ยุทธการ 22 สิงหา : เกมกดดัน พลังประชาชน เด็ดทีละหัว จัดการทีละคน

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

หากนับจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ถือว่าพรรคพลังประชาชนเป็นฝ่ายรุก อาศัยผลการเลือกตั้งเป็นดั่งกระดานหก

นั่นก็เห็นได้ผ่านรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช

นั่นก็เห็นได้ผ่านการเข้าดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรของ นายยงยุทธ ติยะไพรัช

เมื่อเป็น “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ก็เท่ากับเป็น “ประธานรัฐสภา”

เมื่อยึดกุมรัฐสภาอันเป็น “อำนาจนิติบัญญัติ” เมื่อยึดกุมรัฐบาลอันเป็น “อำนาจบริหาร”

การจัดวาง “กำลัง” และสร้าง “เครือข่าย” ก็คึกคัก

เมื่อ นายนพดล ปัทมะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อ นายจักรภพ เพ็ญแข เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เมื่อทุกอย่างพร้อมเดือนกุมภาพันธ์ 2551 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็กลับ

เป็นการกลับอย่างทรงศักดิ์อัครฐาน มีขบวนต้อนรับอย่างคึกคักหนักแน่นจากสนามบินจนถึงบ้านที่จากตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2549

เหมือนกับเป็น “ชัยชนะ” แต่กุม “ชัยชนะ” ได้เพียงใด

 

หากศึกษาสถานการณ์การเคลื่อนไหวในลักษณะ “คู่ขนาน” ระหว่างอำนาจในมือพรรค พลังประชาชนกับอำนาจ “อื่น”

เด่นชัดว่านี่เป็นชัยชนะใน “พื้นที่” การเมืองของ “การเลือกตั้ง”

แต่หากดูถึงอำนาจอันตกค้างและสะสมมาตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ยังผนึกระหว่างกันและกันอย่างเหนียวแน่น มั่นคง

ผบ.ทบ.อยู่ในมือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

นี่ย่อมสะท้อนความสัมพันธ์และความต่อเนื่องมาจากยุคของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

นั่นก็คือ ความต่อเนื่องแห่ง “บูรพาพยัคฆ์”

ขณะที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อพ้นจากตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ก็หวนคืนไปสู่การเป็น “องคมนตรี”

องคมนตรีอันมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธาน

 

การขับเคลื่อนของทุกองคาพยพที่เคยเล่นบทตรงกันข้ามกับพรรคไทยรักไทยตั้งแต่ก่อนและหลังการเลือกตั้งเดือนมกราคม 2544 ยังอยู่ครบ

“คตส.” ก็ยังทำงานสัมพันธ์กับ “อัยการสูงสุด” และ “ป.ป.ช.”

ผลการเลือกตั้งอาจดึงกำลัง “เดิม” ของพรรคไทยรักไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจชาติพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นพรรคมัชฌิมาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาราช มาได้

แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ปักหลักในฐานะ “ฝ่ายค้าน”

ข้อสำคัญพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแม้จะเคยประกาศสลายและยุติการเคลื่อนไหว แต่ก็มีความพร้อมอย่างเต็มเปี่ยมหากมี “สัญญาณ”

การเดินหน้าของ “คตส.” ดำเนินไปอย่างมากด้วย “กัมมันตะ”

ด่านแรกสุด นายยงยุทธ ติยะไพรัช ก็ถูกตั้งข้อกล่าวหาในเรื่องพัวพันกับการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต

ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ “ประธานสภา”

ต่อมา นายจักรภพ เพ็ญแข ก็ถูกรื้อฟื้นปาฐกถาพิเศษที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศพร้อมกับการตั้งข้อสังเกตว่ามี “ทัศนคติเป็นอันตราย”

เมื่อตกถึงมือพรรคประชาธิปัตย์ทุกอย่างก็รวดเร็ว

เมื่อการเคลื่อนไหวผ่านองค์กรอิสระเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อการเคลื่อนไหวบนท้องถนนเป็นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ในที่สุด นายจักรภพ เพ็ญแข ก็ต้อง “อำลา”

 

มองจากประสบการณ์และความจัดเจนถือได้ว่า นายสมัคร สุนทรเวช คร่ำหวอดอย่างยิ่งบนถนนการเมือง

ตั้งแต่ยังเป็น “นายหมอดี” กระทั่งเป็น “รัฐมนตรี”

สะสมความจัดเจนจากพรรคประชาธิปัตย์ โลดทะยานอย่างเต็มที่ผ่านพรรคประชากรไทย ครองตำแหน่งทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร

โดดเด่นในฐานะนักการเมืองปีก “อนุรักษนิยม” มีความสนิทแนบแน่นอยู่กับกองทัพมาอย่างยาวนาน

ตั้งแต่ยุค พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา กระทั่ง พล.อ.สุจินดา คราประยูร

เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี” จึงควบตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” อย่างเต็มภาคภูมิ

ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ไม่ว่าการต่อสายไปยังด้าน “ความมั่นคง” ผ่านกองทัพ ผ่านตำรวจ จึงมากด้วยความรัดกุม ไม่ว่าการต่อสายไปยังด้าน “การเมือง” ผ่านพรรคการเมือง ผ่านกลุ่มการเมืองจึงเปี่ยมด้วยความสุขุมรอบคอบ

แต่เมื่อโยนเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ออกมาเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นก็ประสบปัญหาตลอดสองรายทาง

จากพรรคประชาธิปัตย์ จากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

 

ความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับพรรคประชาธิปัตย์คล้ายกับจะแยกห่าง มิได้เกาะเกี่ยวกันและกันโดยตรง

แม้จะเคยมีภาพ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับแกนนำพันธมิตรฯ

กระนั้น ก็ต้องยอมรับว่าแกนนำสำคัญหลายคนสัมพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์ด้วยความระมัดระวัง

แสวง “จุดร่วม” สงวน “จุดต่าง”

ขณะที่บทบาทของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ บทบาทของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำเนินไปอย่างมีการประสาน

เนื่องจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีเยื่อใยกับพรรคประชาธิปัตย์

เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ วางเครือข่ายอยู่ในกองทัพบกอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง

ร่ำลือกันว่า การบ่อนเซาะสถานะทางการเมืองของ นายจักรภพ เพ็ญแข ที่มีพรรคประชาธิปัตย์ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกหน้านั้นได้รับความช่วยเหลืออย่างลับเร้นจาก “กองทัพ”

โดยเฉพาะการแปล “ปาฐกถาพิเศษ” มาจากมือไม้ของ “กองทัพ”

เป็นมือไม้ของกองทัพที่ฝังตัวอยู่ในมหาวิทยาลัย แปลและเรียบเรียงและตีพิมพ์เผยแพร่เน้น “ทัศนคติ” อันเป็น “อันตราย”

การรุกไล่อย่างต่อเนื่องต่อรัฐบาลต่อพรรคพลังประชาชนสะท้อนอะไร

 

คําตอบ 1 สะท้อนให้เห็นว่าชัยชนะอันได้มาในพื้นที่และกระบวนการการเลือกตั้งมิได้เป็นชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

อาจได้เป็น “รัฐบาล” แต่ยังมิได้ “อำนาจรัฐ”

คำตอบ 1 สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจอย่างแท้จริงยังเป็นของกลุ่มชนชั้นนำจารีต ยังเป็นของกองทัพ ยังเป็นกลุ่มทางเศรษฐกิจที่หายใจร่วมรูจมูกเดียวกันกับชนชั้นนำจารีต

รูปธรรมก็คือ อำนาจในมือ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นอำนาจที่ไม่มั่นคงดำรงอยู่ในลักษณะอันเป็น “มายา”

รูปธรรมและความต่อเนื่องคือ การถูกรุกไล่

รุกไล่ไม่เพียง นายจักรภพ เพ็ญแข รุกไล่ไม่เพียง นายยงยุทธ ติยะไพรัช หากคืบหน้าไปยัง นายสมัคร สุนทรเวช

ตลอดสองรายทางคนแล้วคนเล่าถูกสังเวย ตกเป็นเหยื่อ

ความปรารถนาที่กุมเสียงข้างมากจะจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่ราบรื่น จะเดินหน้าแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อขูดเกลามรดกอันตกค้างมาจากกระบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ก็มากด้วยอุปสรรค

ปรากฏเป็นการก่อรูปขึ้นใหม่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และการรุกอย่างต่อเนื่องของพรรคประชาธิปัตย์

สถานะและการดำรงอยู่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่แน่นอน ไม่มั่นคง