‘ชนชั้น’ ในไทย สมัยแรก

ชนชั้นสมัยเริ่มแรกมีในชุมชนเกษตรกรรม 3,000 ปีมาแล้ว พบหลักฐานจากพิธีกรรมหลังความตาย

ชนชั้นนำ มีฐานะทางสังคมเหนือคนทั่วไปในชุมชนเดียวกัน

ผู้หญิงมีอำนาจเหนือผู้ชาย (หรือเป็นใหญ่ในพิธีกรรม) ดูได้จากพิธีกรรมของชุมชนเผ่าพันธุ์ ซึ่งแต่ละชุมชนเผ่าพันธุ์มีพิธีกรรมตลอดปี (12 เดือน) แต่ละพิธีมีครั้งละนานเป็นเดือน

ในพิธีกรรมมีผู้หญิงเป็นใหญ่ หรือเป็นหัวหน้าประกอบพิธี ซึ่งเรียก “แม่หมอ” (คำว่า “แม่” หมายถึง ผู้เป็นใหญ่หรือหัวหน้า) เพราะเป็นผู้มีพลังแก่กล้าสื่อสารกับผีฟ้า (อยู่บนฟ้า) แล้วเชิญผีฟ้ามาบำบัดโรคภัยไข้เจ็บและกำจัดผีร้ายได้ จึงได้รับยกย่องเป็นหมอ เรียกแม่หมอ [ตรงกับภาษาเขมรว่า เมม็วต หรือ มะม็วต ไทยเรียกตามคำเขมรว่าแม่มด หมายถึงแม่หมอ (คำว่า มด กับ หมอ มีความหมายเดียวกัน คือผู้ชำนาญ หรือผู้เชี่ยวชาญ จึงมีภาษาพูดทั่วไปเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยต้องไป “หามดหาหมอ”) แต่โดยทั่วไปในไทยมักเข้าใจว่าแม่หมอ หรือแม่มด คือหมอผี (มีความหมายทางลบ)]

ผู้ชายมีอำนาจนอกพิธีกรรม ได้แก่ ปะทะการบุกรุกปล้นสะดมจากชุมชนเผ่าพันธุ์อื่น, ปกป้องและไล่ล่าสัตว์ร้ายขนาดใหญ่ (เช่น ช้าง, เสือ ฯลฯ) เป็นต้น

ชนชั้นนำเพศหญิงเริ่มแรกในไทย “เจ้าแม่โคกพนมดี” (ชื่อสมมุติของโครงกระดูกเพศหญิง) ที่ประดับประดาด้วยลูกปัดเปลือกหอย (แบบตัว I และแบบแว่นกลมบาง) มากกว่า 100,000 เม็ด (ราวหนึ่งแสนเม็ด) นอกจากนั้นยังพบแผ่นวงกลมมีเดือย, กำไลข้อมือ, เครื่องประดับศีรษะ ฯลฯ อายุราว 3,000 ปีมาแล้ว (ขุดพบที่โคกพนมดี อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี)

พิธีกรรมหลังความตาย

มี 2 ระดับ คือชาวบ้านทั่วไป กับ ชนชั้นนำ

ชาวบ้านทั่วไป เมื่อมีคนตาย เอาศพวางให้แร้งกากิน (ไม่ฝังศพ)

ชนชั้นนำ เมื่อตาย ต้องมีพิธีกรรมใหญ่โต และมีที่ฝังศพของชนชั้นนำและโคตรตระกูลอยู่ลานกลางบ้าน ซึ่งเป็นศูนย์กลางพิธีกรรมของชุมชน

1. พื้นที่ฝังศพ โดยทั่วไปเป็นพื้นที่พิเศษอยู่ในชุมชน (ไม่อยู่นอกชุมชน) ที่สมัยหลังเรียก “ลานกลางบ้าน” เป็นที่ฝังศพของชนชั้นนำและโคตรตระกูลของชุมชนนั้น ซึ่งเป็นโคตรตระกูลใหญ่มีฐานะทางสังคมลดหลั่นไป ได้แก่

หัวหน้าเผ่าพันธุ์ มีเครื่องใช้และเครื่องประดับคับคั่ง และ โคตรตระกูลเครือญาติทั่วไป เครื่องใช้และเครื่องประดับไม่มาก (หรือไม่มี)

แต่บางแห่งมีลักษณะเฉพาะต่างจากแหล่งทั่วไป คือ โคกพนมดี (อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี) เนินดินเนื้อที่ 30 ไร่ สูงประมาณ 12 เมตรจากพื้นราบ โดดเด่นอยู่กลางทุ่งนากว้างไกล เป็นที่ฝังศพชนชั้นนำและโคตรตระกูล มีเครือญาติหลายระดับลดหลั่นเกือบ 200 โครง

โคกพนมดีเป็นเนินดินสูง ตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งนากว้างใหญ่ล้อมรอบในเขต อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี [โคก แปลว่า ที่เนินสูง, พนม เป็นภาษาเขมรแปลว่าภูเขา, ดี กลายจาก ฎี ในภาษาเขมร (อ่านว่า เด็ย) แปลว่าดิน เมื่อรวมความแล้ว “โคกพนมดี” หมายถึงเขาดิน]

เนินดินโคกพนมดีไม่ใช่ที่อยู่อาศัย แต่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับพิธีกรรมของเผ่าพันธุ์ ได้แก่ (1.) ฝังศพ เฉพาะชนชั้นนำและโคตรตระกูล (2.) พิธีกรรมเซ่นผี มีประจำทั้งปี มีคราวละหลายวัน ได้แก่ ขึ้นฤดูกาลใหม่ (เดือนอ้าย), เซ่นแม่ข้าว (แม่โพสพ), เซ่นผีเครื่องมือทำหากิน (เดือน 5) เป็นต้น

ที่อยู่อาศัยของชนชั้นนำและโคตรตระกูลเป็นเรือนครื่องผูกอยู่บริเวณที่ราบรอบเนินดินและปริมณฑล อยู่ปนกันกับประชากรทั่วไป

2. หลุมฝังศพ ถูกขุดดินเตรียมไว้ก่อนด้วยแรงงานคนจำนวนหนึ่งในชุมชน ซึ่งเป็นบริวาร (สมัยหลังเรียก “บ่าวไพร่”) ของชนชั้นนำ

สัญลักษณ์ของอำนาจ (ซ้าย) วัตถุคล้ายกำไลมีขอบหยักๆ ทำจากกระดองเต่า หรือกระดองตะพาบ และหิน (ควอทไซท์?) ขุดพบที่บ้านโคกพลับ ต.โพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี (ภาพจากหนังสือ ราชบุรี กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2534 หน้า 70) (ขวา) ดินเผาคล้ายกำไลมีขอบหยักๆ ขุดพบที่อีสาน (ไม่มีข้อมูล)

3. สิ่งของมีค่าในหลุมศพ นอกจากร่างคนตายแล้ว หลุมศพชนชั้นนำยังมีสิ่งของมีค่ากับสัญลักษณ์อำนาจฝังรวมด้วย

(ก.) สัญลักษณ์ของอำนาจ คล้ายกำไลคล้องข้อมือหรือแขน บางแห่งพบวัสดุวงกลมเจาะกลวง ขอบหยัก เป็นตัวแทนขวัญของคนตาย หรือประเพณีผูกข้อต่อแขน

ชนชั้นนำเมื่อยังไม่ตาย มีเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันเป็นของมีค่าซึ่งมีเทคโนโลยีสูง ครั้นตายไปก็เอาสิ่งของเหล่านั้นฝังรวมกับศพด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามความเชื่อว่าขวัญไม่ตาย แต่มีวิถีปกติ เพียงจับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น และต้องมีสิ่งของเครื่องใช้ปกติเหมือนยังไม่ตาย

สัญลักษณ์สายขวัญในหลุมศพ ทำจากวัสดุมีค่า เช่น กระดองเต่า, กระดองตะพาบ, หินหายาก, โลหะ เป็นต้น มีทั้งทรงกลมมีขอบเป็นหยักๆ และทรงกลมรูปกำไลไม่มีหยัก แล้วสวมข้อมือหรือข้อเท้าคนตาย เสมือนผูกข้อมือในพิธีสู่ขวัญปกติเพื่อเชิญขวัญสิงร่างคนตายจะได้ฟื้นคืนชีวิต

อีกแบบหนึ่งของสัญลักษณ์สายขวัญ ได้แก่ วัตถุทรงกลมแบน มีขอบนอกเป็นหยัก (คล้ายกงจักร) แล้วเจาะกลางกลวงกว้าง (คล้ายกำไล) ขุดพบสภาพเดิมคล้องข้อมือข้างขวาของโครงกระดูกศพมนุษย์ 2 โครง ซึ่งฝังดินราว 2,500 ปีมาแล้ว บริเวณที่ราบลุ่มต่ำบ้านโคกพลับ ต.โพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี [จากรายงาน “การฏิบัติงานขุดสำรวจแหล่งโบราณคดีที่โคกพลับ จังหวัดราชบุรี” ของ สด แดงเอียด พิมพ์ในนิตยสาร ศิลปากร (ปีที่ 22 เล่มที่ 4) พ.ศ.2521 หน้า 22-30]

(ข.) เครื่องประดับจำนวนมาก ทำจากวัสดุมีค่า มาจากชุมชนห่างไกลที่มีการติดต่อถึงกัน

(ค.) เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ทำจำลองใช้เฉพาะพิธีศพ (ส่วนมากมักไม่ใช้ในชีวิตจริง)

(ง.) แผ่นไม้รองรับซากศพ

(จ.) โปรยดินเทศ (ผงสีแดง) ทั่วซากศพ

4. เฮือนแฮ้ว หมายถึงเรือนผี คือเรือนจำลองจากเรือนจริงใช้ปลูกคร่อมหลุมฝังศพให้ผีขวัญเจ้าของโครงกระดูกที่ฝังในดินได้ใช้งานเหมือนยังไม่ตาย ซึ่งยังพบสืบเนื่องในประเพณีฝังศพของผู้ไทในเวียดนาม

นักโบราณคดีขุดค้นที่โคกพนมดี อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี พบร่องรอยแล้วมีรายงานว่า “บริเวณที่ฝังศพมีรอยวงกลมของหลุมเสาเป็นระยะล้อมรอบอยู่ สันนิษฐานว่ามีอาคารไม้สร้างคลุมหลุมฝังศพ”

[ภาพและข้อมูลจากหนังสือ สยามดึกดำบรรพ์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยสุโขทัย โดย ชาร์ลส ไฮแอม และ รัชนี ทศรัตน์ (ฉบับภาษาไทย) สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ พิพม์ครั้งแรก พ.ศ.2542 หน้า 55] •