จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (9) หลังยุคกุบไลข่านจนถึงการล่มสลาย (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (9)

หลังยุคกุบไลข่านจนถึงการล่มสลาย (ต่อ)

 

ระบบการสืบทอดอำนาจดังกล่าวของมองโกลก็คือ การสืบทอดอำนาจโดยยึดสายเลือดของเจงกิสข่านเป็นหลัก ดังนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์จากระบบนี้จะเป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

คนกลุ่มนี้จึงมีอิทธิพลสูงและมีความได้เปรียบกว่าสาธารณชนทั่วไป จนสามารถมั่นใจในเสถียรภาพทางการเมืองและการคลัง ในเวลาเดียวกันกุบไลข่านก็พยายามรวมศูนย์อำนาจ และขับเคลื่อนการปกครองให้ดำเนินไปได้ถึงแม้จะทำได้ไม่เต็มที่นักก็ตาม

แต่การรวมศูนย์อำนาจนี้กลับเข้าไปข่มบทบาทของบรรดาเจ้าชายมองโกล จนนำไปสู่การแข่งขันแย่งชิงเพื่อครองบัลลังก์หลังสิ้นยุคกุบไลข่านไปแล้ว

เหตุฉะนั้น การเมืองของราชวงศ์หยวนหลังยุคกุบไลข่านจึงเริ่มส่งสัญญาณที่ไม่สู้ดีนัก

สถานการณ์หลังยุคกุบไลข่าน

 

ช่วงที่กุบไลข่านยังเรืองอำนาจอยู่นั้น นอกจากจะมีการนำเอาวัฒนธรรมจีนมาใช้ในการปกครองแล้ว พระองค์ยังทรงมีดำริที่จะให้การสืบสันตติวงศ์เป็นไปแบบจีนอีกด้วย ซึ่งเป็นระบบการสืบทอดอำนาจผ่านสายโลหิตของจักรพรรดิ

ที่ต่างกับระบบคูริลไตที่เป็นการประชุมผู้นำเผ่าต่างๆ ของมองโกลเพื่อเลือกข่านองค์ใหม่

โดยพระองค์ตั้งพระทัยให้โอรสองค์แรกที่ประสูติจากมเหสีองค์แรกเป็นรัชทายาท โอรสองค์นี้คือ เจินจิน (ค.ศ.1243-1285, เป็นพระนามจีนที่แปลว่าทองแท้) แต่ให้บังเอิญว่าเจินจินได้สิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้ากุบไลข่านเก้าปี

ดำริเรื่องนี้ของกุบไลข่านจึงไม่เกิดขึ้นตราบจนพระองค์สิ้นพระชนม์

จากเหตุนี้ ปัญหาผู้ที่จะมาเป็นข่านของชาวมองโกลจึงเกิดขึ้น และได้นำมาซึ่งความขมขื่นอยู่บ่อยครั้งเมื่อเกิดการแก่งแย่งตำแหน่งนี้ ระหว่างผู้อ้างระบบสืบสายเลือดแบบจีนกับผู้อ้างระบบคูริลไตแบบมองโกล

 

พลันที่กุบไลข่านสิ้นพระชนม์ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1294 วิกฤตก็เกิดขึ้นกับจักรวรรดิมองโกลทันที เป็นวิกฤตผู้นำหรือข่านที่พระองค์ไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นรัชทายาท ซึ่งควรเป็นโอรสของเจินจินหรืออีกนัยหนึ่งก็คือราชนัดดา (หลาน) ของพระองค์

แต่ปรากฏว่า ผู้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นข่านคือโอรสองค์ที่สองของเจินจินที่มีพระนามว่า เตมูร์ (Tem?r, ค.ศ.1265-1307) ที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยมีราชมารดาซึ่งเป็นชายาของเจินจินผลักดันอยู่เบื้องหลัง

แต่ที่เป็นปัญหาก็คือ ถึงแม้เตมูร์จะมีราชลัญจกรเมื่อมาถึงมองโกเลียเพื่อทรงรับการตรวจสอบก็ตาม แต่เตมูร์กลับไม่มีเสื้อเกราะอันเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์มาให้ตรวจสอบด้วย

เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า กุบไลข่านยังมิอาจตัดสินพระทัยว่าจะให้ผู้ใดมาเป็นข่านสืบแทนพระองค์ และที่มิใช่เตมูร์ก็เพราะทรงรู้ดีว่าเตมูร์เป็นเมรัยชน (drunkard) ที่ไม่คู่ควรแก่ตำแหน่งข่าน แต่เหตุที่เตมูร์ได้รับเลือกให้เป็นข่านจากคูริลไตก็เพราะกลุ่มผู้สนับสนุนใช้อำนาจและอุบาย

เมื่อการก้าวขึ้นมาเป็นข่านเป็นเช่นนี้ ปัญหาจึงค่อยๆ ถูกสั่งสมนับแต่นั้นมา

 

แต่จะด้วยไร้ปรีชาสามารถหรือเป็นเมรัยชนก็ตาม เมื่อเตมูร์ก้าวขึ้นมาเป็นข่านแล้วก็ให้คงความสำเร็จและนโยบายต่างๆ ของอัยกา (กุบไลข่าน) เอาไว้ จากนั้นก็ทรงยกอัยกาเอาไว้ในฐานะที่สูงส่ง

เหตุดังนั้น เมื่อนำเอาการทรงงานเช่นนี้มารวมกับการได้เป็นข่านที่ไม่สู้โปร่งใสแล้ว สัญญาณการล่มสลายจึงค่อยๆ ก่อตัวขึ้น

โดยแรกที่เป็นข่านพระองค์ทรงมีขุนนางชาวมองโกลและชาวจีนคอยรับใช้อยู่จำนวนหนึ่ง ขุนนางเหล่านี้มีความรู้ความสามารถและรอบรู้ในลัทธิขงจื่อ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพของพระองค์เอง

แต่ทว่า ผลดีดังกล่าวกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นเมื่อปรากฏว่า โครงสร้างการบริหารงานในยุคนี้มีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น กล่าวเฉพาะขุนนางราชสำนักในเมืองหลวงเมื่อ ค.ศ.1294 ที่มีอยู่นับหมื่นคนนั้น ไม่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนรัฐกิจให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่

ครั้นเวลาผ่านไปอีกระยะหนึ่ง โครงสร้างดังกล่าวก็ก่อให้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงจนแพร่ระบาดไปอย่างกว้างไกล และเพียงสี่ปีหลังการครองราชย์ของเตมูร์ข่าน การฉ้อราษฎร์บังหลวงก็ทะยานขึ้นถึงจุดสูงสุดใน ค.ศ.1303 เมื่อมีขุนนางสองคนถูกกล่าวหาว่าได้ปล้นสะดมและลักลอบขนเกลือเถื่อนมายาวนาน

คือกระทำมาตั้งแต่ราชวงศ์ซ่งใกล้จะล่มสลายเรื่อยมาจนถึงสมัยราชวงศ์หยวน ทั้งสองถูกลงโทษจำคุกพร้อมสมาชิกในครอบครัวและถูกยึดทรัพย์ทั้งหมด

 

จากกรณีฉ้อราษฎร์บังหลวงดังกล่าว ส่งผลให้ขุนนางที่ดีต้องเข้ามาแก้ปัญหาด้วยความเด็ดขาด โดยในวสันตฤดูของปี ค.ศ.1303 ได้มีการจัดส่งข้าราชการออกไปตรวจสอบและสืบสวนการฉ้อราษฎร์บังหลวงทั่วจักรวรรดิ

ผลคือ ได้มีการตัดสินลงโทษขุนนางและข้าราชการชั้นผู้น้อยสูงถึง 18,473 ราย แต่ปัญหาก็คือว่า เตมูร์ข่านกลับมิได้เพียรพยายามในการปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงในครั้งนี้ เพราะหลังจากที่มีการไล่ออกพวกที่กินสินบาทคาดสินบนเหล่านี้ไปแล้วสองปี

พระองค์ก็ทรงคืนตำแหน่งให้กับคนเหล่านี้ได้กลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่ง

ไม่เพียงเท่านั้น เตมูร์ข่านยังทรงใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะการพระราชทานเงินทองให้แก่ชนชั้นสูงและวงศานุวงศ์ ซึ่งผิดกับกุบไลข่านที่ทรงขึ้นชื่อในเรื่องความตระหนี่

โดยแรกที่ขึ้นครองราชย์นั้น เตมูร์ข่านทรงให้ของขวัญแก่วงศานุวงศ์สูงกว่ายุคก่อนหน้าจนเทียบกันแทบจะไม่ได้ โดยให้ทองคำสูงจากเดิมร้อยละ 400 และเงินร้อยละ 200 ตัวอย่างเช่น ทรงให้ของขวัญแก่โอรสบุญธรรมสามองค์เป็นเงินแท่ง 120,000 ตำลึง เป็นต้น

และหลังจากนั้นสองเดือนต่อมาก็พบว่า ท้องพระคลังได้จ่ายธนบัตร (paper currency) สำหรับการเฉลิมฉลองการครองราชย์ของพระองค์คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 270,000 ติ้ง

การใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยของเตมูร์ในลักษณ์นี้ยังคงดำเนินต่อไป จนส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังของราชสำนัก แม้แต่เงินสำรองคงคลังก็ถูกนำมาใช้จนสิ้น และทำให้ฐานะการคลังตกอยู่ในความอ่อนแอ ระบบธนบัตรสิ้นความน่าเชื่อถือจนเกิดภาวะเงินเฟ้อในที่สุด

การครองแผ่นดินของเตมูร์จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นความเสื่อมถอยของราชวงศ์หยวน