาอีกครั้งของ “กางเกงช้าง” ที่เคยฮิตทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ จนรัฐบาลเศรษฐาผลักดันเป็นโปรเจ็กต์หนึ่งของนโยบายซอฟต์เพาเวอร์

ปัจจุบันหลายจังหวัดนำไปต่อยอดกับอัตลักษณ์ประจำจังหวัด อาทิ กางเกงแมวโคราช จ.นครราชสีมา กางเกงไก่ชน จ.พิษณุโลก กางเกงปลาทู จ.สมุทรสงคราม รวมแล้วกว่า 10 จังหวัด

แต่ใครจะรู้…เบื้องลึกกางเกงช้างที่เห็นวางขายกันตามตลาดนัด แหล่งท่องเที่ยว ราคาไม่แพง เริ่มต้นตัวละ 100 บาท ที่จริงแล้วไม่ใช่สินค้าของแท้จากไทย แต่มาจากย่านแหล่งค้าส่งเสื้อผ้าชื่อดัง อาทิ โบ๊เบ๊ ประตูน้ำ โรงเกลือ คาดว่าผลิตมาจากประเทศจีน

โดยเจ้าของร้านจำหน่ายเสื้อผ้าในย่านประตูน้ำ ยอมรับว่า ตลาดเสื้อผ้าที่ขายในไทยไม่ว่าจะในย่านโบ๊เบ๊ หรือประตูน้ำ ผลิตในไทยเพียง 30% ที่เหลือ 70% เป็นการจ้างผลิตนอกประเทศหรือนำเข้าจากจีน

ดังนั้น ผู้ผลิตคนไทยที่เป็นคนคิดค้นจึงไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และยังถูกละเมิดลิขสิทธิ์!!

เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญ และยังพบว่าไม่เพียงกางเกงช้างที่ถูกสินค้าจีนตีตลาด แต่รวมไปถึงของใช้ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะที่ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ล้วนเป็นของจีนทั้งนั้น

เอกชนนำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาเรียกร้องต่อปัญหาสินค้าจีนตีตลาดไทย ตั้งแต่เมื่อกลางปี 2566 ให้ข้อมูล อุตสาหกรรมไทยได้รับผลกระทบมากขึ้น จากปกติถูกจีนตีตลาดเพียง 5-6 อุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันกระจายไปถึง 20 อุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องจักรกลโลหการ เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือแพทย์ เคมีแก้วและกระจก อาหารและเครื่องดื่ม (เนื้อสัตว์) อัญมณีและเครื่องประดับ เยื่อและกระดาษ การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ไม้อัด ไม้บาง เซรามิก หัตถกรรมสร้างสรรค์ หล่อโลหะ เหล็กพลาสติก และปิโตรเคมี

ส.อ.ท.เรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหา เพราะผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบ โดยเฉพาะประเด็นภาษี ที่ผู้ประกอบการไทยต้องเสียตั้งแต่บาทแรก คือเมื่อมีการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้ และอื่นๆ ทุกกระบวนการการผลิตและค้าขาย

ขณะที่สินค้าค้าส่งจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จีน ใช้ช่องว่างจากการขนส่งพัสดุส่วนบุคคล ทำให้ได้รับยกเว้นภาษีอากรขาเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีที่สินค้ารวมแล้วราคาต่ำกว่า 1,500 บาท

รวมไปถึงมีสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่เข้ามาผ่านเขตปลอดภาษี เข้ามาผ่านชายแดนค้าส่งด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการปลัดกระทรวงการคลังหารืออธิบดีกรมสรรพากร และอธิบดีกรมศุลกากรทันที เพื่อหาแนวทางเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ให้ผู้ประกอบการในประเทศเสียเปรียบ ตลอดจนแนวทางอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาให้สำเร็จ

จากนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง “ลวรณ แสงสนิท” ได้เรียกประชุมกับกรมสรรพากร และกรมศุลกากร ให้ไปร่วมกันศึกษาและแก้ไขข้อกฎหมายเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีอากร สำหรับสินค้านำเข้าราคาไม่เกิน 1,500 บาท รวมถึงกฎหมายที่ผูกไว้ด้วยกัน คือ การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) สำหรับสินค้ากลุ่มดังกล่าว

“ธีรัชย์ อัตนวานิช” อธิบดีกรมศุลกากร ระบุว่า กรมศุลกากรและกรมสรรพากรได้รับคำสั่งให้ร่วมกันทบทวนเรื่องกฎหมาย และระบบที่จะใช้จัดเก็บภาษี กำหนดระยะเวลาทำงานให้แล้วเสร็จภายในปี 2567-2568

พร้อมให้ข้อมูลว่า ต่างประเทศ สินค้าที่นำเข้าในลักษณะส่งระหว่างบุคคลนั้น มีการยกเว้นอากรเหมือนกัน แต่ไม่ได้ยกเว้นภาษีแวต ขณะที่ประเทศไทย กฎหมายระบุให้ยกเว้นทั้งอากรขาเข้า และกฎหมายยังไปผูกให้ยกเว้นภาษีแวตด้วย

ดังนั้น ต้องไปแก้ไขกฎหมาย และหาวิธีการจัดเก็บภาษีแวตผ่านกรมศุลฯ ซึ่งสินค้าทุกชิ้นมีใบสำแดงรายการอยู่แล้ว รวมถึงด่านใหญ่ๆ อย่างสนามบินก็มีเครื่องเอ็กซเรย์ ดังนั้น คงไม่ใช้การเปิดตรวจทุกกล่อง

ขณะที่การกำหนดราคาสินค้าที่ 1,500 บาท เป็นการปรับเพิ่มตามการเติบโตของเศรษฐกิจ เริ่มแรกของกฎหมายกำหนดสินค้าราคาไม่เกิน 500 บาท และขยับมาที่สินค้าราคาไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งการทบทวนเรื่องเกณฑ์การกำหนดราคาสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีนั้น ถ้าถามว่า 1,500 บาทเหมาะสมหรือไม่ ต้องดูตามระดับรายได้ และเปรียบเทียบกับประเทศที่ระดับเดียวกันอย่างประเทศเพื่อนบ้านว่ากฎหมายกำหนดระดับเดียวกันไหม

“สิ่งที่เอกชนเรียกร้อง เพราะเข้าใจว่าเกณฑ์ราคาไม่เกิน 1,500 บาท ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีแวตไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เป็นเพราะกฎหมายล็อกไว้ให้อยู่ด้วยกัน ต่อให้ปรับเกณฑ์การเว้นอากรลดไป 500 บาท หรือเพิ่มเพดาน 2,000 บาท แต่ถ้าไม่แก้กฎหมายก็ยังเก็บแวตไม่ได้อยู่ดี โดยเกณฑ์ราคา 1,500 บาทของไทย ใกล้เคียงกับประเทศในอาเซียน” อธิบดีกรมศุลกากรทิ้งท้าย

ตรวจสอบข้อมูลประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนนั้น พบว่ามีการใช้หลักเกณฑ์สำหรับการยกเว้นภาษีนำเข้าเช่นกัน โดยประเทศที่กำหนดเกณฑ์ใกล้เคียงไทย อาทิ กัมพูชา และเมียนมา กำหนดเพดานไม่เกิน 50 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,788 บาท) และเวียดนาม กำหนดที่ไม่เกิน 40 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,431 บาท) ส่วนไทย 47 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,500 บาท)

โดยเรื่องการแก้ไขกฎหมาย กระทรวงการคลังพยายามเร่งให้เร็วที่สุด เบื้องต้นกระทรวงคลังมองว่าการแก้กฎหมายไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งกรมสรรพากรผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2563 แล้ว แต่เรื่องได้เงียบไป จนเกิดกระแสกางเกงช้างจึงทำให้รัฐบาลกลับมาจริงจังกับประเด็นนี้

แต่สิ่งที่ต้องศึกษาคือ วิธีการจัดเก็บภาษี เนื่องจากสถิติข้อมูลสินค้าเร่งด่วนนำเข้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เกิน 1,500 บาท ในปีงบประมาณ 2564 มีปริมาณสินค้า 40.82 ล้านหีบห่อ ปีงบฯ 2565 อยู่ที่ 47.05 ล้านหีบห่อ และปีงบฯ 2566 อยู่ที่ 56.83 ล้านหีบห่อ

โดยกรมศุลฯ ต้องพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อช่วยกรมสรรพากรจัดเก็บภาษี หรืออาจจัดเก็บบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ขายสินค้าให้กับไทย และให้แพลตฟอร์มจดทะเบียนและนำส่งภาษีมาที่ไทย

แนวทางสุดท้ายจะเป็นอย่างไร และไทยจะแก้เกมครั้งนี้ได้ทันการหรือไม่ ต้องจับตา!!