ชมโฉม – ชมหู

ญาดา อารัมภีร

เคยคุยเรื่อง ‘นมนาง’ ไปแล้วตอนเริ่มต้นคอลัมน์ “จ๋าจ๊ะ วรรณคดี” จาก ‘ชมนม’ ก็มา ‘ชมหู’ กันบ้าง

‘หู’ หรือ ‘ใบหู’ ของตัวละครในวรรณคดีเป็นอีกสิ่งที่กวีไม่เคยมองข้าม

กวีไทยนิยมชมใบหูว่างามเหมือนกลีบบัว ทำไมต้องกลีบบัว กลีบดอกไม้อื่นไม่ได้หรือ

ที่กวีเปรียบเทียบใบหูกับกลีบบัว เพราะรูปทรงถึงไม่ใช่แต่ก็ใกล้เคียง กลีบบัวนั้นบางจนเห็นเส้นใยละเอียดอ่อน ไม่ต่างกับใบหูนวลงามและบางใสจนเห็นเส้นเลือดจางๆ

ยิ่งเวลาเจ้าของหูเขินอายหรือโกรธ บางทีใบหูสีชมพูเข้มจนถึงแดงก็มี

อย่าลืมว่าดอกบัวคือดอกไม้ในวิถีชีวิตไทย เป็นสิ่งใกล้ตัว คนไทยรู้จักคุ้นเคยดี ใช้บูชาพระ เป็นดอกไม้สำคัญทางพุทธศาสนา มีความหมายและเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง

การนำใบหูมาเปรียบกับกลีบบัวเท่ากับเป็นการยกย่องให้คุณค่าโดยตรง

 

การชมมิใช่จะจำกัดเฉพาะใบหูของผู้หญิงเท่านั้น ใบหูของผู้ชายกวีก็ชมเช่นกัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

ตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ กวีนิยมชมใบหูของสตรีและบุรุษในทำนองเดียวกัน วรรณคดีสมัยอยุธยา เช่น “สมุทรโฆษคำฉันท์” และ “อนิรุทธคำฉันท์” ต่างชมใบหูของนางพินทุมวดี และนางอุษาไว้ตรงกันว่า ใบหูงามราวกลีบบัว

“กรรณาคือกลีบโกมลโก- มลกามแกล้งผจง”

และ

“พระกรรณใบบาง คือกลีบบุณฑริกขจี”

คำว่า ‘กรรณ’ (กรรณา) และ ‘พระกรรณ’ คือใบหู ‘กลีบโกมล’ และ ‘กลีบบุณฑริก’ คือ กลีบบัว

แม้ “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก” วรรณคดีสมัยเดียวกัน กวีก็เปรียบหูของนางผู้เป็นที่รักกับ ‘กลีบอุบล’ หรือ ‘กลีบบัว’ ดังนี้

“พิศกรรณอันนฤมล กลีบอุบลยลเปรียบปราย”

ทำนองเดียวกับ ‘พระลอ’ พระเอกในเรื่อง “ลิลิตพระลอ” กวีสมัยอยุธยาก็ไม่เว้นที่จะชมว่ามีใบหูงามดังกลีบบัวแก้ว

“พิศกรรณงามเพริศแพร้ว กลกลีบบงกชแก้ว

 

จากสมัยอยุธยาต่อมาที่วรรณคดีสมัยธนบุรี เรื่อง “ลิลิตเพชรมงกุฎ” กวีชมใบหูของพระเพชรมงกุฎ ว่า

“กรรณกลีบบุษบงบาง ปรางยิ่งปรางทองเทียบ”

ในที่นี้เปรียบ ‘กรรณ’ หรือใบหูของผู้ชายกับ ‘กลีบบุษบง’ หรือ ‘กลีบบัว’ ที่มีลักษณะบาง

วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์สืบทอดความนิยมข้างต้น บทละครเรื่อง “อุณรุท” พรรณนาใบหูของนางศรีสุดาว่า เหมือนกลีบบัวทอง

“พิศกรรณเพียงกลีบอุบลมาศ พิศศอคอราชหงส์สวรรค์”

แค่เปรียบกับกลีบบัวตามธรรมชาติก็งดงามมากอยู่แล้ว การที่กวีเปรียบใบหูพระลอ และใบหูนางศรีสุดากับกลีบบัวแก้ว และกลีบบัวทอง ยิ่งเน้นว่างามเด่นเป็นพิเศษ

บทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 ตอนที่ทศกัณฐ์ปลอมตนเป็นดาบส

“ห่มหนังเสือลายพรายพรรณ เจิมจันทน์นุ่งผ้าคากรอง

สอดสายธุหร่ำมุ่นชฎา มือขวาถือตาลปัตรป้อง

สวมประคำมณีดั่งสีทอง แล้วเดินย่องตามชายพนาลี”

ดาบสปลอมแอบมองนางสีดาซึ่ง “นั่งอยู่ที่หน้ากุฎี งามล้ำนารีในเมืองอินทร์”

“พิศปรางดั่งปรางทองพราย พิศกรรณคล้ายกลีบบุษบง

 

กวีสมัยรัตนโกสินทร์เดินตามรอยกวีสมัยอยุธยาไม่ผิดเพี้ยน ยังคงเปรียบใบหูของนางสีดากับกลีบบัว

มาถึง “กาพย์เห่เรือ เห่ชมโฉม” พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 5 ทรงพรรณนาให้เห็นว่า ใบหูที่งดงามนั้นบางละมุนเหมือนกลีบบุษบงหรือกลีบบัว

“พิศกรรณกรรณบางเรียบ งามทัดเทียบกลีบบุษบง

จะเห็นได้ว่า กลีบบัวที่นำมาเปรียบเทียบมีตั้งแต่กลีบบัวทั่วๆ ไปตามธรรมชาติจนถึงกลีบบัวแก้วและกลีบบัวทอง ที่นอกจากจะงดงามอย่างยิ่งแล้ว ยังสูงค่ายิ่งนัก

กวีไทยละเมียดละไมใช่ย่อย •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร