ลึงคบรรพต | ‘ศิวลึงค์ธรรมชาติ’ ที่วัดพู จำปาสัก สืบทอดความศักดิ์สิทธิ์ดั้งเดิมมาจากศาสนาผี

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมื่อราวๆ พ.ศ.1100 บันทึกจีนโบราณฉบับหนึ่งที่มีชื่อว่า “สุยสู่” (Sui-shu, คือพงศาวดารฉบับราชวงศ์สุย) อ้างถึงข้อความของชาวจีนที่ชื่อ “หม่าตวนหลิน” (Ma Tuan-Lin) ซึ่งได้เดินทางไปยังดินแดนของพวกเขมรโบราณ ที่ถูกเรียกในสำเนียงแบบจีนว่า “เจนละ” โดยมีข้อความตอนหนึ่งระบุเอาไว้ว่า

“บริเวณใกล้เมืองหลวง มีภูเขาที่ชื่อว่า ‘ลิงเกียโปโป’ มีทางขึ้นไปสู่วิหารของ ‘โปโตลิ’ บนยอดเขา ที่ซึ่งมนุษย์ได้ถูกนำขึ้นไปบูชายัญ โดยมีนายทหารเฝ้าอยู่หนึ่งพันนาย”

ยอร์ช เซเดส์ (George Cœdès, พ.ศ.2429-2512) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการอ่านจารึกอุษาคเนย์ ชาวฝรั่งเศส ได้ทำการถ่ายถอดเสียงในเอกสารจีนโบราณที่ว่า โดยเซเดส์ได้เสนอว่า “ลิงเกียโปโป” ตรงกับคำว่า “ลึงคบรรพต” ส่วน “โปโตลิ” นั้น มาจากคำว่า “ภัทเรศวร”

ผมไม่ทราบชัดเจนว่าเซเดส์มีเกณฑ์มาตรฐานในการถ่ายถอดเสียงเหล่านี้อย่างไร? แต่เซเดส์ยังได้สันนิษฐานต่อไปอีกด้วยว่า ลิงเกียโปโป ที่เอกสารจีนฉบับนี้หมายถึงอยู่ที่ วัดพู (สะกดตามอักขรวิธีในภาษาลาว) แคว้นจำปาสัก ทางตอนใต้ของประเทศลาวในปัจจุบันนี้

ไม่ว่าข้อสันนิษฐานของเซเดส์จะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ก็ดูคล้อยตามอย่างที่ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยอะไรนัก ส่วนหนึ่ง ซึ่งก็ดูจะเป็นส่วนที่สำคัญเป็นอย่างมาก คงเป็นเพราะภูเขาที่เป็นที่ตั้งของ “วัดพู” ก็ถูกนับถือว่าเป็น “ลึงคบรรพต” ตามอย่างที่เซเดส์ถ่ายถอดคำออกมานั่นแหละครับ

 

“ลึงคบรรพต” หมายถึง “ภูเขายอดลึงค์” ส่วนคำว่า “ลึงค์” นั้นหมายถึง “อวัยวะเพศชาย” ซึ่งผมคงไม่จำเป็นต้องอธิบายว่าคืออะไรให้มันมากความ

ภูเขาแบบนี้มักจะมียอด หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของภูเขา ที่เป็นแท่ง (หิน) โล้นๆ ดูเด่นเป็นสง่า เห็นเป็นจุดสังเกตได้ง่ายมาแต่ไกล ซึ่งมักถือกันว่า เฮี้ยนหรือศักดิ์สิทธิ์ จึงมักถูกสักการะ และเคารพบูชาอยู่เนืองๆ

ภูเขายอดลึงค์แบบที่ว่านี้ มีศัพท์ของพวกพราหมณ์เรียกเป็นการเฉพาะว่า “สวยัมภูลึงค์” คือ “ลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ” ซึ่งในกรณีของพวกพราหมณ์จะถือว่า ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าลึงค์ทำมือของมนุษย์เป็นไหนๆ

“ปราสาท” ของพวกขอม (ซึ่งไม่ได้หมายถึงพระราชวัง แต่หมายถึงศาสนสถาน ไม่ว่าจะเป็น เทวาลัยของเทพเจ้าพราหมณ์-ฮินดู หรือวัดในพระพุทธศาสนา) ที่สร้างขึ้นภูเขาหลายแห่ง แต่เดิมก่อนที่จะมีการสร้างปราสาทก็ถูกถือว่าเป็น “ลึงคบรรพต” และมี “สวยัมภูวลึงค์” อยู่บนนั้นเหมือนกันอยู่หลายแห่งเลยทีเดียว

ปราสาทตาเมือนธม อันเป็นปราสาทหลังใหญ่ และสำคัญที่สุดในกลุ่ม ปราสาทตาเมือนทั้ง 3 หลัง (อีก 2 หลังคือ ปราสาทตาเมือน และปราสาทตาเมือนโต๊ด โดยปราสาทกลุ่มดังกล่าวกระจายตัวคร่อมอยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา กับเขตพื้นที่ จ.สุรินทร์ แต่มีเฉพาะปราสาทตาเมือนธม ที่อยู่ในอาณาเขตของประเทศกัมพูชา) ก็มีรูปเคารพประธานเป็นศิวลึงค์ แต่ก็เป็นศิวลึงค์ที่สลักขึ้นจากหินบนพื้นลานที่สร้างปราสาทครอบทับไว้

ที่สำคัญก็คือ องค์ศิวลึงค์ประธานที่ปราสาทแห่งนี้ ยังติดอยู่เป็นเนื้อเดียวกันกับลานหินอยู่เลยนะครับ

 

ลักษณะอย่างนี้ สามารถเทียบเคียงได้กับปราสาทพนมรุ้ง ที่ จ.บุรีรัมย์ ก็มีรูปเคารพประธานเป็นศิวลึงค์ และสร้างขึ้นบนลานหินเหมือนกันกับที่ปราสาทตาเมือนธม เพียงแค่หินบนลานนั้นไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันกับองค์ศิวลึงค์ประธานที่ว่า แต่เป็นเนื้อเดียวกับองค์ปราสาทเลยต่างหาก

เพราะชุดฐานบัวชั้นล่างสุด ที่ปราสาทประธาน ของปราสาทพนมรุ้งก็สลักขึ้นจากหินก้อนใหญ่ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติบนยอดเขาพนมรุ้ง แสดงให้เห็นว่าแต่เดิมมีการบูชาหินใหญ่ก้อนนี้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อในวัฒนธรรมการบูชาหิน (megalithic culture) มาก่อนหน้าที่จะมีการสร้างปราสาทหลังนี้เมื่อหลัง พ.ศ.1650 แล้ว

ที่สำคัญคือ บนยอดเขาพนมรุ้ง ยังมีปราสาทอิฐอีก 2 หลัง ที่มีอายุอยู่ในช่วง พ.ศ.1500 ซึ่งอาจสร้างในสมัยของพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 นั้น ก็สร้างขึ้นอยู่ทางด้านข้างของเจ้าหินใหญ่ก้อนนี้

นัยว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่เคารพบูชาเจ้าหินใหญ่ โดยในสมัยนั้นอาจถูกจับบวชเข้าไปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยถือว่าเป็น “สวยัมภูวลึงค์” คือศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งถือกันว่าเป็นศิวลึงค์ประเภทที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด

และจึงไม่แปลกอะไรนักที่เมื่อจับบวชหินใหญ่ในศาสนาผี ให้กลายมาเป็นศิวลึงค์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแล้ว ก็จะตั้งชื่อเรียกเจ้าหินศํกดิ์สิทธิ์ก้อนนี้ว่า “กมรเตง ชคต วนํรุง”

 

ยิ่งเมื่อมีการใช้หินใหญ่ ก้อนเดียวกันนี้เองมาสลักเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทพนมรุ้ง จึงเป็นการควบรวมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีดั้งเดิม เข้าเป็นหนึ่งเดียวกับความศักดิ์สิทธิ์ของปราสาทพนมรุ้ง

ลานหินทั้งที่ปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทตาเมือนธมนั้น จึงกลายเป็นเนื้อเดียวกันกับองค์ปราสาท และองค์ปราสาทเองก็กลายเป็นเนื้อเดียวกันกับความศักดิ์สิทธิ์ของลานหินไปพร้อมกันด้วย ซี่งถือเป็นสถานที่สำคัญในทางความเชื่อมาแต่เดิม ตั้งแต่เมื่อผู้คนยังนับถือศาสนาผีพื้นเมืองสุวรรณภูมิแล้ว

ดังนั้น เมื่อครั้งที่พวกเขมรในยุคโบราณ เลือกที่จะสร้างปราสาทตาเมือนธม หรือปราสาทพนมรุ้ง ขึ้นที่นั่น ก็เป็นเพราะสถานที่นั้นศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่ยุคก่อนสร้างปราสาท เพราะถือว่าเป็นลึงคบรรพต และสวยัมภูวลึงค์

เพียงแต่อาจจะเป็น “ลึงค์” ในศาสนาผีพื้นเมือง สุวรรณภูมิ ที่ยังเหลือคำศัพท์เรียกค้างมาจนกระทั่งปัจจุบันว่า “ปลัดขิก” ต่อมาพวกพราหมณ์จึงค่อยมโนเอาว่า เป็น “ศิวลึงค์” คือลึงค์ของพระอิศวร หรือที่เรียกอีกชื่อก็ได้ว่าพระศิวะในภายหลัง

แต่ไม่ว่าจะเป็นลึงค์ในลัทธิความเชื่อไหน ก็ยังถือว่าลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษ และก็นับเป็น “ลึงคบรรพต” เหมือนกัน

 

ที่ “วัดพู” ก็เป็น “ลึงคบรรพต” ปัจจุบันชาวบ้านละแวกใกล้เคียงเรียกภูเขาที่ตั้งของวัดพูว่า “ภูเก้า” ด้วยเห็นว่ามียอดหนึ่งบนเขาเป็นโขดหินเด่นขึ้นมา เหมือนเส้นผมที่ถูก “เกล้า” ขึ้นเป็นมวย (ภาษาลาวไม่ใช้คำควบกล้ำ ซึ่งเป็นแบบแผนที่ไทยไปรับจากเขมรมาอีกทอดหนึ่ง จนทำให้ภาษาไทยต่างออกจากภาษาลาวไปไกลอีกขั้น)

ตรงนั้นแหละครับ ที่ถูกถือว่าเป็น “ลึงค์ธรรมชาติ” มาตั้งแต่อดีต จนต้องมีการสร้าง “ปราสาทวัดพู” ขึ้นมาด้วยถือว่าภูเก้าเป็น “ลึงคบรรพต” อันศักดิ์สิทธิ์ จนต้องสร้างปราสาทอยู่ที่เชิงเขาทางด้านหน้า ตามอย่างที่เห็นอยู่ในโปสเตอร์ที่ผมนำมาประกอบนี้เลย (ทริปยังไม่เต็ม สามารถสอบถามเพิ่มเติมตามรายะละเอียดในภาพประกอบได้ตามสะดวกเลยครับ)

“ภัทเรศวร” หรือที่ในเอกสารจีนเล่มที่ผมกล่าวถึงตั้งแต่ตอนต้นของข้อเขียนชิ้นนี้เรียกว่า “โปโตลิ” จึงได้ถูกสถาปนาขึ้นให้เป็นประธานของปราสาทวัดพู ซึ่งเป็นสถานที่จำลองเอาความศักดิ์สิทธิ์ของ “ลึงคบรรพต” บนภูเก้ามารวบรวมไว้ที่นั่น

และจึงยิ่งไม่น่าประหลาดใจเลยที่ “โปโตลิ” หรือ “ภัทเรศวร” จะเป็น “ศิวลึงค์”

แต่ “ภัทเรศวร” ไม่ใช่ชื่อ “ศิวลึงค์” เท่านั้น เพราะยังหมายถึงตัวภูเขาคือ “ลึงคบรรพต” ที่ถูกจำลองความศักดิ์สิทธิ์ลงมาเป็นองค์ศิวลึงค์นี้ด้วย เราจึงเห็นได้ว่าในจารึกขอมหลายหลักมีการอ้างอิงถึงปราสาท “วัดพู” ในชื่อลึงคบรรพต

 

ที่สำคัญอีกอย่างคือ ชื่อ “ภัทเรศวร” นั้นไม่ใช่พวกขอมคิดเอาเองนะครับ แต่เป็นชื่อศิวลึงค์ศักดิ์สิทธิ์ของพวกจามมาก่อน

ในช่วงระหว่าง พ.ศ.850-950 พระเจ้าภัทรวรมัน ได้ประดิษฐานศิวลึงค์ที่ชื่อ “ภัทเรศวร” ไว้ที่เทวาลัย (ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นจากไม้) บนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ชื่อ เขาวุกวาน (Vugvan) หรือที่คนไทยเรียกว่าเขารังแมว ในเมืองหมี่เซิ่น ทางตอนกลางของประเทศเวียดนามปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของพวกจามในสมัยโบราณ

(หลังจากที่พระเจ้าภัทรวรมัน สถาปนาศิวลึงค์องค์นี้ ก็เกิดธรรมเนียมการสถาปนา “ศิวลึงค์” ด้วยพระนามของกษัตริย์ผู้สร้าง บวกด้วยคำว่า “อิศวร” ซึ่งแปลว่าได้ทั้งพระศิวะ หรือผู้เป็นใหญ่ต่อท้าย เช่น ภัทรวรมัน ก็เป็น “ภัทร” บวกด้วย “อิศวร” กลายเป็น “ภัทเรศวร” เป็นต้น ธรรมเนียมนี้ได้ส่งต่อไปให้กับพวกขอม และมีบทบาทอย่างมากในลัทธิเทวราชา)

มีหลักฐานว่า ภูเขาวุกวานแห่งนี้ก็ถูกชาวจามเรียกว่า ลึงคบรรพต เหมือนกับที่วัดพูด้วย

ชื่อภัทเรศวรนี้จึงเป็นชื่อของศิวลึงค์ศักดิ์สิทธิ์มาแต่เดิม นอกจากที่พวกขอมจะจำลองเอาความศักดิ์สิทธิ์ของลึงคบรรพตที่ภูเก้า มาใส่ไว้ในรูปศิวลึงค์ทำมือโดยมนุษย์ที่วัดพูแล้ว ยังได้จำลองเอาความศักดิ์สิทธิ์ของลึงคบรรพต ที่เมืองหมี่เซิ่นของพวกจามมาไว้พร้อมกันนี้ด้วย

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็ได้มีการจำลองเอาภัทเรศวร ที่วัดพู ไปประดิษฐานเอาไว้ในที่อื่นด้วย เช่นเดียวกับการจำลองพระแก้วมรกต พระพุทธชินราช หรืออีกมากมายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในปัจจุบัน

และถึงแม้ว่าปัจจุบัน ศิวลึงค์ภัทเรศวร ที่วัดพู จะถูกคนในยุคเราเอาพระพุทธรูปมาตั้งไว้แทนที่แล้วก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ภัทเรศวร” ที่ภูเก้า วัดพู คือศิวลึงค์ที่ศักดิ์สิทธิ์ และมีชื่อเสียงที่สุดในอุษาคเนย์ยุคโบราณ •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ