เรื่องสนุก ๆ ของ We Are the World บทเพลงทรงคุณค่าของอภิมหาศิลปินอเมริกันยุค 80’s

อัษฎา อาทรไผท

ใครก็ตามที่มีดนตรีในหัวใจ และฟังเพลงมานานแล้วสักหน่อย ต้องเคยได้ฟังเพลง We Are the World บทเพลงสุดยิ่งใหญ่ ที่เกิดจากการวมพลังของศิลปินดังอเมริกัน เพื่อหาทุนช่วยเหลือผู้อดอยากเอธิโอเปียในยุค 80’s ที่ยังคงดังกึกก้องมาจนถึงปัจจุบันนี้ แถมยังเป็นต้นแบบของการมารวมกันร้องเพลงของศิลปินดังบ้านเรา เพื่อประโยชน์ส่วนรวมในเวลาต่อมา อย่างเพลง ชีวิตสัมพันธ์ (อีสานเขียว) หรือ โลกสวยด้วยมือเรา เป็นต้น

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่โชคดี เกิดทันที่จะได้สัมผัสกับการเปิดตัวของซิงเกิลเพลงนี้ ในปีค.ศ. 1985 ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ที่นำเสนอเป็นมิวสิควีดีโอการถ่ายทำเบื้องหลังการบันทึกเสียงเพลงนี้ มีศิลปินดัง ๆ ทั่วฟ้าอเมริกา มาผลัดกันโชว์กล่องเสียง ร้องเพลงป็อปสุดเพราะ จังหวะไม่ช้าไม่เร็วกันให้ตระการหู (และตา) จนต้องตั้งหน้าต้องตารอการออกอากาศครั้งต่อไปอยู่หน้าทีวีทุกวันจนเจอ แล้วบันทึกเก็บไว้ใน้วนเทปวีดีโอ เพื่อดูซ้ำไปซ้ำมา

ทว่าเมื่อ 40 ปีก่อนนั้นผมไม่ได้ทราบเลยว่าบรรยากาศในห้องอัด และการทำงานของเหล่าศิลปินนั้นเข้มข้นขนาดไหน จนเพิ่งได้มีโอกาสชม The Greatest Night in Pop สารคดีเล่าเรื่องราวเบื้องหลังการทำเพลง We Are the World ที่เพิ่งมีออกให้ดูเมื่อเดือนมกราที่ผ่านมานี้เอง โดยการนำศิลปินจริงที่ได้ร่วมทำผลงานชิ้นนี้ มาย้อนความหลังเล่า พร้อมคลิ๊ปประกอบที่ไม่มีให้เห็นในมิวสิควีดีโอที่คุ้นเคยมา 4 ทศวรรษ ทำให้อรรถรสในการกลับมาฟังเพลงนี้อีกครั้ง แซ่บเวอร์ลึกซึ้งกว่าเดิมมาก

ถ้าใครชอบเพลงนี้ หรือรักในเสียงเพลง ขอแนะนำให้หาสารคดีนี้มาชม นอกจากจะได้มองเห็นทะลุมิติใหม่ของเพลงแล้ว เนื้อหายังสนุกมาก ๆ ไปกับกลิ่นไอของยุคสมัยนั้นอีกด้วย โดยผมจะหยิบบางเหตุการณ์จากการทำเพลงนี้มาเล่าให้ฟังเรียกน้ำย่อยสัก  5 เรื่องครับ

เพลง We Are the World ต้องเกิดขึ้นในเวลาจำกัด
หลังจากศิลปินและนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนชาวอเมริกัน Harry Belafonte ได้เห็นว่ากลุ่มศิลปินฝั่งอังกฤษภายใต้ชื่อ Band Aid ได้รวมตัวกันสร้างสรรค์เพลง Do They Know It’s Christmas? ออกมาเพื่อช่วยผู้หิวโหยชาวเอธิโอเปีย ที่อดอยากถึงขั้นล้มตายเป็นล้านคน ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1984 และสามารถหาทุนไปช่วยเหลือได้ดี

เขาคิดว่าศิลปินนอเมริกัน ก็ควรออกมาสร้างโปรเจคช่วยชาวเอธิโอเปียด้วย จึงร่วมมือกับนักระดมทุนและผู้จัดการศิลปินชื่อดัง Ken Kraken ที่เป็นคนดูแล Lionel Richie ศิลปินตัวพ่อในยุคนั้นมาเริ่มทำการใหญ่ทางเสียงเพลงในครั้งนี้ โดยพวกเขาได้ค่อย ๆ ใช้เครือข่ายต่าง ๆ ที่มี ชักชวนศิลปินแถวหน้าจากหลากหลายสังกัดให้มาร่วมงานกัน จนไป ๆ มา ๆ มีศิลปินระดับโลกชาวอเมริกันสนใจมาจิตอาสากันกว่า 40 ราย แถมได้สุดยอดโปรดิวเซอร์ Qunicy Jone มารันงานนี้ด้วย

ปัญหาคือ อเมริกากว้างใหญ่นัก ศิลปินดังมากมายขนาดนั้น จะให้มารวมพร้อมกันในห้องอัดเดียว วันเดียวกัน เวลาเดียวกันได้อย่างไร อย่าลืมว่าในยุค 80’s ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่สามารถทำอะไรออนไลน์ได้ ทุกอย่างต้องมาเจอกันตัวเป็น ๆ อัดกันสด ๆ

และพวกเขาก็เจอทางออก ในวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1985 จะมีงานใหญ่ของวงการดนตรี American Music Awards ขึ้นที่แอลเอ และแน่นอนว่าศิลปินจำนวนมากจะต้องมาร่วมงานนี้ และเวลาหลังเลิกงานจะเป็นเวลาเดียว ที่เหล่าศิลปินทั้งหมดจะมาเข้าห้องอัดเสียงร่วมกันได้ ก่อนจะแยกย้ายกันไปคนละทิศละทางในวันรุ่งขึ้น แต่นั่นแปลว่าเขาจะมีเวลาเตรียมงานกันไม่ถึงเดือน!

แต่งเพลงเสร็จก่อนบันทึกเสียงไม่ถึงสัปดาห์
เบื้องต้น Lionel Richie ตั้งใจจะร่วมเขียนเพลงนี้กับ Micheal Jackson และ Stevie Wonder สองศิลปินนักแต่งเพลงตัวท๊อปแห่งยุคนั้น แต่มีเพียง Micheal Jackson เท่านั้นที่รับโทรศัพท์ พวกเขาโทรหา Stevie อย่างไงก็ไม่รับสาย ทิ้งข้อความไว้ในเครื่องบันทึกเสียงก็ไม่ตอบกลับ ทำให้ในที่สุดต้องตัดสินใจไปแต่งเพลงกันเองสองคนที่บ้านของ Micheal

Lionel เล่าว่าบรรยากาศการแต่งเพลงอยู่ท่ามกลางสิงสาราสัตว์ที่ Micheal เลี้ยงไว้ เดี๋ยวก็มีเสียงลิงกับนกแก้วที่พูดภาษาคนได้ทะเลาะกัน หรือบางทีก็ได้ยินเสียงฟ่อ หันไปก็ต้องตกใจ เพราะเจองูหลามของ Micheal โผล่หัวแลบลิ้นออกมา

แต่ในที่สุดพวกเขาก็แต่งเพลงได้สำเร็จทันไปอัดเสียงเวอร์ชั่นเดโม ในคืนวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1985 ครั้งนี้ Stevie Wonder มาด้วย และงงว่าทำไมไม่ชวนเขาไปแต่งเพลงนี้ด้วย แท้ที่จริงพี่แกไม่เคยรับสาย หรือโทรกลับ เลยไม่รู้เรื่อง สมัยนั้นอีเมล์ก็ไม่มี ไลน์กลุ่มก็ไม่มี เลยตกข่าวไป

ร่อนเดโมไปทั่วอเมริกา
เมื่อ We Are the World เวอร์ชั่นเดโมเสร็จแล้ว ทีมงานก็ส่งเทปเพลงไปยังเหล่าศิลปินที่จะมาร่วมร้องทางไปรษณีย์ ส่งไปอย่างลับสุดยอด จะต้องไม่มีคนนอกล่วงรู้เกี่ยวกับโปรเจคเพลงนี้ได้เลย มิเช่นนั้นการบันทึกเสียงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากบรรดานักข่าวและแฟนเพลงทราบ พวกเขาจะมาดักรอกันที่สตูดิโออัดเสียง ซึ่งนี่คืองานจิตอาสา ไม่มีสัญญาอะไรผูกมัด ศิลปินหลายท่านอาจจะไม่ยอมลงจากรถมาบันทึกเสียง

สำหรับเดโมที่ส่งไปคิดว่าบางคนก็ได้ฟัง บางคนก็ไม่ได้ฟัง เพราะเวลาจำกัดมาก ๆ หลายคนก็มาทำความคุ้นเคยกับเพลงตอนบันทึกเสียงเลย แต่ศิลปินระดับโปรเอาอยู่อยู่แล้วครับ

บันทึกเสียงโกลาหล
Qunicy Joan โปรดิวเซอร์ใหญ่ทราบดีว่า เมื่อบรรดาศิลปินใหญ่ ๆ มาอยู่รวมกันในห้องอัดเดียวกัน ทุกคนล้วนเป็นมือ 1 อาจจะเกิดปัญหาเขม่นกันขึ้นได้ เขาเลยเอากระดาษมาแปะไว้หน้าประตู บนกระดาษเขียนไว้ว่า “เอาอีโก้ของคุณฝากไว้หน้าประตูนี้นะ” ป้ายนี้น่าจะช่วยเตือนสติให้เหล่าศิลปินให้ความร่วมมือได้ดีขึ้น ซึ่งเมื่อบันทึกเสียงจริง ๆ ก็มีเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย เช่นอยู่ ๆ Stevie Wonder ก็จะขอเพิ่มเนื้อเพลงภาษา Swahili (ภาษาหนึ่งของอาฟริกา) เข้ามาในเพลง แต่เหล่าศิลปินงอแงไม่อยากร้อง จนมาจบที่มีคนบอกว่าที่เอธิโอเปียเขาพูดภาษาอื่น พี่ Stevie เลยยอม แต่ไม่ทันไร Micheal Jackson ก็อยากเติมเนื้อเพลงผสมแอดลิปที่ฟังดูแปลกๆ ตามสไตล์ของเขา กลางคันเช่นกัน แต่ก็ถูกปัดตกไปอย่างทันควัน

ในการบันทึกเสียงนี้ศิลปินส่วนใหญ่จะเป็นนักร้องเสียงดี แต่มีอยู่ท่านหนึ่งมีเสียงร้องเฉพาะตัว ไม่ได้เน้นเสียงดีแบบศิลปิน Soul แต่มาแนวนักร้องนักกวีมีสไตล์ นั่นคือ Bob Dylan ปูชนียบุคคลทางดนตรี ที่ปกติจะมีเสียงร้องแปล่ง ๆ คลายพูดงึมงำ ตอนบันทึกเสียงเขามีท่อนร้องเดี่ยว แต่เจ้าตัวร้องไม่ออก เพราะพยายามจะร้องเพราะ ๆ แบบคนอื่นเขา บันทึกเสียงไม่ผ่านสักที จนในที่สุด Stevie Wonder มาเชิญไปที่เปียโน แล้ว Stevie ก็บรรเลงเปียโนพร้อมร้องเพลงในแบบของ Bob Dylan ให้เจ้าตัวฟัง ซึ่ง Bob ก็จำไปร้องออกมาได้เป็นตัวเขามาก ๆ และบันทึกอยู่ในบทเพลงนี้อย่างงดงาม

 

ส่วน Al Jarreau นักร้องเสียงดีเจ้าของรางวัลแกรมมี่อวอร์ดส์ 7 ครั้ง สนุกกับการอัดเสียงมาก และตัดสินใจจะฉลองก่อนเสร็จงานด้วยการดื่มไวน์เป็นขวด ๆ ขณะบันทึกเสียงช่วงโซโล่ เขาเกิดเมาจนลืมเนื้อเพลงขึ้นมา ต้องเรียกสติกันยกใหญ่ สำหรับคนที่ไม่ได้เมาอย่าง Cyndi Lauper นักร้องสาวพั๊งค์ตัวจี๊ดในยุคนั้น ร้องอย่างดี แต่พอซาวด์เอนจิเนียร์เปิดฟังเช็คงาน พบว่ามีเสียงรบกวนตลอด ปรากฏว่าเวลาเธอร้อง Cyndi จะขยับตัวเยอะกว่าปกติ และเธอสวมสร้อยคอ กำไล เต็มแขนเต็มคอไปหมด เลยทำให้เกิดเสียงไม่พึงประสงค์ตอนบันทึกเสียง สุดท้ายต้องถอดออกหมดแล้วอัดเสียงใหม่

ความน่ารักก็มีเช่นกัน เช่นเมื่อ Ray Charles ศิลปินตาบอดรุ่นใหญ่อยากไปเข้าห้องน้ำ และถามว่าจะมีใครพาไปได้ไหม คนที่อาสาพาไปคือ Stevie Wonder ศิลปินตาบอดรุ่นหนุ่ม(ในตอนนั้น) แล้วสองคนก็จูงกันคลำทางไปห้องน้ำ สร้างรอยยิ้มให้บรรดาศิลปินที่ได้ยินเขาคุยกันมาก ที่เห็นคนตาบอดนำทางคนตาบอด

อีกหนึ่งความน่าปประทับใจคือเมื่ออยู่ ๆ Diana Ross ศิลปินหญิงชื่อดังร่ำไห้ออกมา ปรากฏว่าเธอบอกว่าเธอเศร้า ไม่อยากให้การอัดเสียงครั้งนี้จบลง เพราะเธอมีความสุขมาก ที่ได้มาอยู่ร่วมงานกับเหล่าศิลปินต่าง ๆ ในคืนนั้น

ยังมีอีกหลายเหตุการณ์สนุก ๆ น่าสนใจ ที่เกิดขึ้นในการบันทึกเสียงเพลงประวัติศาสตร์นี้ ผ่านมาตั้งเกือบ 40 ปี เพิ่งจะได้ทราบกันผ่านภาพเคลื่อนไหวด้วย ต้องไปดูต่อกันนะครับ และผมขอไม่เอาสถิติมาเล่าว่าเพลงนี้ยิ่งใหญ่แค่ไหน มีใครมาร่วมงานบ้าง หรือเรี่ยรายเงินได้แค่ไหน ถ้าคุณอยากทราบสามารถค้นหาได้ แต่ถ้าคุณอยากซึมซับบรรยากาศคืนอัดเสียง We Are the World อันน่าประทับใจนี้ ผมขอแนะนำให้ไปชม The Greatest Night in Pop สัก 3 รอบแบบผมครับ แล้วเพลง We Are the World จะเพราะกว่าเดิมอีกล้านเท่า 🙂