ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (3) ปริศนามิตรภาพ “แปลก-อดุล”

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

มิตรภาพแนบแน่น “แปลก-อดุล” ดำเนินต่อไปยาวนาน จนกระทั่งปรากฏคำให้การของ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ต่อศาลอาชญากรสงคราม เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2488 ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อจอมพล ป.ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในเบื้องต้นนั้น ตามทางสังเกตและการสืบสวนของข้าฯ สังเกตได้ว่าในคณะผู้ก่อการและคณะรัฐมนตรีข้าราชการและประชาชนทั่วไปรู้สึกเลื่อมใสในนโยบายและการบริหารราชการ

แต่ครั้นเมื่อมีกรณีพิพาทต่ออินโดจีนแล้ว หลวงพิบูลสงครามได้รับยศให้เป็นจอมพล ต่อแต่นั้นมาอีกประมาณสัก 6 เดือนตามความสังเกตและความรู้สึกของข้าฯ สังเกตว่า จอมพล ป.ได้ทะนงในความคิดความเห็นความรู้ของตัวเป็นที่ตั้ง ความคิดความเห็นของรัฐมนตรีที่ได้ให้ความคิดเห็นด้วยบริสุทธิ์ใจก็ดี การตักเตือนของบรรดาเพื่อนฝูงที่เห็นว่าการกระทำนั้นไม่ชอบก็ดี จอมพล ป.มักจะไม่ใคร่เอาใจใส่ ถือแต่อารมณ์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง

ทั้งนี้ก็ด้วยจอมพล ป.คิดทะนงว่าตัวนั้นเป็นผู้มีความรู้ความคิดดียิ่งกว่าผู้อื่น

และนอกจากนี้แล้วอาจเป็นไปได้ด้วยเส้นประสาทของจอมพล ป.อาจพิการด้วยเหตุบางประการ เช่น จากการถูกยิง ถูกวางยาพิษหลายครั้ง จึงเกิดความระแวงสงสัยไม่เชื่อถือในบุคคลอื่นๆ แม้แต่คนที่เคยอยู่ใกล้ชิดและไว้วางใจกันมา นอกจากเหตุนี้แล้วตามความสืบสวนและความสังเกตของข้าฯ ก็ยังปรากฏต่อไปว่า จอมพล ป.มักชอบคนประจบสอพลอ แต่ผู้ที่ไปประจบสอพลอนั้นมักเป็นผู้ที่โง่กว่าและมีชื่อเสียงไม่ดี ไม่เป็นที่เคารพของผู้อื่น บุคคลเหล่านี้ถือเอา จอมพล ป.เป็นที่พึ่ง เพราะถ้าปราศจากจอมพล ป.แล้วตัวก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ไป แต่ถ้าบุคคลใดซึ่งเป็นคนหลักแหลมรู้เท่าถึงการณ์ของจอมพล ป.แล้ว จอมพล ป.ก็มักไม่ไว้วางใจ แม้ผู้นั้นจะมีความสามารถเป็นที่นิยมชมชอบของผู้อื่นก็ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในสายตาและความสังเกตของจอมพล ป. แล้วก็พยายามที่จะกระทำด้วยประการใดๆ ให้ผู้นั้นขาดความนิยมเลื่อมใสลงไป”

จึงน่าเชื่อได้ว่า มิตรภาพของเพื่อนรัก 2 ท่านนี้ได้แตกสลายลงแล้วก่อนหน้าคำให้การนี้

 

ปริศนามิตรภาพ “ปรีดี-แปลก”

พ.ศ.2492 ปรีดี พนมยงค์ ประสบความพ่ายแพ้หลังพยายามล้มล้างรัฐบาลที่มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ปรีดี พนมยงค์ บันทึกการไล่ล่าหลังเหตุการณ์ไว้ใน “ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปีในจีน” ดังนี้

“รัฐบาลได้เฝ้าระวังชายแดนทางบกอย่างเข้มงวดเราจึงเลือกหลบหนีไปทางทะเล แม้ว่าเส้นทางนี้จะต้องเสี่ยงภัยอย่างมากมายก็ตาม เนื่องจากเราจะต้องผ่านด่านตรวจหลายแห่งตามปากแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเราต้องแล่นเรือผ่านเพื่อออกไปสู่ทะเล

อีกอย่างหนึ่งในน่านน้ำเขตสยามก็มีกองลาดตระเวนทหารเรือของฝ่ายรัฐบาลตรวจตราอยู่

นอกจากนี้ก็ยังมีด่านควบคุมตามชายฝั่งมลายูของอังกฤษและหมู่เกาะอินโดนีเซียซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของฮอลแลนด์ เราจะต้องเสี่ยงภัยอีกครั้งหนึ่งก่อนลอบลงเรือเดินทะเลไปยังฮ่องกง

จากฮ่องกงเราก็ลงเรืออีกลำหนึ่งไปยังปักกิ่งต่อ ซึ่งขณะนั้นกองกำลังฝ่ายราษฎรจีนยึดไว้ได้แล้ว เพื่อนคนหนึ่งได้จัดหาเรือประมงติดเครื่องยนต์ที่มีระวางขับน้ำ 5 ตันให้และนายเรือโทนอกราชการผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้รักชาติซื่อสัตย์ต่อราษฎรเต็มใจขอลางานชั่วคราวจากบริษัทเดินเรือที่เขาทำงานเพื่อช่วยเหลือด้านการบังคับเรือประมงเล็กๆ ลำนี้ด้วยตนเอง”

“ภรรยาข้าพเจ้าได้ขอให้เพื่อนชาวจีน (ซึ่งไม่ใช่ชาวคอมมิวนิสต์) ช่วยเหลือเราโดยจัดให้ลงเรือเดินทะเลที่สิงคโปร์เพื่อเดินทางอย่างลับไปฮ่องกง (เมื่อหลังสงครามเราเคยให้ความคุ้มครองเพื่อนคนนี้จากการขู่เอาชีวิตของพวกจีนชาตินิยม)

ที่ฮ่องกงตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะต้องช่วยเหลือเปลี่ยนเรือให้เรามุ่งหน้าไปยังท่าเรือชิงเต่าโดยที่เรือลำนั้นต้องแล่นไปตามเส้นทางที่สามารถหลบหลีกกองเรือลาดตระเวนของจีนคณะชาติที่ควบคุมทางใต้ของจีนและแล่นไปมาในทะเลจีนอยู่ในขณะนั้น ภรรยาข้าพเจ้าได้นัดกับเพื่อนชาวจีนโพ้นทะเลคนนั้นว่าถ้า 10 วันภายหลังข้าพเจ้าเดินทางออกจากกรุงเทพฯ แล้วเขายังไม่ได้ข่าวคราวการถูกจับของเราก็หมายความว่าเราได้เดินทางผ่านเขตน่านน้ำทะเลของสยามไปแล้ว หลังจากนั้นเพื่อนชาวจีนจะต้องบอกเลขาฯ ที่ไว้ใจได้ให้ขึ้นเครื่องบินไปสิงคโปร์ซึ่งเป็นที่ที่เรานัดพบกัน เผื่อว่าเจ้าหน้าที่ทางอังกฤษจะได้ไม่รู้ว่าเราอยู่ที่สิงคโปร์”

 

วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2492 เวลา 18.00 น.เราพากันลงเรือประมงเล็กๆ นั้น เราเลือกเดินทางเวลานี้ก็เพื่อให้มาถึงด่านศุลกากรด่านแรกตอนค่ำก่อนด่านปิดไม่กี่นาที ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ต้องเสี่ยงต่อการตรวจอย่างละเอียดลออ วิธีการนี้ได้ผลดี เราผ่านไปได้อย่างง่ายดาย เรือประมงลำเล็กแล่นออกไปถึงป้อมพระจุลซึ่งเรือตอร์ปิโดของรัฐบาลจอดอยู่เพื่อตรวจตราบรรดาเรือต่างๆ กัปตันนำเรือประมงเข้าหาเรือตอร์ปิโดอย่างใจเย็นและนายทหารชั้นประทวน 2 คนก็ลงมาตรวจเรือ เมื่อเขาไม่พบสิ่งใดผิดปกติเกี่ยวกับสินค้าหนีภาษี ผู้บังคับการจึงสั่งให้ปล่อยเรือของเราผ่านไปได้ เราจึงเดินทางและเลียบชายฝั่งมุ่งเดินทางต่อไปทางใต้

เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เชื่อได้ว่า มิตรภาพอันยาวนานระหว่าง ปรีดี แปลก ก็แตกสลายลงแล้วเช่นเดียวกัน

บัดนี้ มิตรภาพที่แนบแน่นยาวนานของปรีดี แปลก และอดุล ได้แตกสลายลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว นับเป็นปริศนาที่น่าหาคำตอบยิ่ง มันไม่ใช่เพียง “คำพูดที่ผิดหู” ไม่ใช่เรื่องของ “อารมณ์” แต่เป็น “อุดมการณ์คณะราษฎร” ที่เปลี่ยนไปของบางคน

ย้อนกลับไปเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ที่มิตรภาพภายใต้นามคณะราษฎรยังคงแนบแน่นโดยมีอุดมการณ์ร่วมกันในนาม “คณะราษฎร” คือเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่ออนาคตที่ดีงามของสยาม…

 

พระยาทรงฯ หลวงประดิษฐ์ฯ หลวงพิบูลฯ

ครั้นเมื่อผู้เริ่มก่อการทั้ง 7 ทยอยเดินทางกลับมาถึงเมืองไทยแล้วต่างก็เดินหน้ารวบรวมผู้เห็นด้วยในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนในที่สุดก็นำไปสู่ความร่วมมือกับฝ่ายทหาร โดยมีผู้นำซึ่งจะเป็นที่รู้จักกันดีในเวลาต่อมาว่า “สี่ทหารเสือ” คือ นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช นายพันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์ และ นายพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ

“ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี บันทึกความไม่ลงรอยครั้งแรกที่เกิดขึ้นระหว่างพระยาทรงสุรเดช กับนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ว่า

“ครั้นแล้วก็เกิดเรื่องวุ่นวายที่คุณปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ได้นำโครงการเศรษฐกิจ (สหกรรม) พิมพ์เป็นโรเนียวแจกจ่ายให้คณะผู้ก่อการฯ ไปอ่านพิจารณากัน ครั้นพระยาทรงสุรเดชเห็นมีการแจกโครงการอันจะเป็นหลักฐานที่จะเป็นคดีความขึ้น ก็ได้โวยวายร้องสั่งให้เก็บและเผาไฟ พูดต่อว่าต่อขานคุณปรีดี พนมยงค์ ว่าจะหาเรื่องเข้าคุกเข้าตะราง รู้สึกขุ่นเคืองเป็นอย่างมาก แล้วก็ชวนสี่ทหารเสือลงเรือกลับ”

ต่อมา พระยาทรงสุรเดชได้ขอพบหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นการพิเศษเพื่อปรึกษาพิจารณาเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ นายประยูร ภมรมนตรี ซึ่งร่วมสนทนาด้วยบันทึกไว้ว่า

“หลวงประดิษฐ์มนูธรรมพยายามบรรยายถึงความจำเป็นที่จะต้องทำการปฏิวัติให้ครบรูป ทางด้านการปกครอง การเศรษฐกิจ และการสังคมประกอบกันไป ได้สาธยายลัทธิโซเชียลลิสต์และแนวทางเศรษฐกิจของอาจารย์ซาร์ยิดอย่างพิสดารกว้างขวาง ซึ่งพระยาทรงสุรเดชนั่งฟังอยู่สักครู่ใหญ่และในที่สุดก็ได้ปรารภพูดตัดบทว่า ที่มาพบกันในวันนี้ ต้องการฟังเรื่องราวการที่จะร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นสำคัญ ขอให้งดเว้นเอาเรื่องลัทธิเศรษฐกิจการสังคมมาพัวพัน หน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นกฎหมายสูงสุดในการบริหารประเทศชาติให้มั่นคงและรุ่งเรือง ส่วนเรื่องการเศรษฐกิจการสังคมเป็นเรื่องปัญหาลัทธิการเมืองอันเป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎรที่จะได้รับเลือกตั้งมาซึ่งจะต้องตกเป็นภาระของรัฐบาลตามวิถีทางรัฐธรรมนูญต่อไป หาใช่หน้าที่ของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองจะมากำหนดบีบบังคับไว้ล่วงหน้าประการใดได้ไม่

และได้ย้ำในวาระสุดท้ายว่า ให้ร่างรัฐธรรมนูญตามแนวของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะดังเช่นประเทศอังกฤษ แล้วก็ลุกลาออกมาบ่นกับข้าพเจ้าว่า ร้อนและยุงกัด ทนฟังตาขรัวอาจารย์ปรีดีของลื้อพูดจานอกเรื่อง ดูจะร้อนวิชาอยู่มาก ขอให้ช่วยติดตามฟังดูเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญแล้วนำมาปรึกษากันใหม่ แล้วลากลับไป”

 

ยังมีความไม่ลงรอยกันระหว่างพระยาทรงสุรเดชกับหลวงพิบูลสงครามอีกด้วย จากบันทึก “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” เช่นเดียวกัน

“ท่านเจ้าคุณทรงสุรเดชนัดพบกับ พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม ณ บ้านของท่านเชิงสะพานควาย บางซื่อ เรื่องการปรับปรุงกองทัพซึ่งได้มีข้อขัดแย้งกันอย่างรุนแรง โดยเจ้าคุณทรงสุรเดชจะสั่งยกเลิกกองทัพ กองพล โดยให้หน่วยทหารต่างๆ ไปขึ้นกับผู้บังคับเหล่า เลิกยศนายพลและเลิกโรงเรียนเสนาธิการ ซึ่งหลวงพิบูลได้ให้ความเห็นว่า ควรจะเว้นการกระทำใดๆ ที่จะทำให้กระทบกระเทือนจิตใจของนายทหารในกองทัพ ในระยะแรกๆ การปรับปรุงจะต้องดำเนินไปเป็นขั้นๆ วางรากฐานการปกครองกองทัพให้มั่นคงเป็นสำคัญ ซึ่งเจ้าคุณทรงสุรเดชแสดงความไม่พอใจ โดยเฉพาะถือว่าตนเป็นผู้ใหญ่ ผู้มีอาวุโส ชอบที่คุณหลวงพิบูลสงคราม พึงฟังความเห็นของท่านเป็นหลัก

เมื่อโต้เถียงตกลงกันไม่ได้ก็ตัดบทว่า ยุติกันเพียงนี้ก่อน แล้วก็เลิกรากันไป คุณหลวงพิบูลฯ ตอนนั่งรถกับข้าพเจ้ากลับรู้สึกขุ่นข้องหมองใจด้วยความหนักใจว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองถ้าจะไปไม่สำเร็จ ถ้าพลาดพลั้งไปก็ต้องเข้าคุกตะรางและโทษถึงประหารชีวิต แต่แล้วถ้าเดินตามความเห็นในการปรับปรุงกองทัพตามแนวของเจ้าคุณทรงสุรเดชก็จะเกิดวุ่นวาย การปฏิวัติต้องพิฆาตฆ่ากันวินาศ เพราะฉะนั้น เมื่อคิดการปฏิวัติ ไม่สำเร็จก็ตาย ปฏิวัติสำเร็จแล้วก็ต้องฆ่ากันฉิบหายวายวอด จึงเห็นว่าน่าจะต้องยับยั้งการร่วมคิดกับพระยาทรงสุรเดช”

ความไม่ลงรอยระหว่างพระยาทรงสุรเดช กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และหลวงพิบูลสงคราม ครั้งนี้จะขยายตัวจนกลายเป็นเรื่องใหญ่ในเวลาไม่นานหลังความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งจะทำให้มิตรภาพระหว่างหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกับหลวงพิบูลสงครามแนบแน่นยิ่งขึ้นไปอีก