‘น้ำอัดลม’ สุดอันตราย! ไม่เว้นแม้สูตร ‘ไม่มีน้ำตาล’

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

เป็นที่ทราบกันดี ว่าการดื่ม “น้ำอัดลม” เป็นประจำ ส่งผลเสียต่อร่างกายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน อ้วน นิ่วในไต ฟันผุ กระดูกพรุน

เนื่องจาก “น้ำอัดลม” มี “กรดคาร์บอนิก” ที่กีดขวางการดูดซึม “แคลเซียม” ของกระดูก

นอกจากนี้ การดื่ม “น้ำอัดลม” เป็นประจำ คือสาเหตุทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น เพราะร่างกายจะหลั่ง “อินซูลิน” ออกมามากเกินความจำเป็น ซึ่งในระยะยาวจะทำให้ร่างกายจะผลิต “อินซูลิน” ได้น้อยลง จนเกิด “โรคเบาหวาน”

“น้ำอัดลม” 1 กระป๋อง มีปริมาณ “น้ำตาล” ราว 12 ช้อนชา ซึ่งเกินมาตรฐาน “องค์การอนามัยโลก” ที่กำหนดว่า ร่างกายควรได้รับ “น้ำตาล” ไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน

นอกจากนี้ เมื่อร่างกายได้รับ “น้ำตาล” เยอะเกินกำลังเผาผลาญ ก็จะไปสะสมตามเซลล์ต่างๆ และถูกแปลงเป็นไขมัน

ดังนั้น การดื่ม “น้ำอัดลม” จึงทำให้เป็น “โรคอ้วน” อย่างแน่นอน

 

“นํ้าอัดลม” ยังเป็นต้นเหตุทำให้เกิด “นิ่วในไต” อีกด้วย

เพราะ “น้ำตาลฟรุกโตส” ใน “น้ำอัดลม” เป็นปัจจัยให้ร่างกายขับ “แคลเซียม” ออกมาในปัสสาวะ

และ “แคลเซียม” ที่หลุดออกมา จะไปปะปนกับสารอื่นๆ ในปัสสาวะ แล้วสะสม ตกตะกอน กลายเป็น “ก้อนนิ่ว” ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้ำอัดลม” ยังเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิด “ฟันผุ” ได้มากที่สุด

เพราะนอกจาก “น้ำอัดลม” จะมี “กรดคาร์บอนิก” แล้ว ยังมีส่วนประกอบสำคัญคือ “น้ำตาล” หากไม่มีการทำความสะอาดช่องปาก และฟันให้ดี ก็จะก่อให้เกิด “ฟันผุ” ได้

และนอกจาก “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” ที่ก่อให้เกิด “ความซ่า” แล้ว ใน “น้ำอัดลม” ยังมี “กรดฟอสฟอริก” ที่ทำให้เกิด “ฟองฟู่” ด้วย

สารดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณ “แคลเซียม” และ “ฟอสฟอรัส” ในร่างกายเสียสมดุล คือมี “ฟอสฟอรัส” ในเลือดมากเกินไป

ทำให้ร่างกายต้องเร่งสลาย “แคลเซียม” จากกระดูกเข้ามาปรับสมดุล เพื่อไม่ให้ “ฟอสฟอรัส” มีปริมาณสูงจนเกิดอันตรายต่อชีวิตได้

และ “กรดคาร์บอนิก” ใน “น้ำอัดลม” ยังทำให้เลือดเป็นกรด ส่งผลให้ร่างกายต้องดึง “แคลเซียม” ในกระดูกออกมาลดความเป็นกรดในเลือดอีก

ซึ่งนอกจากสาเหตุ “นิ่วในไต” ดังได้กล่าวไป ว่า “น้ำตาลฟรุกโตส” ใน “น้ำอัดลม” กระตุ้นให้ร่างกายขับ “แคลเซียม” ดังนั้น การดื่ม “น้ำอัดลม” มากๆ จึงเพิ่มความเสี่ยงโรค “กระดุกพรุน” ด้วยนั่นเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า “น้ำอัดลม” อาจเพิ่มค่า “ความดันโลหิต” ให้ “สูง” ขึ้นด้วย

เพราะหากน้ำตาลในเลือดสูง จะส่งผลต่อระดับเกลือแร่ของร่างกาย ทำให้ “ความดันโลหิตสูง” และนำไปสู่ “โรคหัวใจ” ในเวลาต่อมา

 

ล่าสุด “องค์การอนามัยโลก” หรือ World Health Organization (WHO) เปิดเผยว่า ผู้ที่ชอบดื่ม “น้ำอัดลม” สูตร “ไม่มีน้ำตาล” มีความเสี่ยงเป็น “มะเร็ง”

เพราะการบริโภค Aspartame หรือ “สารให้ความหวานแทนน้ำตาล” ใน “น้ำอัดลม” จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง เนื่องจาก Aspartame เป็น “สารก่อมะเร็ง” นั่นเอง

โดยมีการจัดประเภท ให้ Aspartame อยู่ในกลุ่ม “เป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็ง” หรือ Possibly Carcinogenic

ดร. Francesco Branca ผู้อำนวยการฝ่ายโภชนาการและความปลอดภัยด้านอาหารของ WHO ระบุว่า แม้การบริโภค Aspartame เป็นครั้งคราว อาจจะถือว่าปลอดภัย

“การบริโภค Aspartame โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระดับที่น้อยกว่าสัดส่วนการบริโภคต่อวัน ถือว่าปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพ” ดร. Francesco Branca กล่าว

 

ที่ผ่านมา Aspartame ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอาหาร และเครื่องดื่มมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “น้ำอัดลม” ไอศกรีม หมากฝรั่ง และขนมขบเคี้ยว มาตั้งแต่ทศวรรษ 80

อย่างไรก็ดี “องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง” หรือ IARC (The International Agency for Research on Cancer) และคณะกรรมการร่วมของผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุเจือปนในอาหาร (JECFA : Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives)

ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรจากทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO : Food and Agriculture Organization of the United Nations)

โดยที่ผ่านมา JECFA ได้อ้างอิงผลการศึกษา และการประเมินงานวิจัยหลายชิ้น ที่ระบุว่า ไม่พบเหตุผลอันสมควรที่จะต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางการบริโภค Aspartame ที่ใช้อยู่เดิม

โดยยังคงยืนยันตามคำแนะนำเก่าของ JECFA เอง ที่ชี้ว่า คนทั่วไปสามารถบริโภค Aspartame ได้อย่างปลอดภัย หากไม่ได้รับประทานในปริมาณมากจนเกินปกติ ซึ่งในหนึ่งวันควรรับประทาน Aspartame ไม่เกิน 40 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

ทั้งนี้ JECFA ได้ออกมาระบุว่า ได้กำหนดให้มีการบรรจุ Aspartame เข้าไปในรายการ “สารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์” เป็นครั้งแรก

ซึ่งหมายถึง การมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันการก่อมะเร็งในมนุษย์ และสัตว์ทดลอง แม้อาจไม่เพียงพอที่จะใช้สรุปได้อย่างแน่นอน ว่าเป็น “สารก่อมะเร็ง” จริงหรือไม่

คือจากเดิม ที่มีการประกาศว่า Aspartame เป็นเพียง “สารที่มีความเป็นไปได้ว่าจะก่อมะเร็งในมนุษย์”

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการบรรจุ Aspartame เข้าไปในรายการ “สารก่อมะเร็ง” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

ทั้งนี้ IARC ได้จำแนก “สารก่อมะเร็ง” ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่ม 1 สารก่อมะเร็งในมนุษย์ (Carcinogenic) เช่น ยาสูบ, แร่ใยหิน Asbestos, ผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูป

กลุ่ม 2A สารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์ (Probably Carcinogenic) เช่น สารกำจัดวัชพืช Glyphosate

กลุ่ม 2B สารที่มีความเป็นไปได้ว่าจะก่อมะเร็งในมนุษย์ (Possible Carcinogenic)

เช่น Aspartame, น้ำมันดีเซล, นิกเกิล, แป้งทัลคัมที่ตกค้างบริเวณฝีเย็บของสตรี, ว่านหางจระเข้, ผักดองหลากชนิดของชาวเอเชีย รวมทั้งคลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือ

กลุ่ม 3 ไม่สามารถจำแนกได้

IARC ชี้ว่า การจัดให้ Aspartame เป็นสารในกลุ่ม 2B หรือสารที่ “เป็นไปได้ว่าจะก่อมะเร็ง” นั้น ไม่ได้หมายความว่า Aspartame เป็นสารอันตราย หรือทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ

เพียงแต่การจัดประเภทดังกล่าว เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า พบหลักฐานยืนยันการ “ก่อมะเร็ง” แค่ในจำนวนจำกัดไม่กี่กรณีเท่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Aspartame มีแนวโน้มการก่อ “มะเร็งตับ” ชนิด Hepatocellular Carcinoma ที่แม้จะแทบไม่พบหลักฐานเลยทั้งในคน สัตว์ และจากการทดลองในห้องปฏิบัติการก็ตาม

 

ดร. Francesco Branca เสริมว่า ทาง JECFA ได้ประเมินความเสี่ยงของการบริโภค Aspartame และสรุปว่า “ยังไม่พบหลักฐานการทดสอบ หรือข้อมูลของมนุษย์เกี่ยวกับ Aspartame ว่ามีผลกระทบเชิงลบหากบริโภคต่อวันไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม”

แปลไทยเป็นไทยก็คือ หากบุคคลนั้นน้ำหนัก 70 กิโลกรัม จะสามารถบริโภค Aspartame ได้ 2,800 มิลลิกรัมต่อวัน และเมื่อเราพิจารณาอาหารที่ใช้ Aspartame เช่น น้ำอัดลม ที่มีปริมาณ Aspartame ราว 200-300 มิลลิกรัมต่อกระป๋อง นั่นเท่ากับว่าบุคคลที่น้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม จะสามารถดื่มน้ำอัดลมที่มี Aspartame ได้ไม่เกิน 9-14 กระป๋องต่อวัน

พูดอีกแบบก็คือ หากเด็กมีน้ำหนักตัว 20 กิโลกรัม สามารถบริโภคน้ำอัดลมผสม Aspartame ได้ไม่เกิน 2-3 กระป๋องต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ดร. Francesco Branca ไม่ได้แนะนำให้บริษัทอาหาร และเครื่องดื่ม เปลี่ยนแปลงสูตรที่ใช้สารชนิดอื่นแทน Aspartame

“ผมคิดว่า ผู้บริโภคต้องจะพิจารณาในประเด็นนี้ให้ถี่ถ้วน และทางที่ดี ทุกๆ คนควรจำกัดการบริโภคอาหาร และเครื่องดื่มที่มี Aspartame” ดร. Francesco Branca กล่าว และว่า

ผลประเมิน Aspartame ของ WHO ตั้งอยู่บนวัตถุประสงค์ที่จะชี้ให้ประชาชนเห็นว่า แม้จะไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยเมื่อบริโภคในปริมาณที่คนทั่วไปใช้ในชีวิตประจำวัน

“แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ครับ” ดร. Francesco Branca ทิ้งท้าย