วิบากกรรม “ป่วยทิพย์” | ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน
ทักษิณ

ลึกแต่ไม่ลับ | จรัญ พงษ์จีน

วิบากกรรม “ป่วยทิพย์”

พลัดที่นาคาที่อยู่ สวมบทบักหำน้อยตุหรัดตุเหร่มา 17 ปีเต็ม ตั้งแต่ พ.ศ.2549 โน่น “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย ต้นตำรับ “ประชานิยม” ก็ได้เดินทางกลับเข้าบ้าน “จันทร์ส่องหล้า” ถนนจรัญสนิทวงศ์ ท่ามกลางการต้อนรับของคนในครอบครัว และวงศาคณาญาติ “ชินวัตร” อย่างอบอุ่น

“ทักษิณ” เดินทางกลับมามอบตัวที่ประเทศไทย โดยเครื่องบินส่วนตัว เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จาก 3 คดี รวมจำคุกเป็นเวลา 8 ปี

เหยียบแผ่นดินเกิดหะแรกๆ ดูกระฉับกระเฉง สุขสบาย ทักทายกับคนที่ไปต้อนรับดี แต่ยังไม่ทันข้ามคืน ทุกอย่างค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้าย อาการป่วยกำเริบ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ต้องหิ้วปีกไปรักษาโรคภัยไข้เจ็บหลายขนานที่ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ โรงพยาบาลตำรวจ ในปัจจุบันทันด่วน คืนนั้นเลย

โดยกรมราชทัณฑ์ระบุว่า “ทักษิณ” อาการงอมพระราม ป่วยสารพัดโรค ทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์เครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์บางชนิด เก่าบุโรทั่ง แพทย์มีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลต่อชีวิตผู้ป่วยได้ จึงเห็นควรส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพดีกว่า จึงเป็นที่ไปที่มา “นักโทษวีวีไอพี” แห่งโรงพยาบาลตำรวจ

ระหว่างถูกวิพากษ์วิจารณ์ “ป่วยทิพย์” ที่พักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลตำรวจ ทาง “กรมราชทัณฑ์” ได้ออกประกาศใช้ระเบียบว่าด้วย “การคุมขังนอกเรือน” โดย “นิยาม” สถานที่คุมขังนอกเรือนจำ ว่าหมายถึง “ที่สำหรับอยู่อาศัย บ้าน อาคารที่พัก ที่มีตำแหน่งที่ตั้งชัดเจน รวมถึงสถานพยาบาล และโรงพยาบาล” ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ข้อที่ 7 กรณีผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวที่สถานที่ผู้ต้องขัง ให้ผู้บัญชาการเรือนจำดำเนินการ สรุปโดยสังเขปคือ

1. พักรักษาตัวเกินสามสิบวัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี

2. พักรักษาตัวเกินหกสิบวัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี และรายงานปลัดกระทรวงทราบ

3. พักรักษาตัวเกินกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี และรายงานให้รัฐมนตรีทราบ

จากข้อ 1-3 ไม่ว่าเข้าข่าย 1 เดือน 2 เดือน หรือ 4 เดือน ต้องแนบความเห็นแพทย์ผู้รักษา และหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง

“ทักษิณ” สามารถนอนพักรักษาตัวโรงพยาบาลครบ 120 วัน หรือ 4 เดือน ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ข้อที่ 7 วงเล็บที่ 3 โดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และรายงานให้รัฐมนตรีทราบ

ระหว่างที่รักษาตัวอยู่โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 อดีตนายกฯ “ทักษิณ” ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ และวันที่ 1 กันยายน 2566 “ราชกิจจานุเบกษา” เผยแพร่พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษ ให้เหลือโทษจำคุก 1 ปี

“เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคม และประชาชนสืบไป” โดยมี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีรักษาการ ณ ขณะนั้น เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 

หนังชีวิตก็สนุกดีแบบนี้แหละครับ คนเราบุญจะมาก็มาเป็นขบวน วันที่ 18 กุมภาพันธ์ “กรมราชทัณฑ์” ที่อมเผือกร้อนมานาน แถลงการณ์ประกาศให้ทราบถึงการปล่อยตัวพักการลงโทษ คนชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ว่า ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้รับตัว “ทักษิณ” เข้ามาควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสินจำคุกรวมกำหนดโทษ 8 ปี จาก 3 คดี

ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ เหลือโทษจำคุก 1 ปี และนับตั้งแต่ทักษิณรับโทษจำคุกจนกระทั่งปัจจุบัน วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นระยะเวลารวม 6 เดือน ซึ่งตามแนวทางปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับการพักการลงโทษ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จะตรวจสอบคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ของนักโทษเด็ดขาดที่เข้าเกณฑ์ เพื่อดำเนินการขอพักการลงโทษ

“โดยกรณีของทักษิณ จัดอยู่ในกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป โดยมีคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ทั่วไปครบตามที่กำหนดไว้ในประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป คือเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ การพิจารณาพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษดังกล่าวนี้ กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตามระเบียบของราชการทุประการ

ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2567 มีผู้ต้องขังทั่วประเทศอยู่ในหลักเกณฑ์เข้ารับการพิจารณาพักการลงโทษและได้รับอนุมัติให้ปล่อยตัวพักการลงโทษทั้งสิ้นจำนวน 930 ราย แบ่งเป็นการพักการลงโทษกรณีปกติ จำนวน 913 ราย การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปจำนวน 8 ราย และการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ โครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ ฝึกทักษะการทำงานในภาคอุตสาหกรรม จำนวน 9 ราย

‘ทักษิณ ชินวัตร’ ทางกรมราชทัณฑ์ดำเนินงานในกรณีการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เป็นการดำเนินงานภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกประการ”

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ก่อนฟ้าสางวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ประวัติศาสตร์จะจารึกไว้ “อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร” กับ 17 ปีเต็มที่พลัดพรากจากแผ่นดินเกิด เป็นเชนคัมแบ๊ก นั่งรถตู้ออกจากโรงพยาบาลตำรวจ ลูกสาวมารับพ่อกลับบ้าน ในสภาพอิดโรย สวมเสื้อเขียวแบรนด์เนม เข้าเผือกที่คอและแขน เข้าบ้าน “จันทร์ส่องหล้า”

เช้าตรู่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ กับอีกหนึ่งวิบากกรรม เขาเดินทางไปพบพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ในความผิดตามมาตรา 112 เพื่อสอบสวนเพิ่มเติม เมื่อแล้วเสร็จ อัยการให้ประกันตัวด้วยการวางหลักทรัพย์สมุดบัญชีธนาคาร วงเงิน 5 แสนบาท โดยนัดฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 10 เมษายน 2567

จากคำบอกกล่าวเล่าสิบของ “ปรีชา สุดสงวน” อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา คอนเฟิร์มว่า “จากการที่ได้พูดคุยกับทักษิณประมาณครึ่งชั่วโมง เห็นว่าเขามีอาการป่วยขั้นวิกฤต เดินไม่ไหวต้องนั่งรถวีลแชร์มา เวลาพูดก็ไม่มีเสียง มีการล็อกดามคอมาด้วย ดูแล้วป่วยจริง และวิกฤต ดูท่าทางแล้วมีอาการป่วยหนัก”

ทั้งเสียง-ทั้งภาพ ที่อธิบดีอัยการระบุ นึกถึง “มาร์ลอน แบรนโด” นักแสดงชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ ขึ้นมาเลย