สงครามยูเครนปีที่ 3! | ศ.กิตติคุณ ดร. สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

สงครามยูเครนเดินเข้าสู่ปีที่ 3 ในปี 2024 อย่างไม่น่าแปลกใจ … สภาวะของสงครามในปีที่ 2 ซึ่งเห็นได้จากการรบในปี 2023 มีลักษณะของ “สงครามตรึงกำลัง” คล้ายกับปรากฎการณ์ที่เกิดในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในความเป็น “สงครามสนามเพลาะ” ที่กำลังรบของทั้ง 2 ฝ่ายถูกตรึงอยู่กับที่จากอำนาจการยิงของแต่ละฝ่าย จนกำลังทหารไม่สามารถเปิดการรุกไปข้างหน้าได้ และทำให้เกิดการ “ตรึงกำลัง” อยู่ในแนวสนามเพลาะ อันเป็นแนวป้องกันที่ถูกสร้างขึ้นอย่างแข็งแรงเพื่อรับการเข้าตีของข้าศึก กาารุกไปข้างหน้าจึงมีนัยถึงความสูญเสีย

สงครามยูเครนในปี 2023 โดยเปรียบเทียบแล้ว จึงมีความคล้ายคลึงกับสภาวะที่เกิดในแนวรบด้านตะวันตกของสงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุโรป และเห็นถึงความสูญเสียของชีวิตทหารจำนวนมากในสงครามสนามเพลาะ

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นปรากฎในรายงานของกระทรวงกลาโหมอังกฤษ ซึ่งระบุว่าจนถึงสิ้นปี 2023 กองทัพรัสเซียจะเสียทหารไปราว 500,000 นายในสงครามยูเครน แน่นอนว่า การเสียทหารไปมากถึงครึ่งล้านคนกับสนามรบในยูเครนนั้น ต้องถือเป็นความสูญเสียอย่างหนัก และพร้อมจะเป็น “ระเบิดเวลา” ในการเมืองรัสเซียอีกด้วย (รายงานของกระทรวงกลาโหมอังกฤษ อ้างอิงใน The Guardian, 6 มกราคม 2024)

อัตราการสูญเสียกำลังพลของรัสเซียในปี 2023 อยู่ที่ 300 นายต่อวัน ซึ่งถ้าความสูญเสียในอัตราเช่นนี้ยังดำเนินต่อเนื่องในปี 2024 จะทำให้กองทัพรัสเซียประสบปัญหาความขาดแคลนกำลังพลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะเห็นถึงการประกาศรับ “ทหารรับจ้าง” จากภายนอกประเทศ หรือสำหรับทหารรับจ้างจากภายในประเทศก็มีการประกาศให้นักโทษอาสาสมัครไปรบในยูเครน แทนการรับโทษในเรือนจำ

ตัวอย่างที่เห็นได้ในกรณีนี้คือ รัฐบาลเนปาลตัดสินใจไม่อนุญาตให้คนของตนเดินทางไปรัสเซียและยูเครน เนื่องจากมีชาวเนปาลที่เข้าร่วมรบกับกองทัพรัสเซียเป็นจำนวนมากกว่า 200 คน และรายงานล่าสุดคือ ทหารรับจ้างชาวเนปาลเสียชีวิต 10 นาย และสูญหายอีกเป็นจำนวนมาก ประมาณว่าสูญหายมากกว่า 100 นายในสนามรบที่ยูเครน แม้จะมีชาวเนปาลส่วนหนึ่งเข้าร่วมในกองทัพยูเครน แต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก (รายงานของกระทรวงการต่างประเทศเนปาล อ้างใน The Guardian, 6 มกราคม 2024)

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้นำรัสเซียพยายามอย่างมากที่จะแสดงให้สังคมในบ้านตัวเองเห็นว่า สงครามจำกัดอยู่แต่ในพื้นที่ของยูเครน และจะไม่กระทบกับพื้นที่ของแนวหลังเส้นเขตแดนรัสเซีย-ยูเครน แต่การโจมตีที่เกิดกับเมือง Belgorod ในช่วงปลายปี 2023 นั้น สะท้อนให้เห็นว่าสงครามสามารถเข้ามาถึง “บ้าน” ของชาวรัสเซียได้จริงแล้ว การสู้รบมิได้จำกัดอยู่แต่ในพื้นที่ของยูเครนเท่านั้น

ในทางยุทธการนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่ากองทัพอากาศยูเครนมีข้อจำกัด และมีความอ่อนด้อยกว่ากองทัพอากาศรัสเซียอย่างมาก กองทัพรัสเซียจึงพยายามอย่างมากในการเป็นผู้ “ครองอากาศ” เหนือน่านฟ้ายูเครน แต่ก็พบจากรายงานของกระทรวงกลาโหมอังกฤษว่า เครื่องบินรบรัสเซียถูกยิงตกอยู่เนืองๆ ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วงก่อนคริสต์มาสนั้น เครื่องบินรบรัสเซียแบบซู-34 ถูกยิงตก 3 ลำ จึงทำให้มีคำสั่งหยุดปฏิบัติการทางอากาศต่อพื้นที่ภาคใต้ที่กองทัพยูเครนเปิดการรุกตอบโต้กลับ

การไม่สามารถที่จะเป็นผู้ครองอากาศได้อย่างแท้จริงนั้น ทำให้กองทัพรัสเซียใช้การโจมตีทางอากาศด้วยอาวุธยิงระยะไกล เช่นจรวด หรือการโจมตีด้วยโดรน นอกจากนี้ ยังมีปรากฎการณ์ใหม่ด้วยการใช้จรวดจากเกาหลีเหนือในการโจมตีเมืองคาร์คีฟในวันที่ 2 มกราคม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พบหลักฐานของชิ้นส่วนจรวดจากเกาหลีเหนือในสงครามนี้ ความชัดเจนของหลักฐานคือ ลักษณะของชิ้นส่วนจรวดแตกต่างจากจรวดแบบอิสกานเดอร์ (Iskander) ของรัสเซีย และคล้ายโดยตรงกับจรวดของเกาหลีเหนือมากกว่า

การสูญเสียการครองอากาศทำให้ปฎิบัติการสนับสนุนทางอากาศต่อปฏิบัติการของหน่วยทหารราบรัสเซียไม่เป็นไปตามที่คาด เช่น การไม่สามารถโจมตีต่อพื้นที่หัวหาดทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดนิโปร (Dnipro River) ที่กองทัพยูเครนเข้ายึดครอง ว่าที่จริงแล้ว สภาวะของการสูญเสียอำนาจในการครองอากาศตอกย้ำถึงความล้มเหลวของปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียตั้งแต่ช่วงเริ่มสงคราม และยังเป็นปัญหาอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อปฏิบัติการทางบกของกองทัพรัสเซียด้วย

ในอีกทาง เนเธอร์แลนด์ประกาศเมื่อเดือนสิงหาคม 2023 ว่าจะส่งมอบเครื่องบินรบแบบเอฟ-16 จำนวน 42 ลำให้ยูเครน และขณะนี้ได้ทำการฝึกนักบินยูเครนแล้ว รอเวลาประกาศการเข้าประจำการของฝูงบินชุดนี้ ซึ่งยังไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน ส่วนเดนมาร์กพร้อมที่จะมอบเอฟ-16 ให้จำนวน 19 ลำ และรอการยืนยันที่สหรัฐจะขายเครื่องเอฟ-35 ให้เพื่อทดแทนกำลังในส่วนนี้ สำหรับเครื่องจากเดนมาร์กนี้น่าจะส่งมอบให้กองทัพอากาศยูเครนได้ในไตรมาส 2 ของปีนี้ แม้ว่าในอีกด้านของปฏิบัติการทางอากาศคือ “สงครามโดรน” ที่เป็นอากาศยานไร้คนขับราคาต่ำ แต่มีอำนาจการทำลายในระดับที่สร้างความสูญเสียให้กับสังคมได้อย่างมาก โดยเฉพาะการโจมตีที่อยู่อาศัยของประชาชน และการสร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ดังปรากฏชัดเจนจากภาพข่าวว่า การโจมตีทางอากาศของรัสเซีย โดยเฉพาะการใช้โดรนจากอิหร่านมีวัตถุประสงค์ในการโจมตีประชาชน

ขณะเดียวกัน สถานการณ์สงครามมีความซับซ้อนมากขึ้นเมื่อรัฐบาลสวีเดนตัดสินใจส่งกำลังทหารเข้าไปในแลตเวียเพื่อป้องปรามการโจมตีของรัสเซีย โดยไม่รอการเข้าเป็นสมาชิกของเนโต้แต่อย่างใด นายกรัฐมนตรีสวีเดนกล่าว่าเรา “จะไม่เสียเวลารอการให้สัตยาบันสุดท้าย” ในการรับเข้าเป็นสมาชิกของเนโต้ พร้อมกันนี้ บรรดารัฐตะวันตกเริ่มส่งสัญญาณอย่างชัดเจนถึง การเตรียมตัวรับภัยสงครามจากรัสเซีย จนต้องยอมรับในบริบทของความมั่นคงโลกว่า สถานการณ์สงครามในยุโรปเป็นเรื่องน่ากังวล และมีโอกาสขยายตัวเป็นสงครามใหญ่ได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะเป็นจุดพลิกผันสำคัญในปี 2024 คือ บทบาทและท่าทีของรัฐบาลอเมริกันในการสนับสนุนด้านการทหารต่อยูเครน ซึ่งมีสัญญาณของอุปสรรคใหญ่จากการเมืองภายใน การลดลงของความช่วยเหลือทางทหารจากวอชิงตันย่อมเป็น “โอกาสทอง” ของกองทัพรัสเซียในตัวเอง และทำให้เกิดคำถามว่า สหภาพยุโรปจะแบกรับความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติมจากส่วนของสหรัฐได้หรือไม่ ดังเช่น การถอนทัพของยูเครนจากเมืองอัฟดีฟกา คือ “สัญญาณเตือนภัย” สำหรับสหภาพยุโรปจากปัญหาความขาดแคลนยุทโธปกรณ์

แน่นอนว่า เรายังไม่เห็นสันติภาพที่ปลายอุโมงค์ยูเครน สิ่งที่เห็นกลับเป็นด้านตรงข้ามคือ โอกาสของสงครามที่อาจจะยกระดับและขยายตัวมากขึ้น พร้อมๆ กับโลกอาจเห็นการรุกใหญ่ของกองทัพรัสเซียอีกครั้งในปี 2024 อันเป็นผลจากข้อจำกัดทางทหารของยูเครนที่เกิดจากความขาดแคลนกระสุน และยุทโธปกรณ์หนักอื่นๆ ที่จำเป็น พร้อมกันนี้ ประธาธิบดีปูตินได้โชว์ความเข้มแข็งทางการเมือง แบบไม่ต้องสนใจกับเสียงวิจารณ์ของตะวันตกจากปัญหาการเสียชีวิตของผู้นำฝ่ายค้านในคุก … สงครามยูเครนในปีที่ 3 จึงเป็นความท้าทายต่อความเป็นไปในเวทีโลก ต่ออนาคตของยุโรป และสำคัญต่ออนาคตของยูเครนเป็นอย่างยิ่ง!